“The Impossible” ที่ขัดขวางการพัฒนา


การใช้หลักการวิชาการที่ไม่ถูกต้องในการพิจารณาแผนงาน และงานโครงการ โดยระบบ Peer review ที่ไม่ใช่ Peer ตัวจริง เพราะไม่รู้จริง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีเพื่อนร่วมงานต่างชาติมาติดตามงานที่ผมทำเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำในระดับครัวเรือนที่ผมทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน

 

เพื่อให้เขาเข้าใจสภาพแวดล้อมในการทำงาน และสื่อความหมายของงานต่างๆที่ผมทำอยู่ให้ชัดเจนเชิงประจักษ์ ผมจึงได้พาเขาไปเยี่ยมชมระบบการจัดการเศรษฐกิจพอเพียงที่บ้านนาฝาย อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม และไปชมระบบการจัดการน้ำใต้ดิน แบบหลากหลายวัตถุประสงค์ ที่สวนป่าสตึก ของครูบาสุทธินันท์

  

ระหว่างทางแถว อำเภอบรบือ ก็ได้เห็นอ้อย และมันสำปะหลังที่ปลูกใหม่ๆ บนดินทรายจัด ในช่วงแล้ง อายุไม่เกิน ๓ เดือนที่ผ่านมา กำลังงอกงามดีมาก เขาก็ถามผมว่า การปลูกมีการให้น้ำชลประทานหรือเปล่า

  

ผมตอบว่า อีสานส่วนใหญ่ไม่มีน้ำชลประทานหรอก เขาปลูกแบบอาศัยน้ำฝนที่เก็บกักไว้ในดินทราย

 

เขาก็แย้งผมทันที ว่า “Impossible” ดินทรายอุ้มน้ำได้น้อย ไม่มีทางจะปลูกพืชได้ในฤดูแล้งได้หรอก

  

ผมจึงต้องอธิบาย และสาธยาย ว่า ดินทรายในอีสานมีลักษณะพิเศษที่เก็บน้ำไว้ในชั้นดินได้มาก แม้ตัวดินทรายเองจะดูดซับน้ำได้น้อย

  

เขาก็ว่าผมเล่นคำ ระหว่าง เก็บน้ำ กับ ดูดซับน้ำ ก็เป็นความหมายเดียวกัน จะพูดให้ตลกสับสนไปทำไม

  

ผมก็เลยบอกว่า ไม่ใช่คำเดียวกันแน่นอน เพราะผมก็พยายามหาคำที่สื่อความหมายดีที่สุดอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่ดีที่สุดหรอก  และครั้งนี้ก็ไม่ใช่ครั้งแรกของผมในการถกเถียงกับฝรั่งในเชิงวิชาการเรื่องการปลูกมัน ปลูกอ้อยในฤดูแล้ง (หลังฝน) บนพื้นที่ดินทรายจัด

  

ผมอธิบายความละเอียดอ่อนของชุดความรู้ อันเป็นภูมิปัญญาขั้นที่ ฝรั่งงง นี้ให้กับนักปฐพีศาสตร์ ทั้งคนไทย และต่างชาติมากว่า ๑๐ ปี ก็ยังมีคนไม่เข้าใจทั้งไทย และฝรั่ง และยังมีคนแปลงคำและความหมายของภูมิปัญญาให้สับสนอยู่อีก เพราะเขามีความรู้ไม่ลีกซึ้งพอ

  

โดยนักวิชาการบางคนยังไม่เชื่อว่าจะปลูกได้ ก็เลยใช้ความคิดตนเองมาแทรกว่า การปลูกอ้อยปลายฝน แทนคำว่า ปลูกอ้อยหลังฝน ทั้งๆที่ การปลูกอ้อยปลายฝนในดินทราย นั้นทำไม่ได้ ด้วยเหตุ ๒ ประการคือ

 

1.     อ้อยจะไม่งอก ถ้ามีฝนตกทับหลังการปลูก เนื่องจากดินทรายที่ถูกน้ำฝนจะแน่นจนอ้อยงอกไม่ได้

 

2.     วัชพืชจะได้รับน้ำฝนและงอกคลุมอ้อย จนอาจเกิดผลเสียอย่างรุนแรงต่อการเจริญและผลผลิตอ้อย

  

ผมจึงต้องตามแก้ความเข้าใจผิด ว่า ไม่ใช่ ปลายฝน แต่ ต้อง เป็น หลังฝน เท่านั้น

 ความสับสนเช่นนี้ เป็นกรณีตัวอย่างเล็กๆของการใช้หลักการวิชาการที่ไม่ถูกต้องในการพิจารณาแผนงาน และงานโครงการ โดยระบบ Peer review ที่ไม่ใช่ Peer ตัวจริง เพราะไม่รู้จริง

ถ้าบังเอิญว่าเขาเป็นกรรมการพิจารณาโครงการ เขาจะต้องโยนโครงการเหล่านี้ทิ้งทันที

  

เพราะ หลักการพิจารณาโครงการ ๔ ข้อหลักๆ คือ

 
  • Technically viable (ความเป็นไปได้ในทางวิชาการ)
  • Socially viable
  • Economically feasible
  • Research team capable
  และเมื่อข้อแรกหรือข้ออื่นๆ ไม่ผ่าน ก็ไม่ต้องพิจารณาอีกเลย

และ เขาจะพิจารณาเฉพาะที่เขาเชื่อว่า เป็นไปได้ เท่านั้น และการตัดสินของกรรมการถือเป็นความลับ และเป็นอันสิ้นสุด ไม่มีสิทธิ์โต้แย้ง

 

ในการทำงานวิจัยในชุมชนแบบ วิจัยเชิงปฏิบัติการ ของผมกับชาวบ้านนั้น นักวิชาการส่วนใหญ่ทั้งในและต่างประเทศมักไม่เข้าใจ

 

แต่ ผู้ทรงคุณวุฒิที่ขาดความรู้เหล่านั้น ก็ได้ใช้ระดับภูมิปัญญาที่เขามี จนทำให้โครงการที่ผมคิดมาอย่างดี ถูกตีตกไปด้วยความเห็นแบบไม่ทราบเรื่องว่า เป็นไปไม่ได้ อยู่ทุกครั้ง

 

พอผมไปอธิบายทีหลัง ก็มักสายเกินไปแล้ว มีแค่คำว่า “Sorry” ที่ผมไม่ทราบว่ามีประโยชน์อะไร กับใคร

 

เพราะคนที่มีสิทธิ์ที่จะพูดคำนี้ได้นั้น ต้องเป็น คนดีที่ชอบแก้ไข แต่ไม่เหมาะกับ คนจัญไร ที่ชอบแก้ตัว

  

ทุกๆปี และแม้เมื่อปีที่แล้วก็มีโครงการวิจัยของผมอย่างน้อย ๒ โครงการ ถูกพิจารณาให้ตกไป ด้วยคำ เป็นไปไม่ได้ เช่นเดียวกัน

 ไม่เห็นมีใครจะคิดแก้ไขอะไร ทั้งแหล่งทุนในประเทศ และต่างประเทศ 

ผมเลยไม่ทราบจะร้องเพลงอะไรดี นอกจาก “The Impossible Dream” ครับ

ที่พอจะเข้าบรรยากาศหน่อยครับ

 

หมายเลขบันทึก: 74741เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2007 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 เมษายน 2012 07:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
แวะมาให้กำลังใจอาจารย์ในการทำงานต่อไปค่ะ
  • พึ่งทราบเกี่ยวกับการปลูกอ้อยครับ รวมถึงเรื่องดินอีสานด้วย
  • ขอบคุณสำหรับความรู้ครับ

ความรู้ที่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ มีอยู่มากมายเหลือเกิน ผมพยายามจะค่อยๆปล่อยออกมา ถ้าปล่อยมากๆ เดี๋ยวจะเบื่ออ่านเสียก่อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท