ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เพาะเห็ดปรับปรุงดินได้อย่างไร


ดินเป็นหัวใจสำคัญในการปลูกพืช นอกจากนั้นยังรวมไปถึงอาชีพการเพาะเห็ดที่กำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เนื่องจากเห็ดเป็นทั้งผัก และสมุนไพร ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของมนุษย์เรา ในขณะเดียวกันวัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดสามารถนำไปเป็นวัสดุปรับปรุงดินได้เป็นอย่างดี

ดินเป็นหัวใจสำคัญในการปลูกพืช เพราะในดินมีธาตุอาหาร และสิ่งมีชีวิตที่ช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดินให้เหมาะต่อการเจริญเติบโตของพืช นอกจากนั้นยังช่วยเกาะยึดระบบรากของพืชไม่ให้โค่นล้มได้โดยง่าย ดังนั้นในดินที่ดีมีความอุดมสมบูรณ์ พืชก็จะเจริญเติบโตได้ดี ตรงกันข้ามกับดินที่ไม่ดีและไม่อุดมสมบูรณ์พืชก็จะเจริญเติบโตได้ช้าและให้ผลผลิตต่ำ

พอผมพูดบอกว่าดินเป็นหัวใจสำคัญต่อการปลูกพืช บางคนอาจจะบอกว่าไม่จริงโดยเฉพาะนักปลูกพืชแบบไร้ดิน (Hydroponics) แต่ก่อนที่จะแย้งท่านก็ต้องดูก่อนนะครับว่าท่านยังทำอยู่บนผืนดินอยู่ เพียงแต่ว่าท่านไม่ได้ปลูกลงไปในดินโดยตรงเท่านั้นเอง ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันครับว่าประเทศไทยหมดพื้นดินปลูกแล้วหรือจึงต้องไปปลูกเลีนแบบฝรั่งมังค่า ที่ต้องใช้เทคโนโลยีมาก และลงทุนสูง สุดท้ายเกษตรกรก็ต้องรับผลกรรมอีกเช่นเคย โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ที่จัดอบรมหลักสูตรการปลูกผักในระบบ Hydroponics ให้กับนักโทษที่อยู่ในคุกทั่วประเทศ ไม่แน่ใจว่าอบรมไปแล้วจะเป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใด เนื่องจากศักยภาพของคนที่มาอบรมผมคิดว่าคงไม่ได้ไปทำ ซึ่งว่าไปแล้วผมเองก็มีส่วนผิดเพราะทนแรงขอร้องจากเพื่อนให้ไปช่วยในการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักโทษในเรือนจำในจังหวัดอุบลราชธานี ไม่ไหว สุดท้ายก็ต้องไปสร้างกรรมอีกเช่นเคย แต่อย่างไรก็ตามผมก็พยายามชี้ประเด็นให้ผู้เข้ารับการอบรมได้พิจารณาดูว่าเทคโนโลยีนี้มีความเหมาะสมกับตนหรือไม่เพียงใด หากพ้นโทษไปแล้ว ค่อยไปพิจารณาต่อไป ที่นำมาถ่ายทอดนี้เพื่อชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิต เพื่อให้ได้รับทราบไว้ และช่วงที่อยู่ในเรือนจำก็ลองเรียนรู้ และทำดู เพราะวัสดุฝึกทุกอย่างฟรีหมด

เราย้อนกลับมาดูเรื่องดินต่อนะครับครั้นเมื่อผมได้มีโอกาสได้ไปทำงานวิจัยเรื่องข้าวอินทรีย์ เมื่อปีที่แล้วและได้ลงไปคลุกอยู่กับนาและฟาร์มเห็ดของคุณสะพานฟ้า นาวาบุญนิยม ผู้ซึ่งบุกเบิกการปรับปรุงดิน นาดินทรายให้เป็นนาดินร่วน ควบคู่กับการเพาะเห็ด

คุณสะพานฟ้า นาวาบุญนิยม หนุ่มบางร่างเล็ก แห่งบ้านดอนเดือยไก่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร คุณสะพานฟ้า เล่าให้ฟังว่าหลังจากจบมัธยมศึกษาแล้ว ได้มุ่งหน้าสู่สันติอโศกเพื่อแสวงบุญ และหาความรู้ อีกทั้งคิดว่าจะใช้ชีวิตอยู่ในสันติอโศกตลอดไป แต่ครั้นเมื่อกลับมาเยี่ยมบ้านจึงเห็นสถานะความเป็นอยู่ของครอบครัวที่ค่อนข้างลำบาก พ่อ แม่ ที่มีอายุมากต้องทำงานหนัก และต้องส่งน้องเรียนในระดับมหาวิทยาลัย รายได้ก็ขาดๆ เขินๆ เนื่องจากรายได้หลักมาจากการทำนาอย่างเดียว ผลผลิตก็ต่ำ เนื่องจากที่นาเป็นนาดินทรายขาดความอุดมสมบูรณ์เอาเสียมากๆ มิหนำซ้ำครอบครัวต้องเป็นหนี้เพื่อนบ้านอีกต่างหาก

หลังจากนั้นคุณสะพานฟ้า จึงต้องขอลาพ่อท่านโพธิรักษ์ จากสันติอโศกเพื่อกลับมาช่วยครอบครัวทำงาน เมื่อปี 2545 คุณสะพานฟ้ายังมีความมุ่งมั่น ขยันทำงานหนัก พร้อมทั้งปฏิบัติตนเหมือนอยู่ที่สันติอโศก โดยได้นำความรู้ที่ติดตัวมาคือการปลูกพืชผัก และการเพาะเห็ดฟาง มาทำที่นาของตน

ดินไม่ดี ดินมันตาย ดินไม่มีชีวิต ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือต้องเร่งปรับปรุงดินโดยการหาพวกเศษใบไม้ เศษวัชพืชที่เขาทิ้ง แล้วนำเข้ามาใส่ที่นาของตน หลังการเก็บเกี่ยว ไถกลบตอซังและหว่านพวกพืชตระกูลถั่ว พร้อมกับการนำเมล็ดพืชผักเช่น แตงไทย แตงโม ฟักทอง หยอดเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะบริเวณที่ดินพอมีความชื้น เพื่อไว้เป็นอาหารเวลาทำงาน

สร้างธนาคารปุ๋ยในครัวเรือน โดยให้พ่อซื้อวัวมาเลี้ยง เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่มีราคาถูกที่สุด คุณสะพานฟ้าแนะนำว่าในช่วงที่เราต้องการปุ๋ยมากเราต้องไม่ปล่อยวัวไปเลี้ยง เราต้องขังวัวไว้ในคอกแล้วค่อยตัดหญ้าที่เราปลูกไว้ หรือฟาง มาให้กินซึ่งจะได้มูลมาก และเสียเวลาในการดูแล หากพื้นคอกแฉะเราก็เอาแกลบมาเติม และหากขี้วัวมีแก๊สเกิดขึ้นซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของวัวเราก็ทำน้ำหมักมาราดที่พื้น ซึ่งดับแก๊สและกลิ่นได้ดีทีเดียว หลังจากนั้นเราค่อยขนลงแปลงนา และรองก้นหลุมสำหรับการปลูกพืชอีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนั้นคุณสะพานฟ้ายังได้เพาะเห็ดฟางในโรงเรือนโดยใช้กากมันสำปะหลังเป็นวัสดุเพาะ และใช้ฟางข้าวเป็นวัสดุรองชั้นเพาะ ในหนึ่งปีเพาะประมาณ 6-8 รุ่น และหลังจากเก็บผลผลิตเห็ดฟางหมด คุณสะพานฟ้าได้นำเอาเศษวัสดุเพาะเห็ดฟางไปคลุมแปลงผัก ไม้ผล และแปลงนา ซึ่งรุ่นหนึ่งๆ จะได้ปุ๋ยจากเห็ดฟางประมาณ 3 ตัน ซึ่งปุ๋ยจากเห็ดฟางนี้ดีมากเลยทีเดียว ดีกว่าปุ๋ยหมักเลยเสียอีก เพราะว่ามันผ่านกระบวนการหมักมาแล้วอย่างสมบูรณ์ ภายใน 1 ปี ทำให้ดินในที่นาของคุณสะพานฟ้า ทั้ง 10 ไร่ มีชีวิตชีวาขึ้นมามาก ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า พ่อของคุณสะพานฟ้าบอกว่าพืชผักสวยงาม ผิดหูผิดตาจากเดิมมาก ใครๆ ก็อยากมาซื้อ เพราะเป็นพืชผัก และเห็ดแบบอินทรีย์ กินแล้วปลอดภัย

สุดท้ายคุณสะพานฟ้าได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเองทำมาได้ 3 ปี ถือว่าประสบความสำเร็จ พ่อ แม่ มีความสุข สามารถส่งน้องเรียนจบมหาวิทยาลัยทั้ง 2 คน และสามารถปลดเปลื้องหนี้สินได้หมด แล้วคุณสะพานฟ้ายังบอกว่าในการปลูกพืช ดินมีความสำคัญมาก ดังนั้นก่อนปลูกต้องปรับปรุงดินให้ดีเสียก่อน พอดินดีพืชก็เจริญเติบโตได้ดี แข็งแรง และสร้างภูมิต้านทานพวกโรคแมลงได้เอง การทำให้ดินดีไม่ยากครับขอให้เรามีความตั้งใจจริง ขยัน และเข้าใจความต้องการของพืช

จากแนวทางการจัดการความรู้ในระบบเกษตรกรรม ของคุณ สะพานฟ้า ถือว่าเป็นการจัดการโดยพึ่งตนเองเกือบทั้งหมด มีการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี มีความเข้าใจในอาชีพ อีกทั้งสามารถสร้างเป็นชุดความรู้ในเรื่องการปรับปรุงดิน และการเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนให้กับชุมชน เพื่อนำไปเป็นแบบอย่างที่ดี ผมจึงเห็นว่าน่าจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่งในการจัดการความรู้เรื่องการทำเกษตรกรรมแบบประณีต ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ขอบคุณมากครับ

อุทัย อันพิมพ์

6 มกราคม 2550

หมายเลขบันทึก: 71220เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2007 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 12:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ทั้งเห็ดและวัว ทำหน้าที่ปรับปรุงดินได้ดีทังคู่ ใครอยากให้ดินดีมากต้องสร้างธนาคารขี้วัว โดยขังไว้ในคอกรับรองปุ๋ยม่ตกเรี่ยราดไม่ให้เสียของ และถ้าต้องการมากก็ให้กินมากเข้าไว้ เพราะวัวยิ่งกินมากยิ่งขี้มากใช่ไหมค่ะอาจาย์อุทัย

 

แล้ววัวกับเห็ดจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร

สามารถเลี้ยงอย่างเกื้อกูลกันได้อย่างดีเลยครับ เนื่องจาก

  • วัสดุที่เหลือจากการเพาะเห็ดสามารถนำไปปรับปรุงดิน แล้วปลูกหญ้าเลี้ยงวัว มูลวัวนำไปเป็นอาหารเสริมให้กับเห็ดได้อย่างดีเลยครับ
  • นอกจากนั้นถ้าหากเพาะเห็ดในถุงพลาสติก ก้อนขี้เลื่อยเห็ดเก่า สามารถนำไปให้วัวกินเป็นอาหารได้เช่นกันครับ
  • สรุปก็คือว่าทั้งเพาะเห็ด และเลี้ยงวัวสามารถนำมาเลี้ยงผสมผสานในระบบเกษตรประณีตได้อย่างดีครับ

ขอบคุณครับ

อุทัย

     ขอบคุณมากค่ะ อาจารย์อุทัยกำลังหาคำตอบและคนช่วยตอบพอดี

     แต่ยังสงสัย ก้อนขี้เลื่อยเห็ดเก่าที่สามารถนำไปเป็นอาหารวัวนั้น ทำจากขี่เลื่อยไม้อะไร แล้วเชื้อราที่ค้างในก้อนขี้เรื่อยจะมีผลต่อสุขภาพวัวหรือเปล่าค่ะ

      ขอบคุณค่ะ

     

จากรายงานการวิจัยเขานำไปใช้เลี่ยงไก่ และเป็ด ซึ่งเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยว สามารถทดแทนอาหารข้นได้

การนำมาเลี้ยงวัวสามารถทำได้เพราะเป็นสัตว์ 4 กระเพาะแถมมีกระเพาะหมักอีกต่างหาก น่าจะเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหารได้ดียิ่งขึ้น

จากประสบการณ์ เคยเอาก้อนเห็ดเก่าจากขี้เลื่อยไม้ยางพารา ในเห็ดสกุลนางฟ้า นางรม ที่เก็บผลผลิตเห็ดหมดแล้ว มาให้วัวกิน วัวตอบสนองดี ไม่มีปัญหาอะไรต่อสุขภาพวัว

แต่อย่างไรก็ตามน่าจะมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้มีข้อมูลที่ยืนยันอีกครั้งหนึ่ง

ขอบคุณครับ

อุทัย

ทำอย่างไรดินทรายถึงจะอยู่น้ำ

คงลำบากครับเพราะอนุภาค (เม็ดดิน)มันใหญ่ จึงทำให้โปร่งไม่อุ้มน้ำ แต่จากประสบการณ์ ให้เติมพวกอินทรีย์วัตถุในขั้นตอนการปรับปรุงดินให้มากขึ้น หลังจากอินทรีย์วัตถุย่อยแล้วจะไปปิดช่องว่างระหว่างเม็ดดิน และทำให้ดินอุ้มน้ำได้ดีขึ้นครับ

ขอบคุณครับ

ขอบพระคุณมากค่ะที่นำเสนอเรื่องราวดีๆมาให้อ่าน

ชอบเรื่องเห็ดไมคอร์ไรซ่าเป็นชีวิตจิตใจค่ะ

การปลูกผัก การเกษตรก็ชอบค่ะ

โอกาสหน้านำเสนออีกนะคะ จะรออ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท