KM และการพัฒนาบุคลากร


knowledge sharing ต้องมีเทคนิควิธีการ

เช้าวันนี้ดิฉันไปช่วย รศ.สุปาณี เสนาดิสัย สอนนักศึกษาพยาบาล หลักสูตรปริญญาโท โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รายวิชาการบริหารการพยาบาล ในหัวข้อ Staff Development รายวิชานี้มี รศ.อรพินธ์ เจริญผล เป็นผู้รับผิดชอบ

ห้องเรียนอยู่ที่ศาลายา ตอนเช้าเราจึงนั่งรถตู้จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมนักศึกษาและอาจารย์ท่านอื่นๆ อีกหลายคน ออกเดินทางเวลาประมาณ ๐๘ น. ใช้เวลาไม่นานก็ถึงศาลายา เริ่มสอนได้ตรงเวลา ๐๙ น.พอดี

ในชั่วโมงแรกอาจารย์สุปาณีได้ให้ความรู้ในเรื่องของการพัฒนาบุคลากร ตั้งแต่ความหมาย ความจำเป็น วัตถุประสงค์ ประโยชน์ หลักการ วิธีการ ฯลฯ โดยเอาตัวอย่างจริงจากประสบการณ์ของอาจารย์เองที่เคยเป็นหัวหน้าภาควิชาพยาบาลศาสตร์มาก่อน และตั้งคำถามกระตุ้นให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วม โดยการตอบคำถาม แสดงความคิดเห็น และยกตัวอย่างจากประสบการณ์ของตนเอง

ดิฉันถือโอกาสนี้เรียนไปด้วย ได้ข้อคิดจากการสอนของอาจารย์สุปาณีหลายเรื่อง เช่น ที่ว่าขาดแคลนพยาบาลนั้น ขาดพยาบาลหรือขาดสิ่ง (แวดล้อม) ที่จะทำให้พยาบาลอยู่กันแน่,  แนวคิดใหม่คนไม่ควรจะทำงานได้อย่างเดียว ควรทำได้หลายๆ อย่าง, การที่คนทะเลาะกัน เพราะชอบคิดว่าตนเองทำงานเยอะ แต่คนอื่นไม่ทำ ถ้าคนรู้กันว่าใครทำอะไร ก็จะเข้าใจกันมากขึ้น, อะไรที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ต้องคิดในทางบวก เป็นต้น

 

 รศ.สุปาณี เสนาดิสัย

อาจารย์สุปาณีตั้งคำถามส่งต่อให้ดิฉันว่า KM ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรได้อย่างไร

บรรยากาศในห้องเรียน ขวา รศ.อรพินธ์ เจริญผล

ดิฉันเริ่มต้นด้วยการให้นักศึกษาช่วยกันตอบตามความเข้าใจของตนเองว่า KM คืออะไร แล้วพูดถึงความรู้ explicit และ tacit แนวคิดการจัดการความรู้ ใครมีบทบาทเกี่ยวข้องบ้าง นำบันทึกของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่กล่าวถึง HRM และ KM มาอ่านให้ฟัง (เพราะต่ออินเตอร์เน็ตไม่ได้)

ต่อจากนั้นจึงฉาย VCD ของ รพ.บ้านตาก ให้นักศึกษาพยายามจับประเด็นให้ได้ว่า KM เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรอย่างไรบ้าง

เมื่อดู VCD จบดิฉันถามนักศึกษาอีกครั้งว่าการจัดการความรู้คืออะไร ทำได้อย่างไรบ้าง อธิบายเนื้อหาบางส่วนของ VCD เพิ่มเติม เช่น CoP, ความสำคัญของ trust, knowledge sharing เป็นต้น นักศึกษารู้ว่าสามารถใช้ KM เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรได้ และประทับใจความรู้สึกของชาว รพ.บ้านตากที่มีต่อองค์กร

เมื่อถามนักศึกษาว่าคิดจะเอา KM ไปใช้อย่างไร ก็ได้คำตอบหลายอย่าง เช่น เอามาแก้ปัญหาใน ward เปิดโอกาสให้สมาชิกแสดงความคิดเห็น เอาประสบการณ์มาแลกเปลี่ยน ต้องสร้างความเข้าใจเรื่อง KM ก่อน บางคนบอกว่าน่าจะเอา VCD นี้ไปเปิดให้ดู บางคนบอกว่าให้ทำเลยเหมือนตอนทำ HA ที่ตอนเริ่มทำก็ไม่เข้าใจ ทำไปแล้วจึงรู้ว่าคืออะไร

นักศึกษาบางคนทำงานอยู่ห้องผ่าตัด ซึ่งต้องมี rotation ก่อนจะ rotate ก็มีการคุยกันก่อน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กันอยู่แล้ว นักศึกษาบางคนก็บอกว่าไม่เคยมีโอกาสจัดให้เจ้าหน้าที่เข้ากลุ่มกันหรือจัดให้ผู้ป่วยเข้ากลุ่มเรียนรู้

ดิฉันเพิ่มเติมว่า knowledge sharing ต้องมีเทคนิควิธีการ ไม่ใช่เพียงให้คนมาเข้ากลุ่มกันเท่านั้น ต้องมีการสร้างบรรยากาศเพื่อให้ความรู้ปฏิบัติถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเรื่องเล่าความสำเร็จ ต่อจากนั้นได้พูดถึง knowledge sharing strategies ทั้งในด้าน social, organizational, managerial และ technical context ที่ทำให้คนทำงานอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน

ดิฉันได้ยกตัวอย่างการใช้ blog GotoKnow ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย ถึงเวลา ๑๒ น. หมดเวลาเสียก่อนไม่ได้พูดถึงเรื่อง Peer Assist เวลา ๓ ชม. ที่ตอนแรกดูเหมือนเยอะมาก แต่การสอนที่มี participation จากผู้เรียนอย่างคึกคัก ทำให้เวลาผ่านไปเร็วมาก

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐

 

หมายเลขบันทึก: 112110เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2007 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มีนาคม 2012 12:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • วันนี้ตาม ดร.วัลลา มาเรียนรู้KMกับ นศ.พยาบาลด้วยคนนะครับ
  • การ ลปรร. โดยใช้หลากหลายวิธี ส่งผลให้การแลกเปลี่ยน   ผู้ให้-ผู้รับต่างก็มีความสุขนะครับ
  • ขอบพระคุณมากครับที่นำมาแบ่งปัน

สวัสดีคุณสิงห์ป่าสัก

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม รูปใหม่ของคุณสิงห์ป่าสักดูภูมิฐานจังนะคะ

  • สนับสนุนนโยบายครับ เขาให้ใส่ผ้าไทยทุกวันศุกร์
  • ใส่ได้ครั้งเดียวเองครับ  คือวันที่ถ่ายรูปนี้แหละ(อากาศร้อน และที่สำคัญภูมิฐานเกินไป)

เพิ่งแวะเข้ามาค่ะอาจารย์...รู้สึกดีที่ได้มาอ่าน blog ค่ะ ตอนแรกเข้ามาค้นหาเพื่อจะเรียนต่อโทน่ะค่ะ แต่ไปๆมาๆ เข้ามาที่ go to know ได้รู้ความรู้สึกของผู้สอนด้วย...

คิดว่าจะเข้ามาดูเรื่อยๆค่ะ

ขอบคุณอาจารย์ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท