ครูหลอก...หรือ ครูฝึก?


...ที่เขาว่าอาชีพครูกับนักแสดง มีธรรมชาติคล้ายกันนั้น ดิฉันเพิ่งมาเข้าใจตอนแก่นี่เอง..

(18)

 

 

 

 

การฝึกให้เด็กฉลาด  มีอยู่หลายวิธี  วิธีหนึ่งที่น่าสนใจ คือการฝึกให้สงสัย  เมื่อเด็กสงสัย และคิดแย้ง เขาก็จะเกิดคำถามในใจ  หากคิดค้นต่อไป  เขาก็จะได้อาจจะได้คำตอบที่ถูกต้อง หรือเหมาะสม

 หากเราฝึกให้เขารู้จักตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้อง  เหมาะสม  เด็กก็จะเกิด ทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร  แถมมาด้วย

 

กรณีศึกษาที่ 2 ความเชื่อกับความจริง

กิจกรรมที่ 2.2 :...ประวัติศาสตร์จริงไหม?


(อันนี้ต้องเรียนชี้แจงก่อนว่า ดิฉันตั้งคำถามเฉพาะนี้ เพื่อให้เด็กฝึกวิธีคิดนะคะ มิได้มีเจตนาจะลบหลู่ความรู้นี้แต่อย่างใด )

จุดมุ่งหมาย


1. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคิดเชิงวิเคราะห์
2. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความคิดเชิงสังเคราะห์
3. เพื่อให้ผู้เรียนฝึกการตัดสินใจบนพื้นฐานของเหตุผล
4. เพื่อให้ผู้เรียนฝึกการพูดและการเขียนนำเสนอด้วยการใช้เหตุผล
5. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร

ขั้นตอนกิจกรรม

1. ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การฟังอย่างมีสมาธิ
2. ผู้สอนตั้งคำถามโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการโน้มน้าวใจให้คิดวิเคราะห์
3. ผู้สอนพูดให้ข้อมูลแก่ผู้เรียนโดยจงใจให้เกิดการวิเคราะห์และตัดสินใจเลือกข้าง
4. ผู้สอนพูดเรื่องๆหนึ่งให้ผู้เรียนฟังและให้ผู้เรียนเขียนสรุปประเด็นที่ได้ฟัง
5. ผู้สอนพูดโน้มน้าว ให้ผู้เรียนเชื่อมโยงผลจากการจับประเด็นการฟังที่แตกต่างกัน เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์และตัดสินใจเลือกข้างเสียใหม่
6. ผู้สอนพูดสรุปผลของการทำกิจกรรมให้เชื่อมโยงกับทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร


กระบวนการกิจกรรม

1. ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมแก่การฟังอย่างมีสมาธิ

1.1 จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะต่อสื่อสารแบบโน้มน้าวใจ และการตั้งคำถามให้เลือกข้าง ต้องขอให้ทุกคนปิดเสียงโทรศัพท์ ต้องลุ้นด้วยความหวังว่าจะไม่มีใครมาหาหน้าห้องในขณะที่เด็กทั้งห้องกำลังตั้งสมาธิ ห้องเรียนที่มหาวิทยาลัยดิฉันส่วนมากเป็นห้องเรียนธรรมดาที่ใช้พัดลม ถ้าปิดประตูห้องจะเกิดความรู้สึกเหมือนถูกปิดกั้น ทำให้เกิดความอึดอัด และถ้าไม่ปิดประตูห้อง ก็ต้องลุ้นอย่างที่ว่า


2. ผู้สอนตั้งคำถามโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการโน้มน้าวใจให้คิดวิเคราะห์


2.1 ตั้งคำถามเด็กๆว่าประวัติศาสตร์ที่เธอเคยรู้มานั้น เธอคิดว่าจริงไหม?

ดิฉันต้องพูดโน้มน้าวใจให้เธอได้ข้อมูลทั้งฝ่ายที่น่าเชื่อถือและฝ่ายที่น่าสงสัย และต้องสื่อสารกับเด็กๆอย่างเป็นธรรมชาติ .....อ่านสคริปต์ไม่ได้ ขั้นตอนนี้ต้องใช้สมาธิมาก และต้องจำและจัดลำดับใจความที่จะพูดให้แม่นยำ ต้องเดินไปมาระหว่างสองฝั่ง ต้องพูดเหมือนเป็นคนสองคนที่มีความเห็นต่างกันสุดขั้ว ที่สำคัญ คือต้องลุ้นว่าขอให้มีเด็กกล้าคิด อย่าเชื่อสนิทเมื่อครูพูดโน้มน้าว

ที่ผ่านมาดิฉันพูดผิดพูดถูกมานับสิบนับร้อยครั้ง ล้มเหลวบ้าง ได้ผลนิดหน่อยบ้าง นึกว่าไม่ได้ผลแต่กลับได้ผลบ้าง
(อย่างหลังนี่ทำให้ดีใจชะมัด แต่นานน้าน..น จะฟลุกสักที)

...ที่เขาว่าอาชีพครูกับนักแสดง มีธรรมชาติคล้ายกันนั้น ดิฉันเพิ่งมาเข้าใจตอนแก่นี่เอง..

3.ผู้สอนพูดให้ข้อมูลแก่ผู้เรียนโดยจงใจให้เกิดการวิเคราะห์และตัดสินใจเลือกข้าง


3. 1 หลังจากเห็นว่าเธอกำลังงงๆได้ที่ (คือกล่าวเป็นวิชาการว่า กำลังใช้ความคิด) ก็ให้เธอตัดสินใจเลือกข้างแยกจากกันเป็นเด็ดขาด

เช่นพวกที่เชื่อว่าจริงให้ไปทางซ้าย ถ้าเชื่อว่าไม่จริงให้ไปทางขวา ไม่ให้มีพวกครึ่งๆกลางๆ ตอนนี้เธอก็จะเก็บข้าวเก็บของย้ายที่นั่งกันอุตลุด
(ขั้นตอนนี้ถือเป็นโอกาสในการฝึกจิตสำนึก ให้เธอยกเก้าอี้อย่างมีมารยาท เร็วและเงียบ ไม่ให้ลาก ไม่ให้ทำเสียงดังรบกวนห้องอื่นเด็ดขาด)

3.2 คราวนี้ต้องพูดโน้มน้าวเธออีกทีเพื่อตบท้ายให้ป่วนได้ที่ อย่าให้ใครได้นั่งเป็นสุขเลยสักรายเดียว ถ้าเด็กคิดตาม เธอจะทำท่าผุดลุกผุดนั่ง โดยเฉพาะคนที่ขี้สงสัย ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ เธอจะรีบย้ายไปอยู่อีกฝั่ง ดิฉันกะว่าให้เธอย้ายที่นั่งข้ามฟากสักคนละสองรอบพอเหงื่อซึม แล้วก็บอกเธอว่า


....นี่แหละคืออิทธิพลของความเชื่อ มันจะแยกคนออกเป็นอย่างน้อยสองฝ่ายเสมอ....


( ถึงตอนนี้เธอก็มักจะเฮกันทุกที เพราะในหนึ่งห้องจะให้คิดเหมือนกันทุกคนนั้นเป็นไปได้ยาก ที่สุดแล้วเธอก็ต้องนั่งแยกกันเป็นสองฟากจนได้)

4. ผู้สอนพูดเรื่องๆหนึ่งให้ผู้เรียนฟังและให้ผู้เรียนเขียนสรุปประเด็นที่ได้ฟัง


4.1 จากนั้น ต้องหาเรื่องซับซ้อนอะไรสักเรื่อง มาพูดให้เธอฟังเพื่อจับใจความสำคัญ (เอาแบบที่คนพูดเองยังงง  ) กะว่าประมาณสักสามสี่นาที แล้วให้เธอแต่ละคนเขียนจับประเด็นออกมาให้ได้ และจับเวลาการบันทึกประเด็น ไม่ควรเกินสองนาที คืออย่าให้เธอทันตั้งตัวได้

4.2 เมื่อเสร็จแล้ว ก็ให้เธอส่งตัวแทนออกมาอ่านสิ่งที่บันทึกได้ให้เพื่อนฟังหน้าชั้น (ผลก็ออกมาเหมือนกันทุกครั้ง ว่าเธอจับประเด็นไม่ตรงกัน)

5. ผู้สอนพูดโน้มน้าว ให้ผู้เรียนเชื่อมโยงผลจากการจับประเด็นการฟังที่แตกต่างกัน กับมุมมองเรื่องประวัติศาสตร์ เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์และตัดสินใจเลือกข้างเสียใหม่

5.1 ดิฉันจึงบอกเธอว่า.... (อันนี้ต้อง ล็อกสคริปต์นะคะ)

เด็กๆเริ่มฟังครูพูดพร้อมกัน และจบพร้อมกันนะคะ.
สิ่งที่คุณฟังผ่านไปแล้วมันก็กลายเป็นอดีต..!.
อดีตที่ผ่านไปนานๆ ......มันก็กลายเป็นเป็นประวัติศาสตร์.
คุณฟังพร้อมกัน จบพร้อมกันแท้ๆ แต่เขียนออกมาไม่เหมือนกันสักคนเดียว..
...แล้วประวัติศาสตร์ล่ะ?....

แล้วเธอก็จะเฮละโลเปลี่ยนข้างพร้อมกับวิพากษ์กันสนั่นหวั่นไหว.. ดิฉันนึกขำตัวเองในใจ เพราะสอนทีไรทำเด็กเวียนหัวทุกที....

(ส่วนเด็กฉลาดบางคนนั้น เชื่อว่าเธอรู้เท่าทันแล้วว่าดิฉันจะสอนอะไรตั้งแต่ยังไม่ทันสอน แต่เธอมีมารยาทพอที่จะปล่อยให้ครูฝึกเพื่อนๆจนเสร็จสิ้นกระบวนการ)

6. ผู้สอนพูดสรุปผลของการทำกิจกรรมให้เชื่อมโยงกับทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร

การอธิบายให้เชื่อมโยงกับการรู้เท่าทันการสื่อสาร

1. ประเด็น ความเชื่อกับความจริง

ดิฉันบอกเธอสั้นๆว่า สิ่งที่เห็นไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เสมอไป. จงรู้เท่าทันการสื่อสาร.อย่าเชื่ออะไรง่ายๆไม่ว่าจะมีอะไรก็ตามผ่านเข้ามาในชีวิต ...จงคิดให้ดีเสียก่อนที่จะเชื่อ....
(ที่พูดสั้นๆเพราะหมดมุข ข้อคิดที่เด็กๆบางคนเขียนเองหลังจากที่เขาได้เห็น ได้รู้สึกด้วยตนเอง ดูดีมีระดับกว่าของดิฉันเยอะ)

2. ประเด็น การรู้เท่าทันการนำเสนอข่าว

กิจกรรมนี้อาจพอจะทำให้ เด็กๆเข้าใจเป็นเบื้องต้น ว่าไม่มีใครสามารถจะรู้ที่มาที่ไปของเหตุการณ์หรือมองเห็นความจริงเบื้องหลังเหตุการณ์ครอบคลุมทั้งหมดได้ คนแต่ละคนหรือสื่อแต่ละสื่อก็มีข้อจำกัดในการมอง มีมุมมอง(ความเห็น) มีวิธีมองความจริง และมีวิธีเลือกข้อมูลหรือความจริงมานำเสนอ แตกต่างกันไป

(ดิฉันยกตัวอย่างคนมีตาสองตา เราเห็นข้างหน้า เห็นข้างๆ แต่ไม่มีวันที่จะมองเห็นข้างหลังด้วยในเวลาเดียวกัน ขณะเดียวกัน สิ่งที่แต่ละคนเลือกจ้องและเพ่งอย่างจดจ่อ ก็อาจมิใช่สิ่งเดียวกันเสมอไป)

ข่าวหนึ่งข่าว ที่สื่อนำเสนอ จึงไม่สามารถครอบคลุมความจริงแท้ของเรื่องนั้นทั้งหมด แต่เป็นประเด็นที่ถูกเลือกขึ้นมานำเสนอ ดังนั้น  ผู้รับสารก็ควรฝึกรับสารอย่างมีวิจารณญาณด้วย (อันนี้ใช้ฝึก media literacy ได้)

การสะท้อนความคิดและวิธีคิด

หากเป็นเด็กๆนิเทศศาสตร์ดิฉันก็ให้เขียนข้อคิดและแสดงความคิดเห็นกันจนหูตาลาย (คือเธอบ่นว่าพวกหนูเวียนหัวตาลายตั้งแต่ตอนเลือกข้างวิ่งไปวิ่งมาแล้ว)... ถ้าเป็นเด็กๆเอกครูภาษาไทย ดิฉันก็ให้เธอแต่งกลอนเป็นอาจิณ หลายคนมีความถนัดและแต่งกลอนเก่งมาก ได้กลอนคมๆน่าอ่านมาแปะข้างตู้อีกหลายบท

ผลการฝึกทักษะชุดนี้

1. เด็กๆไม่ยอมเชื่อดิฉันง่ายๆอีก     *_* 
2. เธอจะช่างซัก ช่างสงสัยมากขึ้น
3. ดิฉันคิดเอาเองว่า เธอเริ่มจะรู้เท่าทันความเชื่อ และจะค่อยๆเข้าใจวิธีประกอบสร้างความจริง
4. สำหรับเด็กๆ นอกจากเธอจะไม่กล่าวชมดิฉันแต่อย่างใดแล้ว เธอยังไปบอกรุ่นน้องต่อๆกันว่าอาจารย์แกสอนแปลกๆ สอนไม่รู้เรื่อง ซึ่งก็ตรงกับที่เพื่อนบ่นว่า เธอนี่สอนแปลกพิลึก..! ....เฮ้อ...!

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 81234เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2007 22:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ตามมาขอบคุณ
  • เป็นกระบวนการที่ดีมากครับ
  • อยากถามว่าใส่รูปได้ไหมครับผม

สวัสดีค่ะอาจารย์ขจิต

ดิฉันตามอ่านบล็อกของอาจารย์มานานเหมือนกันค่ะ แต่ไม่ใคร่ได้โพสต์เข้าไป  (ยกเว้นตอนที่อาจารย์บอกว่าได้แต่งงาน....  ทำให้สมัชชาคนโสดตกใจมาก..!)    :-))

ขอบคุณอาจารย์มากเช่นกันนะคะที่สละเวลามาโพสต์เรื่องดีๆและข้อคิดที่หลากหลายให้ได้อ่าน  ดิฉันจะตามอ่านอย่างเพลิดเพลินต่อไป  และขอให้อาจารย์เรียนอย่างมีความสุขนะคะ

สำหรับรูป  ดิฉันตั้งใจเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กๆสอบปลายภาคเสร็จเมื่อไหร่  ก็จะตั้งหน้าตั้งตาเรียนรู้วิธีโพสต์หรืออะไรต่างๆที่ซับซ้อนกว่าการพิมพ์ธรรมดา  ตามประสาคนแก่ที่ต้องวิ่งย่องแย่งตามหลังไอที  อยากฝึกทำด้วยตนเองโดยไม่ต้องกวนหลานๆอ่ะค่ะ    

สวัสดีครับ แวะมาทักทายครับ

 ดีใจจังครับ ที่เข้าไป profile แล้วเห็นว่าอยู่ที่เมืองคอนด้วย พอดีผมก็บ้านอยู่นครศรีครับ แถวๆ อ.จุฬาภรณ์ครับ ผมสนใจเรื่องการสอนและเทคนิคการสอนเหมือนกันครับ ผมอยากจะสอนเด็กที่ไม่เก่งๆ หรือปานกลางมากกว่าเด็กเก่งนะครับ เพราะเด็กเก่งๆ คงไม่ต้องสอนไรมาก แค่ชี้แนะ แต่เด็กไม่เก่งหรือเด็กปานกลางนี่หล่ะครับ ผมชอบที่สุด ผมว่าท้าทายดี แต่ต้องมีข้อแม้นะครับ ว่าเด็กต้องสนใจ หรือเราต้องหาทางทำให้เด็กสนใจด้วย คงสนุกครับ

ผมเคยมีโอกาสเป็นวิทยากร สมัยทำงานปีแรก และได้อบรมการใช้คอมพิวเตอร์ให้กับคณะศึกษาศาสตร์ที่ มอ.ปัตตานี สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจมากคือ อาจารย์ในห้องเรียนส่วนใหญ่อายุเกิน 45 ทั้งนั้นครับ ประทับใจในความสนใจที่จะเรียนรู้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และผมสนุกมากๆ กับการสอน ยังประทับใจอย่างไม่รู้โรยครับ

ขอบคุณมากครับ สำหรับบทความดีๆ นะครับและขอเป็นกำลังใจครับ

เม้ง

สวัสดีค่ะ

  • ครูอ้อยอ่านบันทึกนี้แล้ว  ได้ความคิดหลายอย่างค่ะ  จะนำไปใช้ค่ะ..ดีมาก

ขอบคุณค่ะ

คุณเม้งคะ, 

ดิฉันตามเข้าไปโพสต์ในบล็อกเรื่องคณิตศาสตร์ของคุณเม้งเสียยืดยาวเลยค่ะ    ....ดีใจที่ได้รู้ว่าเป็นคนนครศรีฯเหมือนกัน.... 

ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจนะคะ :-)

ขอบพระคุณมากค่ะครูอ้อย....

ชอบคำว่า "ดีมาก" ของครูอ้อยจังเลยค่ะ  รู้สึกเหมือนตอนสมัยเด็กๆที่คุณครูตรวจเรียงความ แล้วเขียนด้วยปากกาแดง  ว่า  "ดีมาก"   แล้วก็วงรอบสีแดงอีกทีจึงจะเป็นของแท้   .....ประมาณว่าอ่านแล้วยิ้มหน้าบานไปเจ็ดวันเลยอ่ะค่ะ   (^_^)

 

  • แนวคิดเหมาะกับวัยรุ่นเพราะเขาชอบความท้าทาย ไม่หยุดนิ่ง(วิ่งไปมา)
  • ค่ะเหมาะกับครูผู้สอนอีกด้วยค่ะ ขอรับการแบ่งปันค่ะ

อาจารย์แขไขคะ

ดิฉันไม่ทันคิดเรื่องนี้เลย  จริงๆแล้วลูกศิษย์ดิฉันยังเป็นวัยรุ่นอยู่จริงๆด้วย......

ดิฉันคิดแต่ว่าเขาเป็นนักศึกษา คือเอาพื้นที่และคุณสมบัติของคนที่จะได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ : มหาวิทยาลัย  เป็นตัวตั้ง   แล้วก็ลืมไปเลยว่าพวกเขายังหลายคนเป็นเด็กวัยรุ่นอยู่แท้ๆ 

ดิฉันก็ตามดุตามบ่นเสียมากมาย.....  แถมบางทียังเผลอบังคับโน่นนี่นั่นอีกต่างหาก

อาจารย์พูดให้ดิฉันได้คิดอะไรออกอีกเยอะเลยค่ะ  ขอบพระคุณมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท