น้องเอย เจ้าไม่เคยเห็น


เขมรไทรโยค เพลงไทยเดิมประยุกต์

พูดได้คำเดียว เพราะมากๆ

ขออนุญาตนำมาเผยแพร่ เป็นการวิจารณ์ผลงานครับผม

ศิลปิน ดวงพร ผาสุข 

Zansab Philharmonic Orchestra

คำร้อง-ทำนอง: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

บรรยายความตามไท้ เสด็จยาตร ยังไทรโยคประพาสพนาสณฑ์ น้องเอย...เจ้าไม่เคยเห็น
ไม้ไร่หลายพันธ์ คละขึ้นปะปน ที่ชายชลเขาชะโงกเป็นโกรกธาร น้ำพุพุ่งซ่าน ไหลมาฉาดฉาน
เห็นตระการ มันไหลจอกโครมจอกโครม มันดังจ้อกจ้อก จ้อกจ้อก โครมโครม
น้ำใสไหลจนดู หมู่มัสยา กี่เหล่าหลายว่ายมา ก็เห็นโฉม น้องเอย เจ้าไม่เคยเห็น
ยินปักษาซ้องเสียง เพียงประโคม เมื่อยามเย็นพยับโพยมร้องเรียกรัง เสียงนกยูงทอง มันร้องโด่งดัง
หูเราฟังมันร้องดังกระโต้งฮง มันดังก้อก ก้อก ก้อกก้อก กระโต้งฮง

เพลงที่คนไทยต้องฟัง (7) : เขมรไทรโยค

โดย ต่อพงษ์   29 เมษายน 2548 14:02 น.

เขียนเรื่องของเพลงไทยเดิมประยุกต์ในลักษณะซอฟท์คอร์ขึ้นมาก็หลาย สัปดาห์อยู่ ไม่แน่ใจเหมือนกันนะครับว่า พอจะกระตุ้นให้คนลองไปหาเพลงไทยเดิมทั้งในลักษณะประยุกต์แล้วก็ลักษณะที่ เป็นไทยเดิมแท้ๆ กันบ้างหรือเปล่า
       

       บอกตามตรงว่าภารกิจตั้งใจทำครั้งนี้ออกจะยากมาก ยากกว่าเมื่อครั้งชวนให้คนฟังเพลงคลาสสิกเสียอีก เพราะแม้ว่าเมืองไทยนั้นจะเป็นแหล่งกำเหนิดเพลงไทยเดิม คือไม่ต้องไปติดตามกันถึงบ้านเมืองไหนเหมือนเพลงคลาสสิก แต่ประเด็นก็คือ เพลงไทยเดิมนั้นถูกตราไว้ในใจและสมองของคนไทยรุ่นหลังนี้ไปแล้วว่า ยุ่งยาก น่าเบื่อ ฟังยาก ที่สำคัญเป็นเพลงของคนแก่
       
       อันนี้ก็ไม่รู้จะโทษใครดี เพราะลักษณะสุญญากาศแบบนี้มันเกิดขึ้นมา 40-50 ปีแล้ว
       
       เพลงไทยเดิมนั้นเป็นอะไรที่น่าสงสารมาก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วงานดนตรีประเภทนี้ถ้าลองศึกษาแล้วหามาฟังกันจริงๆ จังๆ ก็มีอะไรที่ชวนให้ไปถึงฉิมพลีได้อยู่
       
       เพราะความจริงแล้วท่วงทำนองของเพลงไทยเดิมนั้นก็ไม่ได้หายจางไปไหน เพียงแต่ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจนกระทั่งเราลืมรากของมันไป แต่ไปติดอยู่กับอย่างอื่น
       
       ผมยังจำได้เลยว่าเมื่อหลายปีมาแล้ว เพลงลูกทุ่งเพลงหนึ่งที่ดังมากๆ ชนิดคนทั่วไปร้องได้ทั่วบ้านทั่วเมือง หลบไปกินเหล้าในผับก็ยังตามไปหลอน หลบไปกอดสาวในเล้าจน์ก็ยังมีคนขอให้วงดนตรีในนั้นเขาร้องกัน เพลงนั้นชื่อเพลง...รักน้องพร ของสดใส รุ่งโพธิ์ทอง เพลงนี้ก็เป็นการนำเพลงไทยเดิมอย่างสร้อยแสงแดงมาเรียบเรียงใหม่เป็นต้น แต่คนก็ร้องตามกันได้ชนิดเสียวหัวใจ โดยเฉพาะท่อนแรกที่เจอหน้าก็ขอนนอนกันดื้อๆ ที่ว่า...พรจ๋าพร คืนนี้ขอนอนบ้านพรได้ไหม...
       
       ฟังแล้วก็ครึกครื้นดีมิใช่หรือ?
       
       อีกประการหนึ่งที่ได้ข้อสรุปก็คือ จำนวนเพลงที่เป็นเบสิกสำหรับการเข้าถึงเพลงไทยเดิมนั้นจะว่าไปก็มีไม่มากนะ ครับ ซัก 20 เพลงเห็นจะได้ เพราะฉะนั้นคนไทยก็ควรจะฟังและรู้จักกันเสีย อย่างวันนี้เพลงที่อยากจะให้นำมาฮัมกันเป็นประเดิมหรือเพลงครูพื้นฐานสำหรับ การเข้าถึงเพลงไทยเดิมก็คือเพลง "เขมรไทรโยค" ก่อนเลยละครับ
       
       ที่เลือกเพลงนี้ขึ้นมาก่อนก็เพราะว่า ถ้าเผื่อมีการทำงานเพลงไทยเดิมซักอัลบั้มเชื่อหรือไม่ว่าจะต้องมีเพลงนี้รวม อยู่ด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย
       
       อาจจะมีคนถามว่า เพลงไทยเดิมแท้ๆ ทำไมถึงขึ้นต้นว่าเขมร...คำตอบอยู่ที่ว่า ประเทศไทยเรานั้นเป็นประเทศที่มีลักษณะของการผสมผสาน คือสามารถรับเอาหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นของประเทศเพื่อนบ้านเรามาหลอมเข้า กับความเป็นไทยจนกระทั่งได้มาเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถพูดได้ว่าเป็นของ ไทยอย่างเต็มปากเต็มคำ
       
       ดูอย่างอาหารของเราหลายต่อหลายอย่างนั่นไงครับ ที่เราว่าเป็นของไทยนั้นก็เป็นของแขกเสียเยอะ อย่างแกงเผ็ดที่ต้องใส่เครื่องเทศและกระทินั้นก็มาจากแขก เพียงแต่แกงแขกที่เคยไปทานมานั้นออกจะไม่จัดจ้านถึงเครื่องและถึงรสสุดขีด แบบของเรา เราก็เพิ่มเครื่องแกง ปรุงรสด้วยอะไรที่พอจะหยิบจับได้ว่าเป็นของเรา โยน โครมต้มให้ ‘มันย่อง’ กว่าเดิม มันก็ดูคล้ายกับแกงแขก แต่ขณะเดียวกันก็แตกต่างไปจากของแขกแท้ๆ เยอะเลย
       
       ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทองนั่นก็ใช่ครับ ฝรั่งจ๋าโปรตุเกส ผสมกับญี่ปุ่นมาเองเลย แต่เราก็เอามาปรับเสียสวยและกลายเป็นของหวานแสนอร่อยขึ้นมา
       
       ลักษณะของการเลือกผสมแล้วBlend ให้เข้ากับความเป็นไทยเรานั้น...ในทางดนตรีก็มีอยู่มาก เพราะฉะนั้นเราถึงเห็นเพลงประเภทผสมข้ามชาติแต่ออกลูกมาเป็นไทยอยู่เยอะแยะ ไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเพลงลาวก็เข้ามา เพลงแขกมลายูก็เข้ามา เพลงจีนก็ยังมี ไปจนกระทั่งเพลงญี่ปุ่นหรือเพลงฝรั่งก็เห็นๆ กันอยู่...
       
       แต่อันนี้ก็ไม่ใช่เหตุผลที่ว่าทำไมคนไทยถึงเจ้าชู้หรอกนะครับ อิอิอิ
       
       เขมรไทรโยคนั้นเป็นเพลงที่มีท่วงทำนองมาจากเขมรอย่างแน่นอนที่สุด ผมเองชอบเพลงนี้ เพราะจำได้ว่าย่าซึ่งไม่ใช่คุณท้าวอะไรใหญ่โต...เป็นแต่เพียงแม่ค้าขายขนม พายเรือนั้นชอบร้องให้ฟังบ่อยๆ ผมเองฟังแกร้องวนไปวนมาก็อดจะจำไม่ได้...แต่ก็จำผิดไปเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะท่อนแรกที่ว่า
       
       “บรรยายความตามไท้...เอ้อเออเอ้อเอย เสด็จย่า”....ถึงตรงนี้ปุ๊ปอะไรซักอย่างก็จะมาป็อก!! ที่หัวทันที เพราะย่าบอกว่า ร้องอย่างงี้นรกกินหัวตาย
       
       เพลงนี้เป็นผลงานการประพันธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ทรงอาศัยเค้าโครงจากเพลง ‘เขมรกล่อมลูก’ เดิม ซึ่งเป็นเพลงชั้นเดียว พระองค์ท่านก็เอามาขยายให้เป็นอัตรา 2 ชั้น ส่วนเนื้อร้องนั้นเสด็จท่านไม่ได้เอามาจากบทละครหรือวรรณคดีเรื่องไหน แต่นำมาจากความทรงจำของท่านตั้งแต่โดยเสด็จพระราชดำเนินประพาสตำบลไทรโยค ครั้งแรกมาเป็นแนวพระนิพนธ์ ออกแสดงครั้งแรกในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุล จอมเกล้าอยู่หัว หรือ เสด็จพ่อ ร.5 เมื่อวันที่ 20 กันยายน ปี 2431 ก่อนจะมาถูกตัดให้เป็น ‘เพลงชั้นเดียว’ และถูกนำขยายเป็น ‘เพลงสามชั้น’ อีกด้วยฝีมือของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) อีกครั้งเมื่อปี 2491 เพลงที่ตัดลงเหลือชั้นเดียวนั้นมีการใส่เนื้อร้องโดยนาง จันทนา พิจิตรคุรุการ ขณะที่คนที่ร้องก็ไม้ใช่ใครอื่นครับ ตัวหลวงประดิษฐ์ไพเราะเองนั้นแหล่ะที่ร้องเอาไว้ และกลายเป็น ‘เพลงเถา’ ขึ้นมา
       
       หลังจากนั้นเพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงซูเปอร์ฮิตมากๆ สำหรับนักดนตรีไทย ไปจนกระทั่งนักดนตรีเพลงลีลาศ เพราะมันถูกเอามาทำกันใหม่ เรียบเรียงใหม่ในหลายจังหวะหลายลีลาทีเดียว ที่สำคัญกว่านั้นมีหลายเนื้อร้องด้วยสิครับ เหตุที่ต้องมีหลายเนื้อร้องก็เพราะเพลงๆ นี้ป็อปมากๆ คนก็เลยเอามาทำกันเยอะแยะ
       
       ขอคัดท่อนร้องมาสักหนึ่งท่อน ผมขอนำพระนิพนธ์ของเสด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศฯมาให้เราเคลิ้มถึงไทรโยคกัน ต้องบอกก่อนว่าให้ลืมโฆษณาโทรศัพท์มือถือที่บอกให้เราทราบว่า ‘5 วันเอง.. ขำๆ’ ซะ เพราะที่ยกมานี้ไม่ขำแต่ทำให้นึกถึงภาพร่มรื่นงดงามของไทรโยคสมัยก่อนได้ดี ไม่ใช่ไทรโยคที่ขายส้มตำกับลูกชิ้นทอดกันเพียบเหมือนในตอนนี้
       
       “บรรยายความ ตามไท้ เสด็จยาตร ยังไทรโยค ประพาส พนาสณฑ์
       ไม้ไล่ หลายพันธุ์คละ ขึ้นปะปน ที่ชายชล เขาชะโงก เป็นโตรกธาร
       น้ำพุ่งซ่า ไหลฉ่าฉาดฉาน เห็นตระการ มันไหล จ้อกโครม จ้อกโครม
       มันดัง จ้อก จ้อก จ้อก จ้อก โครม
       
       น้ำใส ไหลจนดู หมู่มัสยา กี่เหล่าหวายว่ายมา ก็เห็นโฉม
       ยินปักษา ซ้องเสียง เพียงประโคม เมื่อยามเย็น พยับโพยม ร้องเรียกรัง
       เสียงนกยูงทอง มันร้องโด่งดัง หูเราฟัง มันดังกะโต้งโห่ง
       มันดัง กอก กอก กอก กอก กะโต้งโห่ง”
       
       เพลงนี้ฟังแล้วก็เศร้า เพราะ ยูงทองเดี๋ยวนี้เข้าใจว่าจะไม่มีแล้วในไทรโยค อาจจะมีอยู่บ้างตามบ้านเศรษฐี ไทรโยคนั้นเดี๋ยวนี้จะมีก็เฉพาะยุงป่า ซึ่งคอยดูดเลือดเราอยู่ หมู่ปลาเองก็คงไม่มี คงไม่ต้องบอกว่าเพราะอะไรหรือเพราะใครที่ทำให้ไม่มี บอกแล้วครับว่า ไม่ขำๆๆๆ
       
       ใครที่ไม่คุ้นผมก็เลยคัดเพลงนี้มาใส่กันเอาไว้เผื่อว่าท่านผู้อ่านจะ นึกถึงทำนองที่ว่านี้ไม่ออก ท่านที่อ่านคอลัมน์ทาง www.manager.co.th สามารถที่จะฟังเพลงได้เลยเหมือนกันครับ แต่ที่ผมเลือกมานั้นเป็นผลงานการบรรเลงผ่านกีตาร์ ผลงานของกลุ่มดนตรีภาคเหนือเขา ชื่อชุด "รักไทย" (Thailand My Love) ฟังกันได้เพลินๆนะครับ
       
       อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่า ย่อหน้าข้างบนที่ว่าด้วยเรื่องประวัติของเพลงเถาเพลงนี้นั้นหลายคนอาจจะ น้ำลายฟูมปาก เพราะ ไม่ค่อยเข้าใจศัพท์แสงมันอยู่ ความจริงประวัติดังกล่าวอยู่ในหนังสือซึ่งเขียนโดยราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งพูดถึงเพลงเถาต่างๆ อย่างละเอียด แต่สำหรับศัพท์แสงหลายอย่างดูเหมือนจะยังไม่ได้อธิบายให้เคลียร์ เพราะฉะนั้นผมจะขออธิบายความหมายมันสั้นๆที่พอจะทำให้ท่านผู้อ่านทะลุไปถึง ขั้นต่างๆ ของเพลงไทยเดิมได้ต่อไป
       
       แต่คงจะต้องเป็นคราวหน้าแล้วครับ

ที่มา Manager  เพลงที่คนไทยต้องฟัง


Album:

Nostalgia

คำสำคัญ (Tags): #เขมรไทรโยค
หมายเลขบันทึก: 405972เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2010 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 03:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาฟังเพลงเพราะ ๆ  "เขมรไทรโยค"  ยอมรับว่าไม่เคยได้ยินที่ไหนมาก่อนค่ะ ท่ามกลางสายฝนที่เทกระหน่ำอย่างหนักมาตั้งแต่เมื่อคืน
  • ขอบคุณค่ะ

                                    

สวัสดีค่ะ

ตอนยายคิมเรียนอยู่ประถมปลาย  ต้องสอบให้ผ่านเพลง เขมรไทรโยค ลาวดวงเดือน ลาวเจริญศรีค่ะ

เมื่อไปร้องให้ครูที่โรงเรียนฟัง เขาเป็นคนรุ่นใหม่...ทำงง  แต่ก็ชอบและอยากฟังค่ะ

 

  • ถึงคุณบุษราและคุณยายคิม
  • วันนี้ไปเจอเด็กหนุ่มไทยที่วัดในห้องดนตรีไทย ถามเขาว่าเคยได้ยินเพลงเขมรโทรโยค ของ ดวงพร ผาสุข หรือเปล่า
  • เพราะมากๆนะ
  • เขาบอกว่าไม่เคยได้ยิน  แต่จะตีระนาค เขมรโทรโยคให้ฟัง เขาบอกว่าชอบเพลงนี้มาก  เล่นให้ดูสดๆเลย  ไม่ต้องเสียสตางค์
  • เพราะมาก เขาฝึกเล่นดนตรีไทยมา สิบหกปีแล้ว
  • พาน้องสาวมาเรียนดนตรีไทย
  • บอกเขาว่าจะเอากล้องมาถ่ายลง Youtube 
  • เขายิ้มอายๆ แต่ก็ไม่ได้ปฎิเสธ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท