สอนนักศึกษาพยาบาลให้รู้จัก KM


ต้องติดตามกันต่อไปว่ากิจกรรมแบบนี้จะช่วยเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง ได้มากน้อยเพียงใด

เมื่อวันเสาร์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๐ ดิฉัน คุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน และคุณอาฬสา หุตะเจริญ ได้ไปทำหน้าที่วิทยากรในกิจกรรมปฐมนิเทศนักศึกษาพยาบาลปี ๒ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ในโครงการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

รศ.รุจิเรศ ธนูรักษ์ ซึ่งรับผิดชอบโครงการนี้ มีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากจะให้นักศึกษาได้รู้จักและนำ KM มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเรียน และเชื่อมโยง KM กับการเรียนรู้ด้วยตนเองแบบ self-directed learning อาจารย์รุจิเรศเตรียมตัวล่วงหน้าโดยศึกษาเรื่อง KM เรียนรู้การใช้เว็บบล็อก เปิดบล็อกและ planet ของตนเองไว้ล่วงหน้า

เราเคยไปจัดกิจกรรมแบบนี้เมื่อปีที่แล้ว (อ่านที่นี่) ปีนี้เราปรับปรุงกิจกรรมใหม่ โดยบรรยายให้น้อยและให้นักศึกษาเรียนรู้จากกิจกรรมให้มากขึ้น

ภาคเช้าเป็นช่วงที่ให้นักศึกษาได้รู้จัก KM และให้เรียนรู้จากรุ่นพี่และอาจารย์ กว่านักศึกษาจะทยอยกันมาเกือบพร้อมก็เลยเวลา ๐๘.๓๐ น.ไปนิดหน่อยแล้ว คุณสุภาพรรณและคุณอาฬสาทำกิจกรรมอุ่นเครื่องให้ทุกคนตื่นตัวประมาณ ๑๕ นาที โดยให้มีสมาธิตั้งสติฟังคำสั่งแล้วทำตาม ใครผิดพลาดรวมทั้งคนที่มาสายถูกเชิญให้ออกมาหน้าชั้น เปิด VCD ขยับบ่อยๆ ของ สสส. ให้นักศึกษาเต้นให้เข้าจังหวะ ใครทำได้ดีก็จะได้กลับเข้าไปนั่ง งานนี้คุณสุภาพรรณนำน้องๆ เต้นจนคนดูอึ้งไปเลย ดิฉันได้ข้อคิดว่าเราจะให้เขาทำอะไร เราต้องทำได้ด้วย

ดิฉันเริ่ม BAR แต่ปรากฏว่าไม่มีนักศึกษาคนไหน BAR เลยว่าวันนี้คาดหวังอะไรจากการมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ คาดว่าจะมากันตามที่ถูกบอกให้มา รวมทั้งอาจจะยังอ่อนล้ามาจากกิจกรรมวันก่อนๆ ก็ได้ ดิฉันได้ทราบมาว่าวันนี้ทางมหาวิทยาลัยก็จัดกิจกรรมรับน้อง นักศึกษาบางส่วนจึงไปอยู่ที่กิจกรรมรับน้องด้วย

ดิฉันไม่บอกว่า KM คืออะไร แต่ให้ดู VCD รพ.บ้านตาก แล้วให้ตอบคำถามว่า KM คืออะไร ทำอย่างไร จะสามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอนได้หรือไม่ .......ปรากฏว่านักศึกษาให้ความสนใจดีมาก สามารถตอบคำถามได้ เห็นประโยชน์ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รู้จักว่า “คุณเอื้อ” “คุณอำนวย” “คุณกิจ” คือใคร ดิฉันบรรยายเพิ่มเติมอีกเล็กน้อยถึงวงจรการจัดการความรู้ วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งวิธีการเล่าเรื่องและวิธีการฟัง เป็นต้น

 

 ขณะดู VCD รพ.บ้านตาก

กิจกรรมต่อไปเป็นการนำเสนอภาพว่าในปีนี้การเรียนการสอนของนักศึกษาจะเป็นอย่างไรบ้าง ดิฉันทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการ อาจารย์อภรชา ลำดับวงศ์ มาทบทวนวิธีการเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (problem based learning, PBL) และการเรียนรู้ด้วยตนเอง เล่าขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
- การเปิดปัญหา ซึ่งนักศึกษาต้องค้นหาปัญหาจากโจทย์ ขุดค้นความรู้ที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหา และหาหัวข้อที่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติม
- การค้นคว้าด้วยตนเอง ที่นักศึกษาต้องค้นคว้าจากแหล่งข้อมูลหลากหลายที่มีความน่าเชื่อถือ มีการอ้างอิงชัดเจน และแสดงออกมาเป็นหลักฐานการเรียนรู้
- การปิดปัญหา เป็นขั้นตอนของการสรุปข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้ นำเสนอข้อมูลให้เพื่อนในกลุ่ม เชื่อมโยงสู่การแก้ไขปัญหา มีการเขียนสะท้อนคิดความรู้ที่ได้จากการสืบค้น สร้างแผนภูมิมโนทัศน์ บางปัญหาต้องสาธิตวิธีการให้ดูด้วย
 
คุณน้ำส้ม ภัทรดุษฏี นักศึกษารุ่นพี่ ชั้นปีที่ ๓ เล่าให้ฟังว่าตนเองมีวิธีการเรียนอย่างไร น้ำส้มบอกว่าสิ่งสำคัญก็คือการสร้างแรงจูงใจภายในของตนเอง น้ำส้มสังเกตเพื่อนที่ทำได้ดี อยากทำได้แบบเพื่อนบ้าง ถามวิธีการจากเพื่อนแล้วนำมาพัฒนาตนเองขึ้นเรื่อยๆ มีการอ่านงานมาล่วงหน้า ดูเอกสารอ้างอิง ค้นความรู้จากหนังสือและใช้ key word ค้นทางอินเตอร์เน็ต น้ำส้มยอมรับว่าส่วนใหญ่อ่านแต่หนังสือภาษาไทย แต่ก็แนะน้องๆ ว่าอ่านภาษาอังกฤษบ้างก็น่าจะดี เมื่อไปศึกษาค้นคว้ามาได้แล้ว ก่อนจะนำเสนอให้กลุ่มฟัง ตนเองต้องทำความเข้าใจเรื่องนั้นๆ มาก่อน วิธีที่ใช้คืออ่าน ๑ รอบแล้วดูว่าอะไรสำคัญ

ตอนท้ายอาจารย์อภรชาเอาตัวอย่างที่นักศึกษาทั้งของรุ่นพี่และรุ่นนี้เขียนความรู้ออกมาในรูปแบบต่างๆ มาแสดง จากปัญหาๆ หนึ่งสามารถสรุปความรู้ทั้งหมดไว้ในกระดาษ A4 ๑ หน้าหรือ ๒ หน้าติดกันได้นักศึกษาที่ตั้งใจฟังน่าจะเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม

หลังพักรับประทานอาหารกลางวัน จำนวนนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมดูแล้วน้อยลงกว่าช่วงเช้า เราแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่มๆ จำนวน ๘ กลุ่มตามบัตรคำที่แจกให้ตอนลงทะเบียน แต่ละกลุ่มก็มีวิธีการเรียกเพื่อนเข้ากลุ่มของตน บรรยากาศจึงดูคึกคัก

 

 บรรยากาศขณะเรียกเพื่อนเข้ากลุ่ม

กิจกรรมที่จัดไว้ถูกยุบเหลือ ๔ ฐาน เพราะนักศึกษามาร่วมกิจกรรมไม่ครบทุกคน แต่ละฐานมีชื่อสนุกๆ ว่า สนุกคิด สนุกทาย สนุกรวม สนุกสร้าง นักศึกษากลุ่มหนึ่งจำนวน ๑๙ คน แยกไปเรียนรู้วิธีการใช้บล็อกที่ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์

ดิฉันทำหน้าที่สอนการใช้บล็อก โดยมีเจ้าหน้าที่ช่วยอีก ๒ คน ผศ.อรุณศรี เตชัสหงส์ เข้ามาเรียนรู้ด้วย เริ่มต้นดิฉันแนะนำให้รู้จักว่าเรามี gotoknow.org, learners.in.th, researchers.in.th หลังจากนั้นดิฉันให้นักศึกษาอ่านบันทึกในบล็อกการแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ของหมอจิ้นเรื่องการสื่อสารบกพร่อง จุดบอดที่เจอทุกวัน เพื่อให้ตอบคำถามว่าบล็อกคืออะไร มีลักษณะอย่างไร อ่านแล้วได้ความรู้อะไรบ้าง

ดิฉันสังเกตว่านักศึกษาทุกคนยิ้มคนเดียวเมื่ออ่านบันทึกเรื่องนี้ แล้วเขาสามารถตอบได้ว่าบล็อกเป็นที่บันทึกประสบการณ์ในแต่ละวัน อ่านแล้วนึกภาพเหตุการณ์ออก มีภาพประกอบให้เห็นชัดเจน ได้ความรู้ที่เข้าถึงใจได้ดีกว่าการอ่านตำรา

 

 นักศึกษากำลังอ่านบันทึกของหมอจิ้น

ต่อจากนั้นดิฉันสอนวิธีการสมัครเป็นสมาชิก learners.in.th ให้แต่ละคนสร้างบล็อกและทดลองเขียนบันทึกของตนเอง นักศึกษาบางคนเตรียมเขียนมาก่อนในสมุด บางคนก็เขียนกันสดๆ ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ ๑ ชม. กว่าๆ ทุกคนจด URL ของตนเพื่อให้อาจารย์รุจิเรศได้รู้และนำเข้ารวมไว้ใน planet เดียวกัน

นักศึกษาทั้งหมดกลับมารวมตัวกันในห้องใหญ่ แต่ละกลุ่มมานำเสนอผลงานและสรุปว่าได้เรียนรู้อะไรบ้าง รู้สึกว่ากลุ่มที่ทำกิจกรรมตามฐานจะได้ความสนุกสนานด้วย แต่ละกลุ่มมีวิธีการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจ บางกลุ่มร้องเป็นหมอลำก็มี กลุ่มที่ไปเรียนบล็อกเล่าว่าไปทำอะไรมาบ้าง ดิฉันจะโชว์บันทึกที่สร้างขึ้นใหม่แต่ขณะนั้นคอมพิวเตอร์เกิดติดขัดไม่สามารถแสดงได้

 

 ตัวอย่างงานกลุ่มจากฐานสนุกรวม (ความสามารถ)

ช่วงสุดท้ายดิฉันพูดให้ทั้งกลุ่มฟังเรื่องการใช้บล็อกเพื่อสร้างกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ยกตัวอย่างการใช้บล็อกในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทีมดูแลผู้ป่วยเบาหวาน (ที่นี่) และการใช้บล็อกในการเรียนการสอนของอาจารย์ลูกหว้า (ที่นี่) แสดงบล็อกและชุมชนของอาจารย์รุจิเรศที่เพิ่งนำบล็อกของนักศึกษาเข้า planet สดๆ ร้อนๆ (ที่นี่)

ใกล้ ๑๖ น. สังเกตเห็นนักศึกษาบางคนที่ตอนออกมานำเสนอก็ทำได้อย่างสนุกสนาน พอถึงเวลาต้องนั่งฟัง กลับคอพับไปเสียแล้ว ช่วงนี้เลยขอจบด้วย AAR ขออาสาสมัครคนแรก แล้วให้ส่งต่อไปเรื่อยๆ ว่าอยากฟังใคร AAR

ข้อมูล AAR ก็เป็นไปตามที่คาดว่านักศึกษาไม่ค่อยได้คาดหวังอะไรก่อนมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ มาเพราะมีคนบอกให้มา แต่มาแล้วก็ได้ความรู้และได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรม ข้อเสนอแนะที่อยากให้ปรับปรุงคือเรื่องสถานที่ สภาพห้องที่ไม่ค่อยเหมาะกับการจัดกิจกรรม แอร์เย็นไป ตอนเช้าอยากให้มีกิจกรรมที่กระตุ้นความตื่นตัวมากกว่านี้ บางคนให้ข้อเสนอแนะในภาพรวมว่ากิจกรรมช่วงปฐมนิเทศยาวนานเกินไป (นักศึกษารุ่นนี้เรียน summer ด้วย) ส่วนจะกลับไปทำอะไรต่อนั้น มีบางคนบอกว่าจะไปทำบล็อกต่อ

คงต้องติดตามกันต่อไปว่ากิจกรรมแบบนี้จะช่วยเริ่มต้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างอาจารย์และนักศึกษา ระหว่างนักศึกษาด้วยกันเอง ได้มากน้อยเพียงใด ที่สำคัญคงอยู่ที่ “คุณอำนวย” ซึ่งจะต้องคอยติดตามกระตุ้นและทำให้เวทีเสมือนใน learners.in.th มีความคึกคัก น่าสนใจ แวะเข้ามาแล้วได้ความรู้

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๐  

หมายเลขบันทึก: 100772เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2007 21:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 11:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ตามมาดู
  • เยี่ยมเลยครับอาจารย์
  • รูปสุดท้ายหายไปครับผม
  • ขอบคุณครับ

ตามมารายงานว่าขณะนี้มีนักศึกษาเข้ามาเล่าเรื่อง2 คนแล้วแต่ยังไม่ได้เล่าตามหลักการ คงจะต้องแนะนำเพิ่ม อาจารย์ช่วยเข้าไปกระตุ้นด้วยจะขอบคุณมาก

วิธีการเล่าเรื่องของอาจารย์น่าสนใจมาก มีเนื้อหา มีกิจกรรมพร้อมภาพประกอบ และมีสรุปผล

อาจารย์เห็นการเปลี่ยนแปลงของอาจารย์รุจิเรศมั้ย ตอนนี้มีการใส่สีสันหลังข้อความทำให้ชวนอ่านเพิ่มขึ้นแล้วนะ

ขอบคุณอีกครั้งที่ให้เวลากับโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี สมกับเป็นศิษย์เก่าดีเด่นจริงๆ

สวัสดีค่ะ อาจารย์วัลลา

     ตอนนี้น้ำส้มได้เปิด blog เป็นของตนเองแล้วนะค่ะ แต่ยังอยู่ในช่วงของการทำความเข้าใจการใช้ระบบ แล้วจะรีบนำเรื่องประสบการณ์ในการเรียนแบบ PBL มาลงค่ะ

     ขอบคุณอาจารย์มากนะค่ะ ที่อาจารย์ได้กรุณามาถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ดี  ๆ ที่มีประโยชน์ให้กับน้อง ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะทำให้ นศ.พยาบาลรามามีการพัฒนาไม่น้อยหน้าไปกว่า นศ. พยาบาลที่ไหน ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท