การศึกษาระดับที่ลูกหลานเราต้องอายลิง???


ระดับอนุบาล (Nursery) คือการดูแลระดับใกล้ชิด ในที่ที่ปลอดภัย แบบเดียวกับแปลงกล้า หรือเรือนเพาะชำ สำหรับกล้าอ่อนที่เพิ่งมีรากแก้ว เพื่อนำมาพัฒนารากฝอย ระดับประถม เปรียบเสมือนเป็นการพัฒนาใบและต้นอ่อน ระดับมัธยม เปรียบเสมือนการพัฒนาต้นที่แข็งแรง ทรงต้น และพุ่มใบที่พร้อมรองรับการเจริญระดับ “อุดม” ผลิดอกออกผลต่อไป และระดับอุดมศึกษา คือการพัฒนาดอกและผล

 วันนี้ผมได้เข้าร่วมสังเกตการณ์โครงการฝึกอบรมคุณอำนวย ในหัวข้อ ทศพักตร์นักจัดการความรู้สู่เครือข่ายคุณอำนวยระดับชาติ รุ่นที่ ๓ ณ ห้องประชุม SMEs ชั้น ๖ อาคารศูนย์วิชาการ มข.

และได้ชม VCD เสียงกู่จากครูใหญ่ จากรายการทีวี ที่ครูสมพร แซ่โค้ว ทำหน้าที่เป็นครูฝึกลิงขึ้นเก็บมะพร้าว เพื่อ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้สรุปบทเรียนว่า คุณอำนวยที่ดีนั้นควรเป็นอย่างไร 

การนำเสนอจากรายการทำให้เกิดความชัดเจน ทั้งจากคำพูดและการแสดงตัวอย่างให้ดูว่า การอำนวยการสอนที่ดีนั้น จะต้องมีคุณสมบัติและการเตรียมการต่างๆอย่างไรบ้าง 

ประเด็นที่คุณสมพรได้อธิบายอย่างชัดเจนก็คือ

จะต้องมีการวางแผนพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของลิงอย่างเข้าใจทั้งความพร้อมของลิง ที่อายุไม่น้อยหรือมากจนเกินไป 

ประเด็นอายุนั้นเป็นทั้งความพร้อมทั้ง ร่างกาย และ สมอง ที่เหมาะกับการพัฒนาการเรียนรู้ได้ง่าย เป็นเบื้องต้น

และที่สำคัญก็คือให้โอกาสนักเรียนลิงได้ฝึกฐานความรู้ธรรมชาติมาจากแม่ของลิง ที่เปรียบเสมือนรากแก้วของชีวิต เพื่อพร้อมที่จะมาต่อยอดความรู้ระดับรากฝอยในโรงเรียนลิง 

และท่านยังได้อธิบายเชิงเปรียบเทียบถึงการศึกษาของคน ที่ต้องมีพื้นฐานของการเรียนรู้แบบ รากแก้ว จากชีวิตจริงจากพ่อแม่และครอบครัว ก่อนที่จะมาต่อด้วยการเรียนรู้แบบ รากฝอย ในโรงเรียน ที่เริ่มจากระดับชั้นอนุบาลเป็นต้นไป  อย่างต่อยอดแบบสอดประสาน และผสมผสานกัน ให้เด็กได้เติบใหญ่เป็นไม้ยืนต้นที่แข็งแรง พร้อมที่จะออกดอกออกผล ขยายเผ่าพันธุ์ความรู้กันต่อไป

มิเช่นนั้น เราก็จะมีเพียงการศึกษาระดับ รากฝอย โดยไม่มีรากแก้ว ทำให้ระบบการศึกษาอ่อนแอ เช่นเดียวกับพืชที่ไม่มีรากแก้ว ที่ต้องมีการเสริมรากแก้วให้ ยิ่งมากยิ่งดี พอย้อนกลับมาถึงระบบการวางแผนการพัฒนาการเรียนรู้

คุณสมพรก็ได้แสดงว่าต้องเริ่มต้นการเรียนรู้ ในรูปแบบจากชั้นอนุบาลแบบฝึกความพร้อมในเบื้องต้น ความคุ้นเคย ไว้วางใจกับระบบการเรียนของผู้เรียนในที่ควบคุมดูแลใกล้ชิด ในระดับประถมที่เริ่มปล่อยให้นักเรียนเริ่มมีประสบการณ์ตรงกับเป้าหมายมากขึ้น ระดับมัธยมที่ต้องเริ่มเผชิญกับชีวิตจริงบ้าง จนถึงระดับอุดมศึกษาที่ต้องเผชิญความเป็นจริงของชีวิต มีการสัมผัสกิจกรรมที่เป็นของจริงในชีวิต เป็นบทเรียนโดยตรง 

ทั้งหมดของระบบการศึกษาต้องต่อเนื่องกัน แต่มีเนื้อหา รูปแบบแตกต่างกัน ที่ยังคงสอดคล้องกันอย่างเป็นชิ้นเดียวกัน

โดยมีการประเมินจากพฤติกรรมการพัฒนาของนักเรียน เป็นหลักสำคัญและเป็นแกนนำ ที่อาจมีเงื่อนไขของเวลาประกอบอยู่บ้างในเชิงความเหมาะสมและประสิทธิภาพของการทำงาน 

จากข้อสรุปบทเรียนนั้น

  • ระดับอนุบาล (Nursery) คือการดูแลระดับใกล้ชิด ในที่ที่ปลอดภัย แบบเดียวกับแปลงกล้า หรือเรือนเพาะชำ สำหรับกล้าอ่อนที่เพิ่งมีรากแก้ว เพื่อนำมาพัฒนารากฝอย 
  • ระดับประถม เปรียบเสมือนเป็นการพัฒนาใบและต้นอ่อน 
  • ระดับมัธยม เปรียบเสมือนการพัฒนาต้นที่แข็งแรง ทรงต้น และพุ่มใบที่พร้อมรองรับการเจริญระดับ อุดม ผลิดอกออกผลต่อไป และ
  • ระดับอุดมศึกษา คือการพัฒนาดอกและผล 

แต่เราก็ต้องมีผลผลิตในทุกแบบและทุกระดับครับ ไม่ใช่ว่ามีแต่ดอกและผลเพียงอย่างเดียว อันนี้ได้เคยกล่าวไว้แล้วในระดับ พหุปัญญา กับการพัฒนาประเทศ 

ซึ่งในแต่ละขั้นตอนนั้น ต้องมีปัจจัยและสภาพแวดล้อม ที่ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่มีโอกาสเจริญเจิบโตในสภาพจริง

ไม่ใช่มีแต่สภาพแวดล้อมของต้นกล้าอยู่ในเรือนเพาะชำ ที่ต้นกล้าไม่มีโอกาสได้เติบโตได้จริง  

ที่เปรียบไปก็เสมือนกับการเรียนในห้องเรียนสี่เหลี่ยม ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษา

ที่มีแต่เรียนในห้องเรียน (Nursery) ที่มักจะไม่มีทรัพยากร และสภาพแวดล้อมมากพอที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนพัฒนาความคิด ความรู้ ในระดับผลิดอกออกผลได้อย่างเต็มศักยภาพ

ดังนั้นถ้าเราจะดูแลนักเรียนเหมือนกล้าไม้ในเรือนเพาะชำ (ในห้องเรียนสี่เหลี่ยม) จึงไม่น่าจะพอให้ลูกหลานเราเติบโตทางด้านการเรียนรู้ได้ครับ 

ลองคิดดูนะครับ ว่าเราจะจัดระบบการเรียนของลูกหลานของเราให้ดีกว่านี้ได้ไหมครับ แบบที่คล้ายกับคุณสมพรฝึกลิง จากในห้อง สู่ในร่ม สู่กลางแจ้ง และในสภาพจริงๆ อย่างเป็นขั้นตอน 

ไม่งั้นลูกหลานเราก็ต้องอายลิง

เพราะแม้โอกาสในการเรียนรู้ยังสู้ลิงไม่ได้เลยครับ

 

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 77298เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2007 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
เห็นด้วยครับ เห็นด้วยกับประโยค "การศึกษาของคน ที่ต้องมีพื้นฐานของการเรียนรู้แบบ “รากแก้ว” จากชีวิตจริงจากพ่อแม่และครอบครัว ก่อนที่จะมาต่อด้วยการเรียนรู้แบบ “รากฝอย” ในโรงเรียน ที่เริ่มจากระดับชั้นอนุบาล" เป็นอย่างยิ่ง วิวัฒนาการของมนุษย์(คน)เมื่อถือกำเนิดก็เริ่มต้นตั้งแต่การอยู่ในครรภ์ การได้ยิน ได้ฟัง เสียงที่สอดแทรกผ่านครรภ์มารดาเข้าไปก็ถึอว่าเป็นการสร้างเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์ สอนให้ทารกได้รับรู้รับฟังเสียงหรือสายใยความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างแม่กับลูก ถ้าแม่แสดงกิริยาท่าทาง หรืออาการที่อ่อนหวานนุ่มนวลกับทารก ทารกก็จะมีจิตใจที่อ่อนไหวและมีกิริยาทที่อ่อนไหวตาม และเมือคลอดออกมาในช่วง 1-4 ขวบแรกการเลี้ยงดูเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะว่าลักษณะต่างๆที่เด็กในวัยที่เป็นผู้ใหญ่แสดงออกล้วนมาจากสภาวะการเลี้ยงดูในวัยเด็ก(1-4 ขวบ)แทบทั้งสิ้น มีการเลี้ยงดูในขั้นพื้นฐานดีก็จส่งผลให้กระบวนการเรียนรู้ของเด็กดีตามขึ้นมาด้วย สรุป พื้นฐานของการเลี้ยงดูหรือให้ความรู้ความเอาใจใส่ในวัยเด็กก็เปรียบเหมือนากแก้วที่สำคัญที่จะไปขยายแตกรากฝอยในอนาคต เมื่อรากแก้วแข็งแรงสมบูรณ์ รากฝอยก็จะงอกเงยออกมาอย่างแข็งแรงสมบูรณ์เช่นกัน ขอบคุณครับ

อ่านข้อคิดของท่านอาจารย์แล้ว รู้สึกว่าเด็กรุ่นนี้ (หรือตั้งแต่รุ่นผม) อยู่ในเรือนเพาะชำกันนานจนขาดแดดขาด ขาดฝน ได้น้ำแต่พอดี และแดดรำไร แต่ไม่เคยเจอแดดเผา หรือพายุกันเลยนะครับ

ยิ่งสมัยนี้ยิ่งน่าเจ็บใจ เวลาเห็นใครๆ เรียนปริญญาโท เพราะไม่กล้าออกแดด

เรื่องร่างกายและการใช้ชีวิตนี่ผมเห็นด้วยมากๆ เลยครับอาจารย์ เพราะผมไม่เชื่อว่าจะเก่งยังไงก็ตาม ถ้าไม่แข็งแรง สุขภาพร่างกายและจิตใจไม่ได้ ก็เท่านั้น

ถ้ามีโอกาสผมคงต้องจัดทัศนศึกษาให้นักเรียนไปดูลิงบ้างแล้วครับอาจารย์ 

ขอบคุณครับอาจารย์วสะ ผมคิดว่าเรามีตัวอย่างดีๆมากมาย แต่ทำไมเราไม่คิดเอาอย่าง มีแต่ทำเรื่องเดิมๆครับ แล้วเราจะพัฒนาได้อย่างไร
   สวัสดีครับ
       เห็นด้วยและขอช่วยเป็นแรงใจให้ความ ฝันใฝ่ ของอาจารย์เป็นจริง .. แท้จริงก็ฝันร่วมกันอยู่ครับ
    เสียดายน้าสมพรนะครับ  ผมเคยไปคุยด้วยอยู่ 2 ครั้ง  ท่านจากไปแล้วด้วยวัยที่ยังไม่ควรจากไป 

 เอาลิงค่างกลางป่ามาฝึกสอน

เล่นละครลิงได้ดั่งใจหมาย

นี่เป็นคนทั้งแท่งแกร่งใจกาย

ฝึกไม่ได้อายลิง จริงไหมเอย.

เรียนท่านอาจารย์แสวง

       เห็นด้วยกับทุกคนและอาจารย์ค่ะ เป็นกำลังใจให้อาจารย์ต่อสู้เพื่อประเทศไทย  ว่าเรามีบุคลากรที่ทรงคุณภาพจริง ๆ

 

ขอบคุณณครับพันธมิตรที่จะช่วยกันทำให้เด็กไทยไม่ต้องอายลิงครับ

ครูบาครับ

การ "อายลิง" ของครูบานั้น คนได้รับฝึกแล้ว ไม่ดีขึ้น

แต่อายลิง นี้ แม้แต่โอกาสในการฝึกก็ยังสู้ลิงไม้ได้เลยครับ

เรียกว่า อายกำลังสอง เลยครับ

สงสัยคนคิดนิยายเรื่อง "พิภพวานร" จะได้ต้นคิดตรงนี้เองครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท