ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เกษตรประณีต : คิดถึงบ้าน


เมื่อผมได้ศึกษาเรื่องเกษตรกรรมแบบประณีตที่ทำมาแล้วกว่า 10 ปี จึงเกิดคำถามว่าทำไมยังไปได้ไม่ไกลนัก ดังนั้นต้องกลับบ้านเพื่อไปขอความรู้จากคุณหมออภิสิทธิ์ ผู้ร่วมบุกเบิกกับปราชญ์ชาวบ้าน ที่ขอนแก่น

เมื่อตอนตี 4 ครึ่ง ผมลุกขึ้นมาอ่านหนังสือรายงานประจำปี 2549 โครงการพัฒนาชุมชนภาคอีสาน เพื่อการเสริมสร้างสุขภาพที่ยั่งยืน เนื้อหาสาระหลักเป็นเรื่องของผลการดำเนินงานเรื่องเกษตรกรรมแบบประณีต อ่านแล้วทำให้ผมเกิดคำถามในใจมากมายเลยทีเดียว จนกระทั่งอยากจะต่อสายถึงท่านนายแพทย์อภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยโดยตรง เพื่อไขข้อข้องใจที่ท่านยังไม่ได้เขียนไว้ ทันใดนั้นต่อมใต้สำนึกของผมก็สั่งการขึ้นมาว่า โครงการนี้อยู่ขอนแก่นนี่นา น่าจะกลับไปถามด้วยตัวเองดีกว่าจะได้กลับไปเยี่ยมบ้านด้วย และไปพบท่านผศ.ดร.แสวง รวยสูงเนินอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ เพื่อให้อาจารย์เป่ากระหม่อมให้ด้วย ยิงนกนัดเดียวได้ 3 ตัวไปเลย

ดังนั้นวันนี้ ผมขออนุญาตพันธมิตรเรื่องเห็ดไว้ก่อนนะครับ ขอกลับไปสร้างบ้านก่อนเพราะอาจารย์กำลังจ้องอยู่ครับ แต่หากมีประเด็นคำถามเข้ามาจะได้มาเล่าสู่กันฟังใหม่ครับ

จากที่ผมได้ลองสืบค้นข้อมูลเรื่องเกษตรกรรมแบบประณีต ทำให้ผมเกิดข้อสงสัยมากมายว่าการพัฒนาเรื่องเกษตรกรรมแบบประณีตว่าทำไมขยายตัวได้ค่อนข้างช้า เพราะเท่าที่มีการทำมาก็ใช้เวลาในการดำเนินการร่วม 10 ปีแล้ว โดยนับจากท่าน ศ.ดร.เสน่ห์ จามริก ได้ร่วมประชุมเป็นครั้งแรกที่สวนป่าครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อปี 2538 แล้วก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ครั้นต่อมาท่านนายแพทย์ อภิสิทธิ์ ธำรงวรางกูร ได้ดำเนินการสานฝันเพื่อให้เป็นจริงจนกระทั่งมาถึงทุกวันนี้ แต่ก็ยังไม่เป็นรูปธรรมชัดเจนเท่าที่ควร ผมจึงมีข้อสงสัยดังนี้ครับ

1. เกษตรกรขาดความรู้ในเรื่องของการทำเกษตรกรรมแบบประณีตใช่หรือไม่

2. เกษตรกรรมแบบประณีตทำยากหรือ? จึงมีคนทำน้อย

3. ทำเกษตรกรรมแบบประณีต ทำแล้วไม่เพียงพอต่อการบริโภค และค่าใช้จ่ายในครัวเรือนใช่หรือไม่จึงไม่มีใครทำ หรือทำน้อย

4. ทำไมปราชญ์ชาวบ้านไม่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันนับวันจะลดลง

เอาแค่ 4 คำถามก่อนนะครับ เพราะอาทิตย์หน้าผมจะไปขอนแก่นและสอบถามท่านคุณหมออภิสิทธิ์ โดยตรงแล้วจะมาเล่าให้ฟังครับ

ก่อนที่จะขอคำตอบจากท่านผู้รู้ ผมขออนุญาตลองคิดดังๆ และตอบคำถามตัวเองดูนะครับว่าด้วยเหตุผลนี้หรือไม่ เพื่อท่านจะได้ให้แนวทาง และเติมเต็มต่อไปครับ

ตอบข้อที่ 1 ผมคิดว่าพี่น้องเกษตรกรทุกคนมีความรู้ในเรื่องของการทำเกษตรอยู่ในตัวทุกท่านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการจัดการในเรื่องดิน น้ำ แสง และการเลือกกิจกรรมพืช และสัตว์ แต่ผมคิดว่าพี่น้องเกษตรกรขาดการคิดเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบในการแก้ปัญหา จึงทำให้ไม่สามารถแก้ไขกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทของตนได้ อีกทั้งไม่ได้มีการรวบรวมเป็นชุดความรู้ที่ตนเองเคยทำสำเร็จเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับตนเองต่อไป และคิดว่าชุดความรู้ของคนอื่นที่เป็นตำราวิชาการซึ่งเขียนโดยผู้มีคุณวุฒิ หรือนักส่งเสริมทั้งหลายดีกว่าของตน จึงนำไปใช้โดยไม่ได้ปรับให้เข้ากับบริบทของตนเอง สุดท้ายก็แก้ไขปัญหาไม่ได้เช่นเคย อีกทั้งไม่ค่อยได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคนอื่นจึงเกิดความท้อ และไม่ได้ดำเนินการต่อ

ตอบข้อที่ 2 ผมคิดว่าทำไม่ยาก เพราะเรื่องของการปลูกการฝังเป็นเรื่องที่พี่น้องเกษตรกรมีความถนัดอยู่แล้ว แต่ที่ไม่ได้ผลคือไม่เอาใจใส่เท่าที่ควร เกษตรกรยุคใหม่ใจร้อน ขาดความอดทน ทำอะไรต้องการเห็นผลเร็ว สุดท้ายจึงไม่ทำเกษตรกรรมแบบประณีต

ตอบข้อที่ 3 การทำเกษตรกรรมแบบประณีตในพื้นที่ 1 ไร่ ผมว่าสามารถเลี้ยงคนในครอบครัว 5 คนได้อย่างสบายๆ เพียงแต่ว่าเราจัดการความรู้ในเรื่องการผลิต และกิจกรรมอย่างไร ให้สมดุล และเกื้อกูลกันดังตัวอย่างที่ผมเคยได้นำเสนอไปบ้างแล้ว หรือเราอาจะเคยได้ยินทางสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกชะโอม 2 ไร่ส่งลูกเรียนเมืองนอกในภาคกลาง ขอเพียงว่าท่านมีความขยัน และเอาใจใส่เพียงใด ในขณะเดียวกันเกษตรกรรมแบบประณีตถือเป็นแปลงเรียนรู้ เป็นแบบฝึกหัดหากท่านมีพื้นที่มากก็สามารถขยายพื้นที่การผลิตออกไปได้ หากแต่ว่าเราใช้หลักของเกษตรกรรมแบบประณีตเข้าไปจัดการระบบการผลิต

ตอบข้อที่ 4 ผมคิดว่าอาจจะเพิ่มขึ้นนะครับ แต่ไม่ได้มีการนำเสนอ และไม่ได้ถูกจัดอยู่ในสารระบบ หากเป็นอย่างนี้จริงน่าจะได้มีการจัดทำเป็นฐานข้อมูลใหม่เพื่อจะได้มีผู้รู้ (ปราชญ์ชาวบ้าน) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีสำหรับเกษตรกรที่ต้องการศึกษาหาความรู้ และสำหรับปราชญ์ชาวบ้านที่ลดลงนั้นเท่าที่ผมศึกษาจากข้อมูลและมีโอกาสได้รู้จักกับท่านเหล่านั้น พบว่าเป็นการลดลงด้วยเงื่อนไขทางสรีรวิทยา เนื่องจากคนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป และแถมอีกสักข้อนะครับ เป็นข้อที่ 5 แล้วจะทำอย่างไรให้คนมาทำเกษตรกรรมแบบประณีตมากขึ้น

ขอความกรุณาผู้รู้ทั้งหลายช่วยเติมเต็มให้ด้วยนะครับ และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

สวัสดีครับ

อุทัย อันพิมพ์

13 มกราคม 2550

 

หมายเลขบันทึก: 72503เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2007 22:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 17:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

คำถามกำลังจะได้กลับบ้าน

แต่คำตอบยังไม่กลับครับ

อ.อุทัย ครับ 

งานวิจัยและพัฒนาในสังคมไทย ยังไม่มีผลเท่าใดนัก จะอธิบายเรื่องมันยาว

ที่ไม่สำเร็จเอาอะไรมาประเมิน?

 เอาความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในวิถีไทย จะเห็นว่าคนไทยมีทุกข์เพิ่มขึ้น หนี้สินมากขึ้น ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้มีมากขึ้น ถ้าเราพัฒนาได้สำเร็จ สถานการณ์มันจะเป็นอย่างที่กล่าวรึครับ

อย่าเสียเวลากับโจทย์ต่างๆที่คนอื่นตั้ง  ถ้าจะสู้กับความจริง ต้องตั้งโจทย์ที่สะท้อนภาพรวมทั้งระบบ ไล่มาตั้งแต่นโยบายของชาติ กระบวนการแต่ละระบบของกรมกอง ตัวเจ้าหน้าที่ ตัวรับลูกที่เป็นเป้าหมายของการพัฒนา กิจกรรมกิจการ มันยังไปคนละทิศละทาง

ที่ถามมา1-5-6 ข้อนั้น มันจึงตอบคำถามที่เป็นความจริงไม่ได้ เพราะเหตุผลหลักๆมีไม่ต่ำกว่า 20ข้อ เอาไว้กลับบ้านเรา ค่อยเอามาคลี่ดูจะรู้ว่าทำไมมมม.. 

  เกษตรประณีต 1 ไร่ เป็นวิธีเรียน วิธีหนึ่งในการพัฒนาวิถีไทยเท่านั้น ยังต้องอาศัยองค์ประกอบอื่นๆอีกมาก  ถ้าสังเกตเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง จะมีเป็นขั้นเป็นตอนไต่ระดับขึ้น ถามว่า กระเกษตรประณีต 1 ไร่มีไหม มีขั้นตอนแต่มันไม่ชัด เพราะไปหลงกับผลผลิต/ผลลัพธ์ 1 ไร่นั้น ในหลักการของทฤษฎีใหม่ อธิบายไว้คลอบคลุมกว่า เพียงแต่1ไร่ ดีตรงการชวนทำขั้นเตรียมพื้นฐานทำเล็กๆแบบจิ๋วแต่แจ๋ว แต่ต้องทำยกขั้นต่อๆไปอีก เป็น แจ๋ว -แจ๋วแหวว-แจ๋วจังฮู.. 

ส่วนมากไปฝันเฟื่องว่าการทำเกษตรประณีต แล้วจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด ไม่จริงครับ รถยนต์ ต้องมีล้อ มีพวงมาลัย มีน้ำมัน มีเครื่องยนต์ และส่วนประกอบอีกเป็นพันๆชิ้น

การเกษตรที่อยู่ได้ ไม่ใช่อาศัยแปลงผักกระจิดเดียว เรายังต้องกินไข่ กินเนื้อ กินน้ำปลา แปรรูป พัฒนาผลิตภัณฑ์อื่นๆนอกเหนือจากผัก 1 แปลงนั่นไม่ใช่หรือ

ถ้าตั้งสมมุติฐานว่า เกษตรประณีต 1 ไร่

เป็นกุศโลบายหนึ่งในการที่ปราชญ์ชาวบ้านยกมาเป็นสาระการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาสมาชิกใช่หรือไม่ อย่างนี้ค่อยใกล้ความจริงหน่อย

ทำไมถึงใช้พื้นที่ 1 ไร่

ก็เพื่อประเมินได้ง่าย ว่าสมาชิกเอาความรู้อะไรบ้างใส่ลงไปในพื้นที่ 1 ไร่นั้น ต้องทดลองต้องพิสูจน์ความรู้ในแปลงนั้น อย่างทรหด ไม่ใช่ปลูกเจาะแจ๊ะไม่ศึกษาวิจัย แล้วบอกว่าดี มันก็ดีแค่ปลายแถว ปลายเหตุ ยังเข้าไม่ถึงความรู้ดี 

แม้แต่คำว่า "เกษตรผสมผสาน" ยุคนี้ จะต้องต่างจากยุคก่อนๆ ต้องแบ่งออก

1 ทำเพื่อกิน 2 ทำเพื่อขาย ในที่เดียวกันนั่นแหละ แยกให้ชัด

ถ้าบอกว่าทำกิน เหลือค่อยขาย ตลกครับ!

แสดงว่าผู้พูดไม่ใช่นักปฏิบัติ เหลือขายเล็กๆน้อยๆ ไม่คุ้มกับการเสียเวลา เว้นแต่จะดันทุรังเถียงคอแตกอยู่คนเดียวแล้วคนอื่นทำตามไม่ได้ มันต้องเลือกคำตอบที่ทุกคนโดยรวมทำได้ ต้องมีระบบรองรับหรือสร้างระบบขึ้นมารับ

สรุป เรื่องนี้ยังไม่มีคำตอบ อ.อุทัย ต้องมาลงหาคำตอบด้วยการลงมือปฎิบัติตามหลักการKM. แล้วจะรู้ว่าคำตอบมันเป็นอย่างไร คนไหนทำ ก็ได้คำตอบเพื่อคนนั้น ไม่ใช่ตอบแทนได้ทั้งหมด   

ขอบคุณมากครับ

ทั้ง ท่านผศ.ดร.แสวง และครูบาสุทธินันท์

ด้วยความเคารพ

อุทัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท