เทคนิคการวิจารณ์..การติชม


 

วันนี้เข้าไปร่วมแจมกับน้องๆที่เวบบอร์ดแห่งหนึ่งซึ่งเป็นชุมชนคนชอบเขียน (นิยาย) มีน้องๆเข้ามาคุยในหัวข้อกระทู้ "ลัทธิชอบจับผิด " ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นจากผู้อ่านถึงผู้เขียนประมาณว่า อย่างไหนเหมาะสม อย่างไหนล้ำเส้น ไม่เหมาะสม ก็มีการแสดงความเห็นกันต่างๆนานา ทั้งคนเป็นผู้อ่าน และคนที่เป็นนักเขียน  จนกระทั่ง..มีน้องคนหนึ่งเอ่ยขึ้นว่า "การติชมเป็นศิลปะที่ยากมาก ๆ "  ทำให้ตนเองเกิดความรู้สึกอยากเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา

จะว่าไป.. ตัว k-jira เองก็หาใช่ว่าจะเก่งกาจ หรือมีศิลปะที่ดีอะไรในการติชมหรอกนะท่าน เพียงแค่เคยฟังเคยอ่าน เทคนิคการประเมินมาบ้าง (นิดๆหน่อยๆ) แล้วเอามาประมวลเป็นความคิดรวบยอดของตนเองขึ้นมาเท่านั้น แต่ที่เจตนาจะเขียนออกมาก็เพราะมีจุดมุ่งหมาย ด้วยเชื่อว่าหลายท่านใน G2K เป็นผู้เชี่ยวชาญ บางท่านก็อาจจะอยู่ในทีมผู้ประเมิน ที่ประเมินหน่วยงานต่างๆมากันบ้างแล้ว

จึงขอหย่อนเมล็ดกล้าเรื่อง "เทคนิคการติ-ชม" ไว้ตรงนี้  เพื่อขอความคิดเห็นเพิ่มเติม จากปวงกัลยาณมิตรทั้งหลายใน G2K ช่วยรดปุ๋ยแตกยอดต้นไม้ในหัวเรื่องนี้ขึ้นมา หากท่านใดมีหลักการ แนวทาง เทคนิคใดเพิ่มเติม ก็ขอเชิญนะคะ  จะเป็นพระคุณอย่างยิ่งทีเดียว

 

.........................

 

 

เทคนิคการติ-ชม

ในการเขียนติชม หรือการเขียนวิจารณ์นั้น จะว่าไป ก็คือการชี้บอก จุดดีจุดด้อย ของงานชิ้นนั้นๆออกมานั่นเอง

จุดเด่น หรือจุดด้อย หรือจุดอ่อนจุดแข็ง แล้วแต่ใครจะเรียกนี้ ต่อมาก็จะมีคำเรียกหาที่ฟังดูดี และชี้แนวทางในการเขียนรายงานผลมากยิ่งขึ้นเป็น  จุดเด่น (หรือข้อดี ) กับ โอกาสพัฒนา

จุดเด่น (หรือข้อดี )  คงไม่ต้องพูดถึงมาก มันก็คือ สิ่งที่ผู้ประเมิน จะชมหน่วยงาน หรือบุคคลผู้นั้น  เช่น หน่วยงานสะอาดเรียบร้อยดี  การจัดวางวัสดุสิ่งของเป็นระเบียบ มีการทำ 5 ส ครอบคลุมทุกพื้นที่ในหน่วยงาน  บุคลากรยิ้มแย้มแจ่มใส 

ส่วนจุดด้อย.. หรือจุดที่ต้องปรับปรุง  จะว่าไป มันก็คือ "คำติ"  แต่เดี๋ยวนี้เขาไม่เรียกกันแล้ว  เขาจะใช้คำว่า "โอกาสพัฒนา"  นั่นก็คือ สิ่งที่มันยังไม่ดี แต่ยังมีโอกาสปรับปรุง และผู้ประเมิน ควรจะมี ชี้ช่องทาง หรือแนวทางให้กับผู้ถูกประเมินด้วย

 

 

อย่างเช่น โอกาสพัฒนา ของหน่วยงานหนึ่ง ได้แก่  มีของวางกั้นขวางบริเวณทางเดินหนีไฟ อาจจะมีความไม่สะดวกหากว่าเกิดไฟไหม้ขึ้นมาจริงๆ   การจัดวางเอกสารยังไม่มีการแยกหมวดหมู่ ทำให้เวลาค้นหาทำได้ยากและเสียเวลา  เป็นต้น

ยังมีเทคนิคอีกว่า  ในการติชมใดก็ตามเวลาประเมินนั้น

1. คำชมควรจะมีมากกว่าคำติ  เช่น มีคำชม 5 ข้อ ก็มีคำติ สัก 3  ข้อ

2. ควรจะเอ่ยจุดดีของเขาขึ้นมาก่อน แล้วค่อยตามด้วย โอกาสพัฒนา

3. ควรใช้คำพูดที่มีความจริงใจ  เข้าใจ เป็นมิตร ด้วยความปรารถนาที่อยากจะช่วยเหลือเขา ให้กำลังใจเขา ไม่ใช่เหยียบย่ำเขา  หลีกเลี่ยงคำพูดที่ประชด แดกดัน หรือเสียดสี

4. ทุกคนทุกสถานที่ย่อมมีทั้งจุดดีและจุดด้อย  หากต้องการชี้ช่องทางโอกาสพัฒนาแก่เขา จะต้องค้นหาจุดดีของเขาให้เจอก่อน อย่าให้จุดไม่ดีบังตาผู้ประเมิน จนมองไม่เห็นจุดดีไปเลย

5. การบอกจุดด้อย หรือ โอกาสพัฒนาต่อผู้อื่นนั้น  ควรใช้เทคนิคการบอกแบบชี้ผลลัพธ์ หรือขอความคิดเห็น  ควรหลีกเลี่ยงการออกคำสั่งให้ทำ

ตัวอย่างเช่น

  • มีของวางกั้นขวางบริเวณทางเดินหนีไฟ อาจจะมีความไม่สะดวกหากว่าเกิดไฟไหม้ขึ้นมาจริงๆ    แทนที่จะบอกไปทื่อๆว่า บริเวณทางเดินหนีไฟ มีของวางรกรุงรัง ระเกะระกะ  (เพราะคนที่ถูกประเมินอาจจะงง หรือไม่ทันคิดว่า เอ.. มันวางระเกะระกะยังไงหว่า ก็วางไว้เรียบร้อยแล้วนี่ แต่อันที่จริงแล้ว การที่เขาไม่ให้วางอะไรไว้ตรงนั้น เพราะเวลาที่เกิดเพลิงไหม้ มันจะขวางทางหนีไฟต่างหาก)

หรือ

  •  การจัดวางเอกสารยังไม่มีการแยกหมวดหมู่ ทำให้เวลาค้นหาทำได้ยากและเสียเวลา  แทนที่จะบอกไปทื่อๆว่า เอกสารไม่มีการจัดแยกหมวดหมู่ (เพราะคนประเมินอาจจะงง ไม่เข้าใจอีกว่า ..ก็จัดไว้เป็นระเบียบแล้วนี่ แต่เขาลืมนึกไปว่า มันควรจะแยกหมวดหมู่ด้วย  ในกรณีที่คนจัดวางเอกค้นหา ย่อมจำได้และหาเจออยู่แล้ว  แต่ถ้ามีคนใหม่มา หรือมีคนอื่นมาหา เขาก็จะหาไม่เจอ เพราะไม่รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน เป็นต้น)

ส่วนการบอกแบบขอความคิดเห็น  มักจะเป็นเรื่องของการเสนอคำแนะนำ ในสิ่งที่ไม่มีถูกหรือผิด  อย่างเช่น  ที่นี่อนุญาตให้บุคลากรใส่เสื้อเหลืองมาทำงานได้  คุณคิดว่าน่าจะกำหนดวัน ที่จะนัดกันใส่มา แทนที่ใครจะใส่มาวันไหนก็ได้ ดีไหม  อย่างเช่น ทุกวันจันทร์และวันพฤหัส ทุกคนจะใส่เสื้อเหลืองกัน มันจะทำให้ดูมีความพร้อมเพรียง และสร้างพลังให้แก่หน่วยงานดีด้วย

การติชมที่มีเทคนิคที่ดีนั้น  ต่อให้เป็นการทักท้วงเรื่องที่สุดแสนจะแย่ที่สุด แต่หากเรามีเทคนิคที่ดี  คนฟัง (คนโดนติ) ก็ยังคงรู้สึกดี  จะว่าไปแล้ว..  สิงนี้มันไม่ใช่เรื่องยากหรอก  แต่จะต้องค่อยๆฝึกค่อยๆทำ

เทคนิคต่างๆดังที่กล่าวมา สามารถนำไปใช้ในการวิจารณ์ได้  ถ้าจะลองเอางานวิจารณ์ (ไม่ใช่งานสับแหลก ที่นักวิจารณ์การเมืองบางท่านเอามาเขียนวิจารณ์) เราจะพบว่า เขาจะมีเทคนิคการหยิบยกเอาจุดดี ของงานนั้นมาพูด มานำเสนอก่อน จากนั้นค่อยตามด้วยจุดด้อยของงาน  แต่คนที่เขียนวิจารณ์ดีๆ เราจะพบว่า บางครั้ง เราอ่านแล้วดูไม่ออกเลยว่า เขากำลังติ แต่มันเหมือนเขากำลังชี้ "ช่องทางโอกาสพัฒนา" ของผลงานชิ้นนั้นออกมามากกว่า

งานวิจารณ์แบบนี้จึงมีคุณค่า ซึ่งไม่เพียงแสดงให้เห็นว่าผู้วิจารณ์มีความเข้าใจในงานนั้นๆแล้ว ยังมีแนวทางที่ทำให้เจ้าของผลงานนั้น นำไปศึกษาปรับปรุง เพื่อพัฒนางานชิ้นต่อไปในเขาได้

หากท่านใดมีเทคนิคการติชม ดีๆ ที่แตกต่างออกไป ก็ลองเอามาเสนอกันดูนะคะ เทคนิคเหล่านี้ฝึกไว้เป็นสิ่งดีค่ะ  สามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้  อีกทั้งยังปลอดภัยต่อ อาการ "หัวแตก" เพราะโดนเพื่อนร่วมงานเขม่น ได้ดีอีกด้วยน้า... จริงไหม.อิอิ

 

^_____________^

หมายเลขบันทึก: 88268เขียนเมื่อ 3 เมษายน 2007 11:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ดิฉันผ่านการประเมิน และถูกประเมิณมามาก ทั้งจากทางราชการและเอกชนและลูกค้าต่างประเทศ

ส่วนใหญ่ ไม่มีสมบูรณ์แบบหรอก มีที่ต้องปรับปรุงทั้งนั้น แต่ก็ชอบให้คนอื่นประเมินด้วยใจจริง และประสงค์ดี ถ้ามีอะไรแอบแฝง ก็ไม่เชื่อหรอก เพราะบางที ก็ทำดีถูกหลักการแล้ว  ให้มี หลายฝ่าย จากที่ต่างๆ หน่อยก็ดี อย่างน้อยสองแห่ง จะได้ประกอบการตัดสินใจปรับปรุง

ก่อนอื่นต้องขอสารภาพก่อนว่าก่อนจะเริ่มเขียนได้นี่ ผม (แอบ) ขออนุญาตปิดเพลงของคุณ K-jira ชั่วขณะ คือตอนอ่านผมก็ว่าดีนะครับ เพลินดี แต่ตอนเขียนตอบมันตะกุกตะกักชอบกล (สงสัย speaker ไม่ค่อยดีน่ะครับ)

สำหรับผม การประเมิน ก็เป็นการสื่อสารประเภทหนึ่งนั่นเอง เมื่อเป็นเช่นนี้ เราสามารถที่จะ optimize (หรือ make it worst) จากองค์ประกอบสามประการคือ

  • ผู้สื่อ
  • ผู้รับ
  • บริบท

ถ้าเราปรับแค่มิติใดมิติหนึ่ง เดี๋ยวจะประหลาดใจว่าทำไมประเดี๋ยว work ประด๋าวไม่ work นั่นเป็นเพราะเราอาจจะลืมอีกสององค์ไป คือ คนรับ และบริบท แต่เขียนไปเขียนมาจะกลายเป็นกระทู้ใหม่ ขอ respond แต่โจทย์คือ เทคนิกการประเมิน นั่นคือเอาเฉพาะ คนมีหน้าที่ประเมิน ก็แล้วกัน

  1. เตรียมใจ
  2. เตรียมวิธี
  3. ฝึกฝน
  4. sensitive
  5. ไร้กระบวนท่า

1. เตรียมใจ เป็นสิ่งที่ผมให้คะแนนความสำคัญที่สุด ผมเชื่อในอวจนภาษา เชื่อในเรื่องความเมตตากรุณา ความหวังดี นั้น สื่อสารกันได้ ขอเพียงออกมาจากใจเราจริงๆ ทีนี้ที่เราไม่ได้ตั้งใจก็มีบ่อย เพราะคนเรา ขาดสติ เป็นประจำ อะไรก็ไม่ร้ายเท่าคนที่มีหน้าที่ประเมิน หรือมีอำนาจให้ดีให้ร้ายคนอื่นได้มากๆจากคำพูดคำจา แล้วเกิดอาการขาดสติ หลุดจากการควบคุมเจตนา

ผมเคยเตือนน้องๆหมอเสมอ เวลาไปดูคนไข้ ไปสื่อสารกับเขานั้น อย่าลืมรวบรวมสติสร้างภูมิคุ้มกันจิตใจเราก่อนเสมอ เพราะความทุกข์แพร่ระบาดได้ และเราต้องทำทั้งป้องกันตนเองที่จะบาดเจ็บจากการแพร่ระบาดมาจากความทุกข์ของผู้ป่วยและญาติ (sympathy ไม่ใช่ empathy) และในขณะเดียวกันเราควรจะสามารถแผ่ความสุข ความเมตตากรุณา ไปเติมให้คนที่พร่องอยู่ได้ด้วย ถ้าคนประเมินอยู่ใน mode defensive ไม่ใช่ mode ปกติ ก็จะยิ่งแล้วกันไปใหญ่ จะเกิดพลังลบแผ่ซ่านออกมา ทั้งกาย วาจา ใจ ที่พูดดีก็กลายเป็นกระแนะกระแหน หรือประชดประชัน ที่จะติเพื่อก่อ ก็จะกลายซ้ำเติม ราดน้ำเกลือ รดอัลกอฮอล์

แต่ในทำนองกลับกัน ถ้าเตรียมมาดี บางทีพูดห้วนไปบ้าง สั้นไปบ้าง แต่ผมเชื่อครับว่า ความหวังดีนั้นมัน "รู้สึกกันได้" หนักจะกลายเป็นเบา จะเกิด "ติเพื่อก่อ" และตักเตือนมิใช่ดุด่า

2. เตรียมวิธี เทคนิกก็ใช่ว่าจะไร้ประโยชน์เสียทีเดียว แต่อย่าเน้นมากครับ มันจะเหมือนละครเกินไป แต่ก็ไม่เสียหายที่จะคงหลักการสัมมาวาจา คือ ไม่หยาบคาย ไม่โกหก ไม่ส่อเสียด

3. ฝึกฝน เนื่องจากการสื่อสารก็เป็น psychomotor อย่างหนึ่ง เราก็สามารถทำให้เนียนขึ้น โดยการไม่ต้องจำ ทำเป็นการสนทนา เป็นธรรมชาติ เพราะไม่งั้นจิตบนริสุทธิ์เราจะถูก beta wave ของสิ่งที่เรากำลัง "ท่องบท" บดบังหายไปหมด

4. sensitive ตอนประเมิน ก็เหมือนกับการบอกข่าวร้ายแหละครับ ไม่ว่าจะเตรียมมายังไง ถ้าเราหวังดีต่อคนรับจริงๆ อย่าลืมสังเกตสีหน้าท่าทางต่างๆของคนรับด้วย เป็นคนที่มี ความไว ต่อความรู้สีกหน่อย อย่าเถรตรงมาก เพราะคนรับบางคนไม่ได้เตรียมตัว ต่อให้เราพูดดีอย่างไร เขาอาจจะ collapse ลงได้ง่ายๆ ถ้าเรามัวหลับหูหลับตาปาวๆไปเรื่อยๆ ผลลัพธ์ที่หวังจะให้ได้ดี จะกลายเป็นตรงกันข้าม ฉะนัน้คนที่มีสาจาศักดิ์สิทธิ์ คือผู้มีอำนาจในการให้ดี / ให้ร้ายคนนั้น หัดปากหนัก ใจหนัก และ "ไว" ไว้ให้จงดี

5. ไร้กระบวนท่า ไม่ได้หมายถึง "มั่ว" แต่หมายถึงต้องสามารถยืดหยุ่น เพื่อให้ได้มาซึ่งผลที่เรามาประเมินไปทำไม เราไม่ได้มาประเมินเพราะเราถูกสั่งให้มา การประเมินนั้นเพื่อ พัฒนา ไม่ใช่มาทำโทษ ตราหน้า หรือ label ความเลว ความไม่ดี ยึดวัตถุประสงค์ข้อนี้ให้จงดี แล้วพลิกแพลงตามสถานการณ์ ขอเพียงปรัชญาหนักแน่นไม่คลอนแคลน มีเจตนาอันเปี่ยมเมตตากรุณาหวังดี เราก็สามารถจะช่วยเหลือผู้ที่ต้องการได้เสมอครับ

ขอมั่วมาเพียงแค่นี้ ขอบคุณครับ

PS: ขออภัยที่ตอบยาวกว่าตัวบทความจริง เผลอลืมไปว่าเป็น blog ตัวเอง !!!

 

สวัสดีค่ะ คุณ sasinanda

  • เห็นด้วยค่ะ ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์หรอก ต้องมีการปรับปรุงทั้งนั้น
  • ดีจังเลยค่ะ งั้นแสดงว่า คุณพี่ sasinanda  คงมีประสบการณ์ตรงมากมาย เรื่องการประเมิน
  • การชมเป็นเรื่องไม่ยาก แต่การติอย่างสร้างสรรค์ โดยที่ไม่ทำให้อีกฝ่ายเสียความรู้สึกเป็นเรื่องที่ยากจริงๆ
  • มิทราบคุณ พอมีอะไรจะแนะนำเพิ่มเติมไหมคะ
  • ขอบคุณค่ะ ^__^

 

สวัสดีค่ะ อาจารย์ Phoenix  ^__^

  • แหะๆ สารภาพว่า ลืมเรื่องเพลงที่ใส่บล็อกไปเลยค่ะ เพราะว่าเวลาเปิดคอม จะไม่ค่อยเปิดลำโพง ดังนั้นก็เลยลืมไปว่า ตอนสร้างบล็อกใหม่ๆ ได้ใส่เพลงไว้ด้วย  แฮ่ๆๆ  ^^''
  • ขอบคุณสำหรับความเห็นยาวๆค่ะ  อาจารย์ช่วยลืม ( ลืมว่าเป็นบันทึกของตัวเอง) บ่อยๆนะคะ .. ชอบค่ะ  อิอิ 
  • อ่านความเห็นของอาจารย์จบ ต้องย้อนกลับไปอ่านบันทึกของตัวเองอีกรอบ  แหะๆ รู้สึกว่า k-jira คงเขียนบันทึกสื่อออกมาไม่ดีแน่เลย  เทคนิคการวิจารณ์..การติชม  ทำไม ถึงไปออกการประเมินได้น่อ...
  • แล้วก็กลับมาอ่านของอาจารย์อีกรอบ  อ้อๆ.. k-jira อ่านพลาดไปเอง  อาจารย์ให้มาทั้งเทคนิคการประเมิน และการติชมด้วย  ....เป็นอีกมุมมองที่เป็นประโยชน์มากเลย  ขอบคุณค่า ^___^

 

  • สวัสดีครับ เข้ามาทักทายครับ
  • เขียนบล็อกสวยดีครับ บทความสวยครับ น่าอ่านครับผม
  • ขอบคุณมากๆครับ จะเอาข้อคิดดีๆ ไปปรับใช้ครับ
  • โชคดีและมีความสุขในการทำงานครับ

ขออนุญาตนำไปอ้างอิงประกอบการสอนการสื่อสารด้วยนะคะ  คุณ k-jira  ขออนุญาตอาจารย์หมอPhoenix ด้วยนะคะ 

บล็อกเดียวได้สองบล็อกเกอร์เลย... :)

ปล.ชอบกรอบสีน้ำตาลช็อคโกแล็ตลายรูปหัวใจมากเลยค่ะ   ดูหวานอุ่นๆดีจัง  ดิฉันก็เป็นอะไรไม่รู้หยิบข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นผ้าๆทีไร เป็นต้องหยิบสีช็อคโกแล็ตหรือสีมะฮ็อกกานีทุกที.....

 

 

สวัสดีครับคุณ K-jira

คือปกติผมเริ่มจาก วัตถุประสงค์ ก่อนน่ะครับ คิดว่า ติ-ชม เป็นกิริยา ก็เลยวิสาสะปรับแต่งหน้าตาเฉย (นิสัยไม่ค่อยดี แฮ่ะๆ) เนื่องจากหน้าที่ติ-ชม มันฟังดูทะแม่งๆ คือใครเห็นหน้าก็บอกว่าหมอนี่ (ไม่ใช่ "คุณหมอนี่" นะครับ) จะมาติ จะมาชม เป็นงั้นไป

ข้อเสียของเขียนยาวคือสับสนครับ อย่าว่าแต่คนอ่านเลย คนเขียนก็ติดนิสัยขี่ม้าชมดอกไม้ แวะข้างทาง ดมดอกไม้บ้าง รดน้ำต้นไม้บ้าง ให้ปุ๋ยบ้างไปตามเรื่อง เผลอหลับข้างทางไปไม่ถึงไหนก็มี คนอ่านต้องอดทนหน่อยครับ (อดทนไม่พอ ต้องให้อภัย และถืออุเบกขาด้วยถึงจะพอ!!!)

คุณดอกไม้ทะเลครับ

ยินดีและเป็นเกียรติครับ

 

สวัสดีค่ะ คุณ เม้ง สมพร

ขอบคุณสำหรับมิตรจิต คำทักทายค่ะ หากเป็นสำนวนกำลังภายใน ต้องบอกว่า " ได้ยินชื่อเสียงของท่านมานาน ร้สึกเป็นเกียรติที่แวะเวียนมาเยือน" ^__^

ส่วนสำหรับคำชมนั้นเล่า

" ชมเกินไปแล้วท่าน มิกล้าๆ "

ขอบคุณสำหรับคำอวยพร อากาศร้อนเหลือเกินค่ะ แต่พอได้ยิน (อ่าน) เสียงทักทายของเหล่ากัลยาณมิตร ก็ชื่นจิตเย็นใจมากมายเลย ^__^

สวัสดีค่ะคุณ ดอกไม้ทะเล

ด้วยความยินดีมากๆเลยค่ะ 

k-jira ชอบสีน้ำตาลชอคโกแลตค่ะ เพราะมันจะไม่สว่างและก็ไม่มืด ไม่ร้อนและไม่เย็นเกินไป  รู้สึกเหมือนมีความขรึม อบอุ่น และลี้ลับอยู่ลึกๆ

สีน้ำตาล.. เวลาเอาไปรับสีโทนภาพ จะทำให้ภาพดูคลาสิค ให้ความรู้สึกเหมือนรำลึกถึงอดีต

สีน้ำตาลเวลาเอาไปตกแต่งเวบ จะทำให้รู้สึกสงบ หรู แต่เป็นมิตร

แล้วคุณ ดอกไม้ทะเล  รู้สึกยังไงบ้างกับสีน้ำคะ ^__^

 

สวัสดีอีกรอบค่ะ อาจารย์ Phoenix  ^_^

k-jira ก็เป็นคล้ายๆอาจารย์ค่ะ ชอบเขียนอะไรยาวๆ แล้วก็ชอบขี่ดอกไม้ชมม้า (เพราะขี่ม้าไม่เป็น...แฮ่) เหมือนกัน

แต่แบบนี้ก็ดีนะคะ  เวลาเขียนอะไรออกมา ตัวอักษรมันจะจริงใจดี  คนอ่านสัมผัสรับรู้ได้ค่ะ

ไว้ k-jira จะปลูกดอกไม้ไว้เยอะๆนะคะ อาจารย์ขี่ม้าแวะเข้ามาชมได้บ่อยๆ ตลอดเวลาเลยนะคะ

^_____________________^ (ยิ้มกว้างๆให้เลย)

 

เอ่อ..มารอดูการสาธิตขี่ดอกไม้ชมม้าอ่ะค่ะ...   คือว่าตื่นตะลึง...  ha..!...

สีที่ดิฉันชอบคือสีชมพูค่ะคุณ k-jira ดิฉันรู้สึกว่าสีชมพูเป็นสีที่เห็นแล้วรู้สึกว่าน่ารักและไม่เป็นอันตราย  เสียแต่ว่ามันไม่เข้ากับวัยของยายเอ๊ยของป้าอย่างดิฉัน

ส่วนสีที่ดิฉันชอบเลือก เมื่อเป็นผ้า หรือของใช้ในรถ ในห้องรับแขก และในครัว  คือสีน้ำตาล  เห็นด้วยกับคุณ k-jira ว่าดูอบอุ่น  สุขุม นิ่งๆ  เย็นๆดี  (ตกลงจะอุ่นหรือจะเย็นดีเนี่ย)

ดิฉันว่าสีน้ำตาล หรือสีน้ำตาลเข้ม  ช่วยส่งให้สีอื่นดูเด่นและหวานขึ้น  ไม่ตัดกันจนจัดเข้มแบบสีดำ  และไปกันได้ดีกับสีครีมนวลๆ 

นึกถึงไอศครีมช็อคโกแล็ตกับวิปครีมเยอะๆอ่ะค่ะ  เข้ามาบล็อกคุณ   k-jira ทีไรดิฉันหิวทุกที  :)

เห็นด้วยว่าการติชม (หรือปฏิสัมพันธ์อื่นๆ) ก็ต้องมีเทคนิคครับ แต่ผมก็ยังเห็นอีกว่าไม่ว่าจะใช้เทคนิคอะไร ก็ต้องตั้งอยู่บนความเป็นจริงครับ ไม่เช่นนั้นการติชมนั้นก็จะไม่ได้ช่วยปรับปรุงงานให้ดีขึ้น

เทคนิคในนัยนี้ คือการปรับคำติชมให้ผู้ฟังรับได้  แต่ไม่ได้บิดเบือนความหมายออกไป อย่าง

    1. คำชมควรจะมีมากกว่าคำติ  เช่น มีคำชม 5 ข้อ ก็มีคำติ สัก 3  ข้อ

ถ้าเปลี่ยนคำติเป็นคำแนะนำ ตัวอย่างนี้ก็จะมีคำชม 5 ข้อ ข้อแนะนำ 3 ข้อ และไม่มีคำติเลยนะครับ

มาเยี่ยม...

เคยท่องจำเรื่อง...คนดีชอบแก้ไข...

คนจัญไรชอบแก้ต้ว...

คนชั่วชอบทำลาย...

คนมักง่ายชอบทิ้ง...

คนจริงชอบทำ...

คนระยำชอบติ...

umi เลยไม่ชอบติใคร...ฮา ๆ เอิก ๆ

  • ตามมาทักทายพี่สาวครับผม
  • สบายดีไหมครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท