ร้านหนังสือกับการกำหนดความคิดของคนในสังคม


สวัสดีครับ

เมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้คุยกับรุ่นน้องหนึ่งคนและคุณผู้อ่านอีกท่านหนึงที่ได้มีโอกาสเข้ามาอ่านบล็อกที่ผมเขียน คุณรุ่นน้องคณะของผมนั้นบอกว่า เรื่องที่ผมเขียนนั้นย่อยยาก ส่วนคุณน้องที่เข้ามาอ่านในบล็อกนั้นบอกว่า เวลาเขาจะเขียนคอมเมนต์ เขาไม่กล้าเขียนในทันทีต้องกลับไปคิดก่อน เพราะกลัวปล่อยไก่ (ผมว่าคุณน้องเขาให้เกียรติผมมากเลยนะครับ ที่ได้กรุณาทักทายมา แต่อีกอย่างผมว่าคุณน้องผู้อ่านเขาได้รับการฝึกฝนมาดีครับ)

ผมก็กลับมานั่งคิดว่า นี่ผมเขียนเรื่องยากๆเกินไปหรือเปล่า มันก็อาจจะนะครับ หรือมันก็เป็นไปได้ที่ผมอาจจะใช้ภาษาสื่อความหมายไม่ดี อาจจะทำให้เรื่องที่ดูเหมือนง่าย กลับกลายเป็นเรื่องยากก็ได้

ถ้างั้นยังไงวันนี้ผมเปลี่ยนจากเขียนเรื่องจากหนังสือที่ผมอ่าน มาเป็นเขียนเรื่องที่ผมคิดหนึ่งวันนะครับ (เผื่อมันจะย่อยง่ายขึ้น หรือเขียนคอมเมนต์ได้เลยแบบไม่ต้องคิด :D)

เรื่องที่ผมคิดก็คือ ร้านหนังสือกับความคิดของคนในสังคมครับ

ผมไม่คิดว่าท่านสังเกตกันหรือเปล่าว่ามันมีความสัมพันธ์กันอยู่ (ผมคิดว่ามากด้วยนะครับ) แต่อันนี้ผมสังเกตเฉพาะหนังสือประเภทที่ไม่ใช่นวนิยายหรือ non-fiction นะครับ  

ถ้าเราเดินเข้าไปร้านหนังสือ ผมคิดว่าเราจะสังเกตเห็นอย่างแรกคือ อันดับหนังสือขายดี และอีกอันก็คือรายการหนังสือออกใหม่

ผมเริ่มกันที่อันดับหนังสือขายดีก่อน ผมคิดว่าอันดับหนังสือขายดีนั้น คือตัวบ่งชี้ถึงความคิดของคนในสังคมปัจจุบัน อย่างเช่นช่วงหนึ่งที่หนังสือเกี่ยวกับคุณทักษิณขายดี และถ้าดูกันดีๆนะครับ หนังสือเกี่ยวกับคุณทักษิณนั้น ขายดีสองช่วง แต่เนื้อหาช่วงแรกกับช่วงหลังนี่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

หรือว่าช่วงใกล้วันเฉลิมพระชนมพรรษา หรือช่วงที่เราฉลองครองราชย์ครบ 5 รอบ เราก็จะสังเกตเห็นว่าหนังสือเกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขายดีมาก

หรือว่าช่วงนี้ ถ้าให้ผมเดา เราอาจจะเห็นหนังสือเกี่ยวกับจตุคามรามเทพขึ้นอยู่ในอันดับหนังสือขายดีก็ได้

เอาล่ะ ถ้าอันดับหนังสือขายดี สามารถใช้เป็นบ่งชี้ถึงความคิดของคนในสังคม และความรู้สึกร่วมของคนในสังคมได้ มีเรื่องที่น่าคิดเรื่องหนึ่งคือว่า แล้วอันดับหนังสือขายดีของคนแต่ละช่วงอายุนั้น คือเล่มไหน เราอาจจะรู้อะไรได้มากขึ้นเยอะเลยก็ได้

เอาล่ะถ้าอันดับหนังสือขายดีสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ถึงความคิดของคนในสังคมได้ (อย่างน้อยก็ในความคิดของผมล่ะกันครับ) แสดงว่าหนังสือที่ออกใหม่ ก็ต้องเป็นตัวกำนดความคิดของคนในสังคมได้

แต่ก่อนจะไปพูดกันตรงนั้น ไม่ทราบว่าคุณๆสังเกตไหมครับว่า หนังสือที่ออกมาใหม่นั้น เนื้อหานั้นออกมาใกล้ๆกัน เช่นเรื่อง Lucifer effect บอกถึงว่าทำไมคนถึงเปลี่ยนจากคนดีเป็นคนไม่ดี ในสภาพแวดล้อมบางอย่าง แต่เมื่อไม่นานมานี้ก็มี เรื่อง Why good people do bad things ซึ่งก็ไม่ต่างกันเท่าไร

หรือเรื่อง Mistakes were made (but not by me) ก็เป็นการอธิบายถึงพฤติกรรมของคนเหมือนกัน แต่เป็นการอธิบายว่าเรานั้นชอบหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง เพื่อที่จะบอกว่าผมไม่ผิด แต่ทั้งสามเล่มนี้ ความรู้สึกกลายๆก็คือบอกว่าทำไมรัฐบาลสหรัฐนั้นถึงล้มเหลวกับสงครามอิรัก (ก็ในเมื่อคนอเมริกันนั้นคิดว่าตัวเองเป็นคนดี แล้วทำไมถึงทำสิ่งไม่ดีหล่ะและในเมื่อความคิดกับความเป็นจริงมันต่างกัน เราก็ต้องหาเหตุผลเข้าข้างตัวเองถูกไหมครับว่าที่เราทำนั้นมันไม่ผิด)

นี่ยังไม่นับหนังสือเกี่ยวกับความผิดพลาดของสงครามอิรักที่วางแผนอีกตั้งหลายเล่ม

หรือว่าช่วงนี้หนังสือที่ท้าทายความมีตัวตนของพระเจ้านั้นเยอะมาก (ในศาสนาคริสตร์นะครับ) เช่น

God is not great: How religious poisons everything ออกเมื่อ 1/5/2007

God:The failed hypothesis. How science shows that god does not exist ออกเมื่อ 25/1/2007

The god delusion ออกเมื่อ 18/9/2006

นี่ก็สามเล่มแล้วที่ออกมาติดๆกันในช่วงไม่ถึงปี ซึ่งการเขียนหนังสือซักเล่มนั้น ผมคิดว่าอย่างน้อยก็ต้องใช้เวลาพอสมควร หนึ่งปีเป็นอย่างต่ำ ไหนกว่าจะลงวางขายได้ ผมว่าก็สองปีอย่างต่ำ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทำไมหนังสือใหม่นั้น เนื้อหาใกล้ๆกันแล้วก็ออกมาในเวลาใกล้ๆกันด้วย แล้วใครเป็นคนที่กำหนดตรงนี้ เพื่อประโยชน์อะไร (ถ้ามี)

ผมเองก็ไม่ทราบครับว่าใครเป็นคนกำหนด สำหรับคนที่เชื่อเรื่อง conspiracy theory ก็คงเชื่อว่ามีคนมากำหนด แต่ถ้าคนที่ไม่เชื่อ ก็อาจจะเชื่อว่าทุกอย่างมันเป็น random มันเกิดของมันเองไม่มีคนกำหนด เพราะว่าหนังสือนั้นอาจจะเขียนเสร็จตั้งนานแล้วก็ได้ แต่พอไปเสนอสำนักพิมพ์แล้วไม่มีคนรับ แต่พอมีเล่มหนึ่งออกมาแล้ว อีกหลายๆเล่มก็เลยออกตามมา เพราะสำนักพิมพ์นั้นเห็นวาหนังสือแนวนี้นั้นขายได้

แต่ที่แน่ๆ ผมสามารถบอกได้คำหนึ่งว่า ถ้าเราสามารถกำหนดความคิดของคนในสังคมได้ (อย่างน้อยก็บางส่วน) ผ่านทางร้านหนังสือ (ซึ่งผมเชื่อว่ามันน่าจะจริง เพราะไม่อย่างนั้น เราคงไม่เห็นคนลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น เขียนหนังสือออกมาขายกันใหญ่) นั่นก็หมายความว่า เราสามารถที่จะปรับเปลี่ยนสังคมอย่างทีละนิดทีละหน่อยได้ ผ่านทางตัวหนังสือ หนังสือ และร้านหนังสือได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปหาวิธีหรูหรา ฟู่ฟ่า ต่างๆนานา จริงไหมครับ

แต่ก่อนที่เราจะกำหนดความคิดของคนในสังคมได้ผ่านทางร้านหนังสือและตัวหนังสือ เรื่องที่ยากก็คือ เราต้องสร้างคนในสังคมให้รักการอ่านก่อนนะสิครับ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว ตัวหนังสือที่โลดแล่นบนหน้ากระดาษก็ไม่มีค่าอะไรเลย ถ้าคนไม่อ่าน

ผมหวังว่าเรื่องนี้คงไม่หนักไปนะครับ แล้วก็คงจะย่อยง่ายขึ้นมาบ้างนะครับ :D

หมายเลขบันทึก: 95328เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2007 09:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 11:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

ย่อยง่าย สบายท้องครับ แต่ผมไม่ค่อยได้อ่านหนังสือครับพี่ต้น เลยไม่แน่ใจว่าร้านหนังสือจะปรับเปลี่ยนความคิดของคนในสังคมได้หรือเปล่า

  แต่ที่แน่ๆปลุกกระแสหลายๆเรื่องได้แน่นอนครับ อย่างน้อยก็แผงหนังสือพิมพ์หัวสีทั้งหลายนั้นไงครับ กระแสไหนมาพี่ลงหมดทุกเล่ม อิอิ กระแสเลยกลายเป็นซึนามิไปพลัน ทั้งๆที่อาจจะไม่มีสาระอะไรเลยก็เป็นได้

  ขอบคุณครับ

คิดเหมือนกันเลยค่ะ

เวลากลับเมืองไทยก็ใช้วิธีดูที่ "อันดับหนังสือขายดี" นี่แหละค่ะ ว่าเค้า "อิน" อะไรกันอยู่

ที่แคนาดานี้ร้านใหญ่ๆ คล้ายๆ B&N จะมีมุมที่เรียกว่า current affairs แยกไปก็จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข่าวในช่วงนั้น

คิดบ่อยๆว่า ทำไมเขียนกันออกมาได้เร็วนัก(ว๊ะ) 

และนี่แหละค่ะเรื่องที่ยากอีกข้อ คือ คนผลิตหนังสือเห็นว่ามันคือ "ตลาด" เลยผลิตกันมาแต่เรื่องที่คิดว่าคนจะสนใจ (อย่างหนังสือดาราแฉในเมืองไทย)

กลายเป็นคนอ่านกำหนดความคิดของคนเขียนไปซะนั่น

ปล. บันทึกอื่นๆของต้นพี่สนใจมากนะ แต่ใช้วิธีbookmarkเก็บไว้อ่านเพราะมันยาว

เป็นบันทึกที่ย่อยง่ายที่สุดเท่าที่พี่ต้นเคยเขียนมาเลยค่ะ

ถึงบันทึกอื่นจะย่อยยากไปซักหน่อยสำหรับแวร์ แต่ก็ยังชอบอ่านอยู่ดีค่ะ

จริง ๆก็ชอบที่คุณอ่านแล้วมาเล่าให้ฟ้งเหมือนกัน อยากบอกว่าชอบอ่านนะค่ะ  (อิ อิ ประหยัดเวลาตัวเองอะค่ะ ไม่ต้องอ่านเอง)  ถ้าราณีไปร้านหนังสือจะดูที่ตนเองชอบค่ะ ไม่ได้ดูว่าติดอันดับหรือไม่ค่ะ

ไปอ่านหนังสือ  ....

หลวงพี่ว่า น้องต้นเขียนอ่านง่าย และเป็นระเบียบดี ... 

ความเห็นส่วนตัว.... การอ่านหนังสือ เรื่องนั้นๆ จะย่อยง่ายหรือยาก ขึ้นอยู่กับผู้อ่าน... และนี้คือเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด เพราะผู้อ่านคือผู้ประเมินและตัดสินเรื่องที่อ่าน ....

เจริญพร 

 

สวัสดีค่ะพี่ต้น

ฮ่าๆๆ ว่าจะโพสต์แบบไม่คิด แต่ก็อดไม่ได้ ขอคิดนิดนึงล่ะกันนะ อ้อ แต่บันทึกนี้ณิชอ่านรอบเดียวแล้วโพสต์เลย อิอิ :D

จริง ๆ เรื่องอันดับสินค้าขายดี รวมทั้งหนังสือ เป็นสิ่งที่พบเห็นในหลาย ๆ ธุรกิจ แต่เราผู้บริโภคก็ต้องเลือกสิ่งที่เหมาะกับตัวเองมากกว่าอิงอันดับที่เค้าจัดขึ้นมา (ขายดีจริงหรือจัดอับดับให้มันขายดีก็ไม่แน่ใจ)

ส่วนตัวแล้วไปร้านหนังสือก็ต้องผ่านชั้นวางหนังสือขายดี .. ก็มันวางอยู่ทางเข้าพอดี ต้องเหลือบไปมองสักหน่อยล่ะ หุหุ แต่ไม่ค่อยได้ซื้อ เพราะหนังสือไม่ตรงกับที่ชอบ และด้วยนิสัย (จะว่าดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้อีก) ส่วนตัวคือไม่ชอบตามกระแสค่ะ *_*

อีกเรื่องที่ณิชคิดว่าจะเขียน (แต่ยังไม่มีโอกาสเขียนเลย .. เฮ้อ) คือเรื่องชื่อและความดังของนักเขียน ไว้มีโอกาสจะเขียนเรื่องนี้ในบล็อกณิชล่ะกันนะคะ ไม่งั้นโพสต์ของณิชอาจจะยาวกว่าบันทึกพี่ต้นค่ะ ฮ่าๆๆๆ

ขอบคุณสำหรับบันทึกดี ๆ และย่อยง่าย ๆ แต่ทำให้ณิชคิด ..อีกแล้ว..  ;-)

ณิช

  • สวัสดีครับ 
  • ขอไม่ login เพราะ net ใกล้หลุด...
  • ผมมองว่าการตั้งต้นที่คล้าย ๆ กัน เมื่อเกิดแบบสุ่มในประชากรหมู่มาก จะทำให้เกิดการค้นพบที่คล้ายกัน
  • ในวงการวิทยาศาสตร์จะเห็นปรากฏการณ์ทำนองนี้บ่อย คือ เวลามีการค้นพบอะไรสักอย่าง มักเกิดไล่เรี่ยกันหมด อาจเหลื่อมเวลากันนิดหน่อย
  • ผมเชื่อว่า เป็นผลจากการสุกงอมของกระบวนการคิดของคนในประเ็ด็นนั้น ๆ
  • คงไม่ใช่ conspiracy อะไรหรอกครับ
ถ้าย่อยยาก ก็ต้อง มีอีโน หรือ แอร์เอ็กซ์ครับ ผมว่าเพลินดีออก ..แวะมาครับ ..ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณต้น (ไปอ่านหนังสือ )

ตัวเองช่วงหลังไม่ค่อยได้เข้าร้านหนังสือค่ะ พอดีร้านที่อยู่ไกล้บ้านเป็นร้านเล็ก ขายหนังสือไทย ธรรมดาๆ เท่าที่สังเกตก็เห็น section หนังสือขายดี แต่เป็นหนังสือประเภทที่ไม่ถูกจริต ก็เลยไม่ค่อยได้ไปพลิกดู

คิดว่าเขาผลิตหนังสือเป็นธุรกิจ เพราะฉะนั้นคงต้องผลิตให้ทันตามกระแส เช่นช่วงนี้ก็คงไม่พ้นจตุคาม.. คนผลิตเขาต้องประเมินแล้วกระมังคะว่าช่วงนี้หรือช่วงหน้าเรื่องอะไรจะ hot    แล้วบางทีก็คงเหมือนที่อ.wwibul กล่าวไว้ค่ะว่าปัจจัยและข้อมูลการเขียนมันสุกงอมพอดี ก็เลยออกมาเป็นหนังสือคล้ายๆ กันไปหมด..

ก่อนอื่นต้องขอโทษทุกๆท่านก่อนนะครับที่อาจจะตอบช้าไปหน่อยครับ

สวัสดีครับคุณน้องเดอ

โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าจะมีคนไม่รักการอ่านนะครับ ผมเชื่อว่าคนทุกคนรักการอ่านทั้งนั้น ถ้ามีหนังสือที่ถูกใจรับรองอ่านวางไม่ลงครับ อย่างน้อยก็การ์ตูน :D

จริงๆแล้วหนังสือพิมพ์กับการเล่นข่าวนั้นเป็นตัวอย่างหลักของตัวหนังสือกับการกำหนดความคิดของคนเลยนะครับ

เคยจำได้ว่าช่วงหนึ่งที่มีคนฆ่าตัวตายๆเยอะๆ ช่วงนั้นมีแต่หนังสือพิมพ์ออกข่าว แต่พอหนังสือพิมพ์เลิกออกข่าว ความรู้สึกว่าคนฆ่าตัวตายเยอะๆ เป็นแฟชั่นก็เริ่มจะหายไป (แต่ถ้าจะให้ดีน่าจะมีคนไปลองหา correlation (ความสัมพันธ์ ระหว่างจำนวนคนที่ฆ่าตัวตาย กับพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งนะครับ จะได้รู้ว่าหนังสือพิมพ์มีผลจริงหรือเปล่า)

ลองคิดดูนะครับว่า ถ้าเราเริ่มลงข่าวเด็กเก็บกระเป๋าตังค์ได้ คืนเจ้าของ แล้วเล่นข่าวให้เหมือนกับคนฆ่าตัวตาย จะเกิดอะไรขึ้น ผมแค่ตั้งสมมติฐานว่าอย่างน้อยสังคมก็น่าจะจรรโลงขึ้น

หรือข่าวฆ่าข่มขืน ถ้าไม่ลงหน้าหนึ่ง แต่ไปลงหน้าหลัง จะเป็นยังไง

ขอบคุณมากครับคุณน้องเดอ

 

 

สวัสดีครับพี่มัท

ต้นว่าหนังสือพวก current affairs นี่ตัวกำหนดความคิดของคนด้านการเมืองเลยครับ

แต่เท่าที่ต้นสังเกต หนังสือ current affairs เหมือนโต้วาทีนะครับ ทุกๆสามเดือน ก็จะมีเล่มใหม่ ที่ออกมาโต้เล่มที่ออกมาก่อนหน้าหลุดออกมาให้เห็น ยิ่งช่วงนี้ดูเหมือนจะโต้วาทีกันสนุกหน่อย

เรื่องตลาดกับหนังสือ เท่าที่ต้นสังเกตนะครับ ตลาดหนังสือถูกกำหนดโดยหนังสือขายดีครับ อย่างเช่นหนังสือแฉดาราที่พี่มัทได้ยกตัวอย่างมา หรือว่าอย่างตอนนี้ที่ต้นอ่านอยู่เรื่อง more sex is safer sex (ต้นไม่ได้ทะลึ่งนะครับ แต่หนังสือมันชื่อนี้จริงๆ) หนังสือเล่มนี้เดินตามรอย freakonomics ครับ คือเอาเศรษฐศาสตร์กับการใช้เหตุผล มาหาเหตุผลของเรื่องแต่ละเรื่องที่ไม่ค่อยจะเกี่ยวกันเท่าไร แล้วโยงกันเข้ามาครับ (ต้นว่าเรื่อง freakonomics เขียนดีกว่าครับ เพราะเห็นหลักฐานมากกว่า หนังสือเรื่อง more sex is safer sex นั้นเน้นการใช้หลัก logic มากไปหน่อยครับ)

หรือว่าเรื่อง made to stick ที่ออกมาตามหลัง the tipping point ยิ่งถ้าไปดูหนังสือแนว investment จะเห็นออกตามๆกันมาเลยครับ

ขอบพระคุณมากนะครับที่พี่มัทได้ให้เกีรยติติดตามมาตลอดและกำลังใจครับ ท่าทางต้นจะเป็นคนย่อความไม่เป็นจริงๆครับ เขียนยาวทุกครั้งเลย :D

สวัสดีน้องแวร์

บันทึกต่อไปคงไม่ย่อยง่ายแล้วหล่ะ เพราะพี่หมดมุกแล้ว :D

 

สวัสดีครับอาจารย์ Ranee

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับที่ได้กรุณาติดตาม สำหรับผมแล้ว น้อยครั้งมากครับที่ผมไปร้านหนังสือแล้วมีหนังสือจะมีหนังสืออยู่ในใจ

ผมว่าสำหรับผมแล้ว การไปร้านหนังสือเหมือนการไปเลือกเสื้อผ้าของคุณผู้หญิงอ่ะครับ (เปรียบเทียบเห็นภาพเกินไปไหมเนี่ย) ดูได้เรื่อยๆ พลิกได้ไม่มีเบื่อ แต่ทุกครั้งที่ออกจากร้านหนังสือ มักจะมีหนังสือติดมือมาทุกที :D

 

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

กราบขอบพระคุณพระคุณเจ้ามากครับที่ได้กรุณาสละเวลาเข้ามาเยี่ยมเยียนและให้กำลังเสมอมาครับ :D

ผมคิดว่าการอ่านอะไรก็ตามจะย่อยง่ายหรือย่อยยาก นอกจากผู้อ่านแล้วผมก็คิดว่าผู้เขียนมีส่วนครับ อย่างน้อยการใช้ภาษาของผู้เขียนก็มีส่วนครับ

 

 

สวัสดีครับคุณน้องณิช

คุณน้องณิชตั้งขอสังเกตไว้น่าสนใจมากครับ ก็คือว่า หนังสือขายดีนั้นขายดีจริงหรือเปล่า ซึ่งมันก็เป็นไปได้ครับ

แต่ถ้าหนังสือที่ขึ้นอันดับขายดี (แต่จริงๆแล้วไม่ใช่) นั่นก็หมายความว่าเราสามารถกำหนดความคิดของคนในสังคมได้อย่างกลายๆหรือเปล่าครับ เพราะคำว่าการสร้างกระแส ก็คือการกำหนดความคิดของคนในสังคมไม่ใช่หรอครับ

เรื่องหนังสือกับชื่อและความดังของคนเขียน จริงๆนะครับ ผมไม่เคยจำชื่อคนเขียนหนังสือได้เลยครับ :D ส่วนชื่อผมว่ามันเป็นส่วนประกอบหนึ่งที่ทำให้คนเลือกซื้อหนังสือครับ อาจจะมากก็ได้ (ถ้าเป็นแบบร้านหนังสือบางร้านที่หุ้มแบบไม่ต้องการให้คนอ่าน) แต่ถ้าเปิดอ่านได้ ก็อาจจะไม่มีผลมากก็ได้นะ

ขอบคุณมากนะครับ ว่าแต่แล้วเมื่อไรคุณน้องณิชจะเลิกลากิจล่ะ

 

สวัสดีครับอาจารย์ wwibul

อาจารย์ทำให้ผมตั้งขอสงสัยกับตัวเองครับ อาจจะเป็นไปได้ว่า ผม Bias ครับ เมื่อผมเห็นหนังสือที่ผมสนใจ แล้วหยิบมาดู มันอาจจะเป็น confirmation bias ก็ได้  

อีกเรื่องที่อาจารย์ทำให้ผมคิดถึงก็คือ เรื่อง Calculus ครับ ที่นิวตันกับ Lebesgue ที่คิดถึงเรื่องแคลคูลลัสได้ใกล้ๆกัน แต่ที่มาแตกต่างกันพอสมควร

ถ้าตัด conspiracy theory ทิ้งนะครับอาจารย์ อาจารย์คิดว่าหนังสือที่ออกมาใหม่ context ออกมาคล้ายๆกัน หรือเหมือนๆกัน จะมีผลต่อความคิดของคนส่วนใหญ่ทางสังคมได้มากน้อยแค่ไหนครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

สวัสดีครับคุณนิรันดร์

ขอบพระคุณมากครับสำหรับเวลาและคำแนะนำครับ :D

สวัสดีครับอาจารย์ กมลวัลย์

อ้าวอาจารย์ไม่ใช้คำนำหน้าแล้วหรอครับ :D

"คิดว่าเขาผลิตหนังสือเป็นธุรกิจ เพราะฉะนั้นคงต้องผลิตให้ทันตามกระแส เช่นช่วงนี้ก็คงไม่พ้นจตุคาม.. คนผลิตเขาต้องประเมินแล้วกระมังคะว่าช่วงนี้หรือช่วงหน้าเรื่องอะไรจะ hot"      

ผมคิดว่าตลาดมีส่วนอย่างมากครับ แต่อย่างที่ผมเขียนตอบพี่มัทไปนะครับว่า เท่าที่ผมสังเกต หนังสือที่ติดอันดับ จะมีผลพอสมควรกับเนื้อหาของหนังสือที่ออกมาใหม่

โดยส่วนตัวนะครับผมคิดว่ามันก็ยากมากนะครับกับการที่จะปลุกกระแสอะไรที่มันหมดไปแล้วให้กลับมาใหม่ได้นะครับ โดยเฉพาะกับตลาดหนังสือ

แต่จากคำพูดของอาจารย์ ผมมองเรื่อง ระยะเวลาการเขียนและการวางแผนขายครับ

ในเมื่อตอนนี้กระแสจตุคามแรงจริง คนเขียนต้องใช้เวลาเท่าไรในการรวมข้อมูล แล้วต้องใช้เวลาเท่าไรในการพิมพ์แล้วก็ออกขาย มันไม่มีหลักประกันนะครับว่า ตอนที่หนังสือออกขายแล้ว กระแสจตุคามยังแรงอยู่

ซึ่งถ้ามองถึงแง่ธุรกิจจริงๆ มันเป็นเรื่องคนละเรื่องเดียวกันนะครับ หนึ่งคือแง่ของการผลิตหนังสือ และสองคือกระแสที่ทำให้คนจะซื้อหนังสือ

ในแง่การผลิตหนังสือ ซึ่งสำนักพิมพ์สามารถควบคุมได้ (อย่างน้อยก็บางส่วน) แต่ก็มีความเสี่ยงพอสมควร เช่นสมมติว่าสำนักพิมพ์กำหนดเวลาเขียนให้ ถ้าอย่างนั้น ผุ้บริโภคก็อาจจะได้ผลลัพธ์สิครับ ในเมื่อเราอาจจะบริโภคข้อมูลหรือเนื้อหาที่ผิดพลาด ไม่ได้รับการตรวจทานและไตร่ตรองที่ดี

ในแง่กระแส เราไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลยนะครับ

แต่นั่นเป็นการมองว่า กระแส => หนังสือ

แต่ถ้าเราจะมองว่า หนังสือ => กระแส ล่ะครับ อาจารย์ว่าจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

 

พี่ต้นคงยุ่งน่าดู เลยไม่ค่อยมีเวลาตอบ มาตอบทียิงกราดเลยนะครับ

  เอาขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ว่า "คนไทยสามัคคีกันเหลือเกิน" ดีมั้ยครับ น่าจะตามสมัยดีและเป็นกระแสที่น่าปลุกเหลือเกินในตอนนี้

  ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะคุณต้น (ไปอ่านหนังสือ)

จริงๆ เข้ามาตอบรอบนึงแล้ว แต่เน็ตหลุด เลยเพิ่งเข้ามาใหม่ค่ะ

เรื่องคำนำหน้าน่ะ เลิกใช้แล้วค่ะ ; ) ตอนสมัครเห็นของ ศ.วิจารณ์ ท่านลงเป็นทางการ ก็เลยทางการมั่ง ประมาณว่าเข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม  แต่พอหลิ่วตาเข้ามา G2K เห็นว่าเขาลืมตาปกติกันหมด .. ก็เลยเปลี่ยนค่ะ.. อิ อิ

เรื่องระยะเวลาการเขียนและการวางแผนการขายนั้น ดิฉันคิดว่าถ้าเป็นหนังสือเกาะกระแสแบบจตุคาม มันไม่น่าจะมี content ที่ต้องใช้เวลาตรวจสอบมากนัก อีกทั้งเป็นรูปเสียส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น production time น่าจะน้อยค่ะ

อีกคำถามที่ถามว่าหนังสือสร้างกระแสได้ไหม คิดว่าได้ค่ะ แต่อาจเป็นกระแสสั้นๆ เช่นหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เป็นหนังสือเด็กที่เป็นที่นิยมมาก พอเล่มนี้ออกมาขายดี หลายๆ เล่มก็ตามออกมา แต่พอมีเยอะก็เจอกฎ supply vs. demand ไปตามระเบียบ..อีกอย่างหนึ่งก็คือ คนมีประสบการณ์กับเรื่องทำนองนี้แล้ว ก็ไม่แปลกใหม่หรือ unique อีกต่อไปแล้ว อรรถรสก็ลดลงค่ะ..

อีกอย่างที่ทำให้กระแสสร้างยากคือความคิดของคนที่เปลี่ยนไปเรื่อยๆ คนเราเปลี่ยนใจเร็วจะตายไป เคยคิดว่าแบบนี้ดี อีกแป๊ปก็คิดว่าอีกแบบหนึ่งดีแล้ว การที่จะสร้างหนังสือที่ถูกใจคนจำนวนมากจนเป็นกระแสได้นั้นคงยาก คงต้องเป็นอะไรที่ใหม่จริงๆ สร้างความบันเทิงได้จริงๆ หรือกระตุ้นคนให้อยากรู้ อยากทำในเรื่องเดียวกันได้จริงๆ ซึ่งมันยากมากๆ เลย ตามความเห็นของตัวเองค่ะ..

เข้ามาอ่านเป็นปกติ แต่คราวนี้โพสต์ได้ หลังจากที่พยายามมานาน น้องต้น คงสบายดีนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท