เยี่ยมเสริมพลัง ศูนย์อนามัยที่ 7 อุบลฯ (10) เรียนรู้ต่อยอด (2)


และส่วนของคณะกรรมการ KM ก็คงต้องปรับ ... และเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องหูไวตาไวด้วย เพราะว่า อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องเจอกันครึ่งทางที่พวกเราเองที่ทำงานในแต่ละงาน ก็ต้องคิดกันว่า เราจะใช้ KM ไปในการทำงานได้อย่างไร และเราจะส่งข้อมูลต่างๆ ให้คณะกรรมการรวบรวมได้อย่างไร

 

เรื่องย๊าว ยาว ในตอนที่สองอ่ะจ๊า ...

แลกเปลี่ยนจากชาวศูนย์ฯ 7 มั่งจ้ะ

คุณละออ ...

  • ตอนที่น้องๆ เขามาพูดว่า เราต้องทำ KM ก็ค่อนข้างหนักใจ เพราะว่าตอนเล่าน่ะเล่าได้ แต่พอจะสกัดออกมาเขียนแล้ว ลำบากใจ
  • พี่ๆ ก็เลยต้องใช้วิธีเล่าเสร็จ สรุปกันแล้ว ... มาเขียนให้หน่อยนะ
  • หลายอย่างเราใช้กระบวนการ KM ตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว ที่มีการชี้แจงแผนฯ โดยเชิญผู้ที่ประสบความสำเร็จใน setting ต่างๆ ที่ได้ทำนโยบาย ให้เขามาเล่าเรื่องความสำเร็จ โดยใช้ Fa จากส่วนกลาง คือ ผอ.พิษณุ
  • จากตรงนั้นก็ขยายงานไปได้เยอะ เช่น งานส้วม ส่วนใหญ่ที่เขามาฟังคือ เจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจะมีผู้บริหาร รร. เขาก็จะไปขยายงานต่อ เราจะเห็นว่า มีการขยายงานต่อไปเรื่อยๆ ผ่านชมรมสร้างสุขภาพ
  • พอไปเจอหน้าเขา เขาบอกว่า ที่ศูนย์เชิญเข้ามานำเสนอในวันนั้น ตอนนี้เขาไม่ว่างเลย เขาเดินสายตลอด เพราะว่าใครๆ ก็เชิญไป ไปช่วยจังหวัดอื่นๆ อันนี้เราก็เห็นว่า นำมาใช้ประโยชน์ได้
  • หลังจากนั้น หลายๆ งาน ท่าน ผอ. ก็บอกว่าให้ใช้กระบวนการงานนี้มาจับ ก็มีเรื่องชมรมผู้สูงอายุก็ได้ใช้กระบวนการ KM ตรงนี้น้องเขาสรุปเป็นเอกสารแล้ว ก็จะรู้ว่าบริบทการทำงานเป็นยังไง
  • และงานที่ 3 ที่จะทำ ก็คือ เรื่องของชมรมสร้างสุขภาพ กำลังที่จะเตรียมทีมกันอยู่ จะเวียนไปจังหวัดต่างๆ ก็จะดูว่า การสนับสนุนองค์กรท้องถิ่นแต่ละแห่งทำยังไง และคนที่ทำงานในชมรมที่ประสบความสำเร็จแล้ว เขาดำเนินการอย่างไร
  • ก็มีการคุยกันว่า เรายังขาดในเรื่องของการเขียน ก็ทำให้ไม่เห็นว่า จริงๆ แล้ว เราก็มี

คุณศรีวิภา เสริมเล็กน้อยละค่ะ

  • ที่ได้เสนอกับกองคลัง สิ่งที่จะช่วยได้คือ การบันทึกเสียง ถอดเอง หรือจ้างถอดเทป หรือมี mp3 เป็นไฟล์ เราต้องวางแผน
  • ในการจัดประชุมต้องเตรียม Note taker ไว้เลย อันดับแรกของมือใหม่หัดขับ ได้ยินอะไรจดไว้ก่อน หลังจากนั้นเราก็จะมาดูกัน เพราะว่าสิ่งที่เขาทำคือ จดเอาไว้ วางไว้หลายคน และเราก็จะมาเรียนรู้กันระหว่างทีม
  • ก็จะพบว่า เด็กบางคนเป็นมือ note taker สุดยอดเลย จดละเอียดมาก แต่อาจจดไม่หมด ก็อาจจะจดได้เป็น tacit ก็มี และขณะเดียวกันก็มาเติมกัน เขาก็อัดวิดีโอไว้ ก็จะมีหลักฐาน สุดท้ายเขาก็จะมีหนังสือ และมีภาพด้วย
  • ของกองคลังจะใช้บันทึกเสียง ให้เจ้าพนักงานพิมพ์ดีดช่วยพิมพ์ให้ เป็นการจัดการ องค์ความรู้ และจัดการอีกที ในการหาตัวช่วย จะได้ไม่ขาดตกบกพร่อง และการรายงานก็ไม่ต้องทำงานหนัก เพราะว่าได้ถูกบันทึกไว้แล้ว พอขึ้นเวปไซต์ก็เอาแค่ URL มาใส่ไว้ก็จะง่ายขึ้น

ดิฉันก็เชื้อเชิญสมาชิกชาวอุบล มาร่วม ลปรร. กันใน GotoKnow บ้างละค่ะ

  • วิธีการบันทึกเหมือน diary และเวป gotoknow.org ของ สคส. ได้ link ไว้ที่ KCenter ของกรมอนามัย ภายใต้ Planet http://gotoknow.org/kmanamai และก็จะมี link ชาวกรมอนามัย ที่บันทึกไว้ในนั้น ของศูนย์อนามัยที่ 7 ก็จะมีเปิดบันทึกไว้แล้ว 3 ท่าน และบันทึกแต่ละอันก็สามารถรวบรวมไว้ให้อยู่ในห้องเดียวกัน ซึ่งเรียกว่า Planet ซึ่งก็ได้เปิดขึ้นแล้ว เวลาที่พวกเรามีประสบการณ์จากการทำงานใดๆ ก็ตาม ก็นำมาบันทึกเข้าไว้ใน weblog เป็นความรู้ที่สะสม
  • ใน Gotoknow จะมีเพื่อนมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากมาย เพราะปัจจุบันก็มีบันทึกเข้าไปแล้วกว่า 100,000 บันทึก และสมาชิกกว่า 20,000 ราย ทั่วประเทศ ยิ่งที่อุบลฯ พอมีการบันทึกขึ้นไปปั๊บ ก็จะมีเครือข่ายอุบลฯ เขาก็เริ่มมา join อยากรู้จัก อยู่จังหวัดอุบลฯ ด้วย เราก็จะได้เครือข่ายไปในตัว
  • และการเป็นเครือข่าย ณ ที่นี้ ก็ไม่จำเป็นต้องเห็นหน้าตาเท่าไร คุยกันไป comment กันไป เราก็จะได้ความสนิทสนม และต่อยอดเมื่อได้พบปะเจอหน้ากัน
  • การขึ้นบันทึกไม่ยาก ทดลองด้วยตัวเอง เข้าระบบ เริ่มตั้งแต่สมัครสมาชิก มีข้อมูลให้กรอก 2-3 หน้า และมีเมนู เป็นตัวช่วยให้เข้าใช้บันทึก และลองอ่านของคนอื่นที่ขึ้นบล็อก และทดลองบันทึกตาม ใครก็สามารถทำได้ค่ะ

ผอ.ดนัย ... สรุปค่ะ ... ท่านมาด้วยเรื่องเล่าหลายๆ เรื่องทีเดียว

  • ในหลายๆ ครั้ง หลายๆ เรื่อง ก็เป็นข้อจำกัดของวิธีคิดของพวกเราเหมือนกัน ผมคิดว่า น่าจะเป็นข้อจำกัดของคนไทยทั่วประเทศ ที่ติดยึดอยู่กับคำว่า ออกแบบมาให้ด้วย หรือว่า ทำอะไรมาให้เป็นร่องเป็นรอยก่อน ในลักษณะแบบนี้
  • แต่ว่าพอให้คิดอะไรต่างๆ เอง ก็คิดกันไม่ออก ได้แต่เรียกร้องว่า ต้องการรูปแบบ ต้องการตัวอย่าง ต้องมีแบบฟอร์ม ตรงนี้ก็เป็นข้อจำกัดในส่วนหนึ่ง ที่เป็นเรื่องที่จะต้องอาศัยทางส่วนกลาง และคณะกรรมการ KM ที่จะเป็นตัวกระตุ้น และทำให้ KM แฝงเข้าไปอยู่ในงาน
  • และส่วนของคณะกรรมการ KM ก็คงต้องปรับ ... และเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องหูไวตาไวด้วย เพราะว่า อย่างน้อยที่สุด ก็ต้องเจอกันครึ่งทางที่พวกเราเองที่ทำงานในแต่ละงาน ก็ต้องคิดกันว่า เราจะใช้ KM ไปในการทำงานได้อย่างไร และเราจะส่งข้อมูลต่างๆ ให้คณะกรรมการรวบรวมได้อย่างไร
  • ตัวคณะกรรมการเอง ลองคิดดูว่า วิธีการที่เป็น KM Spy เราก็สามารถ Spy ได้หลายเรื่อง ไม่ใช่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ในเรื่อง พลังงาน Spy ก็มี รู้หมดว่าใครเปิดไฟ ใครปิดไฟ ใครเปิดแอร์ ใครออกทีหลังแล้วไม่ยอมปิดปิดแอร์ อันนี้ก็มีบันทึกรอการจัดการขั้นสุดท้าย หรือว่า Spy ในเรื่อง 5 ส Healthy Workplace
  • และตรงนี้ก็ถือว่า ใครทำคนนั้นก็ได้ คนไหนยิ่งทำเยอะ ยิ่งจะได้ประสบการณ์เยอะ
  • (... อันนี้ก็เรื่อง น้องจัดการความรู้พี่ละค่ะ ...)
  • สิ่งที่ได้วางบทบาทไว้ก็คือว่า นอกจากจะมีพี่ไปทำงานแล้ว ก็มีน้องไปทำงานด้วย ตรงนี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่คุณศรีวิภา ได้ให้ข้อมูลกับเราว่า การที่มีน้องติดสอยห้อยตามไปนั้น เป็นหน้าที่ของน้องที่จะต้องเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์จากพี่ๆ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นประสบการณ์ให้กับตัวเอง แต่ในขณะเดียวกัน การที่จะเอาประสบการณ์ให้กับตัวเองได้ ก็ต้องบันทึก อย่างน้อยก็ต้องดึงข้อมูล ดึงประสบการณ์จาก ไม่ว่าจะเป็นคุณไฉไล คุณสิริพินท์ คุณประไพ คุณสิรภัทร์ ดึงมาหาตัวให้ได้มากที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
  • ไม่ได้เป็นเพียงแต่ติดสอยห้อยตามไปเพื่อเขียนรายงานการเดินทาง หรือแค่ไปถ่ายรูป หรือแค่ไปจดบันทึกรายงานการประชุม
  • เรารู้ว่า ภารกิจในส่วนของ รพ. จะไม่ใช่ภารกิจหลัก แต่ว่าเป็นแค่เสี้ยวเดียวของภารกิจหลัก แต่ก็คือ การที่จะต้องเป็นองค์กรหลักของการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งการเป็นองค์กรหลักนี้ กลไกการทำงานของ รพ. หรือประสบการณ์ตรงนี้ มันเป็นแค่เสี้ยวหนึ่ง แต่เสี้ยวอื่นยังมีอีก
  • เป็นต้นว่า ประสบการณ์จากภาคีเครือข่ายจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์เด็กเล็ก เรื่องของ รพ.ส่งเสริมสุขภาพ รพ.อื่นๆ อีกกว่า 100 รพ. ในเขตเรา หรือว่า รร. 4,000-5,000 กว่า รร. เราจะไปหาผลของการศึกษาตรงนั้นมาได้อย่างไร อาจจะผ่านกลไกของพื้นที่การศึกษา กลไกของเทศบาล อบต. ตรงนี้ เราจะเอาออกมาได้อย่างไร
  • ... เราก็จะมีโอกาสที่น้องๆ จะได้ประสบการณ์ตรงนี้ ภายใต้การเป็นพี่เลี้ยง การเป็น supervise ที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ว่า สรุปตรงนี้ได้เป็นอย่างไรบ้าง
  • และวิธีการที่จะเข้าเทศบาลตรงนี้ก็ต้องเข้าหานายกฯ ถ้าพบว่าตามบริบทแล้วคนที่มีบทบาทเด่นคือ นายกฯ เราก็เขียนแผนรองรับว่า เมื่อเปลี่ยนนายกเทศมนตรี เราก็ต้องเปลี่ยนการ approach ใหม่ แต่ในเทศบาลบางแห่ง บทบาทสำคัญอยู่ที่ปลัดฯ ตรงนี้ก็อาจไม่จำเป็นพอเปลี่ยนนายกที ก็ต้องไป approach ใหม่ ผ่านทางปลัด อบต. หรือ ปลัดเทศบาลได้อย่างต่อเนื่อง
  • หรือในลักษณะงานที่ทำในภาคี สสจ. บางงาน ณ ขณะนี้ ก็ต้องดูว่า ตัวผู้ปฏิบัติ จะเข้าไปหาพี่ผู้ปฏิบัติงานตรงนี้ก็ต้องเข้าไปในลักษณะแบบเดียวกันก็คือ บางคนพูดเล่นได้ เลิกงานก็คุยกันได้ แต่บางคนก็ไม่มีลักษณะแบบนี้ ต้องมาแบบเป็นทางการเท่านั้น
  • ตรงนี้ก็เป็นประสบการณ์ที่สำคัญ ที่พี่เราเป็นตัวหลักให้ เขาจะบอกว่า ตรงนี้ สสจ. เทศบาล ต้องเป็นแบบนี้นะ หรือในส่วนผู้รับผิดชอบงานที่อยู่ในกระทรวงอื่น เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักพระพุทธศาสนา ที่จะมา join กับเราเรื่องวัด เรื่องผู้สูงอายุ จังหวัดนี้เป็นอย่างไร ก็เป็นประสบการณ์ที่เราจะดึงเอามาจากพี่พี่ ที่จะมาถ่ายทอดให้กับพวกเราที่จะดึงออกมา
  • และตรงนี้จะเป็นผลงานที่สำคัญที่ไม่ต้องรอบอกว่า ความสำเร็จของคณะกรรมการ KM จะมีการประชุมกี่ครั้ง หรืออะไรต่างๆ แต่แฝงอยู่ในเนื้องานที่เราทำอยู่ทุกกิจกรรม ทั้งส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ในฝ่ายบริหารที่จะเกี่ยวข้องในเรื่องบริหารจัดการ หรือคุณภาพของงานบริการ
  • เพราะจริงๆ ตอนนี้เรายังมีทรัพยากรอื่นๆ ที่ยังมีองค์ความรู้อีกมากมาย ที่ยังสกัดออกมาไม่ได้
  • (... มาถึงเรื่องหน่วยสุขภาพเคลื่อนที่ ...) 
  • ... ถ้าดูหน่วยเคลื่อนที่ของเรา ถ้าพูดในทัศนะของคนที่ OK เราอาจจะคุ้นเคย อาจจะมีความรู้สึกว่า นึกไม่ออกเหมือนกัน ว่า แล้วทำไมเขายังใช้บริการของเราอยู่
  • คือ จริงๆ ถ้าพูดถึงภาพลักษณ์ เห็นแว๊บเดียวเราก็เห็นว่า ทีมที่ทำงานเขาก็แต่งตัวกันตามสบาย ไม่ได้สวยหรูเหมือนเอกชน จุดให้บริการบางทีป้ายเขียนก็ชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง บางทีก็หลุดบ้าง อีรุงตังนังไปหมด แต่ปรากฏว่ามีผู้รับบริการนั่งรอคิวกันมาก ทุกวัน เต็มตลอด วันหนึ่งก็ 70-80 คน หรือ 100-200 คน
  • และจริงๆ ตรงนี้ หลักๆ คือ ที่เขาอยู่กับเรานั้น มันมาจากอะไรกันแน่ ก็ยังมา follow up กับเราอีกในวันเสาร์ก็ร้อยกว่า เพราะอะไร มันไม่ใช่เพราะยาแน่นอน แต่ว่ามันต้องมีจากอย่างอื่น มีอะไร
  • หรือว่า เพราะมีบริการที่เราตรวจให้เขาเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว ซึ่งจริงๆ ตรงนี้ OK มันกลั่นออกมาจากทีม
  • แต่ว่าในสายตาของคนที่ดูในภาพใหญ่ คือ การที่ช่วยจัดการในเรื่องการรอผลการตรวจทางแลป Xray เรียบร้อย รวดเร็ว
  • และตอนหลังมาพ่วงกับเรื่องการเบิกจ่ายตรงอีก กรณีที่ตรวจแล้วพบว่า มีปัญหา จำเป็นจะต้องใช้การดูแล การจ่ายยา
  • ตอนแรกเรามีปัญหาว่า จะใช้บริการทันทีไม่ได้ ตอนหลังเราปรับใหม่ ว่า ส่งคนไป scan ลายนิ้วมือ นำข้อมูลเข้าในระบบการเบิกจ่ายตรง 2-3 สัปดาห์ ก่อนออกตรวจ
  • เพราะฉะนั้น case ที่จะไปตรวจในเดือนนี้ เราเริ่มออกไป scan ลายนิ้วมือ ส่งข้อมูลให้กรมบัญชีกลางได้ก่อน แล้วพอเราไปถึงในวันนั้น ข้อมูลตอบกลับของกรมบัญชีกลางก็จะออกมา ก็จะตรงกับระบบต่างๆ ของเรา และระบบเบิกจ่ายตรง และระบบต่างๆ ก็จะมา match กันได้พอดี
  • และตอนนี้ก็อาศัยทีมที่ทำ เขียนออกมา และต้องมีการมา revise ใหม่ ให้ sequence ให้เข้าใจ
  • ... เรามีทรัพยากรเยอะ รออย่างเดียวก็คือ การจัดการ ซึ่งที่อาจารย์แนะนำแล้วก็คือ ... การจัดการไม่ได้อยู่ที่เครื่องมือ แต่ว่าอยู่ที่พวกเราทุกคนที่จะต้องทำในแต่ละงาน แต่ละชิ้น ที่จะจัดการงานให้ออกมาได้ ...
  • ตรงนี้ ... มันมีร่องรอยของเดิม ที่มีการเพิ่มปริมาณเป็นมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และคงเป็นตัวสำคัญ ที่ทีม KM เป็นกลไกสำคัญที่จะต้องคอยกระตุ้นเตือน ทำให้งานอื่นๆ ที่จะทำให้มีการสังเคราะห์ตรงนี้ออกมา
  • เราจะเหมือนกองเลขาฯ ที่คอยรวบรวมฐานข้อมูลเหล่านี้ edit ข้อมูลแต่ละหน่วยมารวมไว้ จะได้กระตุ้นความคิด และก็อยู่ในการทำ KM ด้วย ก็จะช่วยให้งานต่างๆ ไหลลื่นไปได้ตลอด
  • คิดว่า ... ตรงนี้คงเป็นความคิดที่สำคัญว่า เราได้ข้อคิดหลายๆ อย่าง พวกเราเองก็มีทรัพยากรที่สำคัญ มีความมุ่งมั่นอยู่แล้วในระดับหนึ่ง
  • เหมือนกับที่เคยบอกพวกเราไว้ในหลายๆ ครั้งแล้วว่า อนาคตของกรมอนามัยคือพวกเรา เพราะว่าจริงๆ แล้ว อีก 10 ปีข้างหน้า ศูนย์บางศูนย์ก็จะไม่มีบุคลากรเดิมๆ แล้ว แต่ว่าพวกเราอยู่กับเกือบครบ ตรงนี้ ถึงกล้ายืนยันว่า อนาคตกรมอนามัยอยู่ที่พวกเรา ที่เราต้องอาศัยประสบการณ์จากพี่ๆ เหล่านี้ จากที่ศูนย์ฯ ของเราเอง จากอาจารย์ หรือหลายๆ ท่านในกรมฯ ที่จะมาป้อนสิ่งต่างๆ เหล่านี้ให้กับเรา
  • ... ขอบคุณที่ได้มอบสิ่งดีดีให้กับศูนย์อนามัยที่ 7 อุบลราชธานี ขอบคุณพวกเราที่เป็นกำลังให้กับศูนย์ฯ และช่วยกันนำพา KM ให้ไปสู่เป้าหมายสำคัญ

ไชโย๊ ... ไผเป็นไผ ดูเอาเด้อ

 

หมายเลขบันทึก: 105973เขียนเมื่อ 24 มิถุนายน 2007 19:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วก็ดีใจ เพราะ

1. เพิ่งรู้ว่าเรามีตัวช่วยเป็นวิทยากร KM อยู่ที่ส่วนกลางคือ ผอ พิษณุ เล่นเป็นเสือซ่อนเล็บ คงกลัวทีมกลางไปใช้เป็นวิทยากรจนไม่มีเวลาทำงานอื่น 

2. งานที่ใช้ KM มีหลากหลายสารพัดประเภท ยังไงอย่าลืมเอาที่ถอดบทเรียนมา upload ให้ได้อ่านกันบ้างนะครับ มี version ยาวจดง่ายๆไปตามที่คนพูดๆ กับ version สะกัด เอาแต่ idea หรือ เกล็ด ดีๆที่ไดจากการคุยแต่ละครั้งมาลงไว้ก็พอ

3. รูปตบท้ายสุดยอด เห็นแต่คนหัวเราะ ยิ้มกว้าง อยากเข้าข้างตัวเองว่านี่เป็น ผลจากกระบวนการ KM ที่ออกฤทธิ์ ทั้งภายนอก (อย่างที่เห็น) และภายใน (ที่เจ้าตัวคงรู้สึกได้เอง และคงไม่แคร์ว่าจะไปส่งผลถึง KPI หรือเปล่า) 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท