ระดับของทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร


การรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับต้น คือฝึกให้รู้เท่าทันกระบวนการสื่อสาร ตั้งแต่รู้ความหมายแท้จริงของสาร รู้เท่าทันสื่อ รู้ผลกระทบ และผลสืบเนื่องของการสื่อสารครั้งนั้นๆ รู้เท่าทันการสื่อสารประเภทนั้นๆทั้งกระบวนการ

(24) 

 

 

ระดับของทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร

        ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ การรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับต้น การรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับกลาง และการรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับสูง

         การรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับต้น คือฝึกให้รู้เท่าทันกระบวนการสื่อสาร ตั้งแต่รู้ความหมายแท้จริงของสาร รู้เท่าทันสื่อ รู้ผลกระทบ และผลสืบเนื่องของการสื่อสารครั้งนั้นๆ รู้เท่าทันการสื่อสารประเภทนั้นๆทั้งกระบวนการ

         เมื่อแยกลักษณะของการรู้เท่าทันเป็นส่วนๆ ก็จะได้ดังต่อไปนี้นี้
        1. รู้ความหมายแท้จริงของสาร อันเกิดจากเจตนาที่แท้ของของผู้ส่งสาร
        2. รู้ผลกระทบ และผลสืบเนื่องของการสื่อสารครั้งนั้นๆ
        3. รู้เท่าทันการสื่อสารประเภทนั้นๆทั้งกระบวนการ
        4. รู้เท่าทันสื่อ


         สรุปเป็นคำสั้นๆว่า คิดทัน รู้ทัน

         ในที่นี้   สำหรับเฉพาะ ข้อ 4   คือการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ข้างต้น    ขออนุญาตย่อลงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ “ รู้เท่าทันการสื่อสาร”

          ใคร่ขออภัยท่านผู้รู้ทางด้านนิเทศศาสตร์ด้วยนะคะ   แม้ว่าการรู้เท่าทันสื่อ  จะเป็นเรื่องใหญ่และมีวิธีการอันหลากหลายในการนำไปสู่การสร้างทักษะชุดนี้  แต่เมื่อได้พิจารณาความหมายของคำในกระบวนการสื่อสาร  ก็ขออนุญาตยกมาไว้ใน ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับต้น   ไปพลางๆก่อน   

          อนึ่ง  การนำเสนอเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ ในที่นี้ จะนำเสนอเบื้องต้นพอเข้าใจเท่านั้น

          คำว่า สื่อ ในที่นี้ แยกความหมายออกได้เป็นสองประการ

          ประการแรกคือ สื่อ ในความหมายว่า เป็นตัวนำสาร หรือเป็นที่ปรากฏของสาร เป็นแหล่งปรากฏของสาร 
      

          โดยแบ่งประเภทตามลักษณะของสื่อ เช่น สื่อบุคคล สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อประสม สื่อใหม่ สื่อพิเศษ สื่อทางเลือก ฯลฯ

          สื่อเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะ หากผู้สื่อสารเข้าใจลักษณะเฉพาะ เข้าใจข้อดีที่เอื้อแก่การสื่อสาร เข้าใจข้อจำกัดที่อาจทำให้การสื่อสารผ่านสื่อนั้นไม่สมบูรณ์ จัดการแก้ปัญหาได้ และอาจถึงขั้นผลิตสื่อนั้นได้เอง ก็จะทำให้ผู้สื่อสารสามารถเข้าใจสารที่ส่งผ่านสื่อเหล่านั้นได้โดยไม่มีอุปสรรค

            การรู้เท่าทันการสื่อสาร (Communication Literacy)  ในประเด็น การรู้เท่าทันสื่อ เบื้องต้น ก็เจาะจงที่การรู้เท่าทัน “คุณลักษณะของสื่อแต่ละประเภท” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสื่อสาร และระดับที่สูงขึ้นก็จะเจาะจงไปที่ไปที่ “เจตนาของสื่อ หรือผลกระทบจากเจตนา (อันซับซ้อนของสื่อ )” ที่มีต่อผู้รับสาร

            ประการที่สอง คือ คำว่าสื่อ ในที่นี้ หมายถึงสื่อมวลชน คือสื่อที่กระจายสารไปสู่ผู้รับสารคราวละมากๆ

            สื่อมวลชน หรือ สื่อที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งสารที่ผลิตขึ้นโดยบุคคล กลุ่มบุคคล หรือองค์กร ไปยังผู้รับสารคราวละเป็นจำนวนมาก ด้วยรูปแบบและเจตนาที่หลากหลายเช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ อินเตอร์เน็ต สื่อโฆษณา สื่อประชาสัมพันธ์ สื่อเพื่อการสื่อสารการตลาดครบวงจร สื่อบันเทิง สื่อในมือ (มือถือ พาล์ม MP 3 – 4 นาฬิกา) สื่อออนไลน์ต่างๆบนวัสดุที่รับภาพได้ ฯลฯ

             โดยเพ่งไปที่”เจตนา” ของสารที่ส่งผ่านสื่อเหล่านั้น ว่าเป็นเจตนาประเภทใด

             เราอาจบอกแบบระบุชัดได้ยาก ว่าเป็นเจตนาของใครบ้าง แต่เราพอจะบอกได้ว่าสารที่ส่งมานั้น มีเจตนาอย่างไร เป็นคุณ หรือเป็นโทษ โดยพิจารณาเป็นระดับ ตั้งแต่เจตนาโดยตรง ไปจนถึงเจตนาแฝง และผลข้างเคียงหรือผลกระทบที่อาจเกิดโดยไม่เจตนาเป็นต้น


           ถามว่าเพราะอะไรจึงมีความต้องการที่จะรู้เท่าทันสื่อ
ตอบว่า เพราะเกิดปัญหาขึ้นมาเรื่องการไม่รู้เท่าทันสื่อขึ้นแล้วในสังคม  และมีผู้มองเห็นปัญหาที่เกิดจากความไม่รู้เท่าทันแล้ว  เช่น ปัญหาเด็กหลงเชื่อโฆษณา  ปัญหาคนโตๆแล้วตกเป็นเหยื่อของการประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อ   ปัญหาบริโภคนิยมที่ผู้รับสารรับรู้ผ่านสื่อ   ปัญหาภาพวาบหวิวหรือภาพไม่เหมาะสมผ่านสื่อจนก่อให้เกิดค่านิยมที่เบี่ยงเบน   ที่ส่งผลกระทบอันเป็นอกุศลสืบเนื่องตามมาอีกมากมาย  เป็นต้น

          ปัญหาใหญ่ๆที่เกิดขึ้น คือสื่อที่ส่งสารไปสู่คนคราวละมากๆอย่างนี้ ได้ส่งผ่านเนื้อหา (หรือความหมาย)ที่ขาดซึ่งคุณธรรมพื้นฐาน    และแฝงด้วยเจตนาอันน่าห่วงกังวลอยู่เป็นจำนวนมาก    โดยเฉพาะสื่อที่หวังผลทางธุรกิจ คือหวังให้ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องมีกำไร    แต่มิได้คำนึงถึงผลกระทบจากสารที่ขาดคุณธรรมพื้นฐานเลยแม้แต่น้อย

          การขาดคุณธรรมพื้นฐานทำให้ชีวิตขาดความสมดุล ขาดความพอดี และเพิ่มความต้องการในการเบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จะหยุดก็หยุดได้ยาก เพราะขาดสิ่งที่จะมาเหนี่ยวรั้งเสียแล้ว การขาดคุณธรรมพื้นฐาน จึงเป็นอุปสรรคต่อ การดำรงชีวิตที่ดีอย่างยิ่งยวด

          การรู้เท่าทันการสื่อสาร / การรู้เท่าทันสื่อ จึงจำเป็นเพราะเหตุนี้....

          ถามว่าผู้รับสารควรรู้ทันอะไร
          ตอบว่า ควรรู้ทันว่า ความหมายที่ส่งมาชุดนี้ ถ้าพิจารณาแล้วเห็นว่า มีส่วนที่ขาดคุณธรรม หรือมิได้ตั้งอยู่บนหลักคุณธรรม

           เราจะรับเข้ามาในตัวเราไหม

           หรือ เราจะยอมให้ความหมายชุดนี้ส่งผ่านหรือแพร่กระจายไปถึงคนที่เรารักไหม

           และเราจะมีวิธีคิด หรือวิธีทำอย่างไร ที่จะตั้งรับหรือแก้ปัญหาร่วมกันได้บ้าง

           อย่างไรก็ตาม สำหรับการรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับต้น ผู้สื่อสารควรจะมีทักษะเป็นกระบวนการดังนี้

  1. ทักษะในการรับสารและพิจารณาสารโดยแยบคาย คือรู้ประเภทของสาร รู้รูปแบบของสาร รู้ไวยากรณ์ของสาร
  2. ทักษะในการทำความเข้าใจความหมาย คือรู้ว่าเนื้อหา(ความหมาย)ที่เขาสื่อมานี้ เขาหมายความถึงอะไร
  3. ทักษะในการตีความ และแปลเจตนาที่อยู่เบื้องหลังความหมาย คือรู้ว่า เนื้อหาที่เราเข้าใจความหมายนี้ เจตนาที่อยู่เบื้องหลังสาร(ความหมาย)ชุดนี้คืออะไร
  4. ทักษะในการประเมินความหมายและเจตนา เพื่อวางท่าทีความสัมพันธ์ให้ถูกต้องเหมาะสม

         “การรู้เท่าทันการสื่อสารระดับต้น” นี้ออกจะเป็นเรื่องใหญ่ เกินความรู้ของดิฉันไปมาก แต่ถ้าถามใจดิฉัน ดิฉันก็ยังคิดว่าทั้งหมดที่กล่าวมา ยังคงอยู่ในทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร ระดับต้น

          เพราะเป็นการตั้งคำถาม และความพยายามในการจัดการสิ่งที่อยู่ภายนอก มิใช่สิ่งที่อยู่ในใจตน จึงยังเห็นง่าย วิพากษ์ง่าย และพอจะหาชุดความรู้มาจัดการได้

.................................................................

 

ปรับเพิ่มเติมจาก   เว็บไซต์วิชาการด็อตคอม   กระทู้การรู้เท่าทันการสื่อสาร ( Communication  Literacy)  ความเห็นเพิ่มเติมที่ 38    ( 12 ธ.ค. 2549 )

 

หมายเลขบันทึก: 81914เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2007 22:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การรู้เท่าทันสื่อ ...

สำหรับผมแล้ว หลังจากรับสารมาแล้ว ...

ผมฝึกด้วยการมองดูว่า สารที่รับ ดี-ไม่ดี ควร-ไม่ควร ...

แล้วถามต่อว่า คนส่งสารต้องการบอกอะไร กันแน่ ...

แล้วทำไมเขาถึงต้องการเช่นนั้น ? ...

ถ้าเราตอบคำถามเหล่านี้ได้ ...

เราก็จะรู้เท่าทันสื่อครับ ...

 

สวัสดีค่ะ คุณ "นายสติ"

ยินดีที่ได้พบกันใน Gotoknow นะคะ และขอบคุณสำหรับการร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อแตกหน่อต่อยอดความรู้ร่วมกันค่ะ 

ดิฉันชอบที่คุณตั้งคำถาม แบบตรงๆ และ "ตรงตามที่เป็น"   (ตรงประเด็น) ดีจังค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท