อนาคตที่เปราะบางของอุดมศึกษา


 

บทความเรื่อง Higher Education Faces a More Fragile and Contested Future  ในเว็บไซต์ University World News ฉบับวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ สื่อความท้าทายใหญ่ต่อมหาวิทยาลัย 

“Three dilemmas now sit at the heart of higher education: the promise of social equality vs persistent elitism, graduate employability vs cultural formation, and the securitisation of research vs globalisation. Despite this complexity, unstable politics and climate crises, education still offers a way forward.”

ผมมองว่า เป็นความท้าทายที่อุดมศึกษาจะดำเนินการโดยใช้ complexity เหล่านี้เป็นพลัง    ไม่ใช่เป็นตัวสร้างความสับสนและอ่อนแอ   

ผู้เขียน Simon Marginson ศาสตราจารย์ด้านอุดมศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด บอกว่าหน้าที่ของอุดมศึกษาที่ไม่เคยเปลี่ยนมา ๓ พันปีคือ “the cultural formation of persons” – การหล่อหลอมตัวตนเชิงวัฒนธรรมของบุคคล   

อ่านบทความไปไม่กี่ย่อหน้า ก็ตระหนักความเป็น “ปราชญ์” ด้านการศึกษาของผู้เขียน    แต่ผมไม่สนิทใจกับความเห็นที่ท่านเขียนว่า การเรียนรู้เป็นกระบวนการ “immersion in knowledge”   ผมคิดว่าเป็น “immersion in experience” มากกว่า   

ผมได้เรียนรู้ว่า มหาวิทยาลัยวิจัยแห่งแรกของโลก ริเริ่มโดย Alexander von Humboldt  ที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลินในปี 1810   คือ ๒๑๔ ปีมาแล้ว    เป็นการเริ่มระบบวิชาการแห่งคำถามหรือข้อสงสัย    ไม่ใช่วิชาการแบบเชื่อต่อๆ กันมาอย่างในอดีต    ตามด้วยการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งแรกของอเมริกา คือ Johns Hopkins ในปี 1876  

ต่อมาประเทศผู้นำด้านอุดมศึกษาขยับมาเป็นสหรัฐอเมริกา และในทศวรรษ 1960 – 1970 ผู้นำ ๓ ท่านคือ Clark Kerr, Martin Trow และ Bob Clark ริเริ่มมุมมองต่ออุดมศึกษาว่าเป็นระบบหนึ่งของสังคม    และริเริ่ม “การวิจัยระบบอุดมศึกษา” ขึ้น   

ทำให้ผมย้อนคิดถึงความเข้าใจ “ระบบมหาวิทยาลัย” (University System) ที่ผมไปเรียนรู้ California University System จากการร่วมดูงานที่ SEAMEO RIHED จัด    ช่วงต้นเดือนเมษายน ๒๕๕๔ ที่ผมเล่าไว้ที่ (๑)  (๒)    ว่า ท่านอธิการบดี Clark Kerr เป็นคนคิดระบบมหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วย ๓ ส่วนคือ (๑) วิทยาลัยชุมชน  (๒) มหาวิทยาลัยครบเครื่อง (comprehensive)  และ (๓) มหาวิทยาลัยวิจัย    ที่ทำงานเชื่อมโยงร่วมมือกันเป็นเครือข่าย ถ่ายเทนักศึกษาระหว่างกัน  ที่แพร่ไปทั่วสหรัฐอเมริกา    เขาจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยมากว่าห้าสิบปี   ประเทศไทยเราเพิ่งมาจัดเมื่อไม่ถึงสิบปีมานี่เอง       

บทความนี้ ปรับปรุงจาก 2024 Burton R. Clark Lecture เรื่อง The Three Dilemmas of Higher Education    เสนอในการประชุมของ CGHE (Centre for Global Higher Education)    ที่ดาวน์โหลดบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่   

ผมพบว่า เอกสารฉบับเต็มอ่านสนุกกว่าเอกสารใน UWN   ช่วยให้เข้าใจความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของระบบอุดมศึกษาของประเทศตะวันตกได้ดีกว่า    โดยมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับภารกิจของอุดมศึกษา ๓ ประการคือ 

  1. การเป็นกลไกสร้างความเสมอภาค (equity) ทางสังคม    ซึ่งอาจแตกต่างจากแนวคิดการเป็นอุดมศึกษาแบบเพื่อความเป็นเลิศ (elite) 
  2. ยึดถือกันมาเป็นเวลานานว่าอุดมศึกษาทำหน้าที่สร้างหรือหล่อหลอมคนเต็มคน หรือหล่อหลอมมิติของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์   แต่เวลานี้วัดกันด้วยเงินเดือนที่บัณฑิตได้รับ    ซึ่งเป็นการเอาตลาดเป็นตัวกำหนด 
  3. ทวิลักษณ์ (duality) ของการสร้างผู้รู้เรื่องของชุมชนและของชาติ (local)   และรู้กว้างระดับโลก (global)    ที่เดิมสถาบันอุดมศึกษามีอิสระในการดำเนินการ  แต่เวลานี้รัฐเข้ามาจำกัดด้วยกระแสภูมิศาสตร์การเมือง    

เขาบอกว่า ระบบอุดมศึกษามีจุดเปราะบาง หรือความท้าทาย ๓ ด้านใหญ่ ที่เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว   และความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่ อีก ๓ ประการ

ความท้าทายใหญ่ ๓ ด้าน   หรือ ๓ กระแสที่เกี่ยวพันกัน ได้แก่ 

  1. อุดมศึกษาเพื่อคนจำนวนมาก (massification)   ที่ในปี ๒๕๑๘ อัตราเข้าเรียนอุดมศึกษาเท่ากับร้อยละ ๑๑  ในปี ๒๕๖๕ ตัวเลขนี้คือ ร้อยละ ๔๒   เรื่องนี้หากคิดเข้ามาที่ระบบไทย จะเห็นว่าเราปล่อยให้มีการก่อตั้งสถาบันอุดมศึกษาอย่างไม่ระมัดระวังว่า mass ของผู้เข้าเรียนไม่เสถียร   และไม่ระมัดระวังเรื่องคุณภาพ
  2. ระบบเศรษฐกิจและการปกครองแบบเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism)    ที่มุ่งกำกับให้ทุกเรื่อง (รวมทั้งอุดมศึกษา) รับใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายหลัก     
  3. กระแสโลกาภิวัตน์ด้านต่างๆ รวมทั้งอุดมศึกษา    ที่ในช่วงสิบกว่าปีมานี้มีกระแสต้านกลับ จากกระแสชาตินิยม และภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitics)      

ความท้าทายในอนาคต ๓ ด้าน ได้แก่

  1. ความเป็นธรรม (justice)  และความเสมอภาค (equity) ต้องมาพร้อมกับความแตกต่างหลากหลาย (diversity)   อุดมศึกษาจะใช้หลักการนี้อย่างไร
  2. โลกกำลังก้าวสู่โลกหลายขั้ว (multipolar world)  อุดมศึกษาจะสร้างคนแบบไหนที่ช่วยให้คนหลายชาติ หลากหลายระบบสังคมและเศรษฐกิจอยู่ร่วมกันได้โดยไม่เกิดสงครามใหญ่   
  3. โลกกำลังเผชิญวิกฤติภูมิอากาศ   และมีหลักฐานชัดเจนว่าระบบเศรษฐกิจสังคมที่นำโดยโลกตะวันตก  (เขาเรียกว่า Anglophone) จะไม่สามารถแก้ได้    คำถามคือ ระบบอุดมศึกษาที่จะช่วยเปลี่ยนขาดระบบโลกเป็นอย่างไร   

อ่านแล้วผมสะท้อนคิดกับตนเองว่า วงการปราชญ์ของโลกตะวันตกน่าจะรู้ตัวว่า ระบบต่างๆ ของตะวันตกกำลังนำโลกสู่ทางตัน   ต้องมีการเปลี่ยนขาดเชิงระบบในหลากหลายด้าน รวมทั้งระบบอุดมศึกษา     และดูเหมือนผู้นำทางประเทศตะวันออกรู้ดี และคิดสร้างระบบใหม่ขึ้นมาทดแทน   แต่วงการการเมืองและการทหารของโลกตะวันตกมองเป็นการท้าทายอำนาจของตน     

ผู้บริหารระบบอุดมศึกษาไทย ควรได้อ่านบทความ The Three Dilemmas of Higher Education นี้   และติดตามความก้าวหน้าในเว็บไซต์ของ Centre for Global Higher Education    รวมทั้งน่าจะส่งเสริมให้มี “การวิจัยระบบอุดมศึกษาไทย”

วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.พ. ๖๗

 

หมายเลขบันทึก: 717663เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2024 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มีนาคม 2024 22:13 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท