ระบบเศรษฐกิจในชุมชนที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียง


ระบบเศรษฐกิจที่กลวงโบ๋ ดังกล่าวข้างต้น ทำให้การพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปได้ยาก อันเนื่องมาจากความจำเป็นที่จะต้องหาเงินมาหมุนแบบตัวเป็นเกลียว ก็ยังไม่ค่อยทันกับเงินที่ต้องใช้
 

ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะต้องพยายามพัฒนาวิธีคิดเพื่อให้มีระบบเศรษฐกิจพอประมาณ และมีเหตุผล จนสามารถทำให้พึ่งตนเองได้ มีความซื่อสัตย์สุจริต ขยัน อดทนที่จะนำไปสู่วิถีชีวิตที่มีความสุขและครอบครัวมีความสุข พอที่จะแบ่งปันให้กับผู้อื่นได้

  วิธีคิดเหล่านี้ ต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกัน เตรียมรับผลกระทบ ปรับวิถีชีวิต และแนวคิดต่างๆ ให้สอดคล้องกัน   

แต่ในทางปฏิบัติ ระบบเศรษฐกิจในภาคประชาชนปัจจุบัน ยังอยู่ในสภาพที่เปราะบาง และกลวงโบ๋ เหมือนไข่ที่มีแต่เปลือก ต้องพยายามประคับประคองไม่ให้เกิดการล่มสลาย เพราะการขาดความแกร่ง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกษตรกรและชาวบ้านโดยทั่วไป ไม่สามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่พอเพียงได้ อันเนื่องมาจากปัญหาระบบเศรษฐกิจ ๕ ประการด้วยกัน ตั้งแต่การพัฒนาทรัพย์สินที่ทำให้กลายเป็นหนี้สิน ที่จำเป็นจะต้องมีนโยบายสนับสนุนอย่างถูกต้อง โดยอาศัยพื้นฐานของชีวิตที่ไม่มีความโลภ ระบบการพัฒนาที่มีภูมิคุ้มกันดังกล่าวข้างต้น

  

อันเนื่องมาจากระบบเศรษฐกิจที่มีอยู่ในชุมชนปัจจุบัน คือ

 

1.    ระบบของใช้ประจำวัน ที่มีอยู่ ส่วนใหญ่เข้าไปสู่วงจรของการผ่อนรายเดือนหรือรายฤดู หรือรายปี ที่เป็นระบบการใช้เงินล่วงหน้า ที่ยังไม่สามารถหามาได้ แต่ก็ใช้ไปก่อน จึงทำให้มีภาระหนี้สินที่ต้องหาเงินมาเพื่ออุดช่องว่างเหล่านี้ให้ได้ทันเวลา

 

2.    เมื่อระบบของใช้ต่างๆ อยู่ในภาวะเงินผ่อนแล้ว เงินที่ใช้อยู่ในทุกวัน ก็จะเริ่มขาดแคลน เพราะต้องนำไปผ่อนของที่ใช้เป็นรายงวดดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีอาการชักหน้าไม่ถึงหลัง และจำเป็นต้องหาเงินมาใช้ ซึ่งอาจเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยสูง เป็นส่วนใหญ่ เท่าที่ทราบมีตั้งแต่ดอกเบี้ยร้อยละ ๕ ถึงร้อยละ ๒๐ ต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่ผิดกฎหมาย แต่ก็ยังแอบทำกันอยู่ วิธีการให้เงินกู้จะทำในรูปแบบที่ผู้กู้ไม่รู้ตัวว่าต้องใช้ดอกเบี้ยราคาแพง แต่ใช้ระบบการผ่อนรายวัน เป็นจำนวนเงินที่แน่นอน จนทำให้ไม่รู้สึกว่าเป็นการใช้จ่ายเงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นอุบายที่ชาญฉลาดของผู้ให้กู้ จนทำให้ผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดีเข้าไปติดกับในระบบนี้มากมาย

 

3.    เมื่อระบบเงินหมุนเวียนในครอบครัวไม่ค่อยมี ก็เข้าไปสู่วงจรการกู้เข้ามาลงทุน ซึ่งบางครั้งก็เป็นการกู้ลงทุนจริง ๆ แต่บางครั้งก็เป็นการกู้มาใช้บ้าง ลงทุนบ้าง ทำให้ภาระหนี้สินทบต้นขึ้นไปเรื่อยๆ ประเด็นนี้เป็นสาเหตุใหญ่ของการสูญเสียอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน และทรัพย์สินอื่นๆ และทำให้เข้าไปสู่วงจรของการเป็นหนี้ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นคนไร้ที่ทำกินในที่สุด

 

4.    เมื่อเกษตรกรและชาวบ้านทั่วไป จำเป็นต้องพึ่งพาระบบธนาคาร ก็มีการพัฒนาระบบบัญชีเงินฝากเพื่อทำให้ดูเหมาะสมที่ธนาคารจะให้กู้ได้ เพราะฉะนั้นจะมีการทำให้บัญชีดูสวยงาม โดยการโยกเงินที่มีอยู่ไปมา ซึ่งอาจทำกันเป็นกลุ่ม หรือทำเป็นรายบุคคลก็แล้วแต่ จึงเป็นบัญชีธนาคารที่ทำขึ้นเพื่อการกู้ยืมมากกว่าการเป็นบัญชีเงินฝากจริง ๆ

 

5.    เมื่อระบบการดำรงชีวิตอยู่ในภาวะติดลบ ก็จะทำให้มีการนำทรัพย์สินเข้าไปเป็นประกันเงินกู้ ซึ่งในที่สุดการถือครองต่างๆ จะมีแต่โดยพฤตินัยเท่านั้น แต่เจ้าของจริง ๆ ของทรัพย์สินเหล่านั้น กลับเป็นนายทุนเงินกู้ ทั้งที่เป็นส่วนของเอกชนหรือธนาคารต่างๆ

  

จากระบบเศรษฐกิจที่กลวงโบ๋ ทั้ง ๕ ประเด็นดังกล่าวข้างต้น ทำให้การพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียงเป็นไปได้ยาก อันเนื่องมาจากความจำเป็นที่จะต้องหาเงินมาหมุนแบบตัวเป็นเกลียว ก็ยังไม่ค่อยทันกับเงินที่ต้องใช้ ถึงแม้จะมีระบบเงินกู้เพิ่มเติมขึ้นในชุมชนก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสั้น ๆ เท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาโครงสร้างพื้นฐานได้

  

ฉะนั้น แนวทางในการที่จะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจพอเพียง จึงจำเป็นต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป หาทางอุดรูรั่วต่างๆ ให้ได้เสียก่อน โดยเฉพาะรายจ่ายฟุ่มเฟือย ทั้งหลายต้องลดลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วจึงจะค่อย ๆ มีเงินเหลือพอที่จะนำไปล้างหนี้สินที่มีอยู่เดิมให้เหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ จนสามารถพัฒนาขึ้นเป็นทรัพย์สินได้

  

จุดแตกหักของการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพอเพียงนี้ จึงอยู่ที่ การเปลี่ยนวิธีคิด  ลดกิเลส  ทำความเข้าใจตนเอง ตัดวงจรชีวิตตัวเองออกจากความฟุ้งเฟ้อและความหลงระเริงไปกับกระแสเศรษฐกิจให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะมีโอกาสสำเร็จอย่างแท้จริง

  

จากประสบการณ์การทำงานกับชุมชน พบว่า เกษตรกรรายที่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ก็คือ คนที่มีจิตแบบสันโดษ แยกตัวเองออกจากสังคมได้อย่างไม่สนใจคำครหานินทา จนกระทั่งพัฒนาชีวิตตัวเองได้แล้วจึงกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะผู้กระทำการปฏิวัติตัวเองได้สำเร็จ

  

เพราะฉะนั้น จุดวิกฤติที่สำคัญ จึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ในขณะที่เขาหันออกจากระบบเศรษฐกิจกระแสหลัก เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง  ซึ่งจะต้องต่อสู้กับทั้งตนเอง ครอบครัว และสังคมรอบข้าง  เมื่อผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้แล้ว ก็สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในบางครั้งต้องอาศัยความสามารถในการคาดการณ์ที่ถูกต้อง ว่าควรจะปรับตัวอย่างไร ในเรื่องใด จังหวะไหน จึงทำให้บางคนทำสำเร็จได้เร็ว บางคนก็ใช้เวลามาก และบางคนก็ยังทำไม่สำเร็จ

  

ฉะนั้น ทางเลือกที่สำคัญก็คือ การทำงานแบบคู่ขนาน เพื่อการสร้างเงินหมุนเวียนไปในขณะเดียวกันกับการสร้างระบบความหลากหลายเพื่อเตรียมรับผลกระทบต่างๆ ไปพร้อม ๆ กัน ก็จะเป็นลู่ทางที่ทำให้สำเร็จได้ง่ายขึ้น

  

ดังนั้น ประเด็นสำคัญในเชิงนโยบาย จึงต้องสนับสนุนการพัฒนาการปรับเปลี่ยนนี้อย่างจริงจังและชัดเจน สิ่งที่ทำมาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นกองทุนเงินล้าน หรือเงินทุนหมุนเวียนใด ๆ ก็แล้วแต่ ส่วนใหญ่แล้วล้มเหลว

ยกเว้นเฉพาะครัวเรือนที่มีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วเท่านั้น จึงสามารถรับผลประโยชน์จากโครงการเหล่านั้นได้

แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นการซ้ำเติม ทำให้สถานการณ์รุนแรงมากกว่าเดิม

ซึ่งข้อเสนอแนะที่สำคัญคือ

  • การทำโครงการที่มีความละเอียดรอบคอบ และ
  • มีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างแท้จริง
  • โดยใช้ชุมชนเข้มแข็งเป็นแกนนำร่อง เพื่อให้เกิดตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม
  • แล้วค่อยๆ ขยายผลไปสู่ชุมชนอื่นๆ ที่มีความพร้อมพอสมควร
  • แต่ต้องหลีกเลี่ยงที่จะทำงานกับชุมชนที่ยังไม่พร้อม เพราะจะเกิดปัญหาและตัวอย่างที่ไม่ดี
  • ทำให้โครงการต่างๆ ที่ดีถูกมองว่าไม่ประสบผลสำเร็จ
  •  และถูกยกเลิกไปในที่สุด
ดังที่มีประสบการณ์อย่างมากมายมาแล้ว  
หมายเลขบันทึก: 72181เขียนเมื่อ 11 มกราคม 2007 20:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

การทำเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้กระแสเศรษฐกิจกระแสบริโภคนิยมไม่ใช่เรื่องง่าย นับตั้งแต่

1 นโยบายรัฐทิ้งน้ำหนักไปทางไหน

2 โครงสร้างสังคม คนชั้นกลาง-สูง (มีกำลังซื้อ) คนชั้นล่าง ไม่มีกำลังซื้อแต่ต้องซื้อด้วยภาวะจำยอม เป็นกำแพงสูงที่ขวางกั้น

 3 ค่านิยมสังคม ปลื้มกับกระแสเสมือนจริง

4 ระบบชีวิต สร้างวงจรใหม่ แดกด่วน เร่งรีบ ไม่ฉุกคิด

5 ระบบรองรับไม่ชัดเจน

6 เศรษฐกิจพอเพียงเกิดจากการปฏิบัติ ไม่ใช่การพูด

7 ตัวเอื้อให้เกิดให้เห็นดีด้วย ยังไม่มีพลังเท่าที่ควร

8 ระบบนี้ในอนาคตอาจจะต้องปรับยุทธศาสตร์ให้คนเข้าใจง่าย ปฏิบัติตามง่าย บางคนเข้าใจและเห็นดีด้วย แต่ชีวิตถลำไปกับกระแสหลัก จะถอนตัวยาก เพราะมันซึมซับเข้าไปในเลือดเนื้อไม่ต่างกับยาเสพติด มันสึกเข้าไปๆๆ-ความเคยชิน--เข้าไปเป็นสันดาน ไม่ยอมคิด ไม่เปลี่ยนพฤติกรรม และระบบคิด ยากที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตได้

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือการเสพติดครับ

ตอนนี้เราเสพติดแทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะความฟุ้งเฟ้อ

ตัวชี้วัดอันหนึ่งคือร้านให้เช่าชุดแต่งงานมีทุกมุมถนน ทำไมไม่ใช้ชุดสวยงามปกติมีมากมาย

ผมเคยไปงานหนึ่งแต่งงานแบบชาวบ้านเลี้ยงกันบนลานดินหน้าบ้าน แต่แต่งชุดขาวลากพื้น ไม่รู้เอาแนวคิดมาจากไหน

ไม่รู้ยาขนานไหนจะช่วยได้ครับ

  • ผมทำกับข้าวไม่เก่ง
  • แต่ถ้าเปรียบว่าแม่ครัวคนหนึ่งกำลังปรุงรสต้มยำ  ชิมแล้วเค็มมาก  การแก้ไขให้พอดีคงยาก   ต้องใช้ส่วนผสมหลายอย่างหรือตัดสินใจเทต้มยำหม้อนั้นทิ้งแล้วเริ่มใหม่
  • ถ้าเริ่มใหม่ เริ่มด้วยบทเรียนว่าเคยเค็มเพราะอะไร  ได้เททิ้งเพราะอะไร   ค่อยๆปรุง  ค่อยๆชิม  
  • จากความจางไปหาความเค็ม มันต้องชิมหลายครั้ง  จึงจะเห็นจุดพอดี 
  • จุดพอดี  ที่มีตัวตนของใครของมัน 
  •  ของใครของมันต้องไม่เบียดเบียนกัน
  •  ไม่เบียดเบียนกันด้วยการเกื้อกูล

ผมคิดตามไม่ทันครับท่านขุนพล

ช่วยขยายความด้วยครับ

 

  • ตามมา ลปรร. ครับ
  • ต้องแก้ที่ข้างในตัวคนก่อนอย่างที่อาจารย์บอกครับ การเปลี่ยนวิธีคิด  ลดกิเลส  ทำความเข้าใจตนเอง ตัดวงจรชีวิตตัวเองออกจากความฟุ้งเฟ้อและความหลงระเริงไปกับกระแสเศรษฐกิจให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
  • หาทางอุดรูรั่วต่างๆ ให้ได้เสียก่อน โดยเฉพาะรายจ่ายฟุ่มเฟือย
  • และเสริมหนุนจากข้างนอกไม่ว่าจะเป็นสังคมรอบข้าง  หรือนโยบายต่างๆ ก็ต้องเดินไปในทางเดียวกัน (ไม่ใช่ไปคนละทางเช่นบางโครงการอย่างที่ผ่านมา)
  • ขอบพระคุณมากครับ

ขอบคุณครับท่านสิงห์ป่าสัก

ผมก็อยากเห็นทุกคนเอาจริงกับการแก้ปัญหาของชาติอย่างประสานงานกัน

ต่างคนต่างทำจะสร้างความเสียหายซะมากกว่าได้ผลครับ

เรียน...ท่านผู้อาวุโส

        ตอนน้ีเมืองไทยเราเปลี่ยนไปมากรับวัฒนธรรม ของชาวต่างชาติมาเยอะ  ไม่เฉพาะแต่ในเขตเมือง หรอกครับ  ตอนน้ีมันลามเข้าสู่เขตชนบทและเริ่ม ฝังตัวแล้วครับ...    

        คนรวยก็รับวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาตาม แบบของคนรวย แต่ที่ร้ายก็คือ คนจน ก็พยายาม ที่จะรับเข้ามาให้เหมือนคนรวยด้วยนี่สิครับแย่... มันเริ่มแย่ตั้งแต่คิดจะรับเข้ามาแล้ว  คำว่า เศรษฐกิจแบบพอเพียง จึงใช้ไม่ค่อยได้ผล บางครั้ง จำเป็นหรือไม่จำเป็นไม่รู้ เอาให้เหมือนเพื่อนไว้ก่อน น้อยหน้าไม่ได้ เช่นตอนน้ีในงานแต่งงาน เราจะเห็น วัฒนธรรมที่หลากหลายซึ่งล้วนแล้วแต่ เกินความ พอเพียงทั้งสิ้น เช่น

  • มีพิธีสงฆ์ (พุทธ)
  • มีพิธีรดน้ำสังข์(พราหมณ์)
  • มีตัดเค้ก(คริสต์)
  • และมีการเลี้ยงโต๊ะจีน

       เห็นมั๊ยครับว่ามันเกินความพอเพียงขนาดใหน  ผิดกับสมัยก่อนที่ทำแบบพออยู่  พอกิน  พอเป็นพิธี  พอดีๆ

                          ด้วยความเคารพ

                                  ครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ

 

ครูราญครับ ถ้าเราไม่เป็นทาส แล้วจะเรียกว่าอะไรครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท