แบบทดสอบอายุ


เว็บไซต์แห่งหนึ่งเดามั่ว เช่น พยากรณ์ว่า ผู้เขียนจะไปนอนบนรางรถไฟ และจะถูกรถไฟทับตายเมื่ออายุ 49 ปี

ผู้ช่วยเหลือคนไข้ท่านหนึ่งบ่นกลุ้มใจหลังแวะชมเว็บไซต์ทำนายชีวิตจากชื่อแห่งหนึ่ง

เว็บไซต์นั้นทายว่า เธอจะมีชะตาชีวิตไม่ดีหลายอย่าง พร้อมทั้งยังให้ค่าคะแนนออกเป็นตัวเลข ดูน่าเชื่อถือ

ผู้เขียนอธิบายไปว่า เรื่องชื่อนี่ไม่แน่นอน เรื่องในพระสูตรมีอยู่  สมัยก่อนมีคนชื่อนางรวย มีชีวิตยากจน ภายหลังถูกเจ้าหนี้โบยตีให้ใช้หนี้

ผู้ช่วยเหลือคนไข้ท่านนี้ชื่อเดิมเป็นบาลี มีความหมายว่า ผู้มีปัญญาดีอยู่แล้ว แถมชื่อเดิมยังใช้อักษรตามวรรคถูกต้องตามวันเกิด(เทียบจากปฏิทินมหามกุฏราชวิทยาลัย 2549) จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อ

ต่อมาท่านบอกว่า เว็บไซต์ที่ว่าคงจะเชื่อถือไม่ได้ เพราะท่านลองนำชื่อคนอื่นที่รู้จักไปพิมพ์ในโปรแกรมดู ปรากฏว่า ทายถูกเป็นส่วนน้อย ทายผิดเป็นส่วนใหญ่

เว็บไซต์แห่งหนึ่งเดามั่ว เช่น พยากรณ์ว่า ผู้เขียนจะไปนอนบนรางรถไฟ และจะถูกรถไฟทับตายเมื่ออายุ 49 ปี (ถ้าเรื่องนี้จริง... ผู้เขียนจะมีชีวิตเหลืออีก 4 ปีนับจากปี 2549) ฯลฯ 

        

สำนักข่าวรอยเตอร์ตีพิมพ์ข่าวเรื่องการทำนายอายุขัยของอาจารย์เดมโค ซึ่งมีแบบทดสอบให้เราเข้าไปทำการตรวจหาอายุขัยทางสถิติได้ 

อาจารย์ ดร.นายแพทย์เดมโค ศาสตราจารย์สาขาผู้สูงอายุ(น่าจะเรียกว่า ชราแพทย์) และวิธีวิจัยเขียนหนังสือเกี่ยวกับวิธีการทำให้อายุยืน และมีสุขภาพดีไว้หลายเล่ม

        

ท่านกล่าวถึงผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับคนอายุยืนว่า คนเราจะมีอายุยืนถึง 100 ปีหรือไม่ขึ้นอยู่กับวิถีชีวิต (life style) ประมาณ 80% ที่เหลือขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ เช่น พันธุกรรม ฯลฯ

คนเราจะมีอายุยืนยาว และมีสุขภาพดีหรือไม่ขึ้นกับปัจจัยสำคัญ 7 ประการได้แก่ พันธุกรรม สังคม อาหาร การออกกำลัง จิตใจเข้มแข็ง สิ่งแวดล้อมดี และไม่มีพฤติกรรมเสีย

ปัจจัยที่มีผลต่ออายุได้แก่                                    

  1. พันธุกรรม:
    คนที่มีญาติพี่น้องอายุยืน และมีโรคเรื้อรังน้อยมีแนวโน้มจะมีอายุยืน
  2.  สังคม:
    คนที่แต่งงาน และมีครอบครัวใหญ่(รุ่นลูก รุ่นหลานอยู่ด้วยกัน หรือติดต่อกันเสมอ) มีเพื่อนหรือกลุ่มที่ทำกิจกรรมดีๆ ด้วยกันในระยะยาว
  3.  อาหาร:
    คนที่กินอาหารทุกหมู่ได้สัดส่วน กินพอประมาณ เน้นธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ฯลฯ กินผักสด ผลไม้ ฯลฯ มากหน่อย กินเนื้อและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้อยมีแนวโน้มจะมีอายุยืน
  4. ออกกำลัง:
    คนที่ออกกำลัง หรือออกแรงทำงานเป็นประจำ โดยเฉพาะการออกกำลังแบบแอโรบิค เช่น เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน ฯลฯ เพื่อเพิ่มสมรรถนะหัวใจ-เส้นเลือด ออกกำลังต้านแรง เช่น ยกน้ำหนัก ฯลฯ เพื่อเพิ่มสมรรถนะกล้ามเนื้อ-กระดูก และออกกำลังสมอง เช่น เรียนรู้ตลอดชีวิต เล่นดนตรี ฯลฯ เพื่อป้องกันสมองเสื่อม มีแนวโน้มจะมีอายุยืน
  5. จิตใจเข้มแข็ง:
    คนที่มีจิตใจเข้มแข็ง มีทักษะในการแก้ไขปัญหาชีวิตดี มองโลกในแง่ดี (optimistic) และมีชีวิตอยู่อย่างมีความหมาย (meaningful life) เช่น คนที่ทำตัวให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม คนที่ทำงานอาสาสมัคร มีอุดมการณ์มุ่งทำดีต่อสังคม คนที่มีความเข้มแข็งในท่ามกลางวิกฤตการณ์ ฯลฯ มีแนวโน้มจะมีอายุยืน
  6. สิ่งแวดล้อม:
    คนที่อยู่ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมดี เช่น อากาศดี สัมผัสสารพิษน้อย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินสูง ฯลฯ มีแนวโน้มจะมีอายุยืน
  7.  พฤติกรรมเสี่ยง:
    คนที่ไม่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ติดยา(เสพติด) ติดเหล้า ติดบุหรี่ สำส่อนทางเพศ มีคู่ครองหลายคู่ ฯลฯ มีแนวโน้มจะมีอายุยืน      

ต่อไปขอเรียนเชิญท่านผู้อ่านลองทำแบบทดสอบอายุขัยของ ศ.ดร.นพ.เดมโค...

ขั้นแรกสมมติให้ท่านมีอายุขัยเฉลี่ย 79 ปีก่อน หลังจากนั้นให้ทำแบบทดสอบแต่ละข้อ

นำคะแนนบวกไปเพิ่มอายุขัย หรือคะแนนลบไปหักอายุขัยที่ให้ไว้ก่อนทำแบบทดสอบ (79 ปี) ได้คะแนนเท่าไร นั่นคือ อายุขัยเฉลี่ยทางสถิติของท่าน...

ถึงตรงนี้... เชิญเริ่มทำแบบทดสอบกันครับ

  1. บรรพบุรุษของท่าน(พ่อแม่)อยู่ที่ไหน... สหรัฐอเมริกา (-2); สหราชอาณาจักร หรือ ออสเตรีย (-1); ออสเตรเลีย สิงคโปร์ สวีเดน (+2); ญี่ปุ่น (+3); ประเทศอื่นๆ รวมทั้งไทย (=0)
  2.  เพศ > ชาย (-2); หญิง (+1)
  3. ตรวจสุขภาพประจำปีหรือไม่ > ใช่ (+3); ไม่ใช่ (-3)
  4. ปู่ ย่า ตา ยาย มีอายุถึง 85 หรือไม่ > ให้นำจำนวนปู่ ย่า ตา ยายที่มีอายุถึง 85 ปีมาคูณด้วย 2 นำไปเพิ่มอายุขัยได้แก่ 1 คน (+2); 2 คน (+4); 3 คน (+6); 4 คน (+8)
  5. ทำงานอาสาสมัครทุกสัปดาห์หรือไม่ > ใช่ (+2); ไม่ใช่ (-1)
  6. อยู่คนเดียวหรือไม่ > ใช่ (-2); อยู่กับคนอื่น (=0); อยู่คนเดียว และมีอุปกรณ์ช่วยต่อไปนี้ (อินเตอร์เน็ต; อี-เมล์; อุปกรณ์ in-home monitoring; ADL prosthetics; ADL = activities on daily learning = มีกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ทุกวัน) ให้คะแนน (+1)
  7. มีความสามารถในการหัวเราะ หรือเรียนรู้จากการทำผิด > ใช่ (+1); ไม่ใช่ (-3)
  8. มีคนที่พร้อมจะรับฟังปัญหา หรือเรื่องที่เป็นความลับได้ > ใช่ (+1); ไม่ใช่ (-2)
  9. ออกกำลังสมองทุกวัน เช่น เล่นเกมส์ ตัวต่อคำภาษาอังกฤษ (puzzles) เล่าเรียน เรียนรู้สิ่งใหม่ เล่นดนตรี ฯลฯ > ใช่ (+4); ไม่ใช่ (-2)
  10. ออกกำลังแบบแอโรบิคทุกวัน เช่น ว่ายน้ำ วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ฯลฯ > ใช่ (+3); ไม่ใช่ (=0)
  11. กินอาหารครบทุกหมู่ โดยเฉพาะมีผักสด ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ฯลฯ > ใช่ (+2); ไม่ใช่ (-3)
  12. สูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน > ใช่ (-4); ไม่ใช่ (=0)
  13. อยู่ร่วมกับคนสูบบุหรี่ ทำงานร่วมกับคนสูบบุหรี่ หรือมีเพื่อนสูบบุหรี่ > กรณีผู้หญิงตอบใช่ (-2); กรณีผู้ชายตอบใช่ (-1); ไม่ (=0)
  14. น้ำหนักขึ้นๆ ลงๆ (yoyo ‘on and off’ diet fads) > ใช่ (-5); ไม่ใช่ (=0)
  15.  เลี้ยงสัตว์ที่ชอบเล่นกับคน (interactive pets) เช่น สุนัข แมว ฯลฯ > ใช่ (+2); เลี้ยงสัตว์ที่ไม่ได้เล่นกับคน (passive pets) เช่น ปลาทอง ฯลฯ (+1); ไม่ใช่ (=0)
  16. ถนัดซ้าย (-1); ถนัดขวา (=0)
  17. สูบบุหรี่จากหม้อ (pot smoking) หรือสูบมอระกู่แบบแขก (ยาสูบที่มีท่อดูดจากหม้อ) อย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลานานอย่างน้อย 2 ปี > ใช่ (-4); ไม่ใช่ (=0)
  18. มีศาสนา และปฏิบัติธรรม > ใช่ (+2); ไม่ใช่ (=0)
  19. ข้อนี้เฉพาะผู้หญิง มีลูกหรือไม่ > ไม่มี (=0); ถ้ามีลูก ให้เพิ่มอายุเท่ากับจำนวนลูกคูณด้วย 0.25 เช่น ลูก 1 คน (+0.25); ลูก 2 คน (+0.5); ลูก 3 คน (+0.75); ลูก 4 คน (+1); ลูก 5 คน (+1.25)...
  20. เข้าร่วมกิจกรรมต้านทานความเครียด เช่น ฝึกสมาธิ มีช่วงเวลาอยู่เงียบๆ คนเดียว (quiet time) ใช้บริการสปา ฯลฯ หรือไม่ > มี (+4); ไม่มี (-3)
  21. ไปทำงานอย่างไร > เดิน (+2); ขี่จักรยาน (+1); ขับรถหรือนั่งรถ (-3)
  22.  ตรวจช่องปากโดยทันตแพทย์ทุก 6 เดือน แปรงฟันทุกวัน และใช้ไหมขัดฟัน (dental floosing) ทุกวัน > ใช่ (+1); ไม่ใช่ (-2)
  23. ดื่มน้ำองุ่น(องุ่นแดง หรือขาวก็ได้) วันละ 7 ออนซ์ ( 210 มิลลิลิตร) > ใช่ (+2); ไม่ใช่ (=0)
  24. ใช้ยาเสพติดหรือไม่ > ใช่ (-6); ใช้ร่วมกัน (-3) [ ข้อนี้ต้นฉบับใช้คำว่า ‘shared use’ น่าจะหมายถึงใช้เป็นครั้งคราว ไม่ติดยา เช่น ใช้ในงานสังสันทน์ งานเลี้ยง ฯลฯ ]
  25. มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคติดต่อเพศสัมพันธ์ เปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ หรือมีคู่ครองหลายคู่ > ใช่ (-6);ไม่ใช่ (=0)
  26. มีส่วนรวมในกิจกรรมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไว้ใจซึ่งกันและกันในระยะยาว (long-term, relationship of trust & mutual respect) > ใช่ (+5); ไม่ใช่ (=0)
  27.  เพื่อนทุกคนมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน (อายุใกล้เคียงกัน) > ใช่ (-2); ไม่ใช่  หรือมีเพื่อนต่างวัย (+1)
  28. เขียนหรือพิมพ์เป้าหมายชีวิตไว้ชัดเจน และบรรลุถึงเป้าหมายนั้นแล้ว (written specific life goals & completion timeframe?) > ใช่ (+1); ไม่ใช่ (=0)
  29. ประวัติครอบครัวเป็นโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ โรคเส้นเลือด เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ หรือมะเร็งเมื่ออายุน้อยกว่า 50 ปี > ถ้ามี ให้นำ 2 ไปคูณจำนวนคน และหักออกจากอายุขัย เช่น 1 คน (-2); 2 คน (-4); 3 คน (-6); 4 คน (-8); 5 คน (-10); 6 คน (-12)... [ ประวัติครอบครัวในที่นี้น่าจะหมายถึงญาติสายตรงได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง]
  30. ประวัติครอบครัวเป็นโรคอ้วน เบาหวาน ซึมเศร้าเรื้อรัง > ถ้ามี ให้นำ 2 ไปคูณจำนวนคน และหักออกจากอายุขัย เช่น 1 คน (-2); 2 คน (-4); 3 คน (-6); 4 คน (-8); 5 คน (-10); 6 คน (-12)... [ ประวัติครอบครัวในที่นี้น่าจะหมายถึงญาติสายตรงได้แก่ พ่อแม่ พี่น้อง]

<p>       </p><p>แบบทดสอบนี้มีข้อควรระวังข้อหนึ่งคือ การดื่มน้ำองุ่นเป็นประจำอาจเป็นเหตุให้ได้รับน้ำตาลจำนวนมาก ทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน หรือโรคอ้วนลงพุงได้</p><p>การกินผักและผลไม้(ทั้งผล - ไม่ใช่น้ำผลไม้) โดยเน้น “ผักครึ่งหนึ่ง-(อาหาร)อย่างอื่นครึ่งหนึ่ง” แบบสูตรอาหารกรมอนามัยน่าจะดีกับสุขภาพมากกว่าการดื่มน้ำผลไม้</p><p></p><p>ท่านผู้อ่านที่ทำคะแนนได้น้อย… อย่าเพิ่งตกใจครับ คนเรามักจะทำอะไรดีๆ ได้มากกว่าที่เราคิดไว้เสมอ</p><p>ขอเพียงให้เราเริ่มต้น “ลงมือทำ” อะไรที่ดีๆ กับชีวิตเราตั้งแต่วันนี้ เช่น ออกกำลังเป็นประจำ บริจาคเลือดเป็นประจำ(ถ้าทำได้) ฯลฯ</p><p></p><p>ถึงตรงนี้… ขอให้พวกเรามีสุขภาพดี และมีอายุยืนอย่างมีคุณภาพไปนานๆ ครับ</p><p>ขอแนะนำ...                                                     </p>

  • รวมเรื่องสุขภาพ > "อายุยืนอย่างมีคุณภาพ"
  • [ Click - Click ]
  • รวมเรื่องสุขภาพ > "อาหารเสริม"
  • [ Click - Click ]
  • รวมเรื่องสุขภาพ > "อาหารสุขภาพ / โภชนาการ"
  • [ Click - Click ]
  • รวมเรื่องสุขภาพ > "อนุมูลอิสระ / แอนตี้ออกซิแดนท์"
  • [ Click - Click ]
  • ขอแนะนำบล็อก > "บ้านสาระ"
  • http://gotoknow.org/blog/talk2u

    แหล่งที่มา:                                      

</span></span></font><ul>

  • ขอขอบคุณ > Dr. David J. DemKo, professor of Gerontology & research methodology > http://www.demko.com/deathcalculator.htm > October 27, 2006.
  •  ขอขอบคุณ > http://www.demko.com/dc-keith.htm (แบบทดสอบอายุขัยสำหรับท่านที่อยู่ในสหราชอาณาจักร) & http://www.demko.com/demko-book-dc.htm#top > October 30, 2006.
  • ขอขอบคุณ > Sara Lednith. Want to diary your death? Ask online. http://today.reuters.com/news/articlenews.aspx?type=&storyid=2006-10-26T162208Z_01_N25426518_RTRUKOC_0_US-WEB-DEATH.xml&src=nl_ushealth1400 > October 26, 2006.
  • ขอขอบคุณ > http://www.day4death.com > October 27, 2006. (แบบทดสอบในเว็บไซต์นี้จะบอกความน่าจะเป็นของวันตาย สถานที่ตาย และสาเหตุการตายให้)
  • ขอขอบคุณ > http://www.deathclock.com 
  • ขอขอบคุณ > http://www.findyourfate.com/deathmeter/deathmtr.html 
  • ขอขอบคุณ >  http://evil.berzerker.net/death_predictions.php
  • <li> ข้อมูลและการอ้างอิงในบล็อก บ้านสุขภาพ มีไว้เพื่อส่งเสริมสุขภาพ และป้องกันโรค ไม่ใช่เพื่อการรักษาโรค </li>

  • ท่านที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์เทวินทร์ อุปนันท์ IT โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี
  • ขอขอบพระคุณ > อาจารย์ ณรงค์ ม่วงตานี และอาจารย์เทพรัตน์ บุณยะประภูติ IT ศูนย์มะเร็งลำปาง 
  • </span><li> นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ > ๓๑ ตุลาคม ๔๙ > 4 สิงหาคม 2550.
    </li> </ul>

    หมายเลขบันทึก: 56577เขียนเมื่อ 31 ตุลาคม 2006 15:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (6)
    เป็นแบบสอบถามที่น่าสนใจครับ มีข้อสงสัยนิดนึงครับ -ทำไมเริ่มที่อายุ 79 ปีครับ -ข้อ 28 written specific life goals & completion timeframe? อันนี้หมายถึงเป้าใหญ่ในชีวิตใช่ไหมครับ แล้วเป้าเล็กๆ อย่างลดน้ำหนักสำเร็จอย่างนี้ไม่นับใช่ไหมครับ -ข้อ 29 คุณพ่อผมเป็นโรคหัวใจตีบตอน 60 ปี อย่างนี้ถือว่าไม่นับใช่ไมครับ ในนี้บอกว่าต่ำกว่า 50 เท่านั้น ผมได้ทดลองทำดูแล้ว โดยสมมติข้อสงสัย 3 ข้อไว้ก่อน พบว่าผมได้ 86 ปีครับ เยอะกว่าที่คิดไว้หน่อย ผมคาดว่าจะมีอายุสัก 80 ปีพอแล้ว ตั้งเป้าไว้ครับว่า 80 ปีนี้ยังแข็งแรง วิ่งได้ ยกน้ำหนักได้อยู่ ไม่รู้หวังมากไปไหม ขอบคุณสำหรับความรู้ดีๆ ครับ
    ใช้อาหารเสริมกระตุ้นการหลั่งhuman growth hormone[HGH] จะดีไหมครับอาจารย์

    ขอขอบคุณอาจารย์ไชยยงค์ - คงตรีแก้ว และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

    คนที่มีฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโต (growth hormone / GH) มากเกินในผู้ใหญ่มีความเสี่ยงต่อภาวะต่อไปนี้...

    • (1). น้ำตาลในเลือดสูง > เสี่ยงโรคเบาหวาน
      (2). มือ เท้า คางโตผิดรูป > หน้าตาอาจจะดูคล้ายผีดิบแฟรงเคนสไตน์

    ถ้าต้องการให้ฮอร์โมนเจริญเติบโต (growth hormone) ออกมากหน่อย เรียนเสนอให้ทำอย่างนี้(ปลอดภัยกว่าการใช้ยามากมาย)

    • (1). นอนหัวค่ำ ดีที่สุดคือ ก่อน 4 ทุ่ม (22.00 น.) หรือตี 10 (ภาษาปักษ์ใต้)
      (2). ออกกำลัง... อาจารย์ ดร.สาทิศ ท่านว่า ออกให้ถึงระดับเหนื่อย (peak) + ควรเริ่มด้วยการเดินเร็วปานกลางจนแข็งแรง > เพิ่มเดินเร็ว + ออกกำลังหลายรูปแบบผสมผสานกัน เช่น รำกระบอง ฯลฯ
      (3). งดกาแฟที่มีกาเฟอีน ชา โกโก้ ชอกโกแล็ตก่อนนอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง ดีที่สุดคือ 12 ชั่วโมง เพื่อให้หลับสนิทจริงๆ
      (4). งดอ่านข่าว ดูข่าว (TV) ฟังข่าวโหดร้าย เช่น ข่าว 4 จังหวัดภาคใต้ ฯลฯ ก่อนนอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
      (5). งดดูละครน้ำเน่า โดยเฉพาะละครอิจฉา ริษยาก่อนนอนอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
      (6). งดเหล้า เบียร์ ไวน์ บุหรี่ > พวกนี้มีสารพิษ (ทอกซิน - toxin) เป็นพิษต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาทที่ทำการหลั่ง GH

    สรุปคือ ความเห็นผมไม่แนะนำให้ผู้ใหญ่ใช้ยากระตุ้นฮอร์โมน GH...

    • ขอให้อาจารย์ไชยยงค์ และท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข มีสุขภาพดี
    • ขอแสดงความยินดีที่อาจารย์อยู่ทางใต้ ซึ่งคงจะมีอากาศดีจากทะเล ปลาทะเล ซึ่งดีกับสุขภาพครับ...

    ขอขอบคุณอาจารย์จันทร์เมามาย และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

    • อายุ 79 ปีที่ใช้เป็นฐาน > เข้าใจว่า เป็นค่าเฉลี่ยอายุขัยของฝรั่ง (รวมผู้ชาย + ผู้หญิง)
    • เมื่อคิดค่าตัวแปรต่างๆ นำไปบวก หรือลบจะทำได้ง่าย และสะดวกกว่าเริ่มจาก 0 ปี

    ข้อ (28) เข้าใจว่า

    • เป็นเพราะฝรั่งนิยม "คิดอะไรออกมาดังๆ" เช่น ถ้าตั้งใจจะออกกำลัง นิยมให้เขียนคำขวัญ หรือทำอะไรเป็นรูปธรรมออกมา เช่น เตรียมรองเท้าวิ่งแขวนไว้ให้เห็นทุกวัน ฯลฯ
    • ผมเชื่อว่า...
      (1). เป้าหมายเล็กๆ มีความสำคัญ เช่น ลดน้ำหนัก ออกกำลัง ฯลฯ
      (2). ความสำเร็จเล็กๆ เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จใหญ่ๆ เสมอ
      (3). ความผิดพลาดเป็นโอกาสแห่งการพัฒนา (ถ้ามีการเรียนรู้)

    ข้อ (29) เข้าใจว่า

    • แบบทดสอบนี้ให้นับ 50 ปี > ถ้าคุณพ่ออาจารย์เป็นโรคหัวใจตอน 60 ปี > แบบทดสอบนี้ไม่นับ
    • คุณพ่อผมก็เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจอุดตันตอน 52 ปี > แบบทดสอบนี้ไม่นับ

    ขอแสดงความยินดีกับอาจารย์จันทร์เมามายที่คาดว่า น่าจะมีอายุขัยสูงถึง 86 ปี

    • เป็นไปได้ครับที่คนเราจะมีสุขภาพแข็งแรง วิ่งได้ ยกน้ำหนักได้ที่อายุ 80 ปีเศษ
    • หลวงพ่อใหญ่วัดท่ามะโอ (ท่านพระธัมมานันทเถระ อัครมหาบัณฑิต - สมณศักดิ์พม่า) อายุ 85 ปีเศษ แข็งแรงมาก กวาดวัดทุกวัน เดินขึ้นบันไดได้สบาย

    ขอให้อาจารย์จันทร์เมามาย และท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข มีสุขภาพดี แข็งแรง และมีอายุยืนครับ...

    • ขอบพระคุณอาจารย์หมอค่ะ กับคำบอกเล่าดี ๆ
    • ทุกครั้งที่อ่านบันทึกอาจารย์ไม่เคยผิดหวังเลยค่ะ
    • มีข้อสงสัยว่าการเฉลี่ยอายุขัย 79 ปี ใช้ทั้งหญิงและชายใช่หรือไม่คะ
    • คนไทยก็ใช้ 79 ปีใช่ไหมคะ
    • คุณพ่อดิฉันตอนนี้อายุ 67 ปีค่ะ จะลองทำดูนะคะ

    ขอขอบคุณอาจารย์อ้อ-สุชานาถ และท่านผู้อ่านทุกท่าน...

    • อายุขัยเฉลี่ยในแบบทดสอบนี้ > เริ่มต้นที่ 79 ปี เพราะจะมีแบบทดสอบหลายข้อที่ให้คะแนนผู้หญิง-ผู้ชายไม่เท่ากัน เช่น
    • มีลูกหรือไม่ (ข้อนี้เฉพาะผู้หญิงจะมีค่าบวก)
    • อยู่ร่วมกับคนสูบบุหรี่หรือไม่ (ผู้หญิงติดลบ 2 / ผู้ชายติดลบ 1)

    เมื่อนำคะแนนมารวมกัน > จะได้ค่าอายุขัยโดยประมาณ

    • ข้อควรระวังได้แก่...
      (1). แบบทดสอบนี้ออกแบบมาสำหรับคนตะวันตก ซึ่งมีอายุขัยเฉลี่ยสูงกว่าคนตะวันออก (ที่ไม่ใช่ญี่ปุ่น + สิงคโปร์)
      (2). เราๆ ท่านๆ คนไทยซึ่งมีความเสี่ยงหลายอย่างสูงกว่าคนตะวันตก เช่น คนคลุ้มคลั่งจากการติดยาบ้า คนเมา คนเมา+ขับรถ ฯลฯ อาจจะลองนำตัวเลข 5-10 ปีลบออกจากค่าอายุขัยที่ได้ > อย่างนี้จะใกล้เคียงอายุขัยที่แท้จริงมากขึ้น

    ผมสังเกตเองว่า อายุขัยคนไทยดูจะมีปัจจัยต่อไปนี้มาเกี่ยวข้อง...

    • (1). ระดับการศึกษา > คนที่มีระดับการศึกษาสูงหน่อยดูจะมีอายุยืนมากกว่า (มีการศึกษาพบว่า  เรียนน้อย-โรคหัวใจมาก หรือคนที่มีการศึกษาดีกว่าเป็นโรคหัวใจน้อยกว่า)
      (2). พระภิกษุสงฆ์ > ดูจะมีอายุยืนมากกว่าชาวบ้าน (ฆราวาส)
      (3). คนที่ติดเหล้า (ไวน์ เบียร์...) ติดบุหรี่ > ดูจะมีโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้นชัดเจน

    ที่มา (ข้อ 1 ข้อมูลของฝรั่ง): http://www.intelihealth.com/IH/ihtIH/EMIHC275/333/8011/465475.html?d=dmtICNNews

    ขอให้อาจารย์อ้อ-สุชานาถ และท่านผู้อ่านทุกท่านมีความสุข มีสุขภาพดี และมีอายุขัยที่ยืนยาว (พร้อมทั้งแข็งแรง+มีโรคน้อยตลอดอายุขัย)

    ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท