ชีวิตที่พอเพียง  4725. สู่ชีวิตใหม่ การแสวงหาในช่วงหนึ่งของชีวิต


 

หนังสือเล่มหนาเกือบแปดร้อยหน้า เรื่อง สู่ชีวิตใหม่ : การแสวงหาในช่วงหนึ่งของชีวิต  โดย นพ. วิธาน ฐานะวุฑฒ์   จัดพิมพ์โดย Madman Books   เป็นหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาด้านในของความเป็นมนุษย์   อันเป็นผลของการแสวงหาของศัลยแพทย์ตกแต่งท่านหนึ่ง ในช่วง ๒๐ ปี ของชีวิต    

อ่านบทนำของ นพ. วรวุฒิ โฆวัชรกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสันทราย  จังหวัดเชียงใหม่ แล้วเห็นการแสวงหาทั้งของคุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ และเพื่อนพ้อง รวมทั้งตัวคุณหมอวรวุฒิเอง    เป็นการแสวงหาผ่านการทำประโยชน์แก่สังคม   คุณหมอวรวุฒิสามารถดำเนินการพัฒนาโรงพยาบาลสันทรายจากโรงพยาบาลชุมชน ๓๐ เตียง สู่โรงพยาบาลทั่วไป ๓๐๐ เตียง   ที่มีแพทย์และเครื่องมือครบครัน   โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ไม่ต้องรองบประมาณแผ่นดินเท่านั้น     

ผมมีความเชื่อว่า ชีวิตเป็นการแสวงหา   และหากเราแสวงหาสิ่งใด ก็จะได้สิ่งนั้น   หากเป็นการแสวงหาที่เป็นกุศล   และเราอดทนบากบั่นเพียงพอ   รวมทั้งรู้จักใช้ประสบการณ์ของการแสวงหานั้นเองในการเรียนรู้และปรับตัว     ซึ่งในสามสี่ปีมานี้ผมค้นพบว่า เป็นไปตาม การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์   

อ่านสารบัญ เลือกเรื่องที่สนใจ  เตะตาที่เรื่อง การผ่าตัดอารมณ์ หน้า ๙๗   จึงพลิกไปโดยพลัน   

อ่านแล้วผมนึกถึงการผ่าตัดแปลงเพศ    คือแปลงอารมณ์ร้ายหรืออารมณ์ลบ ให้เป็นอารมณ์บวก   โดยการรับรู้อารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้น  เฝ้ามอง และใช้สติร่วมกับกระบวนการทางกาย    กำกับตัวเองให้ตั้งมั่นอยู่กับตนเอง ไม่โอนเอนซวนเซไปกับอารมณ์ลบนั้น   อ้างงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศว่า ทำให้ฮอร์โมนบวกเพิ่มขึ้น  ฮอร์โมนลบลดลง   

สติเป็นหมอผ่าตัดอารมณ์

วัฒนธรรมอำนาจ หน้า ๒๖๙   คุณหมอวิธาน เสนอให้ “ฝึกการสลายอำนาจ”  ผ่าน “การจัดการตัวเอง” (self-organizing system)   

ผมขอเสนอความเห็นเกี่ยวกับผลเสียของวัฒนธรรมอำนาจ ต่อมิติของความเป็นมนุษย์ คือความสร้างสรรค์   สังคมหรือองค์กร ที่ตกอยู่ใต้วัฒนธรรมอำนาจ    สมาชิกจะถูกหล่อหลอมให้เป็นผู้ตาม เชื่อตามผู้นำ ที่เป็นผู้มีอำนาจ   ผลคือองค์กรและประเทศจะไม่ก้าวหน้า   เพราะขาดการริเริ่มสร้างสรรค์ในกิจการต่างๆ  ในหลากหลายระดับ  ตั้งแต่ระดับปฏิบัติ มาจนถึงระดับบริหารและระดับนโยบาย   

ความเป็น agency  และ creativity ของสมาชิกวัฒนธรรมอำนาจ จะแคระเกร็น   ขาดการเรียนรู้จากความสงสัยใคร่รู้ และเรียนรู้จากการทดลองตั้งเป้า และทดลองปฏิบัติ   แล้วเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้น   โดยรวมตัวกันเรียนรู้แบบร่วมมือกัน   ผลคือพัฒนาการจะเกิดขึ้นอย่างจำกัด  ไม่เกิดขึ้นตามธรรมชาติเหมือนดอกเห็ดผุดขึ้นในป่า   

วัฒนธรรมอำนาจ   กดทับมิติของความเป็นมนุษย์ 

ระวังกับดักการวางแผน  หน้า ๓๖๙   ที่คุณหมอวิธานเสนอให้ใช้ วางแผนแบบไม่วางแผน   คือมีแผนแต่ไม่ยึดติดจนเกินไป   และไม่ยึดมั่นถือมั่นกับตัวชี้วัดจนเกินไป   

การวางแผนแบบตายตัว  เป็นการยึดมั่นในเส้นตรง   ในขณะที่ความเป็นจริงมีความซับซ้อนและปรับตัวอยู่ตลอดเวลา    การบริหารงานจึงต้องบริหารความซับซ้อน และเปิดโอกาสให้มี “การผุดบังเกิด” (emergence)    ก็จะพบการสร้างสรรค์ใหม่ๆ ที่ตอนวางแผนเรานึกไม่ถึง   

นั่นคือ แม้จะวางแผน  แต่ก็เปิดกว้างรับเป้าหมายใหม่ๆ และวิธีการใหม่ๆ    เพื่อการทดลอง เรียนรู้ และปรับตัว   เพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ๆ ในการบรรลุเป้าหมายใหญ่ที่ต้องการ   

การดำรงอยู่อย่างแท้จริง  หน้า ๖๔๓   หมายถึงการใช้ชีวิตให้ช้าลง   อยู่กับปัจจุบันขณะ   และ ขยายปัจจุบันขณะ     ที่ผมตีความว่า ใช้ชีวิตอย่างเป็นตัวของตัวเอง   ไม่ถูกกระแสสังคมพัดพาไป   

ผมสะท้อนคิดว่า มนุษย์ต้องฝึก การดำรงอยู่อย่างแท้จริง ผ่านระบบการศึกษา  และระบบการเลี้ยงดูในครอบครัว    เพราะนี่คือทักษะชีวิต (life skills)    โดยที่การฝึกดังกล่าวทำได้ไม่ยาก   ผ่าน การเรียนรู้เชิงรุก    และ การเรียนรู้ ‘ขั้นสูง’ จากประสบการณ์ 

วิจารณ์ พานิช

๙ เม. ย.  ๖๗ 

 

 

หมายเลขบันทึก: 718233เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2024 19:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2024 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท