โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ คำนำผู้เขียน


คำนำของผู้เขียน

..............

 

หนังสือ โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ เล่มนี้ เขียนขึ้นเพื่อเป็นพลังหนุนการเปลี่ยนขาด (transform) ระบบการศึกษาไทย    ให้เป็นระบบที่มีครูทุกคนเป็นพลังขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง    ผ่านการเรียนรู้จากการทำงานประจำ ที่เรียกว่า การเรียนรู้จากประสบการณ์  แบบที่มีการพัฒนาขึ้นเป็นระบบที่เหมาะต่อการเรียนรู้ร่วมกันของครู ที่เรียกว่า “การศึกษาชั้นเรียน” (Lesson Study – LS)   ที่ในบางที่เรียกว่า “การศึกษาชั้นเรียนและชุมชนเรียนรู้” (Lesson Study and Learning Community – LSLC)    ส่งผลให้ “โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้” (School as Learning Community - SLC)    

ระบบการศึกษาที่พึงปรารถนาเป็นระบบที่หนุนให้ผู้เรียนทุกคนได้พัฒนาเต็มศักยภาพของตน  และได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้เอาไปใช้ตลอดชีวิต   โดยที่การเรียนรู้นั้นนำสู่การพัฒนาครบทุกด้าน ที่เรียกว่า holistic learning   ทั้งด้านกาย จิต วิญญาณ   หรือพัฒนาครบ VASK      

หนังสือเล่มนี้มุ่งให้กำลังใจ และให้เครื่องมือแก่ครู   ให้เป็นพระเอกนางเอก ลุกขึ้นมาร่วมกันเป็นผู้กระทำการหรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง    โดยเริ่มที่การเปลี่ยนแปลงตนเอง เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการปฏิบัติงานของพวกตน   ให้พุ่งเป้าจดจ่อจดจ้องที่การเรียนรู้ของนักเรียน   ในลักษณะที่มีความเท่าเทียมกันในห้องเรียน   คือครูจ้องมองศิษย์ทุกคน   ศิษย์ที่ด้อยกว่าได้รับการจ้องมองมากกว่า   เพื่อช่วยเกื้อหนุนประคองการเรียนรู้ให้ดำเนินสู่เป้าหมายได้    สู่สภาพที่นักเรียนทุกคนบรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ท่านจะได้เรียนรู้ศาสตร์ว่าด้วยการตั้งเป้าหมายในการศึกษาที่มีถึง ๔ ระดับ   ที่ครูเป็นผู้ร่วมกันกำหนดเป็นส่วนใหญ่   ที่มีส่วนเชื่อมโยงและตอบสนองเป้าหมายใหญ่ของประเทศ  เขตการศึกษา และโรงเรียน    ดังนั้น การปฏิบัติงานของครูแนว โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ นี้ จึงเป็นการสนองนโยบายการศึกษาของหน่วยเหนือไปโดยปริยาย   เป็นการสนองด้วยท่าทีและปฏิสัมพันธ์แนวราบ    ที่ครูร่วมกันส่งรายงานให้แก่หน่วยเหนือผ่านรายงานของ “การศึกษาชั้นเรียน”   รวมทั้งส่งหรือสื่อสารแก่วงการศึกษาของประเทศในภาพรวม

เนื่องจากศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้  และศาสตร์ว่าด้วยความเป็นครู มีความซับซ้อนและลุ่มลึกกว้างขวาง เรียนได้ไม่รู้จบ   การเรียนรู้เพื่อความเป็นครูจึงต้องทำอย่างต่อเนื่อง    หนุนให้ครูเพิ่มพูนความรู้ ๓ ด้าน ที่สำคัญยิ่งต่อการปฏิบัติหน้าที่ครูยุคใหม่ที่ไม่สอนผ่านการบอก แต่เน้นสอนผ่านการสร้างความสงสัยใคร่รู้ให้แก่ศิษย์ แล้วหนุนให้แสวงหาคำตอบเอง    โดยครูใช้ความรู้ ๓ ด้านของตนในการทำหน้าที่แนวใหม่นี้คือ ความรู้เชิงสาระ (content knowledge)  ความรู้ด้านการเรียนรู้ (pedagogic knowledge)  และความรู้ด้านการเรียนรู้ต่อแต่ละสาระ (PCK – pedagogic content knowledge)    การเพิ่มพูนความรู้ทั้งสามด้านในตัวครู ทำได้ไม่ยากผ่าน กระบวนการศึกษาชั้นเรียน (lesson study) ที่เสนอไว้ในหนังสือเล่มนี้   

ที่จริงโรงเรียนจำนวนหนึ่งในโครงการ โรงเรียนพัฒนาตนเอง (TSQP – Teacher and School Quality Program) ที่สนับสนุนโดย กสศ. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ที่ดำเนินการมา ๕ ปี   ได้มีกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่องร่วมกันของครูในโรงเรียน    และเรียนรู้ข้ามโรงเรียนในกระบวนการ online PLC coaching   ที่ช่วยให้ครูร่วมกันสร้างการเรียนรู้ใส่ตนได้อย่างน่าชื่นชม   หากนำเอาวิธีการ “ศึกษาชั้นเรียน” เข้าไปบูรณาการ ก็น่าจะช่วยให้การเรียนรู้ร่วมกันผ่านการพัฒนางานของครูไทย มีพลังมากยิ่งขึ้น  เกิดการเรียนรู้แบบที่มีข้อมูลสนับสนุนมากยิ่งขึ้น 

ความเป็นชุมชนเรียนรู้ของโรงเรียนไทยได้เกิดขึ้นก่อนแล้วในโรงเรียนจำนวนหนึ่ง    ผมขอมีส่วนร่วมสนับสนุนให้ชุมชนเรียนรู้ของโรงเรียนเหล่านั้นเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยเสนออุดมการณ์ ปรัชญา และวิธีการ SLC ให้ทีมงานในโรงเรียนนำไปปรับใช้   และเผยแพร่ความสำเร็จที่การเรียนรู้ของนักเรียนออกสู่วงกว้าง    เพื่อให้เกิด โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ ขึ้นทั่วแผ่นดินไทย

ผมขอขอบคุณมูลนิธิสยามกัมมาจล  และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา  ที่ร่วมกันจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้  เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการปฏิรูประบบการศึกษาไทย

วิจารณ์ พานิช

๒๔ กันยายน ๒๕๖๖ วันมหิดล

นิวยอร์ก      

หมายเลขบันทึก: 717670เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2024 17:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2024 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท