นวัตกรรมทำด้วยใจ


      เมื่อวันที่ 12-13 มีนาคม 2550 พวกเราได้มีโอกาสไปนำเสนอ

โครงการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการทางการเคลื่อนไหวแบบมีส่วนร่วม ในงานนวัตกรรมสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับคนพิการ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ซึ่งจัดโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  และทางผู้จัดงานได้จัดทำหนังสือ นวัตกรรมทำด้วยใจ สร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับคนพิการขึ้นเพื่อนำเสนอตัวอย่างเรื่องราวในการสร้างสรรนวัตกรรมสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับคนพิการจากสาขาเขตพื้นที่ 13 เขต ทั่วภูมิภาค

     โครงการของเราจัดอยู่ในประเภทนวัตกรรมด้านการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ วันนี้ขอคัดลอกบทความที่เขาเขียนถึงโครงการของเรามาเผยแพร่ให้ทุกคนได้รับทราบดังนี้

 

โครงการ      นวัตกรรมสร้างหลักประกันสุขภาพสำหรับคนพิการ

โดย              งานบริการสุขภาพชุมชน  กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   

ชื่อโครงการ : โครงการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการทางการเคลื่อนไหวแบบมีส่วนร่วม

ประเภทของนวัตกรรม : ด้านการพัฒนาระบบบริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ 

กอบกู้ฝัน...เพื่อคนพิการทางการเคลื่อนไหว

      มนุษย์เราต่างเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความฝัน 

     ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ หรือน้อยนิด ความฝันก็เป็นแรงผลักดันให้เราทุกคนก้าวต่อไปข้างหน้า เพื่อไขว่คว้าให้ถึงสิ่งที่ฝัน         

      แม้บางครั้งอาจต้องผิดหวัง ความฝันก็ยังคงเป็นสิ่งสวยงาม...    

      ความฝันครั้งใหม่ จะเข้ามาทดแทน เติมพลังให้เราพร้อมจะลุกขึ้น และก้าวเดินต่อไป      

      มนุษย์เราทุกคนจึงมีสิทธิ์ที่จะฝัน ตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ    

      แต่ถ้าวันหนึ่ง ความฝันของใครบางคนต้องดับมอดลง ใครคนนั้นจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไรกัน?   

      เมื่อต้องสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว ไม่อาจก้าวออกไปพบความสดใสในยามเช้าได้ด้วยตนเอง ความฝันก็คงมืดมน ดับแสงลงด้วยเช่นกัน    

      สิ่งที่ผู้พิการทางการเคลื่อนไหวต้องการอย่างที่สุด จึงเป็นความเข้าใจ และแรงใจจากคนรอบข้าง เพื่อธำรงความฝัน และมีแรงลุกขึ้นมาต่อสู้กับความบกพร่องทางร่างกายอีกครั้ง   

      และนั่นก็คือความตั้งใจของทีมงานกลุ่มเล็ก ๆ ในโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช     

     ตั้งแต่ต้นปี  พ.ศ. 2549 ที่ผ่านมา งานบริการสุขภาพชุมชน กลุ่มงานเวชกรรมสังคม ได้ริเริ่มโครงการที่มุ่งเน้นการสร้าง ผู้รอบรู้ ซึ่งมีทั้งความรู้และความเข้าใจในทุกเรื่องของคนพิการทางการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะด้วยการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ การจัดการประชุมกลุ่มย่อยของทีมและเครือข่าย หรือการอบรมเชิงปฏิบัติการ หมอในบ้าน เพื่อสร้างอาสาสมัครสาธารณสุข ดูแลผู้พิการในครอบครัว      

     คุณหมอในบ้านเหล่านี้ จะหิ้ว กระเป๋าสานฝัน ตระเวนเยี่ยมคนพิการทางการเคลื่อนไหวถึงบ้าน ช่วยทำการฟื้นฟูสมรรถภาพไปพร้อม ๆ กับการดูแลสุขภาพจิตใจ และแบ่งปันความรู้ที่อัดแน่นอยู่ในกระเป๋าสานฝันให้กับผู้พิการ เป็นอีกหนึ่งแรงหนุน นอกเหนือไปจากการจัดกิจกรรมอบรม สัมมนา และการออกตระเวนประเมินผลของทีมเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาล   

     การระดมพลังเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการที่ทำงานประสานกันผ่านการเชื่อมโยงของศูนย์สุขภาพดีที่บ้าน ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดการฟื้นฟูสมรรถภาพที่เห็นผลชัดเจน และทำให้เกิดการค้นพบภูมิปัญญามากมายที่ผู้คนในชุมชนใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเองเท่านั้น

          ความเกื้อกูล ใส่ใจ ของสมาชิกร่วมชุมชน ซึ่งถ่ายทอดผ่านการเยี่ยมเยียนดูแล และกระเป๋าสานฝันใบเล็ก ยังปลุกให้คนพิการทางการเคลื่อนไหวได้มีกำลังใจลุกขึ้นสู้

          เพื่อที่ว่าวันหนึ่ง... ความฝันของพวกเขาจะเปล่งประกายสวยสดงดงามอีกครั้ง

 

     

หมายเลขบันทึก: 85915เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2007 13:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้ามี ทีมสุขภาพ แบบ ทีมเยี่ยมบ้าน รพ. ตสม  ทั่วประเทศไทย  น่าจะทำให้ ระบบสุขภาพ เราเข้มแข็งขึ้นอีกมากครับ

สนับสนุน ให้เกิดการ  ค้นหาและ ชื่นชม  เรื่องราวเกี่ยวกับความดี คุณธรรมของวิชาชีพ อุดมคติที่แฝงไว้ในระบบงาน  โดยเฉพาะเรื่องราวของคนเล็ก ๆ ที่ทำงานอย่างใส่ใจและทุ่มเท  ในหน่วยงานต่าง ๆ ."

จาก องค์กรไม่ใช่เครื่องจักร ต้องการความรัก และความเข้าใจ
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์   14 มีค.50

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท