มากกว่าการเป็นแค่ถ้วยใบหนึ่ง


สืบเนื่องมาจากเรื่องที่เขียนในบล็อกk-creation เล่าเรื่องที่ไปเป็นวิทยากรรับเชิญไปพูดเรื่องเกี่ยวกับการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้กับผู้ประกอบการโอทอปในจังหวัดอยุธยา และได้พูดถึงความสำคัญของการชู "เรื่องราว"และบริบทที่สินค้าและบริการนั้นเกิดขึ้นมา ผู้เขียนได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์สี่ห้าชิ้น ทั้งของไทยและของต่างประเทศไปใช้ประกอบการพูดคุย และได้นำถ้วยกาแฟหนึ่งในใบโปรดไปด้วยพร้อมกล่องบรรจุและเอกสารใบจ้อยที่มาพร้อมกันเมื่อซื้อซึ่งประทับใจมากเก็บไว้อย่างดี

ถ้วยกาแฟใบนี้ไม่ได้สวยหรูวิเศษ ไม่ใช่ porcelain ด้วยซ้ำ เป็นแค่Fine stoneware ซื้อมาเมื่อปี 2002 เมื่อไปประชุมที่ Cape Town ประเทศอาฟริกาใต้

ได้นำเฉพาะถ้วยส่งให้ผู้เข้าร่วมการอบรมเวียนกันดูให้ทั่ว แล้วถามว่าเห็นอะไรบ้าง ก็ได้คำตอบที่ตาใครๆก็มองเห็น คือเป็นถ้วยมีหูแบบmug สีครีม ไม่หนัก มีคนหนึ่งตอบว่าหากเป็นถ้วยคล้ายๆกันแบบนี้ของไทยจะหนักกว่า มีลายดอกไม้ทั้งดอกตูมดอกบานและใบ มีตัวหนังสือภาษาอังกฤษที่ขอบถ้วยด้านใน ที่ก้นถ้วยคว่ำดูเห็นมีตราสงสัยเป็นยี่ห้อ และสงสัยจะแพง ราคาซักเท่าไหร่กันนี่ พวกเขาดูกัน ตอบกันจนพอใจ ผู้เขียนจึงตอบว่าก็เห็นเหมือนที่ทุกคนเห็น แต่เพิ่มตรงที่เห็นมันเป็น "ถ้วยแห่งความสุข"

เพราะอะไร? ไม่ใช่แค่ไปประเทศไหนเมืองไหนแล้วซื้อของที่ระลึกกลับมาว่าได้"ไปเยือน" มาแล้ว

เป็นคนชอบดอกไม้มาก เห็นถ้วยลายดอกไม้แปลกตาต้องโดนใจอยู่แล้ว ก็คิดๆอยู่ว่าจะซื้อดีมั้ย ราคาไม่ถูกแต่ก็ไม่แพงเกินควร หากซื้อต้องระมัดระวังอย่างดีไม่ให้แตกระหว่างการเดินทาง พอหยิบกล่องบรรจุขึ้นมาอ่านเรื่องราว เลยตัดสินใจซื้อทันที เขาเข้าใจดึงเรื่องราวที่เป็นความภูมิใจ ลักษณะเด่นแรงบันดาลใจ-เหตุผลที่เขาทำผลิตภัณฑ์ชุดนี้ขึ้นมา และรายละเอียดอื่นๆที่แสดงถึงความสามารถของคนอาฟริกาใต้ที่คิด ที่ทำถ้วยขึ้นมาด้วยความละเอียด ปราณีต

ถ้วยชุดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ในร้านจำหน่ายของที่ระลึกของสวนพฤกศาสตร์ Kirstenbosch ทำขึ้นเฉพาะโดยสวนพฤกศาสตร์แห่งนี้ มี 6 ลายคือดอกไม้ 6 ชนิด ที่เป็นตัวแทนของดอกไม้จากภูมิประเทศที่แตกต่างกัน 6แบบของประเทศอาฟริกาใต้ กล่องด้านหนึ่งแสดงแผนที่ของภูมิทัศน์ทั้ง 6 ประเภท

Nice%20mug 

มีปัญญาซื้อมาแค่ใบเดียว

ใต้แผนที่มีข้อมูลว่าประเทศอาฟริกาใต้มีพื้นที่น้อยกว่า 1 %ของแผ่นดินในโลกนี้ แต่มีพืชพันธุ์มากมายถึง 10% ของสายพันธุ์พืชทั้งหมดของโลก ต้องร้อง "ว้าว" ทีเดียว

รายละเอียดน่าสนใจอื่นๆ ติดตามตอนหน้านะคะ

หมายเลขบันทึก: 89259เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2007 11:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 18:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์
  • ดิฉันตามท่านอาจารย์  Handy และคุณโอ๋-อโณมา (ด้วยความเต็มใจ)  และอ่านบันทึกของอาจารย์ด้วยความรู้สึกเดียวกับเมื่อได้อ่านเรื่อง  "เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก" ค่ะ
  • อ่านแล้วรู้สึกเย็นกายเย็นใจ  ขณะเดียวกันก็รู้สึกชื่นใจ  .......เหมือนได้สูดอากาศริมน้ำ ที่มีลมเย็นๆพัดผ่านร่มไม้............ 
  •  อาจารย์โชคดีเหลือเกิน ที่มีโอกาส(และตัดสินใจ)เลือกชีวิตเช่นนี้นะคะ   ดิฉันอ่านตามมาหลายบล็อก ก็รู้สึกเห็นด้วยกับที่พระท่านบอกอาจารย์ว่า การปฏิบัติธรรม ก็เป็นการให้เช่นกัน เชื่อว่าผู้ที่ติดตามอ่านจะสัมผัสได้จากการสื่อสารของอาจารย์ใน "บันทึกริมน้ำ"  ที่อาจารย์ตั้งใจร้อยเรียงให้อ่านนี้
  • ภาษา และการถ่ายทอดจากใจ  ที่อ่านแล้วทำให้ผู้อ่านรู้สึกสบายใจ และทำให้ใจสงบ น้อมนำให้นึกถึงสิ่งที่ ที่เป็นกุศลแก่จิตใจนั้น    หาได้ไม่ง่ายนัก 
  • ดิฉันคิดว่าเรื่องนี้ไม่สามารถถ่ายทอดด้วยการสอนให้เขียน  หรือบอกเทคนิคแก่กันได้  แต่ต้องเกิดจากจิตใจเนื้อแท้ของผู้เขียนเองที่จะถ่ายทอด  และจะได้เห็นเป็นเนื้อเดียวกันเมื่อได้ตามอ่านมาหลายบันทึก
  • ดิฉันมองเห็นความรู้สึกร่วมของหลายท่านที่มีโอกาสเข้ามาอ่านบันทึกของอาจารย์  ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า  อ่านแล้วรู้สึก 
                              "...เย็น....."           
  • ดิฉันอยากต่อด้วยคำว่า    "...ชื่นใจ..."   นะคะ
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ  :)
  • และที่ดิฉันเลือกเข้ามาที่บันทึกนี้ก่อน เพราะคำถามเรื่องถ้วยของอาจารย์ ที่ตรงใจเหลือเกิน
  • การสะท้อนวิธีคิดและมุมมอง  เพื่อนำไปสู่การคิดอย่างแยบคายนั้น  เริ่มต้นด้วยคำถามอย่างง่าย (ที่ดิฉันชอบมาก) ว่า "....เห็นอะไร  ?........"
  • เรามัก "เห็น" อะไรมากมายด้วยตาเนื้อ  แต่บางทีก็ลืมมองด้วยตาใจ     การฝึกให้รู้จักมองเชื่อมจากรูปธรรมไปหานามธรรมนั้น  ทำให้คนเราฉุกคิดอะไรได้มาก  
  • ดิฉันออกจะกลุ้มใจกับศาสตร์ตะวันตกบางชุด  ที่ฉวยใช้การมองด้วยตาใจ   (การมองเห็นนามธรรม  มองเห็นความรู้สึก , การรู้ว่า  สิ่งจับต้องได้ชุดใด   นำไปสู่ความรู้สึกอันจับต้องไม่ได้ชุดใด )    ให้เป็นประโยชน์ในการควบคุมจิตใจผู้อื่น  ให้ตกเป็นเหยื่อของตน
  • บางทีดิฉันก็หวั่นๆว่าการฝึกให้นักศึกษา ตั้งคำถามต่อที่มา  และที่กำลังจะไปของความรู้ชุดนั้น   อาจทำให้พวกเขาต้องเดือดร้อนจากการซักถาม  หากเจอผู้ที่ไม่ชอบให้ถามหาความสมเหตุสมผล  แต่ต้องการให้เชื่อตาม และทำตาม แบบสาวกที่ดีอย่างเดียว
  • อ้าวดูซิคะ ......ดิฉันก็ไปเสียไกล  เขียนความเห็นทีไร  ยาวกว่าบันทึกทุกที  :) 
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากนะคะ

  

         สวัสดีครับ

 คุณค่าของสิ่งของไม่มีกฏเกณฑ์ อยู่ที่ความพึงพอใจ  ความประทับใจ สถานการณ์และอารมณ์ขณะที่ได้มา 

          อย่างไรก็ตาม สิ่งของทุกชิ้น มีความหมายมากกว่าที่คิด แล้วแต่ประสพการณ์ของผู้เป็นเจ้าของ

        สองคนยลตามช่อง  คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม

         อีกคนน่าชื่นชม       มองเห็นดาวอยู่พราวพราย

Pสวัสดีค่ะ เพิ่งตอบคุณดอกไม้ทะเล ที่จริงตามไปที่บล็อกของอาจารย์แล้วและได้แสดงความคิดเห็นไว้ด้วย
กลับมาอ่านข้อคิดเห็นของอาจารย์อีกครั้ง ช่วยให้คิดลึกซึ้งขึ้น ขอบคุณมากค่ะ เป็นข้อคิดที่ดีมากและเป็นประโยชน์ หากไม่คิดให้ดี สังคมจะดำดิ่งไปกันใหญ่
ไม่รังเกียจเลยค่ะที่เขียนมายาว เพราะรู้สึกได้ว่าเขียนมาจากใจเช่นกัน
P สวัสดีค่ะคุณวรชัย ขอบคุณที่แวะมาแบ่งปันความคิดและความรู้สึกดีๆ
จริงค่ะที่ของแต่ละชิ้น มีความหมายมากกว่าที่ตาเปล่ามองเห็น หากเราช่วยกันอบรมบ่มนิสัยคนรุ่นหลังให้ไม่มองอะไรแค่ผิวเผิน ให้ลึกกว่าการใช้อารมณ์ปรุงแต่งว่าชอบหรือไม่ชอบ เพื่อให้เห็นคุณค่าแท้จริงที่อยู่ลึกลงไปอีก จิตใจเขาก็จะละเอียด อ่อนน้อม สังคมเราคงจะดีขึ้นนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท