ศึกษาคน กระตุ้นตน


    วันเสาร์ผมเดินทางออกจากที่พักมุ่งหน้าไปที่ทำงานของ อาจารย์ (คำว่า "อาจารย์" ในความหมายนี้ ไม่ได้หมายถึงตำแหน่งอาจารย์อย่างที่สถาบันการศึกษามี) คือบริษัทสังฆภัณฑ์ เขตบางแค

    ผมและเพื่อนไม่น้อยกว่าร้อยคนมีความผูกพันกับอาจารย์อย่างน้อย ๕ ปี ก่อนที่ท่านจะสึกออกไปจากสมณเพศ เรายังจำได้เสมอ ท่านจะเป็นทั้งพ่อ แม่ ให้กับโรงเรียนกินนอน (สำนักเรียน) ทุกเช้าหลังสวดมนต์ ทุกค่ำหลังสวดมนต์ บางครั้งผนวกกับหลังอาหารเช้าและเที่ยง เราจะได้ฟังโอวาทที่อาจารย์สรรหามา โอวาทเหล่านั้นอยุ่ในเครือข่ายว่า อะไรดี อะไรชั่ว ทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าดี ทำอย่างไรจะเรียกว่าชั่ว เราได้ซึมซับสิ่งเหล่านั้น ทั้งที่แต่ละคนบอกว่า เบื่อ เบื่อและเบื่อ พูดอยู่ได้ พูดอะไรก็ไม่รู้ จะห้ามอะไรหนักหนา ฯลฯ หลังจากที่ทราบว่าท่านสึกออกไปอยู่ในเพศฆราวาส เราทั้งหลายมานั่งจับกลุ่มกัน และบอกเป็นเสียงเดียวว่า "อาจารย์ไปไหนแล้ว" แต่ละคนดูจะอาลัยอาวรณ์กับการจากไป เมื่อขาดผู้กุมบังเหียร ต่างคนต่างเดินออกจากโรงเรียนกินนอน แตกกระจาย ตามยถากรรม บางคนสึกออกไป บางคนยังคงดำรงอยู่ในภาวะเดิม หลายคนออกไปเรียนต่อ

     อาจารย์ได้ฝากอะไรหลายๆ อย่างไว้ในใจของเราทุกคน หลังจากที่ท่านจากไป เราก็พบว่า ท่านเหนื่อย และเหนื่อยกับพวกเรามากทีเดียว ทำไมต้องเดินมาปลุกเราในเวลา ๐๕.๐๐ น.ทุกเช้า เพื่อให้ลุกขึ้นมาท่องหนังสือ บางคนไม่ลุกขึ้นก็เอาน้ำไปราดให้ตื่น ทำไมต้องมานั่งบ่นนั่งว่าให้รู้จักขยัน ให้ช่วยเหลือสถานที่ที่เอาอาศัยอยู่ ทำไมต้องให้ช่วยเหลือกันและกัน ทำไมจึงไม่ให้จับกลุ่มในเวลาเรียนหนังสือ ทำไมให้ทานข้าว นอนให้เป็นเวลา ทำไมต้องให้ออกไปสอนหนังสือในโรงเรียนต่างๆ ฯลฯ เราไม่เคยได้ยินอาจารย์พูดว่า "เหนื่อย" แต่เรามาพบภายหลังว่า ท่านเหนื่อยกับพวกเราเหลือเกินแล้ว หลายคนออกไปแล้วประสบความสำเร็จในการศึกษา จำนวนมากไปแสดงความขอบคุณในพระคุณที่ทุ่มเทให้ นี่แหละมั้ง "ขอให้เรียนอย่างเดียว เรื่องอื่นอาจารย์แสวงหามาให้ได้ทั้งหมด"

    ระหว่างอยู่ในโรงเรียนกินนอน ไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องซื้ออาหาร ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายกับผ้านุ่งผ้าห่ม สิ่งที่ต้องลงทุนคือ "ทุมเทให้กับการเรียนและระเบียบปฏิบัติที่ดี" บัดนี้สำนักเรียนวัดเจ้าฟ้าศาลาลอย คงเหลือไว้แต่ความทรงจำ

    ผมไปเยี่ยมอาจารย์ของผม และในใจก็คิดว่าเป็นตัวแทนของอาจารย์อีกท่านหนึ่ง (อุปัชฌาย์) ที่ท่านมรณภาพไปแล้ว หลังจากที่ตั้งใจไว้หลายปีว่า สักวันหนึ่งหากชีวิตมันไม่ฝืดเคืองแล้ว ผมจะไปหาอาจารย์ที่ได้พัฒนาปัญญาของผม ผมเข้าไปซื้อของฝากและเดินทางไปหาท่าน เดินเข้าไปในบริษัทพร้อมกับบอกความประสงค์ให้กับพนักงาน พนักงานหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาและโทรหา ท่านอนุญาตให้ผมไปพบชั้นบน ในใจของผมพร้อมแล้วด้วยความอ่อนโยนและขอบคุณ ขณะเดียวกันก็ยืนไหว้ด้วยความเคารพยิ่งพร้อมด้วยใจ ที่ไม่เคยทำให้ใครมาก่อนเช่นนี้ ผมพูดคุยกับท่านไม่นานก็ลากลับ สิ่งที่ผมถามท่านหลายเรื่อง พอจะจับเป็นประเด็นได้ดังนี้

  • ท่านไม่สร้างจตุคามรามเทพ โดยที่เดี๋ยวนี้ชาวพุทธอ่อนแอเอามากๆ สิ่งที่ควรเข้าไปยึดกลับไม่ยอมยึด เราจะอาศัยสิ่งอื่นเพื่อความมั่งมี อุดมสมบูรณ์นั้น ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า
  • ยังคงยึดมั่นในสัจจะเดิมคือ ทานข้าวเพียงจานเดียว จะไม่ตักเพิ่ม จะมากหรือน้อยก็ตาม หากยังไม่ได้ประโยค ๙ (แม้จะสึกมาแล้วก็ตาม)
  • การนัดหมาย การพูด คำไหนคำนั้น
  • ยังคงระลึกถึงศิษย์ทุกคน และศิษย์จำนวนก็มาเยี่ยมบ่อยๆ มีอยู่คนหนึ่งโทรมาบ่อย แต่ไม่สามารถที่จะมาได้ เพราะอยู่ไกลถึงโรงเกลือ
  • บริษัทนี้ ขายของให้เฉพาะผู้มีปัญญา ไม่ขายแก่ผู้ทำเพื่อจะเอาหน้า
  • ยังคงยืดมั่นในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการเป็นที่ปรึกษากิจการพระศาสนาของพระสงฆ์ทั่วประเทศ

    หลังจากที่ผมเดินทางกลับ สิ่งที่ผมตรึงใจในตัวท่านไม่รู้ลืมคือ สัจจะที่เคยตั้งไว้ หันกลับมาดูตัวผมเอง ผมเหลือสัจจะอะไรให้กับตัวเองบ้าง ซึ่งผมกำลังเดินไปในมิติของความเหลาะแหละ เหลวไหล

    ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์แทบเท้า

คำสำคัญ (Tags): #บันทึกความคิด
หมายเลขบันทึก: 107734เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2007 08:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีตอนเช้าค่ะ อาจารย์นมินทร์

  • บันทึกนี้ของอาจารย์ อ่านแล้วชื่นใจดีนะคะ 
  • "อาจารย์"ของอาจารย์ ได้พบกับลูกศิษย์ที่ตั้งใจมาคารวะด้วยหัวใจเช่นนี้ ท่านก็คงชื่นใจมากเหมือนกัน
  • ประทับใจที่ท่านตอบอาจารย์ทุกข้อ  โดยเฉพาะข้อแรก    ปรากฏการณ์ของความเชื่อ ที่เป่าหูเอาได้โดยการตลาดอย่างง่ายนี้  ทำให้ยิ่งรู้สึกว่าการฝึกคนให้ฉลาดและรู้เท่าทัน  ยากยิ่งกว่าเข็นภูเขาขึ้นครก  : )
  •  นึกไปแล้วก็เห็นว่างานครูนั้น  ที่หนักหนาสาหัสกว่าอะไรทั้งหมด  คือการฝึกคนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี  และฝึกให้มีปัญญา 
  • และที่ประทับใจเป็นพิเศษที่อาจารย์เล่า คือสัจจะวาจา 
  • ดิฉันคิดว่า เราจะนับถือใครสักคนได้จนถึงที่สุดของหัวใจ ก็ต่อเมื่อคนผู้นั้นไม่ทำให้เราเกิดความสงสัยเคลือบแคลงอีกแล้ว  ไม่ว่ามุมใดของตัวตนของเขา
  • ซึ่งบุคคลคนเช่นนี้ ก็หายากอยู่เหมือนกัน
  • ขอบคุณสำหรับบันทึกดีๆในยามเช้านะคะ อาจารย์นมินทร์
  • ขอบคุณครับท่านอาจารย์ดอกไม้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท