บรรยากาศในการทำงานเป็นเคล็ดลับสำคัญยิ่ง


"หนูรู้สึกว่า หนูเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่"

            มีเรื่องราวมากมายเข้ามาในชีวิต  แต่ก็มักจะปล่อยปละละเลย ไม่ได้เอะใจที่จะเก็บเกี่ยวไว้เป็นบทเรียนสอนใจ    ดังนั้น จึงมักแอบดีใจที่ได้อ่านบันทึกของคนอื่นที่แฝงประเด็นกระตุกใจ กระตุกความคิด ที่เราก็เคยประสบ แต่ไม่ได้สะสมให้ตกผลึก

            ได้ติดตาม คุณเกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนศัย ผู้ก่อตั้งและเป็นประธานของ TheCoach  (www.thaicoach.com)  ผู้เขียน Briding the Gap ใน นสพ. โพสต์ทูเดย์   รู้สึกประทับใจมากเรื่องซึ่งเกิดจากประสบการณ์จริงของคุณเกรียงศักดิ์ ซึ่งได้พบผู้คนมากมายหลายระดับ

             เรื่องของวันนี้ - บรรยากาศในการทำงานเป็นเคล็ดลับสำคัญยิ่ง -  ที่จริง เรื่องทำนองนี้พบได้บ่อยครั้ง แต่ไม่ได้เอามาเป็นประเด็น

             ผมทำการศึกษาวิจัยเล็ก ๆ เรื่องหนึ่งว่าด้วยเรื่องคนไทยกับคนต่างชาติมองกันอย่างไร  ทำติดต่อกันมาสองปี  จุดอ่อนที่ชาวต่างประเทศหลาย ๆ คนพูดถึงก็คือเรื่อง “การริเริ่มสิ่งใหม่ (Initiative)” ของคนไทย  พวกเขามองว่า คนไทยมีแนวโน้มที่จะไม่เสนอความคิดหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ออกมา

             แต่นั่นอาจจะเป็นเพียงการมองด้านเดียว

             บรรยากาศในที่ทำงานอาจเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้คนไม่ได้คิดริเริ่มก็ได้ จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมเคยรู้สึกทึ่งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของคนธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่แสดงออกมาโดยที่ผมเองก็ไม่เคยคาดหวังจากเขา

             แม่บ้านของบริษัททำความสะอาดที่ธนาคารแห่งหนึ่งจ้างมาดูแลความเรียบร้อย  เธอชื่อว่า กุ้ง เป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ เหมือนคนอื่น ๆ อีกเป็นร้อยเป็นพันคนที่เดินทางมาแสวงโชคในเมืองหลวง  กุ้งไม่ได้เรียนหนังสือสูง  เธอจึงได้รับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ แต่กุ้งเป็นคนขยัน ทำงานหนักและทำงานดี

            บางครั้งพนักงานขอร้องให้กุ้งช่วยถ่ายเอกสาร แยกเอกสาร ประทับตรา และคอยเตรียมแฟ้มให้    ทุกคนรู้สึกได้ถึงน้ำใจของกุ้ง และอยากตอบแทนเธอด้วยน้ำใจเช่นกัน    หัวหน้าพนักงานมักจะซื้อของขวัญให้กุ้งตามเทศกาลต่าง ๆ   นอกจากนั้น เวลาที่ใครต้องการความช่วยเหลือจากกุ้ง  ก็จะใช้คำพูดที่สุภาพไพเราะ  เพราะเป็นฝ่ายรบกวนให้เธอช่วย ทั้ง ๆ ที่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในงานของเธอเลย

            คำพูดดี ๆ เปรียบเสมือนมนต์วิเศษ ตัวอย่างเช่น “กุ้งจ๊ะ ยุ่งอยู่หรือเปล่า รบกวนกุ้งช่วยถ่ายเอกสารใบสมัครพวกนี้ให้พี่หน่อยนะจ๊ะ”

            พอกุ้งเอางานมาให้  หัวหน้าพนักงานก็จะยิ้มให้กุ้ง พร้อมกับพูดว่า “ขอบคุณมากนะจ๊ะกุ้ง ถ้าไม่มีกุ้งคอยช่วย พี่ต้องแย่แน่ ๆ เลย”

            วันหนึ่งกุ้งเดินมาหาหัวหน้าพนักงานชื่อภัทร และพูดว่า “พี่คะ หนูขอเสนออะไรบางอย่างเกี่ยวกับงานสักหน่อยจะได้ไหมคะ”

            ภัทรเปิดโอกาสให้กุ้ง พร้อมสนับสนุน  กุ้งเลยพูดต่อว่า “หนูสังเกตว่า ทุก ๆ วัน แต่ละคนจะต้องส่งเอกสารหลายต่อหลายชุดไปที่สาขาทั้ง 40 แห่งทั่วกรุงเทพฯ  แล้วเรามีคนอยู่ทั้งหมด 50 คน  แต่ละคน ต่างคนต่างส่งกันคนละหลายที รวม ๆ แล้วทางแบงก์จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก หนูคิดว่าถ้าเราทำกล่องขึ้นมา 40 ใบ แต่ละใบสำหรับแต่ละสาขา ใครจะส่งไปที่ไหนก็ให้มาหย่อนเอกสารในกล่องนี้ก่อน แล้วหนูจะช่วยรวบรวมใส่ซอง แล้วค่อยส่งไปทีเดียว ทีนี้เราก็ประหยัดซองได้ตั้งเยอะ ใช้แค่ 40 ซองต่อวันเอง แทนที่จะเป็นร้อยๆซอง”

            กุ้งได้รับคำชมว่า “ขอบคุณมากนะจ๊ะสำหรับความคิดสร้างสรรค์ เป็นความคิดที่ดีมาก ๆ เลย เยี่ยมมากจ้ะกุ้ง นี่นอกจากจะช่วยทางแบงก์ประหยัดเงิน ยังช่วยพวกเราทุกคนประหยัดเวลาได้อีกด้วยนะเนี่ย วันหลังถ้ากุ้งมีความคิดอะไรดี ๆ อีกละก็ ต้องมาบอกพี่อีกนะจ๊ะ”

           ระหว่างมื้ออาหารเที่ยงวันหนึ่ง ภัทรนำเรื่องนี้มาเล่าให้ฟัง ผมเองมักจะใช้การรับประทานอาหารเที่ยงเป็นโอกาสในการพูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ และปัญหาในการทำงาน     ก่อนหน้านี้ผมบอกพนักงานว่า “ประตูห้องผมเปิดต้อนรับพวกคุณตลอด”  แต่สงสัยลูกน้องผมคงคิดในใจว่า “แต่หน้าเจ้านายไม่ค่อยจะรับผมเลย”

           วันหนึ่งผมเผอิญเจอกุ้งนั่งแยกเอกสารอยู่  ผมรู้ว่ากุ้งเคยเป็นแม่บ้านมาหลายแห่งแล้ว  ผมเลยถามกุ้งว่า นี่เป็นนิสัยของเธอที่ชอบเสนอความคิดเพื่อปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ หรือ  กุ้งตอบว่า “เปล่าค่ะ ปกติหนูก็เงียบตลอด” 

           “ถ้าอย่างนั้น ออฟฟิศนี้ต่างกับที่อื่นยังไงล่ะ” ผมถาม

           กุ้งตอบว่า “คนที่นี่มีน้ำใจดี ทุกคนให้เกียรติหนู ทำให้หนูรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่   ถ้าใครจะใช้อะไรหนู  เขาก็จะดูก่อนว่าหนูว่างหรือเปล่า ทุก ๆ คนเป็นกันเองและเป็นมิตรกับหนู หนูไม่รู้สึกว่าเรามีเจ้านาย แต่เราเป็นพี่เป็นน้องกัน และที่สำคัญ ที่นี่ใครก็สามารถเสนอความคิดได้ หัวหน้าไม่ว่า ก็เลยรู้สึกว่า อยู่ที่นี่เราพูดได้ ไม่เสียหายอะไรค่ะ”

            ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนไม่ว่าจะทำงานในระดับใด ก็สามารถมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้อย่างกุ้ง

            คำถามก็คือ “เราสร้างสภาพแวดล้อมที่ปิดกั้นความสร้างสรรค์ของมนุษย์หรือเปล่า?”

            ไม่ได้เชียร์นะคะ  รู้สึกว่า ที่ สคส. ก็มีบรรยากาศเฉกนี้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 81448เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2007 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ คุณสุปราณี

  • ดิฉันชอบข้อคิดเห็นนี้ค่ะ“คนที่นี่มีน้ำใจดี ทุกคนให้เกียรติหนู ทำให้หนูรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของที่นี่   "
  • นี่คือความรัก....ความสุขและผ่อนคลาย..ก่อให้เกิดความคิดอิสระ  สร้างสรรค์....เพราะมั่นใจว่า...ไม่ว่าความคิดจะดีหรือไม่...ก็ไม่มีใครว่าเพราะ...."ทุกคนให้เกียรติหนู..."
  • ขอบคุณสำหรับเรื่องเล่าดีๆมีสาระค่ะ

น่าสนใจจริงๆ ค่ะ ว่า คำถามก็คือ “เราสร้างสภาพแวดล้อม ที่ปิดกั้นความสร้างสรรค์ของมนุษย์ ... หรือเปล่า?” ... เรื่องนี้น่านำไปคุยกันในกลุ่มเพื่อนฝูงจริงๆ ด้วย

สวัสดีค่ะ คุณติ๋ว (ผู้ก่อกวนที่น่ารักในบล็อก อ.หมอสมบูรณ์ เทียนทอง)  และ คุณหมอนนทลี

-  ดีใจค่ะที่อย่างน้อยก็มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์จริง (ของคนอื่น) มาเป็นประโยชน์ ณ ที่แห่งนี้  โดยเฉพาะ กำลังคิดว่า ตอนนี้คุณหมอนนทลี คงได้ประเด็นไปทำ LO ในที่ทำงานเพิ่มอีกหนึ่งเรื่องแล้ว

-  ในที่ประชุมประจำสัปดาห์ของ สคส. เมื่อ 28 กพ. 50   อ.ประพนธ์บอกว่า มักได้เรื่องดี ๆ ความสัมพันธ์อันคุ้มค่าจากการกินข้าวกลางวันร่วมกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท