ลูกชายผู้หลงทางของดิฉัน: บุญเทียม


บุญเทียมได้ค้นพบบางอย่างที่ประหลาดกว่าคนอื่น เธอบอกว่า กล้วยทำให้ต้นไม้ที่เธอปลูกไว้เป็นคู่ ๆ กันตาย รากของกล้วยชอนไชและแย่งน้ำจากต้นไม้อื่น ๆ ...สวนของเธอก็ร่วงโรย สวนมะเขือที่เคยเป็นรายได้ทรุดโทรม

เมื่อคืนที่ผ่านมา ดิฉันกับอาจารย์ทนายไปประชุมที่ยางคำ พื้นที่ที่จะเป็นเจ้าภาพอิ้วน้ำอ้อย ที่จะมาถึง ๒๔-๒๖ กพ. นี้

นัดกันผิดเวลาปกติของชาวยางคำ เวลาปกติที่เคยประชุมคือ ๒ ทุ่ม 
อาจารย์ทนายคิดว่า อยากจะให้ไวขึ้นไม่ต้องดึก ขอเป็น ๖ โมงเย็นได้ไหม
พ่อสถาน บอก  ได้
พอเราไปถึงมีคนมาหนึ่งคน ก็คุยกันไปเรื่อย ๆ ก็ทยอยกันมา และยังไม่กินข้าวก็มี
ขอ น่ะ ได้ แต่จะทำได้หรือไม่ อีกเรื่องหนึ่ง

พี่น้องยางคำช่วยกันคิดออกมาว่าต้องเตรียมอะไรบ้าง
๑๗ กพ. ขุดส้วม ขุดเตา หาฟืนส่วนหนึ่ง เตรียมโรงครัว ยางคำ ชะโนด โนนทัน ดอนม่วง นาคำกลาง
๒๓ กพ. กางเต้นท์  ยางคำ
เตรียมสำหรับ ๒๔-๒๖
กิน
ทำอาหารให้ง่าย ป่นปลา แจ่ว แกง ส้มตำ ผัก ข้าวจี่ คนทำให้หมุนเวียนกันไปทำ
ที่อยู่  นอนเต้นท์ยืมจากหมู่บ้าน ส้วมทำ ๔ หลัง หญิงอาบน้ำในสระ ชายอาบน้ำบ่อข้างราวป่า น้ำดื่มขนจากบ้านพ่อสถาน ไฟฟ้าใช้น้อยที่สุด ใช้ตะเกียง ไฟจากหม้อแบตเตอรี ภาชนะเก็บน้ำ คุน้ำ ขันตักน้ำ
เครื่องอาศัย แต่ละคนเตรียม พร้าประจำตัว ข้าวคนละ ๕ กก. ผัก ผลไม้ที่หาได้ มุ้ง ผ้าห่ม เสื่อ ช้อน ขวดน้ำ กระติบข้าว
พิธีกรรม เปิดอิ้ว เช้า ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๒๔ กพ. พ่อสถานดูแล

พวกเราพยายามเร่งการประชุมให้ไวที่สุด  เพราะหลาย ๆ คนบอกว่า ระยะนี้มีการประชุมไม่เว้นแต่ละวัน ต้องไม่ลืมว่าชาวยางคำมีนิสัยการประชุมที่ยืดเยื้อที่สุด ทำให้การประชุมดึกทุกวัน ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มผู้พัฒนาชาติไทย กองทุนหมู่บ้าน งานของพัฒนาที่ดิน งานส่วนตัว กรีดยางพารา ไปทำงานรับจ้างตอนกลางคืน เตรียมงานแต่งงานลูก และคนป่วยอีก ๓ คน

คืนนี้ใช้เวลา จนถึงสามทุ่ม... จบแล้วเนื้อหาที่จะเตรียมการทำงาน
อาจารย์ทนายยังถาม
เอาชาร์ทที่จดบันทึกนี้ไว้ดูก็แล้วกันว่าใครทำอะไรบ้าง
พวกเขาประสานบอกเสียงหลง
ไม่ต้องครับ เราไม่จำเป็นต้องดูกระดาษครับ ลงมือทำแล้วมันก็จะต่อไปได้ของมันเอง...
พวกเขากลัวกระดาษ กลัวจะไปเป็นคนชั้นกลางแบบพวกเรา

ตอนจะกลับดิฉันก็เลยถามถึง บุญเทียม ลูกชายของดิฉัน

บุญเทียม

บุญเทียม เป็นเด็กหนุ่ม ร่างบาง มีครอบครัวแล้ว ลูกสองคน
เมื่อปี ๔๖ บุญเทียมกำลังอยู่ในช่วงไฟแรง สร้างสรรค์ค์สวนปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้นพร้อมไม้พี่เลี้ยงตัวเก่ง กล้วยเป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบเชียว
บุญเทียมเป็นคนมีนิสัยละเอียด เขียนหนังสือสวยมาก คิดฝันอยากทำ โน่น...พจนานุกรมภาษาภูไท รวบรวมของใช้เก่าแก่ของภูไท..ซึ่งเธอก็ได้ทำเป็นเอกสารออกมาเหมือนกัน แต่พวกเราก็ไม่มีปัญญาทำอะไรต่อ
เธอปลูกมะเชือเปราะ ถั่วผักยาว เยอะ ทำส่งขายตลาด ก็วุ่นวายกับการเก็บของขาย ได้เงินพอควร
ช่วงนั้นบุญเทียมได้เป็นกรณีตัวอย่าง เล่าประสบการณ์ของตนให้เพื่อน ๆ ได้เรียนรู้ในเวทีปี ๔๖ ซึ่งเธอตบท้ายว่า
ผมนับถือพี่ตุ๊ พี่ปุ๊ เหมือนแม่ ที่ช่วยชี้ทางให้ผมเห็น..
ดิฉันก็เลยต่อว่า
งั้นเธอก็เป็นลูกแม่สิ มาหาแม่หน่อยซิ
ตอนนั้นเป็นตอนที่วาจาของดิฉันชาวบ้านเชื่อฟังเป็นอย่างยิ่ง บุญเทียมคลานเข่ามาหาดิฉันซึ่งยืนอยู่หน้าเวทีประชุม ดิฉันพูดต่อ
ชีวิตของแม่นี้ไม่แน่ใจว่า จะได้อยู่เห็นหน้ากันนานแค่ไหน ลูกกอดแม่หน่อยซิ
บุญเทียมยืนบนเข่าใกล้ ๆ ดิฉันยกแขนที่สั่นเทา ด้วยความเขินอายและกลัวหน่อย ๆ ทำท่าโอบแต่ไม่กล้าแตะต้องตัวดิฉัน ดิฉันจับมือเขาแตะต้องตัวดิฉันและ เอามือตัวเองวางบนศรีษะเขา แล้วว่า
เป็นลูกของแม่ ตั้งใจทำงานให้ดี อย่าให้แม่ขายหน้าเด้อ
ดิฉันจึงมีลูกชายตั้งแต่บัดนั้น

บุญเทียม

บุญเทียม ตีกลอง นั่งพื้น

มาถึงตอนนี้ชีวิตบุญเทียมเปลี่ยนไป เธอได้รับอุบัติเหตกระดูกทับเส้น ปวดหลังทำงานหนักไม่ได้ แต่ต้องฝืนทำ ไม่ได้ทำนาก็ไม่มีข้าวกินเท่านั้นเอง ต้องหาเงิน
บุญเทียมได้ค้นพบบางอย่างที่ประหลาดกว่าคนอื่น เธอบอกว่า กล้วยทำให้ต้นไม้ที่เธอปลูกไว้เป็นคู่ ๆ  กันตาย รากของกล้วยชอนไชและแย่งน้ำจากต้นไม้อื่น ๆ ...สวนของเธอก็ร่วงโรย สวนมะเขือที่เคยเป็นรายได้ทรุดโทรม
แป แม่บ้านของเธอ ได้มาขายหมูปิ้งหน้าบ้าน แล้วก็หยุดขายไปอีก
พบกันช่วงหลัง ๆ บุญเทียมต้องไปหาเงินด้วยการรับจ้างสร้างบ้านร่วมกับเพื่อนๆ  ต้องทิ้งไร่นา
จากนั้นก็ทราบข่าวเป็นระยะ
กู้เงินซื้อวัว
กู้เงินซื้อรถไถ
กู้เงินซื้อคอมพิวเตอร์ให้ลูก
และล่าสุด ซื้อรถมอร์เตอร์ไซด์ใหม่

เธอไม่ได้มาประชุม ๓-๔ เดือนแล้ว
เพราะเธอทำงานตอนกลางคืน แบกน้ำแข็งทั้งคืน กลางวันนอน ต้องเร่งหาเงิน มีหนี้เกือบแสน....เธอขาย(แรง)ตัว(เอง)ให้ผู้อื่นไปเรียบร้อย

ไม่ใช่เฉพาะลูกชายของดิฉันคนเดียว ในกลุ่มของเรามีคนที่เป็นแบบนี้ หนักเบาแตกต่าง อีก ๓-๔ คน
คิดถึงพ่อคำเดื่องเหลือเกิน
ชาวบ้านเรา เลิกหาเงินได้แล้ว มันถึงจะหาความคิดชุดใหม่ได้...

 

 

หมายเลขบันทึก: 79031เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2007 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดิฉันชิงถามอาจารย์แสวงก่อน

เรื่องนี้จะป้องกันอะไร อย่างไร

วิถีที่เป็นอยู่ ทัศนที่มี ข้อจำกัด.... มันกวาดพาไปเลย แล้วน่ะค่ะ อาจารย์คะ

วันนี้ผมก็เขียนเรืองของโศกนาฏกรรมในอาร์เยนตินา มันกำลังคืบคลานมาเมืองไทยอย่างไม่ช้าเท่าไหร่เลย

  • ทุกคนกำลังผันตัวเองเข้าสู่หลุมดำอันนี้
  • เหมือนมีทั้งแรงลม (ค่านิยมภายนอก) และ
  • แรงแม่เหล้ก (ค่านิยมภายใน) ดูดอยู่ทั้ง ๒ แรง
  • เราจะต้านกระแสนี้อย่างไร

ผมจึงพยายามทำตัวเป็นตัวอย่างหนึ่ง ที่เป็นจริงมากที่สุดที่จะทำได้ เพื่อจะได้เป็นแรงช่วยอย่างแท้จริง โดยไม่มีข้คำถามที่ทำให้เราเกิด "นิวรณ์" ในการทำงาน มัวแต่สงสัย ไม่ลองทำจริงสักที

บางคนนอกจากวิ่งตามกระแส แล้วยังเป็นปฏิปักษ์กับความก้าวหน้าของตัวเอง

วันนี้ ดูเหมือนว่าทุกคนต้องการเงิน

แต่เราใช้มันเป็นฐานให้เรายืนได้ไหม แทนที่จะเป็นทาสมันอย่างในปัจจุบัน

ใช้เงินเป็นทาสเรา แบบฉลาด รู้เท่าทัน

จึงมีทางเลือกที่เหลือคือ การติดอาวุธทางปัญญา จัดการความรู้อย่างเป็นธรรมชาติในบริบทของตัวเอง

เราพูดถึง พหุลักษณ์ ในการพัฒนา พหุปัญญา และ พหุภาคื

นี่คือแนวทางในการทำงาน

เราอาจต้องปรับกระบวนให้สอดค้องกับความเป็นจริง

พหุภาคีที่ไหน จะช่วยเราได้เราต้องหา

พหุปัญญา อะไรที่จำเป็น

และ พหุลักษณ์ ของการพัฒนา จะออกไปในมุมใด ที่ในที่สุด จะมีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกัน แต่คนละเส้นทาง

คุณบุญเทียมอาจจะยังไม่หลงทาง แต่อาจจำเป็นต้อง "แวะ" ทำธุระ บางประการ หรือ อาจต้องเลือกทางเดินที่ต่างออกไปก็ได้

เพียงขอให้มีไฟส่องทางบ้าง เขาก็ไม่น่าจะหลงทางครับ

เราคงต้องมาปรับกระบวนทัศน์กันสักหน่อยกระมังครับ

โจทย์คุณตุ๊วันนี้ "หนัก" แต่ท้าทายดีครับ

ขอบคุณที่ชิงถาม ผมจะได้ไม่ต้องถามครับ

แต่ว่า คุณตุ๊ มองเห็นการพัฒนาแบบพหุลักษณ์ในระดับครอบครัว และปัจเจก อย่างไรครับ

ผมว่าต้องมี แต่ใครจะช่วยเป็น พหุภาคี กับเราได้บ้าง

เราทำงานมุมนี้น่าจะดีนะครับ

คิดออกเมื่อไหร่ บอกด้วยนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท