เพชรที่รอเจียรนัย


ชาวบ้านจะไม่พูดว่า เขาทำได้ และได้เตรียมการไว้เรียบร้อย แต่เขาจะบอกเราแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ก็น่าจะทำได้ คนอื่นทำได้พวกเขาก็น่าจะทำได้ พวกเราตามไปดูไปช่วยไปกำกับเป็นอาทิตย์

เวทีสรุปงานประจำปีที่นาคำกลาง ที่ดำเนินไปเมื่อปี ๔๗ เป็นเวทีที่ดำเนินไปท่ามกลางปัญหารอบด้าน 

 

พ่อบัว สมาชิกที่เป็นหลักของกลุ่มกำลังป่วยหนักระหว่างที่เตรียมงาน

กลุ่มก็โลเล กลัวว่าเพื่อนจะเสียชีวิตระหว่างที่เรากำลังสรุปงานกันอยู่

กำหนดวันที่แน่นอนกันไม่ได้

สมาชิกน้อย ๑๐ กว่าคน

 

ตัวดิฉันเองก็เป็นตัวปัญหาด้วย เนื่องจากตนเองไม่รู้สึกมั่นใจในตัวชาวบ้านว่าจะทำได้เพราะชาวบ้านจะไม่พูดว่า เขาทำได้ และได้เตรียมการไว้เรียบร้อย แต่เขาจะบอกเราแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ก็น่าจะทำได้ คนอื่นทำได้พวกเขาก็น่าจะทำได้  พวกเราตามไปดูไปช่วยไปกำกับเป็นอาทิตย์สองอาทิตย์ ไปช่วยจริงจังกว่า ดงหลวงและอุ่มเหม้า ที่พวกเราเพียงแค่ไปดูพวกเขาทำงาน

ดิฉันสร้างปัญหาให้กับพวกเขา ด้วยการไม่บอกว่า จะเอานาใครเป็นจุดประชุม เพราะดิฉันมองไม่เห็นและไม่รู้สึกว่าควรจะเป็นที่ไหนดี ซึ่งต่างจากสองพื้นที่ที่จัดครั้งแรก เมื่อไปถึงที่นั้นก็รู้สึกทันทีว่า ตรงนี้แหละ และเห็นภาพว่าเวทีควรมีลักษณะอย่างไร

 

ดิฉันก็ไปประชุมกับพวกเขาหลายครั้ง จนเขาโมโห จะพูดอะไรก็ไม่พูดจะบอกว่าจะเอาที่ไหนก็ไม่บอก  ดิฉันไม่บอกเพราะไม่รู้ จนถึงที่สุด เราก็เลือกพื้นที่กันได้ นาพ่อวิเชียร  พ่อวิเชียร โสมี   ซึ่งก็มีเพื่อนหลายคน ตั้งสมญานามใหม่ เป็นวิเชียร โสตาย ตัวผอมแกร่ง แต่น้ำใจนักเลง กว้างขวาง พูดน้อย แต่พูดออกมาแต่ละคำ เรียกเสียงเฮจากเพื่อน ๆ  คู่กัดกันกับแม่ถนอม จากบ้านเหล่า  ภรรยาคู่ใจชื่อ แม่ไหล เป็นคนขยันสุด ๆ  พ่อวิเชียร เคยบอกกับพวกเรา  ผมจะทำ และจะให้เวลา ๕  ปีกับการฟื้นไร่นากับกลุ่มนี้ ถ้าไม่ได้เรื่อง ผมจะหันหลังให้แล้วล่ะ  จนกระทั่งบัดนี้พ่อก็ยังคงอยู่เป็นหลักให้กับกลุ่มแทนพ่อบัวอย่างเหนียวแน่น

 

ดิฉันรู้สึกเครียดแทนชาวบ้าน กลัวว่าจะจัดการได้ไม่ดี เพราะเป็นงานหนักมากสำหรับเจ้าภาพ นอกจากการเตรียมสถานที่แล้ว ทีมทำกับข้าวก็ต้องเข้มแข็งมาก ๆ  เพราะต้องทำอาหารถึง ๑๕  มื้อ!!!   ......ทำให้พวกเราออกไปดูพื้นที่ ทุก ๆ  วัน เป็นเวลา ๑ เดือน

 

ชาวบ้านดูเขาก็ทำไป ไม่ได้วิตกกังวลอะไร เขาไม่ได้แสดงความรู้สึกนึกคิดอะไรออกมา  แต่กลุ่มที่ตื่นเต้นสุด ๆ  จะเป็นเด็ก ๆ ที่บ้านนาคำกลาง ที่ตอนหลังพวกเขาเรียกตัวเองว่า กลุ่มเด็กฟื้นฟูต้นทุนชีวิตชุมชนท้องถิ่น  เด็ก ๆ  เข้ามาหาพวกเรา เวลาเราประชุม เวลาเราเตรียมสถานที่เด็กผู้ชายก็เข้ามาช่วยอย่างจริงจัง ส่วนเด็กผู้หญิงก็เสนอว่าจะนำการแสดงมาแสดงร่วม พวกเราตอบตกลง แต่ลูกต้องไปเตรียมเองนะ ป้าจะไม่ได้ช่วยอะไร...เด็ก ๆ  ตกลง เราไม่ได้รู้ ไม่ได้เห็นว่าพวกแกทำอะไรบ้าง 

 

เมื่อถึงช่วงที่พวกเราเตรียมเวทีได้ ๘๐% แล้ว เริ่มแต่งหน้าเวที เด็กผู้หญิงเริ่มเข้ามาเมียงมอง ปั่นจักรยานกันมาเป็นทิวแถว เสียงแซ่ดมาก่อนตัว ชุลมุน รวมทั้งตัวเล็กรุ่นก่อนป. หนึ่งก็ตามมากันเป็นพรวน ...

พวกสูพากันมาทำไป

พวกข้อยจะมาดูเวที

ไป รีบหนีไปไกล ๆ เดี๋ยวจะมาเหยียบต้นไม้ตาย เดี๋ยวเวทีเพิ่นจะพัง

ฮ่วย ไม่มาดูแล้วจะรู้อย่างไรว่าจะฟ้อนตรงไหน ก็ต้องมาดูไว้ก่อน

 

เด็ก ๆ  ไม่กลัวคำดุด่าจากพ่อวิเชียร ที่ปากแกเป็นอย่างนั้นเอง ปากร้ายแต่ใจดี

 

เมื่อถึงเวลาการแสดงเด็ก ๆ  เหล่านี้ พวกแกพากันแต่งตัวเอง แต่งหน้าเองพร้อมเพรียง ตั้งใจเต็มกำลังตั้งแต่เด็กอนุบาลถึงเด็กมัธยมปีที่หนึ่ง เรียงลำดับไหล่ ๑๕  คน ฟ้อนไป ผ้าถุงหลุดบ้าง สะไบหลุด เข็มขัดหลุด กางเกงขาสั้นที่ซ้อนข้างในผ้าถุงหลุดบ้าง แต่เด็กพวกนี้ไม่สน ไม่อาย ใจจรดจ่ออยู่กับการแสดง พวกผู้ใหญ่พากันวิ่งกันพล่าน ช่วยกลัดผ้าให้ใหม่ มัดผ้าถุงให้เข้าเอว  ผ้ารัดอก  เนื่องจากแกยังเด็กเกินไปมัดแน่นแค่ไหนพอฟ้อนไป  ขยับร่างกายไป ผ้าผ่อนเหล่านี้มันก็หลุด ไม่มีเนื้อให้ติด แม้จะผ้าผ่อนหลุดแต่แกไม่หยุดการฟ้อนรำ พวกเราทั้งหัวเราะ และชื่นชมในจิตใจ ความตั้งใจของเด็กเหล่านี้ แม่แก้วยังเหล่าแถมท้ายอีกว่าเพลงที่เปิดประกอบนั้น(เป็นเมดเล่ย์) ถ้าไม่ปิดเด็กพวกนี้ก็จะฟ้อนอยู่อย่างนั้นแหละ ไปได้เรื่อยๆ ....

 

ตอนกลางวัน บางช่วงที่ผู้ใหญ่ไปทำกิจกรรมนอกเวทีประชุม เด็กเหล่านี้ก็จะพากันมาจับจองเครื่องดนตรี พิณ แคน โหวต โปงลาง เคาะ ป๊อง ๆ  แป๊ง ๆ   ไปตามเรื่อง พวกเขาสนใจ..... พอผู้ใหญ่มา พวกเขาก็หยุดเล่น ....การเรียนแบบง่าย ทิ้งเครื่องมือที่เขาสนใจไว้แล้วไปแอบดูพวกเขา เข้าหาเครื่องมือเหล่านี้แบบธรรมชาติ ในบรรยากาศที่เป็นธรรมชาติ ร่วมกับผู้ใหญ่..... ความกล้าหาญ ไม่กลัวใครของเด็กนาคำกลางนี้ มีผู้สังเกตุการณ์บางคนเห็น ถึงกลับเอ่ยปากว่า   เด็กพวกนี้ ถ้ามีการนำดี ๆ  ก็จะดี จะเก่งสุด ๆ  เลย แต่ถ้าเป็นอีกทางตรงข้าม ก็คงเป็นมหาโจรไปเลย....  

  

จนกระทั่งปัจจุบัน เด็กพวกนี้ก็ได้มีแปลงผักของตนเอง ปลูกผักกันเป็นกลุ่มทุกปี ร่วมกิจกรรมกับผู้ใหญ่เรื่องการออมทรัพย์  และร่วมทำงานด้านข้อมูลในบางเรื่อง ดิฉันอยากจะทำอะไรที่มากกว่านี้  แต่ต้องสารภาพว่าไม่มีปัญญาเพียงพอ ก็ได้แต่ขับเคลื่อนเล็ก ๆ  น้อย ๆ  ตามเงื่อนไขข้อจำกัดของตนเอง .....น่าเสียดายเพชรงามเม็ดนี้  
หมายเลขบันทึก: 74686เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2007 21:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านแล้วรู้สึกประทับใจและเห็นภาพชัดแจ่มแจ้ง... เด็กๆมักทำให้เราเห็นคุณค่าของเวลาและเห็นศักยภาพของตัวเราเองอยู่เสมอ... อยากให้... แต่ติดที่เวลาและกำลัง...ถามว่าจะทำอย่างไรดี... ก็ขอเป็นกำลังใจว่าทำงานกับพ่อแม่ของพวกเขาให้ดีที่สุด

คุณหมอของหนูเคยแนะนำว่าถึงอย่างไรเด็กเขาก็มีพ่อมีแม่ของเขาเอง...เราคงเข้าไปทำอะไรได้ไม่มากหลายครั้งหนูต้องยอมจนใจและปล่อยให้เป็นไปตามเหตุปัจจัยของเด็กแต่ละคนไป

ผมเกรงว่าหลังจากเจียรนัยแล้วจะขึ้นหิ้งครับ

เก็บไว้อย่างนั้นคุณค่ายังเต็มๆกว่านะครับ

ขอมองต่างมุมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท