"ปฏิวัติ" สภามหาวิทยาลัย ต้อง "ปฎิรูป" ระบบสรรหาด้วย


บทความ  ถึงเวลา “ปฏิวัติ” สภามหาวิทยาลัย !!  ในมติชนสุดสัปดาห์  ฉบับวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2550  สรุปว่า
           ถึงเวลาแล้วที่ “สภามหาวิทยาลัย” จะลุกขึ้น “ปฏิวัติ” ตัวเองเสียที  ก่อนที่ “อุดมศึกษาไทย” จะ “ถอยหลัง” ไปมากกว่านี้
           เป็นข้อสรุปที่ตรงและน่ากลัวมาก

มีประเด็นที่น่าสนใจในการเสนอ “ปฏิวัติ” สภามหาวิทยาลัย  คือ  สาเหตุที่อธิการบดีเป็นผู้เลือกกรรมการสภามหาวิทยาลัย  และกรรมการสภามหาวิทยาลัยเลือกอธิการบดี  เป็นวงจรอุบาทว์  ในสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศในขณะนี้  ทำให้สถาบันอุดมศึกษาไทยอ่อนแอลงตามลำดับ

มหาวิทยาลัยใดอยู่ในวงจรดังกล่าว  ควรต้องรีบ “ปฏิวัติ” โดยด่วน

นอกจากต้อง “ปฏิวัติ” สภามหาวิทยาลัยแล้ว  ผู้เขียนเห็นว่าสาเหตุหรือต้นธารของปัญหาเกิดจาก  กรรมการสรรหา  และกระบวนการสรรหา  ซึ่งสมควรต้อง “ปฏิรูป” ทั้งระบบด้วย  เพราะพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยไทยทุกแห่งกำหนดว่า  การเข้าสู่ตำแหน่ง อธิการบดี  มาจาก “การสรรหา”  และการสรรหา  สร้างปัญหา

การสรรหา  มีกระบวนการที่ต้องเลือกกรรมการสรรหา  ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว  จะมาจากกรรมการจากสภามหาวิทยาลัย

การสรรหาส่วนใหญ่  มีกระบวนการดังนี้
      1.  แต่งตั้งกรรมการสรรหา  ซึ่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะเลือกจาก  กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ  กรรมการสภาจากผู้บริหาร  และกรรมการสภาจากคณาจารย์  จำนวน 5-7  คน  (กรณีของ มมส. มีการร้องเรียนว่ากรรมการสภาจากผู้บริหารขาดคุณสมบัติ  และศาลปกครองขอนแก่นมีคำสั่งให้ยุติกระบวนการสรรหาฯ)
      2.  มีการเสนอชื่อโดยบุคลากรของแต่ละหน่วยงานและกรรมการสภาฯ  ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นอธิการบดีต้องมีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยนั้นๆ กำหนด  เช่น  จบระดับปริญญา  มีประสบการณ์การบริหารมากี่ปี  เป็นต้น
      3.  ชื่อที่ได้รับการเสนอ  จะไม่มีการนับคะแนน  เพราะไม่ใช่การเลือกตั้ง  การสรรหาเพียงต้องการให้ได้มาซึ่งชื่อเท่านั้น (กรณีของ มก. กรรมการสรรหาให้มีการนับคะแนน  ปรากฏว่า  สภามหาวิทยาลัยฯ แต่งตั้งบุคคลที่ได้คะแนนนิยมน้อยกว่า  และมีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งกรรมการสภาฯ ด้วย  จึงเป็นสาเหตุให้มีการร้องเรียน  และศาลปกครองกลางมีคำสั่งเพิกถอนมติคณะกรรมการสรรหา  และมติสภามหาวิทยาลัย)
      4.  กรรมการสรรหา  ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น  และทาบทามผู้มีคุณสมบัติครบถ้วน  หากผู้ได้รับการทาบทามตอบรับ  ต้องเสนอนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยเป็นลายลักษณ์อักษร  และเสนอด้วยวาจาต่อสภาฯ  ทั้งนี้คณะกรรมการสรรหาอาจสัมภาษณ์ก่อนก็ได้
      5.  กรรมการสรรหา  เสนอชื่อผู้ตอบรับการทาบทามพร้อมทั้งเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาต่อสภามหาวิทยาลัย  โดยอาจเสนอชื่อผู้ตอบรับให้สภาฯ พิจารณาเพียงคนเดียว  หรือหลายคนก็ได้  แล้วแต่ว่าข้อบังคับของแต่ละมหาวิทยาลัยกำหนดไว้อย่างไร? (กรณีของมหาวิทยาลัยศิลปากร  ที่คณบดี 13 คณะ  จาก 14 คณะ  ร้องเรียนต่อสภามหาวิทยาลัยโดยยืนยันถึงความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงานของอธิการบดี  นายวิวัฒน์ชัย  อัตถากร  หลังจากบริหารมหาวิทยาลัยมากว่า 2 ปี  และประธานกรรมการสรรหาอธิการบดี  คือ  นายชุมพล  ศิลปะอาชา (ซึ่งปัจจุบันเป็นนายกสภา)  และเป็นผู้เสนอชื่อ  นายวิวัฒน์ชัย  เอ่ยปากกับนายวิวัฒน์ชัยอย่างลูกผู้ชายว่า “เรามาออกกันทั้งคู่เลยดีหรือไม่?”)
      6.  สภามหาวิทยาลัย  มีมติเลือกอธิการบดีจากชื่อ  หรือรายชื่อที่กรรมการสรรหาเสนอ  เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

จะเห็นว่า  ปัญหาที่เกิดขึ้น  เกิดจากกรรมการสภาฯ  ซึ่งต้องปฏิวัติ  และเกิดจากกระบวนการสรรหา  ซึ่งเป็นวิธีการที่เกือบทุกมหาวิทยาลัยเลือกใช้

อะไรคือจุดอ่อนของกระบวนการสรรหา
      1.  คนที่จะได้รับเลือกเป็นอธิการบดี  มาจากการเสนอชื่อของบุคลากรภายในมหาวิทยาลัย (หลายมหาวิทยาลัยให้ผู้สนใจสมัครได้)
      2.  นโยบายการบริหารมหาวิทยาลัยมาจากผู้ได้รับการทาบทาม  คือ  เป็นนโยบายของบุคคลนั้นๆ

เหตุผลของการไม่เลือกตั้งอธิการบดี  ก็เพื่อไม่ให้เกิดการหาเสียง  และสร้างความแตกแยก

เหตุผลของการไม่แต่งตั้งอธิการบดีโดยตรง  ก็เนื่องจากการบริหารมหาวิทยาลัยมีรูปแบบที่แตกต่างจากหน่วยราชการอื่นทั่วไป  ที่กำหนดคุณสมบัติแตกต่างกัน

เหตุผลของการสรรหา  ก็เพื่อให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อ  และป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยก

การให้ผู้ตอบรับการทาบทามเสนอนโยบายก็เพื่อจะได้ทราบวิสัยทัศน์  และยุทธศาสตร์ในการบริหารของบุคคลนั้นๆ ว่าจะบริหารมหาวิทยาลัยไปในทิศทางใด

แต่รูปแบบการสรรหาที่ดูเหมือนว่าดีที่สุด  ก็ทำให้เกิดปัญหามากที่สุด (นายวิชา  มหาคุณ  กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ  กล่าวว่า  ระบบการสรรหาในมหาวิทยาลัยวุ่นวายที่สุด)

การสรรหาอธิการบดีในต่างประเทศหลายแห่ง  ทำอย่างไร?  เขาทำดังนี้ครับ
      1.  กรรมการสภามหาวิทยาลัย  กำหนดนโยบายและทิศทางของมหาวิทยาลัยในช่วงที่อธิการบดีคนใหม่จะมารับตำแหน่ง  เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างทั้งภูมิหลัง  ขนาด  ช่วงเวลาการเกิด (เป็นมหาวิทยาลัย)  เป้าหมายของมหาวิทยาลัยแต่ละระยะจึงควรต้องถูกกำหนดโดยสภามหาวิทยาลัยซึ่งมีอำนาจและหน้าที่โดยตรง  มิใช่ให้ผู้ตอบรับการทาบทามเป็นผู้กำหนด  เพราะจะกลายเป็นเป้าหมายที่กำหนดโดยตัวบุคคล
      2.  กรรมการสรรหา  จะทำหน้าที่รอบแรก  คือ  สรรหาผู้ที่เห็นว่าสมควรจะบริหารมหาวิทยาลัยได้ตามนโยบาย  และทิศทาง  อาจได้มาหลายๆ ชื่อ  ทั้งคนนอก  และคนในมหาวิทยาลัย  เพื่อให้กรรมการสภาฯ พิจารณาร่วมกัน  แล้วเลือกคนใดคนหนึ่งที่เห็นว่าเหมาะสมที่สุด
      3.  กรรมการสรรหา  ทาบทามผู้ที่สภาฯ เห็นสมควรเป็นอธิการบดี  โดยให้ผู้ที่กรรมการสรรหาทาบทามเป็นอธิการบดีเสนอ  ยุทธศาสตร์  หรือกลยุทธ์  เพื่อนำองค์กรไปสู่เป้าหมายตามที่สภาฯ กำหนด  ด้วยการสัมภาษณ์
      4.  กรรมการสภาฯ  พิจารณาจากรายงานของกรรมการสรรหาอีกครั้งหนึ่งและมีมติแต่งตั้งเป็นอธิการบดี  เท่าที่ทราบสภาฯ มักไม่ขัดข้องเพราะเป็นผู้ที่ผ่านการพิจารณารอบแรกไปแล้ว  แต่ต้องดูเงื่อนไขอื่นประกอบด้วย  เช่น  เงื่อนไขอัตราเงินเดือน  ค่าตอบแทน  หรือสวัสดิการอื่นๆ ที่ผู้ตอบรับเป็นอธิการบดีต้องการ

จะเห็นว่า  ถ้า “ปฏิวัติ” สภามหาวิทยาลัยให้เข้มแข็ง  โดย “ไม่ผลัดกันเกาหลัง”  และ “ปฏิรูป” ระบบการสรรหาให้พ้นเงื่อนไขการเล่นพรรค  เล่นพวก  สร้างความแตกแยกแล้ว  อุดมศึกษาไทยคงมีโอกาสก้าวหน้าและไม่สิ้นหวัง

 

หมายเลขบันทึก: 97893เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2007 17:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
ปัญญาสร้างได้ทั้งปัญหาและสติครับ

เรียนรองศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ นพรัก

ขออนุญาตลิงค์บันทึกนี้ในบันทึกของดิฉันเรื่อง "รวมข่าวเกี่ยวกับการสรรหาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในช่วง เม.ย.-พ.ค. ๕๐" นะคะ

พอดีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันบ้างค่ะ  ขอบพระคุณมากค่ะ

เรียน  รองศาสตราจารย์ ดร.กมลวัลย์  ลือประเสริฐ

อนุญาตด้วยความยินดีอย่างยิ่งครับ

กราบเรียนท่านอาจารย์ด้วยความเคารพ ผมมีโอกาสได้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาเหล่านี้ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น บางอย่างซึ่งไม่น่าจะเป็นปัญหาก็สามารถสร้างขึ้นมาเป็นปัญหาได้ ผลที่ได้รับ คือความเสียหายของสถาบัน แทนที่จะก้าวไปข้างหน้า กลับต้องมาหยุดชงัก เนื่องจากความขัดแย้งของคนไม่กี่คน ซึ่งจริง ๆ แล้ว เป็นการเล่มเกมส์กันมากกว่า เกมส์ที่ได้มาซึ่งผลประโยชน์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท