เรียนรู้วิธีการเขียนสี ที่ห้องศิลปะ


เด็กกลุ่มอ่อน ยังต้องการความช่วยเหลือจากครู

 เรียนรู้วิธีการเขียนสีที่ห้องศิลปะ

 

           คำว่า การเขียนสี ผมเรียกติดปากว่า เพ้นท์ (Paint) จากศัพท์ที่ว่า Painting คือการวาดภาพระบายสี ดังนั้น ศิลปะการเขียนสี อยู่ในรูปแบบของการระบายสี ทาสี ด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ ขูด ขีด เขียน ป้าย บีบ ทา ระบาย ลงไปบนพื้นผิวของวัตถุเพื่อให้เกิดความงาม นำไปใช้ประโยชน์ได้

            วัสดุ อุปกรณ์ที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน มีดังนี้

            1. สี นิยมนำเอาสีประเภท อะไครลิก (Acrylic Color) สีโปสเตอร์ (Poster Color) และสีน้ำมัน (Oil Color) มาใช้ในการเขียนภาพ สีทั้ง 3 ชนิดมีคุณสมบัติพิเศษแตกต่างกัน คือ

                1.1 สีอะไครลิก  ผสมได้ทั้งน้ำ และน้ำมัน  มีคุณสมบัติแห้งเร็วภายใน 5-10 นาที

                1.2 สีโปสเตอร์  ผสมกับน้ำธรรมดา        มีคุณสมบัติแห้งเร็วภายใน  3-5 นาที

                1.3 สีน้ำมัน ผสมกับน้ำมัน (ทินเนอร์ สน เบนซิน พืช) มีคุณสมบัติแห้งช้า 15 วัน

            2. ดินสอ ชนิดแกนแข็ง ใช้สำหรับฝึกการร่างลวดลายในกระดาษวาดเขียน 80 ปอนด์

            3. ยางลบ ชนิดเนื้ออ่อน  ใช้สำหรับลบลวดลายที่เขียนผิดพลาดบนกระดาษ

            4. กรรไกร และมีดหักปลาย (Cutter) ใช้สำหรับตัดกระดาษ ตัดพลาสติก เหลาดินสอ

            5. พลาสติกใสทนความร้อน ใช้สำหรับทำเครื่องมือระบายสี (กรวยบีบสี)

            6. จานสี หรือกระจก  หรือแผ่นเรียบ สำหรับผสมสี

            7. เทปกาวใส สำหรับติดกระดาษ และติดปากกรวยบีบสีกันไม่ให้สีทะลักออกมา

            8. พู่กันชนิดกลม ขนาดเล็ก เบอร์ 1-3 และหรือ ขนาดกลาง เบอร์ 4-6 ตามความเหมาะสม

            9. กรวยบีบสีทำจากพลาสติกใส ชนิดแข็งและหนาปานกลาง ใส่สีลงไปพอประมาณ

          10. เกรียงปาดสีชนิดโลหะขนาดเล็ก ใช้สำหรับการเพ้นท์ที่ต้องการแสดงลักษณะผิวหยาบๆ

          11. ผ้า สำหรับเช็ด ทำความสะอาดอุปกรณ์

          12. ภาชนะสำหรับใส่น้ำ หรือ ใส่น้ำมันผสมสี

            หลักการของศิลปะ

            ผู้ที่ศึกษา และฝึกปฏิบัติเพ้นท์สี จะต้องเรียนรู้หลักการของศิลปะเอาไว้ด้วย เพื่อที่จะได้นำมา ใช้งานได้อย่างเหมาะสม ได้แก่ หลักการใช้สี  หลักการจัดภาพ เป็นต้น

            หลักการใช้สี หรือ ทฤษฎีสี กล่าวถึง แม่สีที่เรารู้จักกัน ได้แก่ สีแดง สีเหลือง และสีน้ำเงิน เมื่อนำเอาสีมาผสมกันทีละคู่ ในอัตราส่วนเท่า ๆ กันจะได้สีใหม่ เรียกว่าสีขั้นที่ 2 และเมื่อเอาสีขั้นที่ 1 มาผสมกับสีขั้นที่ 2 ทีละคู่ในอัตราส่วนเท่า ๆ กันจะได้สีใหม่ เป็นสีขั้นที่ 3  เช่น สีเขียวผสมกับสีน้ำเงินจะได้สีใหม่ เรียกว่า สีเขียวน้ำเงิน (สีเขียวแก่) ถ้าผสมกันไปจนครบทุกคู่ และนำมาวางเรียงต่อกันในวงกลม เรียกว่าลงล้อสี จะได้สีในวงล้อ 12 สี ส่วนตรงกลางวางสีที่ผสมด้วยแม่สี 3 สี (สีน้ำตาลเข้ม) การใช้สีที่ถูกต้อง ผู้ใช้จะต้องมีการผสมสีให้ได้ตามความต้องการเสียก่อน เช่น ต้องการเพ้นท์ด้วยสีเขียวอ่อนมาก ๆ การผสมจะต้องนำเอาสีเหลืองมา 9 ส่วน ผสมกับสีน้ำเงิน 1 ส่วน สีที่ได้คือ สีเหลืองเขียว ได้แล้วจึงจะนำเอาไปใช้ มิใช่ใช้สีที่ออกมาจากหลอดโดยตรง นอกจากนั้นหลักในการใช้สียังกำหนดให้ใช้สีอ่อนแก่ สีตัดกัน  สีใกล้เคียง สีตรงข้าม สีกลมกลืน สีที่ไม่เข้ากัน สีเอกรงค์  สีเข้มจาง  ในการใช้สีเพื่อการเขียนภาพ จะต้องศึกษาหลักการของสีควบคู่กันไปด้วย

            อีกอย่างหนึ่ง และมีความสำคัญในการเพ้นท์มาก คือ หลักการจัดภาพ ภาพหรือลวดลายที่เราเขียนลงไป จะทำให้ผู้ดูเกิดความสนใจได้ จะต้องมีหลักเกณฑ์ในการจัด ซึ่งถ้าเราสังเกตผลงานศิลปะด้านทัศนศิลป์ อย่างละเอียด และถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่า ผลงานทุกชิ้น มีโครงสร้างที่มารวมกันเป็น องค์รวมของภาพนั้น ผลงานนั้นอยู่ ได้แก่ จุด เส้น รูปร่าง  รูปทรง  แสงและเงา  สี  น้ำหนักสี  ลักษณะผิว ขนาด ช่องว่าง จังหวะ และระยะของภาพ  ส่วนย่อย ๆ เหล่านี้เอง เมื่อนำมารวมกันจึงเป็นองค์ประกอบ ที่น่าสนใจ และมีความสมบูรณ์ แต่ในการนำเอาส่วนย่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเอาเส้นเพียงอย่างเดียวมาจัดภาพหรือนำเอา รูปร่างกับสีและน้ำหนักสีมาจัดเป็นภาพ ล้วนแล้วแต่จะต้องจัดอย่างมีหลักเกณฑ์ จึงจะทำให้ผลงานมีความน่าสนใจ ผู้ดูมีความประทับใจ ชื่นชม หลักการที่ว่า ได้แก่

            1. หลักการจัดหน่วย (Unity) เป็นการจัดความเป็นเอกภาพ รวมกัน ไม่ให้กระจัดกระจาย

            2. หลักการจัดความสมดุล (Balance) จัดให้ภาพข้างซ้ายและข้างขวามีน้ำหนักพอ ๆ กัน

            3. หลักการจัดจุดเด่น หรือจุดสนใจ (Interest) จัดให้มีลักษณะพิเศษกว่าส่วนอื่นจนมองเห็นได้ก่อน

ผลงานการเพ้นท์บนผลิตภัณฑ์ เป็นงานวิจิตรศิลป์ ที่จะต้องมีความประณีต ละเอียดอ่อนในการปฏิบัติงาน ให้ได้มาซึ่งผลงานที่มีความงาม และนำเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ผมแนะนำให้นักเรียนจัดเก็บวัสดุเหลือใช้ที่มีรูปทรงสวย ๆ และมีคุณค่าทางจิตใจ เป็นวัสดุที่เลิกใช้งานแล้ว หรือใช้งานไม่ได้ (ต้องทิ้ง) เตรียมนำมาเพ้นท์สีลงบนผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ได้แก่ ขวดสุราต่างประเทศ  แผ่นเสียง  แผ่นวีซีดี  กล่องเทปคาสเสท  กระเบื้องปูพื้น  กรอบรูป  กระดาษโปสเตอร์แข็ง แจกันดินเผา  หม้อดินเผา  โอ่งดินเผา (ขนาดเล็ก) ขวดยาขนาดต่าง ๆ ที่รูปทรงน่าสนใจ  หวี  กล่องพลาสติก ฯลฯ ตามที่จะหาได้ (ไม่ควรซื้อ) ก่อนอื่น ผมจะให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการและปฏิบัติงานเพ้นท์ทั่ว ๆ ไปเสียก่อน โดยมีขั้นตอนของการเรียนรู้เชิงปฏิบัติงาน  ดังนี้

1. ศึกษาให้เข้าใจหลักการ วิธีการเพ้นท์ จากวีซีดี 15 นาที (ผลงานดีเด่นกรมสามัญศึกษา)

นักเรียนสรุปความรู้ที่ได้ดูจากสื่อ สรุปเป็นองค์รวมเอาไว้ก่อน แล้วร่วมกันตั้งหัวข้อที่จำเป็นต้องศึกษา ได้แก่ หลักการจัดภาพ  หลักการใช้สี  ขั้นตอนในการเขียนลวดลาย  ขั้นตอนในการเพ้นท์ภาพ เป็นต้น

2. นักเรียนฝึกปฏิบัติเขียนลวดลายลงบนกระดาษวาดเขียน ขนาด 80 ปอนด์ ด้วยรูปแบบที่นิยมเพ้นท์ 4 อย่างคือ ดอกไม้และแมลง  การ์ตูน  สิ่งของเครื่องใช้  และตัวอักษร  (อาจมีมากว่านี้ก็ย่อมได้) โดยนักเรียนเขียนลายเส้นจากประสบการณ์  จากภาพตัวอย่าสง จากสื่อที่ครูนำมาให้ฝึกเขียนลวดลายมาก ๆ จนจำลายได้ (มีความชำนาญ) ฝึกเขียนซ้ำ ๆ ในลวดลายเดิม เขียนบ่อย ๆ เข้าก็จำได้

3. ผมให้นักเรียนฝึกการเขียนสีด้วยเครื่องมือ 3 อย่างคือ พู่กันกลม  กรวยบีบสี  เกรียงปาดสี เขียนลงบนกระดาษโปสเตอร์แข็งสีดำ  ในขั้นตอนนี้เด็กต้องการความช่วยเหลือมากกว่า  ขั้นเขียนลาย เพราะเขายังไม่มีแนวปฏิบัติ ผมใช้วิธีสาธิตให้ดูตลอดทั้งชั่วโมงเรียนโดยการเคลื่อนที่สาธิตไปตามกลุ่มของนักเรียนจนทั่วห้อง (พวกเรานั่งเรียนกับพื้น) พอผมสาธิตเสร็จเด็ก ๆ ก็สรุปขั้นตอนการเขียนสีเอาไว้ และลองลงมือทำเอง สงสัยขั้นตอนใด กลับมาถามครู ก็จัดการสาธิตให้ดูใหม่

    3.1 ผมสาธิตวิธีเพ้นท์ ด้วยเครื่องมือ พู่กัน เขียนดอกไม้ ก้นดอกและใบ อย่าลืมใส่ดอกแซมตามช่องว่างให้เหมาะสมมิฉะนั้นเด็กจะจัดช่องว่างไม่พอดี

    3.2 ผมสาธิตวิธีเพ้นท์ ด้วยกรวยบีบสี ต้องสาธิตตั้งแต่การนำเอาพลาสติกมาทำกรวย ตัดพลาสติกเป็นรูปสี่เหลี่ยม ม้วนให้มีปลายแหลมข้างหนึ่งแล้วปิดด้วยเทปกาวใส อีกข้างหนึ่งเป็นปากกรวยบีบสีที่ต้องการลงไป ไม่ต้องมาก แล้วพับปากกรวยปิดด้วยเทปกาวใสกันสีทะลัก ผมบีบที่ปลายกรวยลากเป็นเส้น เป็นภาพลวดลายให้นักเรียนได้เห็น เขาดูไปและจดบันทึกการสังเกตไปด้วย

     3.3 ผมสาธิตวิธีการเพ้นท์สี ด้วยเกรียงโลหะ วิธีนี้เปลืองวัสดุสีมากหน่อย แต่ถ้านักเรียนทำได้ สนุกครับ และต้องทำงานรวดเร็ว ผลงานที่ได้จะหยาบ แต่มีเสน่ห์ไปอีกแบบหนึ่ง ผมเทสีลงบนแผ่นกระจก ผสมสีจนพอใจ แล้วใช้เกรียงปาดสีจากกระจก มาป้ายที่กระดาษแข็งเป็นลวดลายดอกไม้   นักเรียนสรุปองค์ความรู้เอาเอง

            ผมไม่เหนื่อยหรอกครับ เพราะว่า เมื่อผมสาธิตเสร็จนักเรียนลงมือทำงาน ผมละงานไปดูเด็กเขาทำงานกันบ้าง พอได้พบว่านักเรียนคนไหนทำได้ถูกต้อง มีความประณีตสวยงาม ผมก็จะขอให้เขาเป็น เครือข่ายช่วยเหลือเพื่อนอีกแรงหนึ่ง ไม่กี่สัปดาห์ผมก็มีเครือข่ายที่เป็นผู้ช่วยครูหลายสิบคน เพียงพอที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (การเรียนรวมกันมันดีอย่างนี้) เพราะในกลุ่มของนักเรียนมีคน 3 ระดับ คือ

            1. ระดับเก่ง  หมายถึงรับรู้ เข้าใจได้รวดเร็ว ทำได้ถูกต้อง ผลงานมีคุณภาพสูง

            2. ระดับปานกลาง หมายถึง เข้าใจได้แต่ต้องดูซ้ำ ทำงานผิดพลาดบ้าง ต้องคอยแนะนำ

            3. ระดับอ่อน หมายถึง นักเรียนที่อาจไม่ถนัด แต่ใจชอบ ต้องมีคนคอยแนะนำโดยตลอด

ถึงตอนนี้ ผมต้องแวะข้างทางหน่อยนะ (เผื่อว่าจะมีพักเบรก) แล้วถ้ามีคนเลือกเอาเด็กระดับเก่งไปจัดการสอนเสียหมดแล้วละครับ  ใครจะมาเป็นเครือข่ายให้ครู ส่วนหนึ่งก็คือ จะเป็นการเรียนที่ไม่ใช่ธรรมชาติจริง ๆ  เพราะว่าในสังคมจริง โลกของมนุษย์นั้น คนอยู่รวมกันโดยไม่ได้แยกหมู่บ้านเก่ง กลาง และอ่อนเอาไว้ครับ แต่ก็ไม่เป็นไร  ถ้าท่านจะแยกเด็กไปสอน ผมอยากขอความกรุณาจัดการเรียนรู้ให้เด็กโดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล (จัดวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกันให้ผมด้วย) อย่างสอนแบบรวม ๆ  แล้วช่วยให้กำลังใจเด็กระดับอ่อนมาก ๆ  อย่าได้ผลักไสเพราะพวกเขาจะไปไหนละครับ พวกเด็กเขามาเรียนรู้กับเรา หน้าที่ของครู จะต้องจัดการเรียนรู้กับนักเรียนทุกคนแบบเสมอภาค (เท่าเทียมกัน) โดยเฉพาะในระดับชั้น ม.ต้น พวกเขาไม่มีโปรแกรมเฉพาะ เด็กเขาต้องเรียนเพื่อการเตรียมพร้อมในการตัดสินใจว่าตนเองมีความถนัดวิชาใด กลุ่มสาระใด แล้วเด็กเขาจะไปเลือกเรียนในวิชาเพิ่มเติมเอาเอง ต่อให้แสดงความเป็นห่วงอย่างไรก็มิใช่ความคิดที่ถูกต้องเสียแล้ว  เพราะคนที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ เด็กกลุ่มอ่อน ทียังขาดคนเหลียวแล  ใครจะช่วยฉุดหัวใจที่ว้าวุ่น สับสนของเขาให้สงบลงได้ อย่างมีสติในแต่ละวัน (อ้าวเลยไปไกลอีกแล้ว ขออภัยด้วยครับ)

            4. นักเรียนนำเอาผลิตภัณฑ์ที่จัดเตรียมมา จำนวน 10 ชนิด ไม่ซ้ำกัน นำมาสัปดาห์ละชนิด เลือกใช้เครื่องมือ 1 อย่าง หรือใช้เครื่องมือหลาย ๆ อย่างก็ได้ เขียนลวดลายลงบนผลิตภัณฑ์นั้น ๆ อย่างใจเย็น รอบคอบ ด้วยความตั้งใจที่จะถ่ายทอดชีวิต จิต วิญญาณลงไป นำผลงานไปให้ผู้อื่นประเมินคุณภาพ โดยการตีราคาว่า ผลงานที่ทำเสร็จแล้วจะมีราคาเท่าไร และให้ข้อเสนอแนะมาด้วยอาจต้องใช้ผู้ประเมินถึง 3 คน เอาราคาที่ได้จาก 3 คนมารวมกัน แล้วทำการวิเคราะห์จากต้นทุน เช่น เพ้นท์สีลวดลายลงบนหม้อดินเผาสีน้ำตาล เป็นภาพดอกไม้ แมลง และมีข้อความประกอบ ต้นทุนทั้งหมดลงไป 20 บาท ได้ราคาเฉลี่ย 18 บาท แสดงว่าขาดทุน และแสดงว่า ผลงานยังไม่มีคุณภาพเพียงพอ จะต้องปรับปรุงในข้อบกพร่อง ย้อนกลับไปดูข้อเสนอแนะจากผู้ประเมินว่า มีด้อยนะจุดใด

            5. เมื่อนักเรียนของผมทำงานจนครบตามที่เขาได้วางแผนเอาไว้ ในจำนวนที่เหมาะสมกับเวลา 1 ปี การศึกษา ในช่วงสุดท้าย ผมให้นักเรียนรวมกลุ่มกัน จัดตั้งเป็นบริษัท (สมมุติ) จัดจำหน่ายผลงานในโรงเรียนและที่อื่น ๆ โดยจัดทำบัญชีรับ จ่าย บันทึกชื่อ รายละเอียดในการจัดจำหน่ายให้ปรากฏร่องรอยที่น่าเชื่อถือส่งครู (งานนี้ทำเป็นกลุ่มครับ)

            6. นักเรียนทุกกลุ่มสรุปองค์ความรู้ กระบวนการทำงานเพ้นท์ลวดลาย นำเสนอวิธีการทำงาน ภาพและผลงานจริงลงแผ่นชาร์จ หรือบอร์ด ขนาดไม่กำหนด อาจทำเป็นแผ่นพับก็ได้ เสนอหน้าชั้นเรียนและส่งครูต่อไป

                มาถึงวันนี้ผมยังมีนักเรียนที่มีผลงานเพ้นท์ ที่ทำผลงานจำหน่ายได้มาตลอด แต่ก่อนนั้นผมฝึกนักเรียนและส่งเข้าแข่งขันในงานศิลปหัตถกรรมได้รับรางวัล ระดับประเทศ หลายครั้งมีรับรางวัลที่ 1, 2, 3 และรางวัลชมเชย (พวกเขามาจากเด็กเรียนอ่อน-ปานกลาง) ฝึกกันเป็นปี จนถึงหลาย ๆ ปี (6 ปีเลยก็มี)

          การพัฒนาผู้เรียนจากจุดหนึ่งไปสู่อีกจุดหนึ่งเป็นความท้าทายที่ครูคนหนึ่งน่าที่จะพิสูจน์ตนเอง ว่า  เรามีศักยภาพเพียงพอ ที่จะไปให้ถึงขั้นหรือไม่ เพียงใด การปั้นดินให้เป็นดาว ยังคงมีความมืดมิดอยู่เหมือนเดิม แต่ในความมืดนั้น ก็ยังรอคอยแสงสว่างที่จะมาถึงได้  ยังคงเป็นความยากลำบากที่สุดอยู่เช่นเดิม แต่ในความยากลำบากนั้น ยังมีความน่าสงสาร เมตตา ที่จ้องมองแล้วจะพบความไร้เดียงสาความบริสุทธิ์  โปรดปรับความคิด เปลี่ยนเจตนาและมองพวกเขาอย่างผู้มีโอกาสเถิดครับ

 

         หมายเหตุ จากคำบอกเล่าของผมที่ปรากฏในข้อความที่กล่าวมา คือสภาพการสอนจริง ที่ใช้กับนักเรียนในวิชาเพิ่มเติมเขียนสีลวดลายบนผลิตภัณฑ์  อาจไม่เป็นประโยชน์ต่อท่านก็ได้เพราะทางเดินของคนเรามีทางเลือกที่หลากหลาย

      แต่ผมได้สร้างสรรค์ผลงานจนพบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมให้ทุกท่านจับต้องได้มากมาย รวมทั้งผลงานสื่อการเรียนเพ้นท์สีที่ผมได้รับรางวัลจากคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ปี 2537และสื่อการเรียน วีซีดี เพ้นท์ภาพ รางวัลดีเด่นกรมสามัญ กระทรวงศึกษาธิการ ปี 2538 มีผลงานเพ้นท์ที่นักเรียนได้รับรางวัลระดับประเทศให้ดู  4 คน (เชิญมาพิสูจน์) รวมทั้งเข้าเยี่ยมชมการสอนที่อาจจะโบราณ แต่ท่านจะได้พบกับเด็กที่มีสติปัญญาระดับล่าง (กลุ่มอ่อนจำนวนมาก) ไม่ใช่กลุ่มปกตินะครับคุณ เชิญมาดูพวกเขาเหล่านั้นว่า กว่าที่ครูคนหนึ่งจะทำให้นักเรียนมีสมาธิในการเรียนรู้ได้แต่ละคนยากนะครับ มิได้ง่ายอย่างทีท่านคิด และผมยังอยากที่จะศึกษาจากประสบการณ์ของท่านทุกคน (ที่เป็นนักปั้นดินให้เป็นดาว) พร้อมที่จะรับความรู้และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ นำเอาไปใช้แก้ปัญหาในการจัดการเรียนรู้ต่อไป  (ชำเลือง  มณีวงษ์ / ประสบการณ์ตรง)

คำสำคัญ (Tags): #ศิลปะ
หมายเลขบันทึก: 99088เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2007 12:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

กะงั้นๆแหละ

ที่ผมว่าพี่ชำเลือง แกเก่งรอบด้านจริงหรือไม่ ก็ลองติดตามดู ด้านทัศนศิลป์ก็มีประสบการณ์ทีเดียว ทำดีต่อไปนะครับ เพื่อเด็กๆ ขอเป็นกำลังใจให้ 

ครับผมท่านPชำเลือง  

ผมตัดบางส่วนไปนะครับ ขอบคุณครับ   http://gotoknow.org/blog/mrschuai/99502

เก่งครับ ขนาดผมสอนศิลปะเหมือนกันยังทำไม่ได้อย่างนี้เล๊ย
ด.ช. ธนวัฒน์ ชาวเนิน

ผมว่าที่อาจาร์บรรยายมานั้นทำให้ผมได้เข้าใจในงานทัศนศิลป์มากยิ่งขึ้น

ขอบคุณอาจารย์มากที่ได้สร้างบล๊อกดีดีที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาขึ้นมาครับ

ขอบคุณครับ

จาก ด.ช. ธนวัฒน์ ชาวเนิน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 ^_^

ตอบความเห็นที่ 4 (ย้อนหลัง)

ขอบคุณครูต้อมมาก ครับ ผมใช้เวลาฝึกฝนตนเองมานาน กว่าที่จะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้

ตอบความเห็นที่ 5 ด.ช.ธนวัฒน์ ชาวเนิน

  • ยินดีมาก ที่หนูสืบค้นความรู้ศิลปะในระบบเครือข่าย
  • ในบล็อกศิลปะ มีหลายบทความ มีเวลาว่างก็เปิดอ่านได้นะ
  • ขอให้เรียนเก่ง ๆ เป็นเด็กดีของพ่อแม่ และของคุณครูตลอดไป

ตอนนี้หนูก้ออยากเรียนรู้ศิลปะค่ะ เคยไปเรียนมาบ้างแต่ตอนนี้ซื้อสีมาวาดเอง

เป็นสีของ เปบิโอ้ กับ โจซอนย่า ค่ะเนื้อสีคุณภาพดี สีสดทนนานดีค่ะ ถ้ายังไง

รบกวนช่วยอาจารย์แนะนำหน่อยนะค่ะ

สวัสดี หนูกวาง

  • ดีแล้วครับที่หนูให้ความสนใจในศิลปะ เพราะศิลปะคือการสร้างสรรค์ความงาม
  • ควรเริ่มต้นที่การดูและจำสิ่งที่มองเห็นในธรรมชาติ รวมทั้งรูปที่เกิดจากการสร้างสวรรค์ทั่ว ๆ ไป จำรูปร่าง รูปทรง และสีของสิ่งนั้น ๆ เอาไว้
  • ลองฝึกหัดลากเส้นให้ได้อย่างคล่องแคล่ว และสามาถที่จะบังคับให้เส้นไปเจอกันเป็นรูปร่างต่าง ๆ ตามต้องการได้
  • ลองฝึกหัดลงสีตามที่ตาเราเคยเห็นในสีส่วนรวม เพราะวัตถุแต่ละอย่างมิได้มีสีเพียงสีเดียวเท่านั้น พยายามมองให้เห็นในสีที่เข้ามาปนอยู่ด้วย
  • เมื่อฝีมือดีขึ้นสามารถควบคุมทักษะการเคลื่อนไหวได้ดี หนูจะใช้สีชนิดใด ยี่ห้อใดก็พิจารณาตามงบประมาณได้ครับ ขอให้โชคดี มีความสุขกับงานที่หนูชอบนะ

คุณครูชำเลืองขยันจังเลยคะ ท่าทางจะใจดีเสียด้วย เด็กๆโชคดีนะคะที่ได้เรียนกับคุณครู แวะเข้ามาชมเว็บของคุณครูแล้วทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานเพิ่มขึ้นเลยคะ

สวัสดี ครูก๋อย

  • ขอบคุณ คุณครูที่เข้ามาเยี่ยมเยือนในบล็อกเขียนสีลวดลาย
  • ศิลปะทำให้ผมเป็นคนอารมรณ์เย็น (ไม่เย็นมาก บางครั้งก็ไม่ใจดี)
  • เด็ก ๆ เขารอการพัฒนา (แต่มิใช่จะทำได้ทุกคน) พัฒนาเขาได้เพียง 1 คนก็ชื่นใจแล้ว คนไหนเก่งก็ส่งเสริมต่อไป ส่วนคนไหนช้าก็รอเวลาให้เขาได้ปรับตัว มีความสุขครับ

สุดยอดค่ะ อยากเก่งแบบนี้บ้างจังค่ะ

ตอนนี้เพ้นทืรองเท้าขายอยู่ อยากรู้เทคนิคการใช่กรวยเพ้นท์ค่ะ

แนะนำหน่อยนะคะ ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท