KM พย.สสส.ครั้งที่ ๒ : ฐานการเรียนรู้ (๔)


ผู้ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละรอบ ล้วนแต่เป็นผู้ฟังที่ดี มีส่วนร่วมและมีอารมณ์ร่วมกับผู้นำเสนอแต่ละทีมเป็นอย่างดี

ตอนที่ ๓

ชีวิตหลากหลาย

ห้องนี้รับผิดชอบโดย ผศ.ดร.ฐิติณัฏฐ์ อัคคะเดชอนันต์ รองคณบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ มช. และ รศ.ดร.ชมนาด พจนมาตร์ สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้สรุปกิจกรรมมาให้ดังนี้

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องนี้ ทีมผู้จัดกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ว่าต้องการให้ผู้เข้าประชุมได้เรียนรู้และชื่นชมผลงานของนักสร้างเสริมสุขภาพที่ประกอบด้วยอาจารย์และลูกศิษย์ ในการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่กลุ่มคนที่มีชีวิตแตกต่างและหลากหลายซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ต้องขังที่ไม่มีอิสรภาพ กลุ่มชาวเขาที่อาศัยอยู่ในที่ห่างไกลความเจริญ กลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม กลุ่มผู้ที่นับถือศาสนาอิสลาม

เมื่อผู้เข้าประชุมย่างเท้าเข้ามาในฐานนี้ จะเห็นความอลังการของการจัดมุมนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นภาพสวยๆ  บรรยากาศของหมู่บ้านชาวเขาบนดอย บรรยากาศสบายๆ ริมชายหาดของหมู่บ้านชาวประมง  มุมพักผ่อนหย่อนใจของผู้สูงอายุ  หลายคนจึงพอที่จะคาดการณ์ได้ว่าฐานนี้น่าจะมีการแสดงที่ชวนติดตามเป็นแน่แท้ทีเดียว

เมื่อถึงเวลาเข้าฐานผู้เข้าประชุมก็ทยอยกันเดินเข้ามาในห้องแล้วเลือกที่นั่งตามอัธยาศัย ผศ.ดร.ฐิติณัฏฐ์ ได้ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และบอกลำดับของการนำเสนอ โดยลำดับของการนำเสนอนั้น แต่ละกลุ่มจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันนำเสนอเป็นรายแรก เพื่อให้สมาชิกของแต่ละกลุ่มได้มีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในฐานอื่นๆ หลังจากกลุ่มของตนเองนำเสนอเสร็จแล้วด้วย

กลุ่มนักศึกษาค่ายอาสาพัฒนาชนบทจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้เล่าเรื่องการจัดทำค่ายอาสาพยาบาลผ่านการแสดงบทบาทสมมติ โดยเริ่มจากการจุดประกายความคิดที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบค่ายสร้างสิ่งปลูกสร้างมาเป็นค่ายสร้างเสริมสุขภาพ ต่อด้วยการสำรวจหมู่บ้านและค้นหาปัญหาสุขภาพของชาวเขา

หลังจากที่นักศึกษาประชุมกลุ่มแล้วจึงตัดสินใจเลือกหมู่บ้านผาแตกที่เป็นชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  นักศึกษาจึงได้นำเสนอตัวอย่างวิธีการสร้างเสริมสุขภาพแก่ชาวเขาที่ดื่มน้ำจากลำห้วย ใช้สารเคมีในภาคการเกษตรโดยไม่ได้ป้องกันตนเอง และการรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลของเด็กๆ ในหมู่บ้าน 

 

สีสันกิจกรรมชาวค่าย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในการนำเสนอดังกล่าวได้มีการเชิญชวนผู้เข้าประชุมให้ร่วมร้องและเต้นประกอบเพลงล้างมือ  ซึ่งความสดใสด้วยวัยและลีลาการแสดงละครของนักศึกษาที่ผ่านการเตรียมความพร้อมมาอย่างดี สามารถสร้างความประทับใจและเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังได้    

ผศ.ดร.เกียรติกำจร กุศล และกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำเสนอด้วยการเล่าเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพแบบพอเพียงในประชาชนชาวมุสลิมร่วมกับการนำเสนอด้วยวิดีทัศน์ จากนั้นต่อด้วยการสาธิตวิธีการออกกำลังกายที่คิดค้นท่าทางโดยชาวบ้านเอง มีการเชิญชวนให้ผู้เข้าประชุมร่วมออกกำลังกายไปพร้อมกัน 

 

ออกกำลังกายด้วยท่าที่ชาวบ้านคิดเอง

แต่การแสดงที่เรียกความสนใจของผู้ชมได้ดีที่สุดเห็นจะได้แก่การแสดงรำมโนราห์ของเด็กนักศึกษาตัวเล็กที่มีใบหน้ายิ้มหวานตลอดเวลา อีกทั้งท่วงท่าลีลาการรำก็ดูอ่อนช้อย นับเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ ซึ่งนักศึกษาได้เล่าว่าได้รับการถ่ายทอดการรำนี้มาจากกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ที่ต้องการสืบสานวัฒนธรรมพื้นบ้านจากรุ่นสู่รุ่นนั่นเอง    

 

อาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

นักศึกษาปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้เชิญชวนให้ผู้เข้าประชุมสมมุติตัวเองว่าเป็นผู้สูงอายุ มาร่วมกิจกรรมและเล่นเกมที่สามารถป้องกันสมองเสื่อม โดยในแต่ละรอบผู้เข้าประชุมจะได้เล่นเกมที่นักศึกษาเตรียมมาแตกต่างกันไป เพราะนักศึกษาเตรียมมาหลายเกม หลังจากเล่นเกมแล้วนักศึกษาได้สรุปวัตถุประสงค์ แนวคิดของเกมต่างๆ และเคล็ดลับในการเล่นเกมกับผ้สูงอายุ นอกจากผู้เข้าประชุมจะได้ร่วมสนุกสนานแล้วยังได้ของที่ระลึกกลับบ้านอีกด้วย

 

กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ป้องกันสมองเสื่อม

สำหรับทีมของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมากันเพียง 2 คน คือ รศ.ดร.ชมนาด พจนามาตร์ และคุณศุภิสรา ตาคำนิล พยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่ในเรือนจำกลางเชียงราย นำเสนอด้วยวิธีการที่เรียบง่ายด้วยการนั่งเสวนา ส่วนเนื้อหาเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพให้แก่กลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำนั้น มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งสองคนผลัดกันเล่าเรื่องประกอบการฉายภาพกิจกรรมที่ทำในเรือนจำที่น้อยคนนักจะสามารถล่วงรู้ได้ 

 

 เสวนาการสร้างเสริมสุขภาพในเรือนจำ

บรรยายกาศโดยรวมพบว่าผู้ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในแต่ละรอบ ล้วนแต่เป็นผู้ฟังที่ดี มีส่วนร่วมและมีอารมณ์ร่วมกับผู้นำเสนอแต่ละทีมเป็นอย่างดี ในรอบแรกๆ การซักถามหลังการนำเสนอดูจะน้อยไปหน่อยเนื่องจากเวลาค่อนข้างจะเร่งรัด  ในรอบหลังๆ มีจำนวนผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้น้อยลงกว่ารอบแรกๆ เล็กน้อย แต่กลุ่มผู้เข้าประชุมก็ยังให้ความสนใจและมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างไม่น้อยไปกว่ากัน

ผู้เข้าประชุมหลายคนท่านมีโอกาสได้ซักถามรายละเอียดของกิจกรรมเพิ่มเติม และเป็นที่น่าสังเกตว่าผู้เข้าประชุมจะกล่าวแสดงความชื่นชมในแนวคิด กิจกรรม และการนำเสนอของแต่ละกลุ่มเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นอาจกล่าวโดยภาพรวมได้ว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในฐานนี้เป็นแบบ “สุขใจผู้ให้ ถูกใจผู้รับ”

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 440564เขียนเมื่อ 23 พฤษภาคม 2011 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท