งาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ (ภาคครูเพลิน)" ครั้งที่ ๑๑ : reflection ของอาจารย์วิจารณ์


ตามความเห็นของผมการเดินทางของการเรียนรู้ของคณะครูเพลินพัฒนา (ประถม) ปีนี้เกิดการเรียนรู้แบบก้าวกระโดด


อาจารย์วิจารณ์กล่าวสะท้อนการเรียนรู้

งาน “ชื่นใจ...ได้เรียนรู้” (ภาคครูเพลิน) ครั้งที่ ๑๑


๓๑ มีนาคม ๖๐





ตามความเห็นของผมการเดินทางของการเรียนรู้ของคณะครูเพลินพัฒนา (ประถม) ปีนี้เกิดการเรียนรู้แบบก้าวกระโดด


กิจกรรมฟองน้ำและการซึมซับที่แตกต่าง สะท้อนให้เห็นถึงวิธีการจัดการเรียนรู้แบบ evidence - based ที่ผู้เรียนได้พิสูจน์ด้วยตัวเอง ผมชื่นชมในทักษะครูของคุณครูเล็ก ในการเปิดพื้นที่ชวนให้ครูสุนทรียสนทนากัน แต่ละคนได้คำตอบที่แตกต่างอย่างสบายใจ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ในงานวิจัยบอกว่าสิ่งที่ครูต้องเอาใจใส่จดจ่ออย่างสำคัญ คือการเกิด mental stage อะไรขึ้นในตัวเด็ก การสอนให้เด็กคิดเป็น เป็นเรื่องที่หนึ่ง ส่วนการสอนให้ได้วิชานั้นเป็นเรื่องที่สอง อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องคำตอบที่ถูกต้องไม่ใช่เรื่องที่สำคัญที่สุด เพราะวิธีคิดไปสู่คำตอบที่ถูกต้องนั้นมีความสำคัญพอๆ กันกับวิธีคิดที่นำไปสู่คำตอบที่ผิด เป็นการฝึกวิธีคิด


ในหนังสือ“ครูคุณภาพสร้างได้” ที่ผมได้มอบให้ครูใหม่เอาไว้แล้ว ๒ เล่ม กล่าวถึงบทสนทนาที่ครูชวนเด็กคุย ที่นักเรียนบางคนตอบถูก นักเรียนบางคนตอบผิด แล้วมีเพื่อนพยายามหาเหตุผลว่าเหตุใดเขาจึงคิดเช่นนั้น เพราะเขาคิดอย่างไรจึงได้ผลลัพธ์เช่นนั้น จนได้คำตอบขึ้นมาว่า อ๋อ ! เข้าใจแล้วล่ะ ที่เขาคิดอย่างนี้เพราะเข้าใจอย่างนี้ เพราะพลาดตรงนี้จึงคิดผิด


ชั้นเรียนของครูเล็ก (ณัฐทิพย์ วิทยาภรณ์) ได้สร้างบรรยากาศของชั้นเรียนที่มีผู้เรียนคือครู ให้สามารถ dialogue กันในพื้นที่ปลอดภัยที่ครูสร้างขึ้น ได้แสดงความเห็นที่แตกต่างกันออกมา ผมขอแสดงความชื่นชมในการสร้างเวที dialogue ที่สุดยอด


กิจกรรมตอนเช้าที่มีการเล่าผลลัพธ์การเรียนรู้ที่เด็กนั้นน่าสนใจมาก น่าจะนำมาตั้งคำถามเพื่อตอบคำถามที่สำคัญหลายอย่าง ทั้งเรื่องของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเกิดขึ้นกับครู ชื่นชมและชื่นใจที่ทางฝ่ายวิชาการมีการเก็บข้อมูล SAT ทุกปี รวมทั้งการสร้างเครื่องมืออื่นๆ ประกอบกับการการใช้ผล formative และเรียนรู้เรื่อยไปไม่มีจบ เพื่อให้ได้ feedback ของการเรียนรู้ ซึ่งเป็นสุดยอดขององค์กรเรียนรู้ และกลุ่มคนเรียนรู้ ทำให้ก้าวต่อไปได้ไม่หยุดยั้ง และจากการวัดผลก็สะท้อนว่าได้ผลดีทั้งในระดับบุคคลและภาพรวม


กิจกรรมการเปิดชั้นเรียนเมื่อเช้าของครูจริง (concept ของอัตลักษณ์ และภูมิสังคม-วัฒนธรรม ) ไม่ได้มีการเตรียมตัวเด็กในด้านเนื้อหามาเลย ครูจริง (จิรัชฌา อ่อนโอภาส) ก็มือใหม่ แผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ก็เป็นดีไซน์ใหม่ที่ครูต้องทำงานกันเป็นทีม



น่าชื่นชมนักเรียน ใน process ที่นักเรียนทำ ยืนยันว่านักเรียนมี concentration มี focus กับเรื่องที่ตัวเองทำเป็นอย่างดี ซึ่งปีนี้ระยะเวลายาว และยากกว่าปีที่แล้วเยอะ (ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.gotoknow.org/posts/606262) น่าสังเกตว่าสิ่งที่ครูจริงพูดเป็นคำถาม ไม่ใช่คำตอบ ซึ่งเรื่องการตั้งคำถามในชั้นเรียนนี้เป็นเรื่องที่เรียนได้ไม่รู้จบ และครูจริงพูดชัด ย้ำ มีความมั่นใจในตัวเอง แม้ว่าจะเป็นมือใหม่ แต่เราไม่รู้เลย ครูปรับสถานการณ์ได้ดี




เด็กนักเรียนที่ทำ reflection ตอนท้ายเขาลึก ไม่นึกว่าเขาจะสะท้อนได้ลึกขนาดนั้น ที่ทำได้เพราะมีพื้นดี และมีกระบวนการเรียนรู้ที่กระตุ้นเขาอย่างถึงขนาด จนเขาหลุดคำพูดในเชิงอารมณ์ที่ออกมาจากความเข้าใจของตัวเอง นักเรียนผู้หญิงก็ทำได้ดี ในช่วง AAR ทำได้ไหลต่อเนื่อง


ถ้าครูจัดเวลาท้ายคาบเอาไว้สัก ๑๐ นาที ให้ความเข้าใจลึกๆ ได้ไหลเข้าสู่นักเรียนทุกคน ด้วยการทำ reflect ซ้อน reflect ว่าใครจะสะท้อนต่อ reflect ของเพื่อนได้อย่างไรบ้าง จะช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้ในประเด็นที่มีความซับซ้อนได้กว้างขึ้นและลึกขึ้น เป็นการเตรียมเด็กสู่สังคม VUCA ที่มีความเปลี่ยนแปลงรุนแรง (volatility = ระเหยง่าย) /หาความแน่นอนไม่ได้ (unpredictability = คาดเดาหรือทำนายได้ยาก) / ไม่ตรงไปตรงมา (complexity = ซับซ้อน) / ไม่ชัดเจน มองได้หลายแบบ (ambiguity = กำกวม) มนุษย์ในยุคปัจจุบันต้องสามารถมีชีวิตที่ดี มีความสุข และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ดีภายใต้ความสัมพันธ์ที่มีลักษณะเช่นนี้


กิจกรรมการเรียนรู้ของ ESL ที่ให้ครูมาเป็นนักเรียนทำได้ดีมาก ชื่นชมการสวมหมวก ถอดหมวก ที่ครูได้มาฝึกการเรียนรู้จากการสาธิตการสอนของเพื่อนครู รูปแบบที่นำมาใช้เป็นรูปแบบเดียวของการเรียนทักษะ ถ้าหากมีการผสมผสานหลายๆ วิธี เช่นดูคลิป อ่านหนังสือ ทำให้เป็น mix method แล้วดูว่าตรงไหนที่นักเรียนชอบ ได้เรียนรู้เยอะ อาจารย์พรพิไล เลิศวิชา พูดจากฐานงานวิจัย BBL ว่าถ้าจัดการเรียนเป็นจะเรียนได้เร็วกว่าเดิม ๗ เท่า อาจารย์เดชา บุญค้ำ เล่าว่าหลานเรียนพูดภาษาอังกฤษ ด้วยการเรียนจากการเปิดดูรายการใน youtube




มนุษย์ที่เป็นครูเป็นมนุษย์ที่โชคดีเพราะเขาจ้างให้มาเรียน และที่นี่มี platform ให้ครูเรียน ต้องมี capacity to learn รู้ learning how to learn พื้นที่ที่ไม่ชัดเจน พื้นที่ที่มีความเสี่ยงไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นบ้างเป็นพื้นที่ที่มีการเรียนรู้สูงที่สุด มนุษย์ไม่ค่อยได้เรียนรู้เพราะหลีกเลี่ยงพื้นที่ VUCA


ครูควรจัดกระบวนการให้ลูกศิษย์ได้ learning by doing ครูจะทำหน้าที่ครูที่ดีได้ต้องเตรียมตัวเยอะมาก ต้องมี collaborative learning คือการทำงานเป็นทีม ทำไปเรียนรู้ไป เก็บข้อมูลไป การเก็บข้อมูลต้องทำอย่างเป็นจริงเป็นจัง ฟังอะไรก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เอามาไตร่ตรอง แล้วร่วมกันเคลื่อน


หมายเลขบันทึก: 627809เขียนเมื่อ 22 เมษายน 2017 16:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 เมษายน 2017 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท