เบื้องหลัง การทำงานวิจัย


การสนับสนุนให้คนทำงานวิจัย โดยเขาไม่เห็นความสำคัญนั้น ไม่น่าจะได้ผล ทำอย่างไรที่จะทำให้คนสนใจที่จะทำงานวิจัยก่อน แล้วค่อยสนับสนุน หรือคัดกลุ่มคนที่สนใจออกมาก่อน แล้วค่อยสอนให้เขาทำวิจัย การเหวี่ยงแหโดยคาดหวังว่าเขาจะสนใจนั้น ไม่น่าจะคุ้มค่ากับความเหนื่อยที่ต้องลงทุนไป
     ขอฉลองศรัทธาคุณนิดหน่อยสักหน่อยที่อยากให้ผมเล่าเบื้องหลังการทำงานวิจัยให้ฟัง
     ผมเริ่มทำวิจัยและสนใจที่จะทำวิจัยก็น่าจะก่อนปี 2536 ก่อนที่จะไปเรียนที่มาเลเซีย ตอนนั้นอาจารย์ขจรศักดิ์สนใจเรื่องของ scrub typhus ผมกับจินตนาก็เลยได้เข้าร่วมโครงการกับอาจารย์ โดยเริ่มต้น ทำวิธี Weil-Felix เทียบกับ วิธี IFA ก็สนุกสนานมากครับกับงานที่ทำ ก็เลยทำให้สนิทกับจินตนามากขึ้น อย่างน้อยก็ได้ discuss กับคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง ยิ่ง discuss ก็ยิ่งสนุก คนอะไรก็ไม่รู้คุยสนุกจริงๆ เริ่มจะพาออกนอกเรื่องอีกแล้ว กลับเข้ามาในเรื่องก่อน ตรงจุดนี้ก็เริ่มได้รู้จักกับการทำวิจัยที่เรียกว่า diagnostic test เป็นการเปรียบเทียบวิธีที่เราทำขึ้นกับวิธีมาตรฐานหรือ gold standard อาจารย์ขจรศักดิ์ สอนให้รู้จักการคำนวณความไว ความจำเพาะ ผลบวกลวง ผลลบลวง ฯลฯ จินตนาได้นำผลงานเรื่องนี้ไปเสนอทางวาจาในงานประชุมวิชาการคณะแพทย์ หลังจากนั้นก็ได้ทำวิจัยในลักษณะนี้อีก 2 เรื่อง คือ การประเมินผลการตรวจ scrub typhus ด้วยวิธี dot EIA และการประเมินผลการตรวจ murine typhus ด้วยวิธี Dot EIA ทั้งสองเรื่องมีอาจารย์ขจรศักดิ์เป็นหัวหน้าโครงการ และเป็นผู้ประสานงานติดต่อทุกอย่าง พวกเราเป็นเพียงคนทำงาน แต่เราทั้งสองคนได้เรียนรู้กระบวนการทำงานวิจัยจากโครงการทั้งสองเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่การออกแบบการทดลอง การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ได้ลองฝึกเขียนบ้างอย่างที่เคยเล่าให้ฟัง สิ่งเหล่านี้เป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ทำให้เมื่อต้องเริ่มต้นทำวิจัยของตัวเองจริงๆ แล้ว งานวิจัยก็ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับเรา เพราะก่อนหน้านี้ได้คบหาเป็นเพื่อนสนิทกันมานาน
     ผมมาเริ่มชิ้นงานวิจัย ที่ทำเองเขียนเองภายหลัง ปลายปี 2543 เป็นปีที่น้ำท่วมหาดใหญ่ 3 วัน อาจารย์ขจรศักดิ์มองภาพออกตั้งแต่ต้นว่า leptospirosis หรือโรคฉี่หนูน่าจะกลับมาระบาด อาจารย์จึงขอให้ทางแล็บช่วยตรวจคนไข้ที่อาจารย์ส่งมาและออกผลให้ได้ภายใน 3 วัน จากเดิมที่เราทำกันอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ถ้า positve ก็ต้องทำไตเตอร์ ซึ่งสามารถจะออกผลได้ภายใน หนึ่งอาทิตย์ แต่จากการทำงานที่ดีของจินตนา ซึ่งรับผิดชอบในฐานะหัวหน้าหน่วยในขณะนั้น ทำให้เราทำการทดสอบนี้ ทุกวัน ในกรณีที่เป็นผลลบ เราออกผลได้ภายในหนึ่งวัน หากเป็นผลบวกก็ออกผลได้ภายในสองวันหลังจากรับตัวอย่างตรวจ ความที่อาจารย์ขจรศักดิ์เป็นนักวิจัยที่ดี ดังนั้นการเก็บตัวอย่างของอาจารย์จึงเป็นไปอย่างมีระบบ เป็นการเก็บตัวอย่างตรวจคนทุกรายที่มีอาการไข้ หลังจากน้ำท่วมหาดใหญ่ ติดต่อกันไปประมาณ 1 เดือน โดยเก็บตัวอย่างทั้งที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์และโรงพยาบาลหาดใหญ่ ทำให้คนไข้ได้รับประโยชน์จากการได้ผลการตรวจที่รวดเร็วแล้วรักษาได้ถูกวิธี  แล้วตัวอย่างตรวจที่เก็บได้นี้ คือที่มาของงานวิจัยต่อเนื่องของผม
     ตัวอย่างตรวจเหล่านี้ ถ้าโดยขั้นตอนปกติ หน่วยฯจะเก็บไว้ประมาณ 1-3 เดือน แล้วก็จะทะยอยทิ้ง แต่บังเอิญว่าตัวอย่างตรวจเหล่านี้ถูกแยกเป็นพิเศษและมีความตั้งใจที่จะใช้เป็นแหล่งตัวอย่างสำหรับกลุ่มอาการไข้สูง จึงขอเก็บไว้ต่างหาก
     ผลการตรวจในผู้ป่วยจาก 2 โรงพยาบาล ประมาณ 500 กว่าราย ได้ความว่ามีโรคฉี่หนูระบาดประมาณ 30 % (ทำโดยวิธี IFA) อาจารย์ขจรศักดิ์ เป็นคนตั้งคำถามว่า แล้วมันเป็น serotype เดียวกันหรือไม่ นั่นเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นแรกที่ผมเขียนเองกับมือ อาจารย์ขจรศักดิ์ประสานงานไปทางพี่พิมพ์ใจ นัยโกวิทย์ เจ้าแม่เล็บโตแห่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สุดท้ายเราก็ได้เชื้อสายพันธุ์มาตรฐานสัก 20 สายพันธ์ แล้วเราก็มาทำวิธี microscopic agglutination (MA) ซึ่งเป็นวิธี gold standard สำหรับการตรวจหาโรคฉี่หนู ไม่อยากจะบอกว่าวิธีนี้หินขนาดไหน จริงๆแล้วเป็นวิธีการง่ายๆ เพียงเอาซีรั่มผู้ป่วยผสมกับเชื้อเลปโตสายพันธุ์มาตรฐาน ตั้งทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง แล้วเอาไปดูด้วยกล้องจุลทรรศน์พื้นมืด แต่มันโหดตรงที่ผู้ป่วย 1 รายต้องทำกับเชื้อ ประมาณ 20 ตัว แล้วถ้าให้ผลบวก ก็ต้องเจือจางซีรั่มผู้ป่วยแล้วนำกลับไปทำปฏิกิริยากับตัวเชื้อใหม่ เพื่อหา ไตเตอร์สุดท้าย แล้วมีผู้ป่วยทั้งหมด 500 กว่าราย ส่วนใหญ่ส่งมากกว่า หนึ่งครั้ง บางคนอาจส่งถึง 4-5 ครั้ง จึงทำ reaction กันเป็น หมื่นๆ reaction ตอนนั้นผมกับจินตนาตกลงกันว่า จะลุยทำโดยให้อ่านผลกันทั้งสองคน เพื่อเปรียบเทียบว่าการอ่านผลระหว่างผู้ปฏิบัติงาน 2 คนให้ผลการอ่านที่แตกต่างกันหรือไม่ โดยคำนวณด้วยค่า kappa  โปรเจ็คนี้เราทำกันประมาณเดือนนึง ทำกันทุกวัน อ่านผลกันทุกวัน จนหมด ผมเป็นคนบันทึกข้อมูลทุกอย่างลงในระบบคอมพิวเตอร์ สุดท้ายก็ได้คำตอบไปตอบอาจารย์ขจรศักดิ์ ว่า เจ้าเชื้อที่ระบาดหลังน้ำท่วมหาดใหญ่ ก็คือ สายพันธ์ bataviae ซึ่งเป็นเจ้าเก่าที่ระบาดอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว แต่แตกต่างจากสายพันธุ์ที่ระบาดทางภาคเหนือ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น icterohemorhagia และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมักจะเป็น สายพันธุ์ pyrogenes อาจารย์ขจรศักดิ์ ก็เลยบอกให้ผมไปเขียนเป็นรายงาน จะส่งไปตีพิมพ์ในรายงานเฝ้าระวังโรคประจำสัปดาห์ ของกระทรวงสาธารณสุข ผมจึงกลับมานั่งเขียนร่างบทความ ซึ่งต้องไปอ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้องใกล้เคียงกันมากขึ้น สุดท้ายผมก็เห็นว่า เรื่องนี้เราสามารถเขียนเป็นบทความวิจัยได้ ก็เลยขอเขียนเป็นบทความตีพิมพ์ ตอนแรกก็เขียนออกมาเป็นภาษาไทย ส่งให้จินตนาดู แต่สุดท้ายเหมือนมีอะไรดลใจ ก็เลยแปลงเป็นบทความภาษาอังกฤษ ทั้งที่ภาษาอังกฤษก็กระท่อนกระแท่นซะเหลือเกิน ผมส่งบทความภาษาอังกฤษ ไปให้อาจารย์ขจรศักดิ์แก้ไข นั่นก็เป็นที่มาของการปรับปรุงการใช้ภาษาอังกฤษสำหรับการเขียนงานวิจัยของผม อาจารย์ขจรศักดิ์แก้กลับมาซะไม่เหลือภาษาเดิมของผมเลย นั่นไม่ใช่ปัญหา ผมเอาต้นฉบับที่ผมเขียน กับฉบับที่อาจารย์ขจรศักดิ์เขียนมาเปรียบเทียบกัน ประโยคต่อประโยค ผมจึงเริ่มเข้าใจว่า การสื่อความแบบภาษาเขียน เขาทำกันอย่างนี้ เพราะใหม่ๆ ผมมักเขียนเป็น present tense แต่เขาเขียนเป็น past tense  ใหม่ๆ ผมมักเขียนเป็น active voice แต่เขาเขียนกันเป็น passive voice ฯลฯ อาจารย์ขจรศักดิ์เป็นคนเสนอว่า ลองส่งที่ วารสารโรคติดเชื้อและยาต้านจุลชีพ หลังจากส่งไปประมาณ 3 เดือน ทางบรรณาธิการก็ตอบกลับมาว่ารับที่จะตีพิมพ์แต่ขอให้แก้ไขตามที่ reviewer ให้คำแนะนำมา ผมก็แก้ไขตามที่ reviewer แนะนำ แต่อาจารย์ขจรศักดิ์ก็เป็นคนสอนผมอีกว่า เราไม่จำเป็นต้องแก้ไขทุกอย่างตามที่ reviewer เสนอมา หากเราคิดว่าของเราถูกต้องแล้ว ก็ไม่ต้องแก้ไข แต่ให้ชี้แจงไปยังบรรณาธิการว่า เราไม่แก้ไขด้วยเหตุผลใด ตรงนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ติดต้วผมไปในการเขียนบทความหลังๆ ถ้าผมไม่เห็นด้วยกับ reveiwer ผมก็เลือกที่จะชี้แจง ไม่เลือกที่จะแก้ไข หลังจากส่งบทความฉบับแก้ไขไปไม่นาน ผมก็ได้รับวารสารโรคติดเชื้อและยาต้านจุลชีพฉบับที่มีบทความของผม และ reprint อีกประมาณ 20 ชุด มันเป็นความรู้สึกที่บอกไม่ถูกว่า ในขณะนั้นผมรู้สึกอย่างไร มันดีใจ มันภูมิใจ ตื้นตันใจกับความเหนื่อยยากที่ทุ่มลงไป สุดท้ายผลสำเร็จเป็นบทความวิจัยที่เขารับตีพิมพ์ หลายคนอาจมองว่า ไม่เห็นมีอะไรเลย กับบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร local ไม่มี impact factor แต่สำหรับผม มันเป็นทุกสิ่ง มันเป็นมากกว่าอะไรทั้งนั้น มันคงเป็นความรู้สึกที่ไม่ต่างจากที่อาคิมิดิส ร้องตะโกนว่า ยูเรก้า หรอก ใครจะพูดอะไรก็ตามผมไม่สนใจ เพราะตอนนี้ผมมีแล้ว บทความวิจัยที่เป็นของตัวเอง ทำเอง วิเคราะห์เอง เขียนเอง และความภูมิใจนี้เองเป็นที่มาของความตั้งใจว่า ผมจะพยายามทำงานวิจัยให้ได้อย่างน้อยปีละ 1 เรื่อง
     อย่างที่บอกไปแล้วว่า ความยากมันอยู่ที่ครั้งแรก เมื่อผ่านครั้งแรกไปได้ มันก็ไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับเราอีกแล้ว จากตอนที่ไปค้นข้อมูลเพื่อเขียนงานวิจัยเรื่องแรกนั้น ผมก็พบว่ามีบางงานวิจัยที่เขารายงาน สาเหตุของโรคไข้สูงไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากโรคอะไรได้บ้าง เป็นร้อยละเท่าไร นี่ก็เป็นที่มาของงานวิจัยเรื่องที่สอง ที่ใช้เงินของอาจารย์ขจรศักดิ์มาทำวิจัยต่อ โดยตรวจหา ไข้เลือดออก เพิ่มขี้นอีก 1 โรค แล้วเอาไปรวมกับที่เราทำไว้แล้วตอนน้ำท่วม ที่ตรวจหา โรคฉี่หนู scrub typhus, และ murine typhus กลายมาเป็นงานวิจัยเรื่อง สาเหตุของกลุ่มอาการไข้สูงไม่ทราบสาเหตุในผุ้ป่วยเด็กหลังภาวะน้ำท่วม โดยคัดเลือกเฉพาะผู้ป่วยเด็กจากโรงพยาบาลหาดใหญ่ ซึ่งก็พบว่าสาเหตุหลักหลังภาวะน้ำท่วมแล้ว ไข้เลือดออก เป็นอันดับหนึ่ง 29% รองลงมาเป็น โรคฉี่หนู 27% มี scrub typhus 1 ราย (1.1%) คราวนี้กล้าหาญชาญชัย เคยลง local มาแล้ว ก็ลอง inter ดูบ้างเป็นไร ก็เลยส่งไปลงที่ Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Public Health หลังจากนั้นอีกเกือบปี ก็ได้ e-mail ตอบจากบรรณาธิการว่าตกลงรับที่จะตีพิมพ์ โดยแก้ไขเรื่องน้อยมาก ก็นับเป็นความสำเร็จทางด้านการเขียนอีกครั้ง ถือเป็นความภูมิใจที่สามารถทำงานวิจัยได้สำเร็จ แต่มันไม่ได้มีความรู้สึก ยูเรก้าเหมือนครั้งแรกที่ทำได้ แม้ว่าครั้งนี้จะเป็น paper ในระดับ inter ก็ตาม
     หลังจากนั้นก็มองเห็นปัญหาที่เราตรวจ lepto กันอยู่ในแล็บ ด้วยวิธี IFA เป็นการตรวจหา total antibody คือหาทั้ง IgG, IgM และ IgA หรือที่เรียกกันว่า Igs ซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่งแต่ยังไม่เคยมีใครตรวจหา IgM เลย ลองค้นดูในฐานข้อมูลทางการแพทย์ ก็ไม่มี paper ไหนพูดถึงเรื่อง lepto IFA IgM เพียงแต่เรารู้ว่าการตรวจหา IgM มักจะให้ความไวที่สูงกว่าการตรวจหาแอนติบอดีอย่างอื่น ก็เลย set วิธี การตรวจหา IgM สำหรับ lepto ด้วยวิธี IFA ซึ่งก็ทำได้ไม่ยาก เพราะทุกอย่างมีอยู่ในห้องแล็บอยู่แล้ว ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ข้อมูลก็พร้อมสำหรับการเขียน ทีนี้เมื่อเคยเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้ว จะให้กลับไปเขียนภาษาไทย มันก็ดูกระไร ก็เลยเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ลองส่งไปที่วารสารจดหมายเหตุทางแพทย์ ซึ่งเป็นวารสารระดับ inter เหมือนกัน หลังจากนั้นอีกประมาณ เกือบปี ก็ได้รับจดหมายตอบจากบรรณาธิการว่ารับที่จะตีพิมพ์ โดยให้แก้ไข ผมก็เหมือนเดิมครับ อะไรที่ยอมได้ก็แก้ไขไป อะไรที่คิดว่าไม่น่าแก้ไข ก็ยืนยันไปว่าเราไม่แก้ไขให้ เนื่องจากเหตุผลอะไร ก็ได้รับการตีพิมพ์ไปอีกฉบับ
     จากกลุ่มตัวอย่างที่มีอยู่ผมลืมบอกไปว่า ช่วงก่อนน้ำท่วมหาดใหญ่ทางศูนย์วิทย์ได้พัฒนาการทดสอบ latex สำหรับ lepto ขึ้นมา แล้วกระจายให้โรงพยาบาลต่างๆ ลองเอาไปทำ จากความสามารถในการประสานงานของอาจารย์ขจรศักดิ์ อาจารย์ก็สามารถหาน้ำยา latex และ Dip Stick สำหรับการตรวจหา lepto มาให้ได้จำนวนหนึ่ง พวกเราก็เลยเอามาทำกับกลุ่มตัวอย่างที่เก็บไว้ ก็เลยได้มาเป็นอีกหนึ่งรายงานวิจัย ในเรื่องเปรียบเทียบประสิทธิภาพของน้ำยาตรวจเล็บโต 4 ชนิดด้วยกัน คือ IFA, DipStick, Latex และ MA ซึ่งก็เป็นการทำเพิ่มอีก 2 วิธี ไปเทียบกับข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้วอีก 2 วิธี ส่งไปตีพิมพ์ใน Southeast Asian Journal of Tropical Medicine and Hygeine เหมือนเดิม
     จนเมื่อไปเรียนปริญญาโทที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผมได้ขอทำ thesis ในเรื่องการพัฒนาการทดสอบ lepto ด้วยวิธี ELISA โดยแยกตรวจหาทั้ง IgM และ IgG และพัฒนาการทดสอบ IHA สำหรับตรวจหา lepto ด้วย ใช้เวลาอยู่เกือบ 3 ปี ศึกษาเรื่องนี้ จนเสร็จ ก็กะว่าคราวนี้จะลองส่งไปลงตีพิมพ์ในวารสาร  ที่มี impact factor บ้าง ก็ได้ส่งไปที่ Trans R Soc Trop Med  Hyg หลังจากส่งไปได้ประมาณ 2 อาทิตย์ ก็ได้รับคำตอบจาก บรรณาธิการปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ โดยบอกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ประโยชน์ที่เราได้จาก reveiwer ระดับ inter นั้น ผมยอมรับเลยว่า ช่วยเติมเต็ม มุมมองในการทำวิจัยขึ้นเป็นอย่างมาก หลายๆประเด็นใน comment เหล่านั้นผมก็นำมาเขียนเพิ่มใน discussion ซึ่งก็ช่วยให้บทความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คราวนี้ส่งมาลงที่จดหมายเหตุทางแพทย์อีกครั้ง ซึ่งก็ได้รับการตอบรับให้ลง โดยแก้ไขข้อความเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
     ช่วงที่ทำ thesis อยู่อาจารย์จรรยา   นครินทร์ อาจารย์ที่ปรึกษาของผม ถามผมว่า อยากทำอะไรต่อบ้างไหม ผมก็เลยตอบอาจารย์ไปว่า ผมสนใจทำ latex สำหรับตรวจ lepto ซึ่งผมรู้ว่าพี่พิมพ์ใจ ที่ศูนย์วิทย์เคยทำไว้แล้ว แต่ว่าจากการประเมินประสิทธิภาพการทดสอบที่เราเคยทำไปพบว่าไม่ค่อยสูงเท่าไหร่ ในหลักการมันน่าจะทำได้ดีกว่านั้น ก็เลยเสนออาจารย์จรรยา อาจารย์ก็แสนดี อยากทำแกก็จะหาซื้อเม็ดลาเทกซ์มาให้ทำ ผมจึงเสนอไปว่า ของพี่พิมพ์ใจ เป็น latex ธรรมดา ผมเคยอ่านเจอว่าการ modified latex อย่างเช่น การเติม carboxyl group ไปบน latex ช่วยให้การจับกับโปรตีนดีขึ้น ผมก็เลยขออาจารย์สั่งซื้อเม็ด latex แบบที่เป็น carboxylated modified latex particle ส่วนแอนติเจนพบว่าของพี่พิมพ์ใจใช้แอนติเจนสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ทางภาคอิสาน ของเราก็น่าจะปรับเปลี่ยนมาใช้สายพันธุ์ที่ระบาดทางภาคใต้ซึ่งเราก็มีข้อมูลเดิมอยู่แล้ว ก็เลยนำมาทำต่อโดยเปรียบเทียบการอ่านผล 2 คนด้วย เพื่อให้ข้อมูลสมบูรณ์ขึ้น ก็ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ ขั้นตอนแล็บทุกอย่างก็เรียบร้อย เหลือแต่เขียน ก็นำกลับมาเขียนต่อตอนที่กลับมาทำงานที่ภาควิชาพยาธิแล้ว สุดท้ายเรื่องนี้ส่งไปลงที่ จดหมายเหตุทางแพทย์อีกแล้วครับท่าน
     พอกลับมาทำงานที่ภาควิชา สิ่งที่เราพบเห็นก็คือ การที่เราอุดมไปด้วยข้อมูลท่วมตัว แต่เราเอาข้อมุลเหล่านี้มาใช้ประโยชน์น้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากขาดการจัดกลุ่มข้อมูลที่เหมาะสม ผมเคยบอกหลายคนว่า ข้อมูลงานประจำในแล็บนั้น หากเราจัดกลุ่มข้อมูลให้เหมาะสมได้ถูกต้องตามกระบวนวิจัย เราก็เอามาเขียนเป็นงานวิจัยได้ ผมเสนอไปให้หลายคนทำ ให้หลายคนเขียน ก็ไม่เห็นมีใครสนใจ ผมก็เลยตัดสินใจ ลองทำให้ดูเป็นตัวอย่าง โดยเอาเรื่องที่เคยเสนอให้เขาทำนั่นแหละ เอามาทำเอง เป็นเรื่องการศึกษาแนวโน้มความชุกของ HBsAg ในหญิงตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลังกลับไป 10 ปี เพื่อบอกทิศทางต่อไปในอนาคตว่า ความชุกของ HBsAg ในหญิงตั้งครรภ์ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่หญิงตั้งครรภ์รุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 20 ปี มีความตื่นตัวในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และมีความชุกของพาหะไวรัสตับอักเสบบี ต่ำที่สุด สุดท้ายเรื่องนี้ก็ส่งไปตีพิมพ์ที่วารสารโรคติดเชื้อและยาต้านจุลชีพ
     ผมเสนอหลายเรื่อง ให้หลายคนทำ แล้วก็พบความจริงว่า การสนับสนุนให้คนทำงานวิจัย โดยเขาไม่เห็นความสำคัญนั้น ไม่น่าจะได้ผล ทำอย่างไรที่จะทำให้คนสนใจที่จะทำงานวิจัยก่อน แล้วค่อยสนับสนุน หรือคัดกลุ่มคนที่สนใจออกมาก่อน แล้วค่อยสอนให้เขาทำวิจัย การเหวี่ยงแหโดยคาดหวังว่าเขาจะสนใจนั้น ไม่น่าจะคุ้มค่ากับความเหนื่อยที่ต้องลงทุนไป

 

หมายเลขบันทึก: 49848เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 11:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

อ่านแล้วทำให้นึกถึงตอนที่เขียนงานวิจัยชิ้นแรกเลยค่ะ แม้แต่ตอนที่ได้รับ reprint ก็แทบจะไม่เชื่อว่าเราก็ทำวิจัยได้สำเร็จ

จำได้ว่าตอนที่ reviewer แก้มาครั้งแรกเหมือนกัน ตอนแรกเห็นตัวแดง ๆ เต็มไปหมด ชักท้อ แต่ดูไปดูมาก็ไม่ได้เยอะอะไร ที่ผิดสาหัสก็คือดันใส่ reference ไว้ตั้งแต่ Abstact + บทนำ แถม reference ก็ไม่ได้เรียงอีกต่างหาก

อยากขอบคุณ reviewer คนนั้นจัง ที่อ่านงานของเรา และทำให้เราก้าวข้ามผ่านงานครั้งแรกจนสำเร็จ จนมาถึงงานชิ้นที่2 ก็เพิ่งตีพิมพ์ไปเมื่อเดือนพ.ค.นี้เอง

โห...ทึ่งๆ..คะ

สุดยอด...กะปุ๋มเข้ามาอ่านสามรอบ..คะเพราะยาวมากแต่ได้อะไรเยอะมากเลยคะ...

จะตามอ่าน...นะคะ...

*^__^*

ขอบคุณนะคะที่เล่าเรื่องดีดีให้ทราบ

กะปุ๋ม

เรื่องมันย้าวๆๆๆ ยาว   แต่ก็อ่านจนจบ   แรกๆ   อ่านด้วยความหมั่นไส้เล็กๆ   กับประโยคที่ว่า  

"...ก็เลยทำให้สนิทกับจินตนามากขึ้น อย่างน้อยก็ได้ discuss กับคนที่มีความคิดเป็นของตนเอง ยิ่ง discuss ก็ยิ่งสนุก คนอะไรก็ไม่รู้คุยสนุกจริงๆ ...."

พี่มาริษาฝากหมั่นไส้มาด้วยคน........ขอบอกว่าวันนี้เราๆ  มีโอกาสได้หนีบคุณจินตนาไปกินข้าวด้วย  (โดยปกติไม่มีโอกาสนี้หรอกนะ...เหอะ..เหอะ)

เข้าเรื่องค่ะ...มีโอกาสได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่ทำ lepto น้ำท่วม  รวมทั้งได้มีชื่อห้อยอยู่ใน paper ด้วย    และคงจะมีส่วนอีกครั้งใน paragraph สุดท้าย  ไอ้ตัวแดงๆ  นั่นแหละค่ะ     เมื่อก่อนไม่ค่อยเห็นความสำคัญของงานวิจัยเท่าไหร่    มัวแต่ทำงานและอยู่เวรไปเรื่อยๆ และเรื่อยๆ     จนเวลาผ่านเลยไป   อีกอย่างคงเป็นเพราะมองงานวิจัยไม่ค่อยออก   มองหาแต่เรื่องไกลๆ ตัว   เรื่องใหญ่ๆ  ที่เป็นของใหม่ๆ   ลืมไปว่าอันที่จริงต้องเริ่มทำจากเรื่องเล็กๆ ก่อน    และต้องเริ่มทำเองด้วย   จึงจะเกิดการเรียนรู้

โอโห คุณไมโตทำได้ไง เพียงบันทึกเดียว ก็บอกเล่าเรื่องราวต่อเนื่องกว่า 10 ปี และได้รายละเอียดดีด้วย  เคยคุยเรื่องพวกนี้กับคุณไมโตบ่อยๆ แต่ประติดประต่อไม่ได้  สุดยอดค่ะ

ขอเป็นกำลังใจสำหรับงานวิจัยชิ้นต่อๆ ไป นะ  แต่ คราวหน้า ขอเป็น inter ที่มี impact factor แล้วนะ

   สุดยอดเลยค่ะ  คนอะไรเก่งไปหมด อ่านแล้วก็หวนนึกถึงตัวเอง เพราะเริ่มทำวิจัยคล้ายๆคุณ mito คือเป็นผู้วิจัยร่วมไปก่อนโดยเริ่มทำวิจัยร่วมกับอาจารย์แพทย์หลายๆท่าน แต่ที่ทำร่วมมากที่สุดเห็นจะเป็นกับรศ.นพ.บุญสิน มี paper ร่วม 4-5 ชิ้น สุดท้ายก็ลองมาทำวิจัยเองเขียนเอง ( เป็นภาษาอังกฤษ ) โดยอาศัยการเรียนรู้จาก อ.บุญสิน นั่นแหละ ถึงได้ออกมาเป็นpaper ขอชำนาญการ รู้สึกว่าเหนื่อยมากเลยตอนที่ทำวิจัยเพราะต้องทุ่มเทเวลา (นอกเวลาราชการ )ให้กับงานวิจัยมาก แต่ก็ภูมิใจค่ะ
ครับอาจารย์ ตอนนี้ผมเขียนเสร็จแล้ว ส่งให้อาจารย์ขจรศักดิ์ตรวจสอบ final draft อีกครั้งครับ หากไม่แก้ไข ก็ตั้งใจว่าจะส่ง JCM หรือ JCV ก็เรื่อง Hydroxyapatite particle agglutination สำหรับตรวจ dengue ที่ไปคว้ารางวัลนำเสนอด้วยวาจานั่นแหละครับ

คุณไมโตคะ 

  • ครูอ้อยอ่านกระบวนการการทำงาน  ลำดับขั้นตอน   แต่เรื่องทีเป็นทางวิทยาศาสตร์ก็ข้ามเลยไป
  • ติดใจข้อคิดที่จะเชิญชวนให้ผู้อื่นสนใจในการทำวิจัย  ตอนที่ครูอ้อยเริ่มทำงานวิจัย  ก็มีคนพูดทำนองนี้ว่า  " โน ซิก " ครูอ้อยไม่สนใจ  คงทำต่อไปตามความเชื่อบนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นจริง  แล้วก็ได้รับรางวัล เท่านั้นค่ะ

แต่อ่านแล้ว  ดีมากเลยนะคะ

ทำให้ครูอ้อย ฮึดสู้ต่อไป 

บริษัทโรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด

ได้เป็นตัวแทนจำหน่าย ของทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และได้นำชุดทดสอบของทางกรมวิทย์ฯมาจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น

- ชุดทดสอบคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร

- ชุดทดสอบด้านยาและวัตถุเสติด

- ชุดทดสอบด้านชันสูตรโรค

- ชุดทดสอบเครื่องสำอางค์และวัตถุอันตราย

ดังนี้

1. ชุดทดสอบด้านชันสูตรโรค

- ชุดทดสอบไข้เลือดออกด้วย วิธี HAI

- ชุดทดสอบไข้เลือดออกด้วยวิธี ELISA

2. ชุดทดสอบด้านเครื่องสำอางค์และวัตถุอันตราย

- ชุดทดสอบเมทานอล

- ชุดทอสอบอาร์เซนิก

- ชุดทดสอบปรอทแอมโมเนีย

- ชุดทดสอบเรทิโนอิก

- ชุดทดสอบไฮโดรควิโนน-2

***นอกจากนี้ยังมีชุดทดสอบอีกมากมายหลายชนิดที่ JSP มีจำหน่าย ถ้าท่านสนใจในสินค้าของเรา สามารถ กริ๊ง มาได้ที่

ติดต่อผู้จัดการ เจนวิทย์089-163-5905 ,หัวหน้าฝ่ายขายรสริน 081-254-5765 , Tel 026835324

fax 026835312

Email [email protected]

www.jsppharma.com

สวัสดีครับ

กว่าจะได้งานวิจัยดีๆสักชิ้น ไม่ง่ายเลยนะครับ

ต้องทุ่มเทแรงใจ แรงกาย ..

อ่านบันทึกแล้ว กลับมาย้อนดูงานของตัวเอง

ยังอีกไกลเลยครับ ... ว่าแล้วก็ไปเขียนงานต่อครับ

สุขสันต์วันหยุดนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท