ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

งบ...หล่อลื่นช่วยให้การขับเคลื่อนไปได้เร็ว


แนวคิดกระบวนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงโดยปราชญ์ชาวบ้าน เป็นวิธีคิดที่ดี และถูกต้อง แต่แนวทางการปฏิบัติอาจจะไม่ขยายผลเท่าที่ควรเพราะคนของรัฐ ไม่จัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงการเริ่มต้นการผลิต

งบ...หล่อลื่น หรือที่เข้าใจกันในแวดวงวิชาการว่า เป็นงบประมาณ หรืองบอุดหนุน หรือปัจจัยการผลิตที่หน่วยงานของรัฐจัดสรรให้กับเกษตรกรแบบให้เปล่า หรือมีเงื่อนไขสำหรับการเริ่มต้นการผลิต การลงทุน ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเกษตรกรในการที่จะผลิต หรือการดำเนินกิจกรรมนั้นๆ เนื่องจากเกษตรกรโดยทั่วไปจะไม่มีทุน หรือเงินในการที่จะลงทุนในระยะแรก จะมีภาวะกล้าๆ กลัวๆ ถึงแม้จะผ่านกระบวนการอบรมให้ความรู้ไปแล้วก็ตาม

 พณฯ รองนายกฯ รุ่งเรือง กล่าวเปิดงาน

แต่นโยบายของรัฐไม่เป็นอย่างนั้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2550 ผมได้รับโอกาสจากท่านครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านมหาชีวาลัยอีสาน จังหวัดบุรีรัมย์ ในการเข้าร่วมประชุมสัมมนาเรื่อง "การดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ณ โรงแรมรอยัลซิตี้ กรุงเทพมหานคร จัดโดยสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ปราชญ์ชาวบ้านจำนวน 40 ศูนย์ทั่วประเทศได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร (โดยการอบรม) เพื่อเกษตรกรจะได้นำความรู้ แนวคิด ไปปรับใช้ในการประกอบอาชีพ และให้เข้ากับบริบทของตนเอง มีความเหมาะสมตามภูมินิเวศ และสภาพแวดล้อม ซึ่งคาดว่าจะบังเกิดผลในการพัฒนาการเกษตรตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในปี 2550 จำนวนเกษตรกร 20,000. คน ทั่วประเทศ

 ผอ.กองนโยบายฯ ชี้แจงโครงการ

การจัดสรรงบประมาณไม่เอื้อต่อระบบการผลิต จากที่เจ้าของโครงการคือ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด) ได้แจ้งให้ทราบเกี่ยวกับงบประมาณว่า งบประมาณได้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ งบในการฝึกอบรม และงบติดตามประเมินผล จึงทำให้ผมได้เกิดข้อสงสัยอย่างยิ่งว่าทำไมไม่มีงบประมาณสำหรับการหล่อลื่น เพื่อให้เกษตรกรได้ได้มีแรงบันดาลใจในการที่จะทำในสิ่งที่ได้ผ่านการอบรมไปแล้ว เพื่อจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป

เมื่อเป็นเช่นนั้นจะประเมินไปทำไม ประเมินแล้วได้อะไร ในเมื่อไม่จัดสรรงบหล่อลื่นให้กับเกษตรกร ผมจึงเกิดข้อสงสัยพร้อมได้ลุกขึ้นถามท่านผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนฯ ในที่ประชุมฯ ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน เพียงแต่ว่าจะรับใว้พิจารณา และจะปรับปรุงในปีหน้า ผมจึงยิ่งมีข้อสงสัยเพิ่มเติมอีกว่า แล้วงบประมาณที่ตั้งใว้สำหรับการประเมินผล จำนวน 15 ล้านบาท ตั้งไว้ทำไม จะไปประเมินอะไร หรือจะไปนับเพียงว่าได้ 20,000 คน ตามเป้าเท่านั้นหรือ เพราะเราก็รูทั้งรู้ว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ยากจน แถมยังผูกมัดให้เอาเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนคนจนมาอบรม อบรมไปแล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนไปทำ ซึ่งสุดท้ายก็จะได้แต่ปริมาณเท่านั้น เพราะจากบทเรียนที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้เคยอบรม และสนับสนุนปัจจัยการผลิต รายละ 5,000 บาท ผลที่ได้ก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และถามว่าในปัจจุบันยั่งยืนสักกี่ราย

 กษ.จังหวัดบุรีรัมย์

เพียงแค่ลมปากจะได้ผลสักเพียงใด ปราชญ์ชาวบ้านก็คือเกษตรกรอีกผู้หนึ่ง ซึ่งไม่ได้วิเศษวิโสกว่าเกษตรกรโดยทั่วไปมากนัก เพียงแต่ท่านเหล่านั้นมีความเพียรพยายาม มีความตั้งใจจริง มีความทุ่มเทในอาชีพ และเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แล้วอยู่ๆ หน่วยงานของรัฐก็มาเอาความมีศักยภาพของท่านเหล่านี้มาเป็นเครื่องมือ โดยที่ไม่ได้ให้อาวุธกับท่านเหล่านี้เลย แถมยังขีดเส้นให้ท่านเดินตามทางของตนอีกต่างหาก (ใช้ระเบียบของราชการมาผูกมัดกับการทำงานของปราชญ์อย่างมาก) ดังนั้นผมจึงไม่แน่ใจว่า แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงตามวิธีนี้จะสามารถบังเกิดผลสำเร็จได้มากน้อยเพียงใด หากเป็นไปได้มากก็เป็นสิ่งที่ดี หากล้มเหลวหรือ มีคนนำไปปฏิบัติน้อย หน่วยงานรัฐก็จะบอกว่า ปราชญ์ชาวบ้านก็แค่นั้นแหละ  ไม่ต่างจากที่ตน(รัฐ)ทำ สุดท้ายก็จะเจ็บปวดยิ่งนัก ซึ่งไม่ต่างจากคำกล่าวที่ว่า "หนูลองยา"

อย่างไรก็ตาม ผมเองในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่งที่คอยเฝ้าดูการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงของหน่วยงานภาครัฐ ว่าจะมีความจริงใจมากน้อยเพียงใด และในเวลานี้ท่านมีความไว้วางใจปราชญ์ชาวบ้าน ว่าจะสามารถช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงให้ขยายสู่วงกว้างได้ ก็ขอให้ท่านได้มอบความไว้วางใจอย่างแท้จริง อย่าได้สร้างระเบียบหรือข้อแม้ที่สร้างความลำบากใจในการทำงาน (การกำกับควบคุม) เพราะนั่นไม่ใช่จริตของเครือข่ายปราชญ์ และที่สำคัญต้องเสริมด้วยอาวุธ และกระสุน(งบประมาณ) ในการทำงาน หากเป็นเช่นนั้นผมเชื่อว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงไปได้ และมีความยั่งยืนต่อไป

ขอบคุณครับ

อุทัย  อันพิมพ์

11 ก.พ.2550

หมายเลขบันทึก: 77855เขียนเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2007 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:48 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • เห็นใจครับ
  • ทุกครั้งที่ทำงานกับหน่วยงานราชการก็ติดอยู่ที่ระบบระเบียบครับ
  • มาให้กำลังใจครับคุณอุทัย

เป็นกำลังใจให้นะคะ  จากประสบการณ์เคยใช้งบนอกหน่วยงานต้นสังกัดตัวเอง  ก็อย่างว่า... นั่นแหละ

ต้องมองเรื่องนี้เป็นยุทธศาสตร์ และยุทธวิธีการทำงานไปเลยครับ

ทุกเรื่องควรมีประเด็นสะกัดห้อยท้ายไว้ ก่อนจบ จะได้ชินกับการวิเคราะห์ สังเคราะห์ครับ

เพราะหลัก story telling นั้น ต้องมี personal reflection จึงจะสื่อถึง KM ในตัวผู้เล่า มิเช่นนั้นก็เป็นเพียง Information flow ธรรมดา

และคุณยังติดหนี้การสรุปประเด็น KM เทคนิคที่ไปฝึกที่ สคส มา จะได้รู้ว่ายังขาดอะไรอยู่หรือเปล่า

จะได้รีบเก็บตกเสียก่อน

เวลาเราทำภาคปฏิบัติแล้ว เวลาจะทุ่มไปทางทฤษฎีจะมีน้อยลง

ผมเตือนแล้วว่า "น้ำขึ้นให้รีบตัก" พอน้ำลงจะมานั่งบ่น ไม่มีใครเขาเห็นใจหรอกครับ

ในฐานะคุณนำร่องไป สคส จึงต้องเป็นพี่เลี้ยงให้คนอื่นๆ ในเรื่องนี้ ที่ผมยังมองไม่เห็นเลยครับ

หรือว่าจะเอาตัวรอดคนเดียว ไม่ยอมบอกใครนั้น ยอมรับไม่ได้ในหลักสูตรนี้

กรุณารีบหน่อยได้ไหมครับ เราไม่ได้มีเวลามากนัก

  • หนทางยาวไกล
  • ทีมงานมีน้อย และยังไม่เข้มแข็ง
  • เวลาเหลือน้อย
  • ต้องรีบเดิน

แต่ผมรู้สึกว่าคุณยังเป็ทองไม่รู้ร้อน กับขีดจำกัดต่างๆ ก็ยังนิ่งเฉยอยู่อีก  หรือคุณติดโรคปลาทูแห้งหมื่นปีมาจริงๆ

ผมจะคอยตามดู แต่ผมและคนอื่นๆก็มีขีดจำกัดเหมือนกัน

ผมใช้ไม้นวมมานานแล้วไม่ค่อยได้ผล อาจต้องเปลี่ยนกระมังครับ

เมื่อวันผมตัดสินใจแล้ว บอกไว้เลยว่า ไม่มีเทวดาองค์ไหนจะเปลี่ยนใจผมได้

ถ้าคุณยังทำแบบไม่สนใจคำแนะนำผม ผมก็ไม่รู้จะแนะนำไปทำไมเหมือนกัน

หรือคุณมีความเห็นที่พอจะรับฟังได้เป็นอย่างอื่น

ก็ว่ามา

เอาเป็นว่า ถ้าคุณไม่พยายามพัฒนาผมก็จะเลิก comment ดีไหม

เพราะคุณก็ไม่สนใจว่าผมจะพูดว่าอะไรอยู่แล้ว

หรือ ถ้าไม่เข้าใจว่าการเรียนในระดับต่างๆคืออย่างไร ให้ไปย้อนอ่านงานเขียนของผม ซึ่งส่วนใหญ่สะท้อนปัญหาของนักศึกษาของมหาชีวาลัย

จะอยู่หรือไปก็ขอให้ชัดแจ้ง ครับ

  • ขอบคุณมากครับ อาจารย์ขจิต อาจารย์หนิง และที่สำคัญ ท่านอาจารย์ ดร.แสวง ครับ
  • ผมกำลังเร่ง Speed เต็มที่ครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย

เรียน อาจารย์ ดร.แสวง รวยสูงเนิน ที่เคารพ

  • การถ่ายทอด KM ให้กับเพื่อนนักศึกษาด้วยกันนั้น ผมพยายามที่จะทำครับ และได้ฝึกกระบวนการกันหลายรอบแล้วครับ ทั้งกับทีมงานกันเอง และแขกผู้มาเยือน
  • ครั้งล่าสุด เราใช้กระบวนการ KM มหาชีวาลัยอีสาน กับทีมนักศึกษาปริญญาโท และอาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  เมื่อ วันที่ 10-11 ก.พ.50 ที่ผ่านมาครับ
  • การที่จะ Capture กระบวนการนั้น มีประสิทธิภาพที่แตกต่างกัน รวมทั้งผู้นำกระบวนการด้วยเช่นกันครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย  อันพิมพ์

ยังไม่เข้าใจคำอธิบายครับ

และตัวชี้วัด (ที่กำหนดเองก็ได้) คืออะไร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท