ไปเที่ยวตลาดนัด ... ที่โคราช (14) เสวนา KM กับงานประจำ ... IC Success


ถ้าเรามีบุคลากรเช่นนี้ ซึ่งเป็นบุคลากรแห่งการเรียนรู้ ... เขาอยากทำ รวมทั้งเสาะหากลุ่มคนที่จะมาเรียนรู้กับเขา พากันไปทำกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้ทำกิจกรรมได้หลากหลายมาก

 

งาน IC หรือการควบคุมการติดเชื้อใน รพ. คุณนลินี มาเล่าให้ฟังค่ะ

  • คุณนลินีเป็นผู้อาสาค่ะ เพราะว่าเธอได้ยินคำว่า คณะกรรมการการควบคุมการติดเชื้อใน รพ. ได้ยินมานานแล้ว แต่ว่า การได้ยินนี้เป็นลักษณะของ งานเมื่อไรจะส่ง ทำไมไม่ทำงานเสียที ก็จะแปลกใจว่า คณะกรรมการชุดนี้ทำอะไร ทำไมต้องทวงงานเสมอ
  • ก็เลยไปหา ค้นคว้าอ่านหนังสือ ว่าคณะกรรมการชุดนี้ทำอะไร ได้ความรู้มาบ้าง ก็คิดในใจว่า อยากทำ
  • แล้วโอกาสอันดีก็มาถึง พี่มาชวน "หนูนีมาเป็นผู้ช่วยเลขาคณะกรรมการพี่ไหม ... คณะกรรมการควบคุมการติดเชื้อ" คิดว่าดิฉันจะตอบว่ายังไงคะ ... ก็ "ทำ OK ค่ะพี่ ทำ"
  • หลังจากนั้นก็ไปค้นคว้าหาหนังสืออ่านอีก แต่ว่าการอ่านหนังสือ มันมองไม่เห็นภาพ เพราะว่าเป็นความรู้ในตำรา นำมาปฏิบัติจริงไม่ได้ ... เราดูการทำที่ผ่านมาแล้ว มันก็ยังอยู่ที่เดิม แล้วเราจะทำอย่างไร ก็จะถามความรู้จากคนที่ทำมาแล้ว คำตอบที่ได้ก็ยังไม่ใช่คำตอบที่ดี
  • มาอีกครั้งหนึ่ง ผู้บริหารส่งไปอบรม เป็นการอบรมการติดเชื้อ 2 อาทิตย์ ก็ได้คำตอบจากที่อ่าน ค้นคว้ามา ว่า เขาเอามาใช้จริงกันอย่างนี้
  • จากการอบรม ก็ได้ความรู้เพิ่มเติม ว่าความรู้นั้นเขานำมาปฏิบัติจริงอย่างไร เสร็จสรรพได้ความรู้กลับมา ก็มีไฟอย่างแรง ว่าจะกลับมาทำงาน
  • เริ่มแรกก็มาเดินหาข้อมูลของ รพ. ว่า รพ.เราตอนนี้ปฏิบัติอะไรอยู่ มีข้อปฏิบัติยังไง ... พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ใน รพ.เราแต่ละคนเป็นอย่างไง ... เราควรจะสอดแทรกความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ใน รพ. รูปแบบไหน วิธีไหนดี ที่จะให้เขาทำ
  • เพราะว่ามาตรฐานการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ ก็เท่ากับเปลี่ยนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ให้เขาขยันทำ เช่น การล้างมือ เขาต้องขยันทำ เขาควรจะทำเพื่อป้องกันตัวเขาเอง ป้องกันคนไข้ ... เราจะทำยังไงดีนะ ก็หาข้อมูลไปเรื่อยๆ
  • การหาข้อมูล ก็คือ การเดินไป ward นั้นที ก็คุยเจ๊าะแจ๊ะไปเรื่อย
  • และการคุย จะสังเกตพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่แต่ละคน คุยไปเรื่อยๆ ดูว่าเขามีความคิดยังไง คิดอย่างไร เขาสนใจกับเรื่องที่เราคุยไหม ไป ward นั้น นี้ ดูพื้นที่การปฏิบัติทั้งหมด และเราก็ได้ข้อมูลในมือ เราก็มาวางแผน และมาคุยกับทีมคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นระดับหัวหน้างานต่างๆ แต่ละท่านมีงานเยอะมาก คนที่มีไฟ มาเจอคนที่ไม่สามารถร่วมไปกับเราได้ ไฟก็เริ่มมอด มอดไป
  • ก็คิดว่า ... ไม่ได้ละ อยากทำ ทำยังไงดี ... หาแนวร่วมดีกว่า เราก็ไป ward ใหม่ ก็เจ๊าะแจ๊ะใหม่ และดูความคิดของแต่ละคน เขาตอบสนองเรา อยากจะทำ เราก็ถามว่า ทำงานกับเราใหม่ ก็ได้แนวร่วมมา 2 คน คนแรกเป็นเพื่อนพยาบาล อีกคนหนึ่งเป็นน้องเภสัช รวมกันเป็น 3 คน
  • ตอนนี้จะทำยังไงให้เขามีความรู้เท่าๆ กับเรา หนึ่งเลยคือ พูดให้ฟังว่าไปอบรมมา 2 อาทิตย์ ... เสร็จแล้วก็จะนำไปพัฒนาศักยภาพ โดย เมื่อมีการอบรมก็พาไปด้วย ... เสร็จแล้วก็จะเพียรไปทำ (เท่ากับ ... เราพาเขาไป และไปทำให้ดู) ว่า ที่เราเรียนมา ควรเป็นอย่างนี้ใช่ไหน และนำไปดูสถานที่ต่างๆ ที่เขามีการพัฒนาแล้ว ... ที่พาไปดูงานตามที่ต่างๆ เพราะอยากให้คนทำได้แรงบันดาลใจ ว่าคนอื่นก็ยังทำ เราจะมาท้อไม่ได้ เพราะว่าคนอื่นๆ เขาก็มีงานมากกว่าเรา ได้เห็นแนวทาง และเก็บตัวอย่างมาใช้กับเรา แต่ไม่ได้ลอกเลียนทั้งหมด มาปรับใช้กับสิ่งที่เราเป็นอยู่ เมื่อได้แนวร่วม เราก็ลุยกันทำ ทำ และทำ
  • ก็จะเจอปัญหาว่า ส่งนโยบาย ส่งแนวทางปฏิบัติเข้าไป ก็หายเข้าในกลีบเมฆ เพราะว่าพฤติกรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเขาไม่เข้าใจว่า ทำไมเขาต้องทำ ทำเพราะว่าโดนคำสั่งหรือ ก็ต้องมีคณะกรรมการชุดนี้ทำไหม ถึงจะผ่าน HA
  • … 3 คน นี้ก็ต้องใช้วิธีที่ว่า เพียรไปทำ เดินไปย้ำบ่อยๆ ว่า ที่คุณทำไม่ใช่เพราะ รพ. จะทำ แต่ 1) คุณจะไม่ได้โรคกลับบ้าน 2) คุณจะไม่นำโรคของคุณไปให้คนไข้  3) โรคที่อยู่ใน รพ. จะไม่ไปถึงชุมชน ก็เลยต้องให้เขาทำ
  • อย่างเช่น การล้างมือ เมื่อก่อนอาจล้างได้ แต่ทราบไหมว่าตามมาตรฐาน ล้างกี่วิธี กี่ขั้นตอน ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ตอนนี้ทุกระดับตอบได้ ว่า มีกี่วิธี กี่ขั้นตอน เพราะว่าเราเพียรไปทำ
  • เสร็จแล้วเราก็ปรับพฤติกรรมของทุกคนให้เขาได้รับรู้ประโยชน์ก่อนว่า ประโยชน์ที่เกิดกับตัวเขาเองคืออะไร ตอนนี้เขารู้ว่า เขาไม่ได้โรคกลับบ้านไป แสดงว่า เขาก็ควรทำ อย่างเช่นการล้างมือ
  • เราก็เอาใหม่ จัดอบรมบุคลากร กำหนดนโยบาย และส่งมาตรฐานไป หลังจากนั้นไปประเมินอยู่เรื่อยๆ ก็ได้รับการตอบรับอย่างดี
  • ผลงานที่รู้สึกภาคภูมิใจ คือ การจัดทำ Central supply รพ.ของเราเมื่อก่อนเป็นโรงซักฟอก และรับเครื่องมือของแต่ละ ward เพราะก่อนทำก็มีคนบอกว่า จะไหวเหรอ ... เราก็จะทำ เพราะว่าเป็นมาตรฐานที่เราต้องทำด้วย ก็จะมาคุยกับทีมแนวร่วม
  • เริ่มต้นที่ การไปวางแปลน Central supply ก็จะมี เภสัชมาช่วยเราวางแปลน เพราะว่าเขามีความรู้ที่เราให้ และมีใจที่จะทำ
  • แล้วตอนนี้ ระบบ Central supply ก็เกิดขึ้น ของมาจาก ward ต่างๆ มากขึ้น ทำให้พยาบาลแทนที่จะต้องล้างเครื่องมือเอง ก็ได้ใช้เวลาไปดูแลคนไข้ได้มากขึ้น
  • อีกอย่างหนึ่ง เรื่องการคัดแยกขยะของยังไม่ดี แต่ตอนนี้ทุกคนเลิกทิ้งขยะ คัดแยะขยะได้ถูกมากขึ้น และถ้าสมมติแบบว่า มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในขยะติดเชื้อปุ๊บ เหยียบไปแล้วบอกได้ทันทีว่าผิดที่
  • ทุกคนจะรู้ความหมาย รู้ว่า IC สำคัญอย่างไร

คุณยุพินสรุปไว้ว่า

  • การทำงาน ถ้าเราถูกสั่งให้ทำ ทั้งๆ ที่ไม่พร้อม งานก็ไม่เกิด
  • แต่ถ้าเรามีบุคลากรเช่นนี้ ซึ่งเป็นบุคลากรแห่งการเรียนรู้ ... เขาอยากทำ รวมทั้งเสาะหากลุ่มคนที่จะมาเรียนรู้กับเขา พากันไปทำกิจกรรมต่างๆ ก็ทำให้ทำกิจกรรมได้หลากหลายมาก
  • ในเรื่องพัฒนาคุณภาพ เราก็เป็น The best และบางครั้งเราก็มีงานประจำมาก เราก็ต้องแยกให้ออกว่า งานที่เราทำนั้นส่งผลกระทบต่อการบริการอย่างไร จึงจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการดำเนินงาน

 

หมายเลขบันทึก: 91859เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2007 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

โอ๊ย.....เหนื่อยแทนเลยนะคะ แต่ได้ใจไปเต็มๆเลยค่ะ ต้องขอบคุณที่คุณ เพื่อนร่วมทาง  นำมาเผยแพร่นะคะ เผื่อใครกำลังจะเดินตามจะได้ไม่ท้อไปเสียก่อน เพราะได้รู้แล้วว่าต้องพยายามกันขนาดไหน 

  • งานนี้ต้องยกความดีความชอบให้น้องนลินี และคณะ นะคะ อ.โอ๋
  • เราคน รพ. ก็ย่อมรู้ว่า ไม่ง่าย ไม่ยาก
  • ความมีใจ และความมีไฟ ของน้องๆ เขาเยี่ยมมากเลยค่ะ
  • เลยอดไม่ได้ที่จะเผยแพร่
  • และคงต้องไปลุ้นให้ต่อยอด ให้มีการใช้ KM สานต่องานต่อไปละค่ะ
  • คุณยุพินสรุปไว้ดีมากครับ "การทำงาน ถ้าเราถูกสั่งให้ทำ ทั้งๆ ที่ไม่พร้อม งานก็ไม่เกิด"
  • ต้องเกิดจากความตระหนัก และเกิดมาจากข้างใน ไม่ว่างานในลักษณะใด/หน่วยงานใด ก็คงสำเร็จได้ยากเช่นกัน
  • ขอบพระคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท