อนงค์ศิริ
รองศาสตราจารย์ อนงค์ศิริ วิชาลัย

ศูนย์พัฒนาครูฯ มร.ชม. จัดอบรมครูฮอด


เราจะก้าว เราจะก่อ ต่อ ๆ ไป

เมื่อวันที่  12 - 14  พฤษภาคม   2550

ศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่  ร่วมกับสำนักงานเขตพืนที่การศึกษา เชียงใหม่ เขต 5 ได้จัดทำโครงการอบรมครูเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอน ขึ้น  โดยทีมงานของศูนย์พัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาและวิทยากรเครือข่าย

หลักสูตรในการอบรมได้เริ่มจากการทบทวนความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544  หลักสูตรสถานศึกษาสู่การจัดทำแผนการเรียนรู้ และ การวิจัยในชั้นเรียน

ในฐานะที่ได้รับผิดชอบรองหัวหน้าศูนย์พัฒนาครูฯ  ได้ข้อคิดจากกิจกรรมดังกล่าว  ดังนี้

1 .  ศูนย์พัฒนาครูเริ่มมีบทบาทที่จะเป็นที่พึ่งของครูได้จริง  เดิมที่วาดหวังไว้คือ  ทำอย่างไรจึงจะบริหารและจัดการคนเก่ง คนฉลาดในมหาวิทยาลัยและผู้เชี่ยวชาญทุกสาขา  ให้มีโอกาสนำความรู้ประสบการณ์ไปแลกเปลี่ยนให้ผู้อื่นมีโอกาสได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตนรู้ ได้ฝึกปฏิบัติ ตามความชำนาญการของตน

บัดนี้  ฝันเริ่มเป็นจริง  มาทำงานร่วมกันที่ศูนย์ได้หลอมรวมคนเก่งแต่ละสาขา แต่ละด้านที่ศูนย์  และประสานให้หน่วยงานอื่นทราบว่าท่านอบากแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องไร  บอกเราสิ หรือ  คุณขอมา เราจัดให้

2.  การทำงานกับคนหลากหลายความรู้ ความสามารถ และมากประสบการณ์ ต้องอาศัยความหลากหลายให้เกิดประโยชน์  บางคราวแทบจะลงตัวไม่ได้   แต่แล้วก็จบลงด้วยดี  และคนที่โต้แย้งกันหน้าดำคร่ำเครียด ประเดี๋ยวเขาก็ลืม

หากผู้บริหารหรือผู้นำยังเก็บมาคิด เก็บมาผูกใจเจ็บ  น่าอายมากกว่าเพราะควรเป็นคนที่ลืมก่อนเป็นคนแรกด้วยซ้ำ  นี่กระมังที่ครูอาจารย์สอนไว้ว่า  เป็นผู้นำจงจดจำความดีของคน  และโปรดลืมความชั่วของคนอื่น  อย่าตำหนิหรือกล่าวโทษคนอื่นเลย  เพราะคนดีจะไม่กล่าวถึงความชั่วของคนอื่น

3.  หลักสูตรสถานศึกษา นำไปใช้ตั้งแต่ ปี 2544   นับถึงวันนี้ได้  เกือบหกปีแล้ว   พบว่า ครูส่วนใหญ่เขียนหน่วยการเรียนรู้ไม่ได้ ออกแบบการเรียนรู้ไม่เป็น  ในที่สุดก็จึงไปซื้อแผนการเรียนการสอนสำเร็จรูปนำ ไปสอน หรือไม่ก็ยังคงสอนด้วยวิธีการสอนเดิม ๆ คือ สั่งให้นักเรียนทำตามใบงานใบความรู้ ทุกสาระการเรียนรู้ ทุกวิชา

ตอนนี้ กระทรวงศึกษาธิการลงทุนด้วยงบประมาณมหาศาล นำรูปแบบการออกแบบการเรียนรู้  Backward  design  อบรมครู ศึกษานิเทศก์รุ่นละหลายวัน  สาธุ ขอให้ได้ผลจริงๆ เถิด  เพราะอะไร ๆ ก็มาตายที่ประเทศไทยทั้งนั้น ทั้ง QCC  การประเมินผลตามสภาพจริง portforioทักษะกระบวนการ  9  ขั้น กระบวนการคิดวิเคราะห์ กระบวนการสอนของกานเย่  ฯลฯ 

คนไทยน่ารักมาก อะไรๆก็รับได้ทั้งนั้น  แต่....ไม่ทำ(ครายจะทำไม)

4.  วิจัยในชั้นเรียน  ทำไมจึงยากเป็นหนักหนา  ที่ยากมิใช่อะไร โถ  ถ้าไม่รักการอ่าน ไม่รักการเขียน ไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ไม่ช่างสังเกต ไม่ชอบสังเคราะห์ วิเคราะห์แยกแยะไม่เป็น   ไม่เกิดหรอกที่จะก้าวไปถึงการวิจัย  เพราะฉะนั้น อบรมไปเท่าไหร่ ก็วิจัยไม่ได้สักที  สมองส่วนคิดไม่ได้กระตุ้นสม่ำเสมอนั่นเอง

5.  วิชาการชอบมีอะไรใหม่ ๆตลอดเวลา  แม้แต่ศัพท์ก็บัญญัติขึ้นมาใหม่จนเวียนหัว  ถ้านิ่งและทำความเข้าใจให้รู้ลึก ประเทศของเราน่าจะเกิดองค์ความรู้มากมาย  หรือว่าเรามัวไปคิดบัญญัติศัพท์ให้งุนงงกันมากเกินไปหรือไม่ ที่ไม่ได้สร้างองค์ความรู้ใหม่กันเสียที

เริ่มรู้ว่าเข้าสู่คนวัยอา (วุโส)  เพราะเห็นอะไรเริ่มละเอียดยิ่งขึ้น  มิน่าคนแก่จึงชอบบ่น ว๊าย !!!!!

จึงสรุปได้ว่า เป็นความภูมิใจร่วมกันอีกระดับหนึ่งที่เราได้ใช้เวลาที่นักศึกษาปิดเทอม  แต่ คณาจารย์ได้ทำคุณประโยชน์ต่อบ้านเมือง

ขอขอบคุณคณบดีครุศาตร์(ผศ.เพิ่มศักดิ์  สุริยจันทร์ที่ให้โอกาสพวกเราได้ทำงาและขอขอบคุณคณาจารย์ทุกคนที่ร่วมกันทำงานจนสำเร็จลุล่วงไปด้วยดีอีกโครงการหนึ่ง 

เราจะก้าว  เราจะก่อ  ต่อ ๆ ไป

คำสำคัญ (Tags): #การอบรม
หมายเลขบันทึก: 96376เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2007 14:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผ่านมาขอแลกเปลี่ยนด้วยคนครับ....เหตุผลที่ผมไม่สนใจเรื่องความรู้ ........ เพราะส่วนหนึ่งผมเคยบวชเรียนมา  ......

ผมจะศึกษาพระธรรมของพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระพุทธองค์ท่านเคยตรัสว่า "ธรรมะที่ตถาคตตรัสให้ทุกท่านฟัง เป็นเพียงใบไม้ในกำมือของพระองค์เท่านั้น" แต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ยิ่งใหญ่ เปรียบใบไม้ของป่าทั้งหมดนี้  นี่คือสิ่งที่ผมยึดถืออยู่เสมอ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ผมยังศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ครบ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ผมก็จะไม่สนใจความรู้อื่น ๆ 

และสิ่งผมยึดถือคือ อริยสัจจ์สี่ (ทุกข์,สมุทัย,นิโรจ,มรรค) เพราะเป็นความจริงที่ยิ่งใหญ่ ๔ ประการ กฏของไตรลักษณ์ ก็เป็นสิ่งที่เราต้องคำนึงอยู่เสมอเช่นกัน (ทุกขัง,อนิจจัง,อนัตตา)  และสิกขา ๓ คือการเรียนที่สมควรเรียน ๓ ประการ คือ ศีล,สมาธิ,ปัญญา

ส่วนการศึกษาปัจจุบัน ผมจบปริญญาตรีแล้ว ทำงานแล้ว มีความเป็นอยู่สงบ (ไม่ทุกข์,ไม่สุข) มีชีวิตพอดี เพราะทางพุทธศาสนา ระบุว่า สุขของฆราวาสคือ ๑ เพราะได้ประกอบสัมมาอาชีพ ๒ สุขที่ได้ใช้จ่ายเงินจากสัมมาอาชีพ ๓สุขเพราะไม่เป็นหนี้ ๔ สุขเพราะได้ทำบุญสร้างกุศล พอแล้วครับชีวิต........ได้ช่วยเหลือคนอื่นบ้างก็ทำให้ชื่นใจแล้วพอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท