โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้  ๑๔. สรุปและสะท้อนคิดสู่บริบทไทย


 

บันทึกชุด โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ นี้ ตีความจากการอ่านหนังสือ ๒ เล่ม คือ Lesson Study and Schools as Learning Communities : Asian School Reform in Theory and Practice (2019) edited by Atsushi Tsukui and Masatsuku Murase   และ Lesson Study Communities : Increasing Achievement With Diverse Students (2007) by Karin Wiburg and Susan Brown    

ตอนที่ ๑๔ นี้ ผมสะท้อนคิดจากการทบทวนสาระใน ๑๓ บทแรกของหนังสือ  เชื่อมโยงสู่การประยุกต์ใช้ในบริบทของระบบการศึกษาและสังคมไทย 

ต้นฉบับของหนังสือ โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้ เล่มนี้ เขียนเสร็จภายในเวลา ๑ เดือน   เพื่อเร่งพิมพ์ออกเผยแพร่ให้ทันก่อนสิ้นปี ๒๕๖๖   เพื่อหนุน ขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเอง(TSQM – Teacher and School Quality Movement)    หรือที่เราเรียกกันในภาษาที่ไม่เป็นทางการว่า ขบวนการครูและโรงเรียนพัฒนาตนเอง   

โดยที่สาระในหนังสือเล่มนี้ มุ่งสื่อสารต่อวงการศึกษาไทยว่า ขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเองที่เรากำลังร่วมกันมุ่งมั่นดำเนินการและขยายผลนั้น   ดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกับแนวโน้มโลกด้านการพัฒนาการศึกษา    โดยที่หลายส่วน ขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเอง ของไทย ก้าวหน้ากว่าที่ระบุในหนังสือเล่มนี้ อย่างน้อยก็ในบริบทของเราเอง   แต่ยังมีหลายส่วนในหนังสือเล่มนี้ที่สมาชิกของ ขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเอง น่าจะได้นำไปใคร่ครวญร่วมกัน   เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือหนุน ขบวนการโรงเรียนพัฒนาตนเอง เพิ่มขึ้น   เพื่อลดภาระหรือความยุ่งยากของครูลง   และเพื่อยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน รวมทั้งเพื่อยกระดับการเรียนรู้เชิงวิชาชีพของครูไทย   ให้ได้มากและลึกยิ่งขึ้น     

ชื่อหนังสือ โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้  สื่อว่า หัวใจของการปฏิรูปการศึกษาไทยอยู่ที่การหนุนให้โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้    ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า SLC – School as Learning Community   โดยมีเครื่องมือหลักคือ การศึกษาชั้นเรียน(LS - Lesson Study)   ที่บางคนเรียกว่า LSLC – Lesson Study and Learning Community   

บทที่ ๑ ของหนังสือเล่มนี้ วางพื้นฐานเชิงหลักการหรืออุดมการณ์เชิงลึกของ SLC และ LS ไว้อย่างละเอียดหลายแง่มุม    นำสู่เรื่องราวของการประยุกต์ใช้ในหลากหลายบริบท และหลากหลายแนวทาง ในบทที่ ๒ - ๑๓    สะท้อนให้เห็นว่าการประยุกต์ใช้ SLC และ LS/LSLC นั้น    สามารถใส่ความริเริ่มสร้างสรรค์เข้าไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด   

จะเห็นว่า แนวทางที่สหรัฐอเมริกานำไปประยุกต์ใช้นั้น   มีการลงรายละเอียดและความลึกมากกว่าที่นำมาใช้ในเอเซียตะวันออกและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้    

ไม่ว่าเอาไปใช้ในประเทศใด เป้าหมายตรงกัน คือ ใช้เปลี่ยนขาด (transform) วัฒนธรรมการสอน (teaching culture) ของครู    เปลี่ยนขาดวัฒนธรรมการเรียน (learning culture) ของนักเรียน  ครูเปลี่ยนขาดวัฒนธรรมการทำงานของตนเอง จากสอนอย่างเดียว ไปเป็นสอนไปเรียนรู้ไป   การสอนกับการเรียนรู้ของครูอยู่ในที่เดียวกัน    เท่ากับอุดมการณ์และเครื่องมือ SLC และ LS/LSLC นั้น ช่วยให้ครูมีชีวิตที่สร้างสรรค์ยิ่งขึ้น   นำสู่สภาพที่ครูร่วมกันเป็นผู้กระทำการเพื่อจรรโลงวิชาชีพครู   

ทราบข่าวว่าเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน คือ   ต้องการยกระดับศักดิ์ศรีของวิชาชีพครู   ซึ่งคำตอบของผมคือ ต้องส่งเสริมให้ครูร่วมกันทำงานที่ก่อผลแท้จริงแก่ชีวิตในระยะยาวของนักเรียน  เป็นผลที่อยู่ยั้งยืนยาวและมีผลกระทบสูงต่อชีวิตที่ดี และต่อความเป็นพลเมืองดี พลเมืองที่ไม่นิ่งดูดาย  ซึ่งทำได้โดยครูร่วมกันทำตัวเป็นตัวอย่าง    โดยมี อุดมการณ์ ปรัชญา และเครื่องมือในหนังสือเล่มนี้ เป็นพลังหนุน 

ศักดิ์ศรีของคน ของวิชาชีพ เกิดจากการกระทำ   แล้วคนอื่นเป็นผู้มอบการยอมรับจากผลงานที่เป็นที่ประจักษ์    SLC และ LS/LSLC จะช่วยหนุนให้ครูมีวัตรปฏิบัติโดยมีวิญญาณ “ครูเพื่อศิษย์”    เพราะ SLC และ LS/LSLC เน้นให้ครูมีจุดจับจ้อง และสะท้อนคิดเรื่องการเรียนรู้ของศิษย์อยู่ตลอดเวลา    สำหรับนำมาพัฒนาความรู้ ทักษะ และวิญญาณความเป็นครูของตน   

เป็นการเปลี่ยนใจครู จากความคิดว่าตนเป็น “ผู้รู้”   มาเป็น “ผู้เรียนรู้”   เรียนรู้บูรณาการอยู่กับการทำงานอย่างต่อเนื่อง   และที่ช่วยให้เกิดชีวิตการทำงานครูที่สนุกและทำได้ไม่ยาก ก็เพราะใน SLC ครูร่วมกันดำเนินการเป็นทีม   โดยมีระบบงาน ทรัพยากร และทีมพี่เลี้ยงช่วยหนุน 

 SLC และ LS/LSLC ช่วยให้ชีวิตครูเป็นชีวิตแห่งการเดินทาง    เดินทางจากดินแดนที่รู้จัก ไปยังดินแดนที่ยังไม่รู้จัก หรือยังรู้จักไม่ชัด และทำให้กลายเป็นดินแดนที่รู้จักมากขึ้น จนถึงรู้จักดี    และบุกสู่ดินแดนที่ไม่รู้จักที่ทั้งกว้างใหญ่และลึกซึ้งยิ่งขึ้น    ทำให้ชีวิตครูเป็นชีวิตที่ท้าทาย และเกิดปิติสุขเบิกบานใจจากการได้ประสบความสำเร็จในชีวิตแห่งวิชาชีพครู   เป็นนักวิชาชีพที่ร่วมกันยกระดับสมรรถนะของวิชาชีพ  ซึ่งเท่ากับร่วมกันยกระดับศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพไปในตัว 

หากมองจากมุมของการเปลี่ยนขาด (transform) ระบบการศึกษา    หนังสือเล่มนี้เสนอ “สัมมาทิฏฐิ” (right understanding) ของการเปลี่ยนขาดดังกล่าว    ว่าไม่สามารถเกิดได้จากแนวทางการจัดการระบบแบบเดิมๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism)  และ (neo-conservativism) ตามที่กล่าวแล้วในตอนก่อนๆ   แต่สามารถบริหารให้เกิดได้จากการหนุนให้ครูร่วมกันลุกขึ้นมาเป็นผู้กระทำการเพื่อการเปลี่ยนขาดระบบ    เพื่อการเปลี่ยนขาดวัฒนธรรม (cultural transformation) ในระบบการศึกษา    จากวัฒนธรรมแนวดิ่ง ไปเป็นวัฒนธรรมแนวราบ    ที่ผู้บริหารเน้นกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ และหนุน (empower) ผู้ปฏิบัติ (คือครู) ให้ร่วมกันหาวิธีบรรลุเป้านั้น   โดยในหลายกรณีเป็นการร่วมกันยกระดับเป้าหมายให้สูงขึ้นไปอีก   ตามหลักการ “การเรียนรู้สองเด้ง” (double-loop learning”  

การเปลี่ยนขาดระบบการศึกษา มีมิติที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ  การพัฒนาเป็น “ระบบที่เรียนรู้” (Learning Systems)   ที่มีการเรียนรู้เชื่อมโยงและให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) กันไปมาระหว่างส่วนต่างๆ ของระบบ    ข้อความในหนังสือ  โรงเรียนเป็นชุมชนเรียนรู้  เล่มนี้ เป็นข้อเสนอกลไกที่ซับซ้อนยิ่งในเรื่องดังกล่าว   โดยที่หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยการเรียนรู้จากการปฏิบัติ หรือ การเรียนรู้จากประสบการณ์ ของครู ร่วมกับภาคีที่หลากหลาย    

มิติที่ ๓ ของการเปลี่ยนขาดระบบการศึกษาคือ ต้องมี “การวิจัยระบบการศึกษา” (education systems research)    ต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบพัฒนาการวิจัยระบบการศึกษา (education research systems)  เพื่อให้การบริหารระบบการศึกษามีลักษณะของการกำหนดนโยบายและตัดสินใจเชิงนโยบายโดยใช้ขอมูลหลักฐาน (evidence-based policy-making)    ที่หนังสือเล่มนี้ไม่ได้กล่าวถึง   

หนังสือเล่มนี้ ยังกล่าวถึงการเปลี่ยนขาดเชิงวัฒนธรรมการศึกษาอีกมิติหนึ่ง คือ “วัฒนธรรมความร่วมมือ” (collaborative culture)    ที่ครูร่วมกันพัฒนาตนเองและวิชาชีพครูด้วย SLC และ LS/LSLC  และนักเรียนก็เรียนรู้ในมิติที่ลึกและเชื่อมโยงด้วยการเรียนแบบร่วมกันปฏิบัติแล้วสะท้อนคิด   ข้อสะท้อนคิดของเพื่อนช่วยขยายความรู้ความเข้าใจของนักเรียนคนอื่นๆ   ช่วยการพัฒนาให้นักเรียนมีสมรรถนะทั้งด้านคิดและด้านฟัง    ที่ในหนังสือเรียกว่า “วิธีเรียนรู้โดยการฟัง” (pedagogy of listening)   

วัฒนธรรมความร่วมมือระหว่างครู  ระหว่างนักเรียนด้วยกัน   ระหว่างครูกับนักเรียน   และระหว่างโรงเรียนกับภาคีภายนอก หากมีการดำเนินการต่อเนื่องและยกระดับไประยะหนึ่ง (เช่น ๑๐ - ๒๐ ปี) น่าจะมีส่วนขับเคลื่อนสังคมไทยให้กลายเป็นสังคมแห่งความร่วมมือ    เกิดวัฒนธรรมความร่วมมือเพื่อการสร้างสรรค์ บนฐานความคิดเชิงบวก (positive mindset)   เกิดอานิสงส์คือ สังคมไทยน่าอยู่  มีพลังความสามัคคี  เป็นพลังหนุนความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง   

โปรดสังเกตว่า การศึกษาไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สร้างคน   แต่มีส่วนร่วมสร้างสังคมไทยทั้งระบบ                       

วิจารณ์ พานิช

๒๔ ก.ย. ๖๖

ห้อง ๖๐๖  โรงแรมฮิลตัน การ์เด้น อินน์   นครนิวยอร์ก 

 

หมายเลขบันทึก: 717611เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2024 17:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มีนาคม 2024 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท