ร่วมงานมหกรรม KM ภูมิภาค ครั้งที่ ๑


ปัญญาที่แท้คือปัญญาที่มาจากการปฏิบัติ

ดร.กีร์รัตน์ สงวนไทร รองอธิการบดีฝ่ายแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอให้ดิฉันเข้าร่วมประชุม มหกรรม KM ภูมิภาค ครั้งที่ ๑ : กรณีความสำเร็จในเขตภาคเหนือตอนล่าง แทนแบบกะทันหัน เนื่องจากมีภารกิจอื่นอยู่แล้ว ดิฉันจึงสามารถเข้าประชุมได้เพียงวันศุกร์ที่ ๒๘ กันยายน วันเดียว

ออกเดินทางจากกรุงเทพแต่เช้าตรู่ เจอผู้เข้าประชุมหลายคนรวมทั้งบุคคลสำคัญคือ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช มาถึงสนามบินพิษณุโลก ดิฉันโทรศัพท์แจ้ง นพ.นิพัธ กิตติมานนท์ ผช.ผอ. รพ.พุทธชินราช แกนหลักของเครือข่าย KM เบาหวาน ให้รู้ว่าดิฉันมาที่นี่ รศ.มาลินี ธนารุณ คณบดีคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มารับที่สนามบินพาไปสถานที่จัดประชุมแต่เช้า เราเลยได้สำรวจทั่วบริเวณในช่วงที่ยังไม่ค่อยมีคน เจอคุณสิงห์ป่าสักเดินไปเดินมาอยู่เหมือนกัน

 

 บางส่วนของนิทรรศการ

 คุณลุงจินดา ทาทิพย์ และเครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ นครสวรรค์

ทีม สคส. ก็มาแสดงนิทรรศการ จำหน่ายหนังสือ CD และประชาสัมพันธ์การบริการ รวมทั้งมหกรรม KM แห่งชาติครั้งที่ ๔

 

 ทีมหนุ่ม-สาวจาก สคส.

 ผู้เข้าประชุมลงทะเบียนตามจังหวัด

๐๘.๕๕ น. ตามนาฬิกาของดิฉัน มีพิธีเปิดการประชุม รศ.ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวรายงาน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ นายกสภามหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเปิดงาน ใช้เวลาเพียง ๕-๖ นาทีเท่านั้น

หลังจากนั้นมี VCD CoAP เครื่องปั้นดินเผา ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างนักวิชาการ ตัวเอกคือ รศ.จิรวัฒน์ พิระสันต์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และคุณป้าศรีเพ็ญ ใจเชื้อ VCD นี้แสดงให้เห็นว่าทั้งชาวบ้านและชุมชนต่างฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกัน และขยายไปสู่การทำงานแบบเครือข่าย ได้เห็นการจัดการความรู้และการวิจัยที่ต่อยอดและเสริมซึ่งกันและกัน เป็นตัวอย่างที่นักวิชาการควรเอาอย่าง

๐๙.๒๐ น.เป็นปาฐกถาพิเศษเรื่อง “เครือข่ายทางปัญญากับการขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้” โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่เตือนผู้เข้าประชุมก่อนว่าสิ่งที่พูดมาจากการตีความและให้ความเห็นเกี่ยวกับเครือข่ายทางปัญญา ขอให้ระมัดระวังในการฟัง เพราะท่านจะใช้มุมมองที่มีความลำเอียง คิดแบบสุดโต่ง เป็นมุมมองจากสังคมยุคคลื่นที่ ๔ และเตือนว่าความรู้เก่าง่าย หลอกง่าย ถ้าไม่ระวังจะหลงผิดได้ง่าย

 

 ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

ปาฐกถาครั้งนี้ (ดู PowerPoint ที่นี่) ทำให้ดิฉันเข้าใจเรื่องความรู้ การจัดการความรู้ และที่สำคัญคือเรื่องของเครือข่ายเรียนรู้มากยิ่งขึ้น ภาพของเครือข่ายจากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทำให้มองเห็นทิศทางในการที่จะขับเคลื่อนเครือข่าย KM เบาหวานที่ชัดเจนขึ้น

โครงสร้างเครือข่าย (INN: Individual, Node, Network) มีอิสระ freedom สูง แต่มีความเชื่อมโยงกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่างจากโครงสร้างอำนาจที่เป็นปิรามิดที่แข็ง มีอิสระน้อย การที่มีอิสระน้อยทำให้เรียนรู้ยาก

ในองค์กรเรียนรู้ต้องมีเครือข่ายทางปัญญา เป็นเครือข่ายกึ่งปิดกึ่งเปิด ต้องเปิดโอกาสให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับข้างนอก ข้ามแดน เพื่อสร้าง “พลังลูกครึ่ง” เช่น เครือข่าย รพ.ก็ต้องไปเชื่อมกับเครือข่าย รร. ต้องมีสะพาน มีวิธีการเชื่อมหลากหลาย มีคนที่ทำหน้าที่ “ช่างเชื่อม” Co-ordinator หรือคุณประสาน

มหาวิทยาลัยต้องเลิกคิดว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้ที่ดีที่สุดหรือเป็นศูนย์รวมความรู้ เพราะความรู้กระจายไปทั่ว มหาวิทยาลัยก็เป็น network หนึ่ง ควรจะสร้าง basic research จากเทคโนโลยีที่ชาวบ้านทำ บริการการเรียนรู้ มีคุณอำนวยช่วยให้ชาวบ้านได้เรียนรู้ เน้น interdependent เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เชื่อในความมหัศจรรย์ของปฏิสัมพันธ์เชิงบวก การมีจินตนาการร่วมกัน

ปัญญาไม่ใช่หมายถึงความรู้ เพราะความรู้ที่มีๆ นั้นหลายอย่างผิด (อดีตอาจถูก) ต้องตีความความรู้เป็น judgement ต่อความรู้ดีกว่า content ของความรู้ ปัญญาที่แท้คือปัญญาที่มาจากการปฏิบัติ เป็นปัญญาในระดับกระบวนทัศน์และระดับปฏิบัติการ (content = ปัญญาระดับล่าง judgement = ปัญญาระดับกลาง) ปัญญารวมหมู่สำคัญกว่าปัญญาคนๆ (ปัญญาปัจเจก)

ต่อไปธาตุแท้หรือ talent ของคน จะเป็นเรื่องสำคัญ คนที่มีคุณค่าสูงสุดดูที่ธาตุแท้ ไม่พูดถึงความรู้ เพราะความรู้หาได้ แต่ talent ฝึกยาก

ผู้บริหารต้องมีทักษะใหม่ ทำให้เกิด collaboration ระดับหน่วยงาน ภายใน ภายนอก ต้องคิดว่าความสำเร็จของงานต้องอาศัยปัญญาคนอื่นด้วย ปัญญาของเราไม่พอ

อาจารย์วิจารณ์สรุปในสไลด์สุดท้ายว่าสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นสังคมเปิด (กึ่งปิดกึ่งเปิด) ที่มีอิสรภาพสูง และมีความมุ่งมั่นร่วมกันสูง การเรียนรู้ที่ทรงพลังที่สุดคือการเรียนรู้ที่ใช้ “พลังสาม” คือ INN และเป็นการเรียนรู้เชิงบวก เน้นที่การปฏิบัติ

หลังพัก รับประทานอาหารกลางวัน คุณหมอนิพัธส่งลูกน้องมารับให้ไปดูกิจกรรม “เพื่อนช่วยเพื่อน” เรื่องงานจิตอาสา ซึ่งมีทีมจากอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ มาเยือนกลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว รพ.พุทธชินราช แม้ไม่ได้ฟังเรื่องราวของ รพร.ด่านซ้าย แต่ก็มีความสุขที่ได้รับรู้เรื่องจิตอาสาดีๆ มากมาย

วัลลา ตันตโยทัย

 

หมายเลขบันทึก: 133904เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2007 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • สวัสดีครับ ดร.วัลลา
  • ถึงว่าซิครับ วันที่สองมองหาอาจารย์อย่างไรก็ไม่เจอ
  • วันที่สองก็สนุกสนานมากเลยนะครับ
     สวัสดีครับพี่วัลลา เสียดายจริงๆที่ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมในงาน มหกรรม KM ภูมิภาคครั้งนี้ด้วย ได้อ่านบันทึกของพี่ก็พอจะทราบถึงบรรยากาศของการประชุมครั้งนี้ โดยเฉพาะปาฐกถาของ อ วิจารณ์ น่าสนใจมากครับ คงจะนำมาปฏิบัติได้ในงานของเวชศาสตร์ครอบครัวให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท