ภาพฝัน (Scenario): การไต่ระดับ KM ไทย


การจัดการความรู้น่าจะ ทำจาก “เล็กไปใหญ่” ตามฐานทางทรัพยากรที่มี และทำจากฐาน “ผู้ใช้” ความรู้ขึ้นไปหายอด “ผู้รวบรวม” และ “ผู้เผยแพร่” และ แม้จะเริ่มงานจากยอด “แบบนักวิชาการ” ก็ตาม
 

ในช่วงที่ผมมาเอาจริงเอาจังกับการเขียนบล็อก เพื่อผสมผสานกระบวนการทำงานของผมเข้ากับแผนงานที่ผมทำสนับสนุนงานเชิงบริการสังคมและงานนโยบายระดับชาติ ทำให้ผมจำเป็นต้องมานั่งพิจารณาถึง องค์ประกอบและโครงสร้างของการจัดการความรู้ในประเทศไทย ทั้งในสถานะปัจจุบัน และภาพฝันในอนาคต (Scenario)  ว่า การจัดการความรู้ในเมืองไทยว่าจะเป็นอย่างไร

  

ขอออกตัวไว้ก่อนว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงจินตนาการจากปัญญาหางอึ่งของผมเท่านั้น และผมขอใช้คำจำกัดความสั้น ๆ ว่า ภาพฝัน KM ไทย 

  

จากการประชุมมหกรรมการจัดการความรู้แห่งชาติที่ศูนย์ไบเทคบางนา ผมได้เห็นความพยายามของ สคส.ที่จะขับเคลื่อนสังคมไทย ให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ทุกหย่อมหญ้า โดยเริ่มหลักๆ จากระบบราชการ หรืองานวิชาการด้านงานต่างๆ และการปฏิบัติระดับชุมชนที่ชัดๆ แล้วนำกระบวนการตัวอย่างที่ดีต่างๆ เข้าไปขยายผล

  

โดยจัดระบบโครงสร้างโมเดลการจัดการความรู้ ซึ่งก็มีความก้าวหน้าและอุปสรรคอยู่หลายประการ อันเนื่องมาจาก ความใหม่ของสังคมไทยต่อโมเดลการจัดการความรู้เหล่านั้น

  ทีนี้ ผมหันกลับมามอง ว่า   แต่ เดิม สังคมไทยมีระบบการจัดการความรู้อย่างไรบ้าง   

ผมก็เริ่มเห็นโมเดล รูปแบบต่างๆ แบบไทย ๆ อย่างว่าล่ะครับ มีการผสมกลมกลืนระหว่าง ชีวิต ความรู้ การทำงาน และการประกอบอาชีพ จะเห็นได้ว่า เมื่อใครทำงานอะไร คนๆนั้น จะได้รับการนับถือว่าเป็นคนแบบนั้นๆ ตลอดชีวิต แม้จะจบหรือเลิกการทำงานแล้ว คนก็ยังนับถือเขาในมุมนั้นเช่นเดิม ซึ่งแตกต่างจากสังคมฝรั่ง ที่งานกับชีวิต แยกออกจากกัน เกือบจะสิ้นเชิง

  

เพราะฉะนั้น จากพื้นฐานตรงนี้ กระบวนการจัดการความรู้ในเมืองไทย จึงอาจจำเป็นต้องแตกต่างจากระบบฝรั่ง โดยปูพื้นฐานขึ้นมาจากโมเดลที่มีอยู่แล้ว และได้ผลดีในสังคมไทย แล้วนำโมเดลเหล่านั้นมาผสมผสานกับโมเดลใหม่ ๆ ที่คนไทยสามารถรับได้ ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ ทำจากเล็กไปใหญ่ แบบยุทธศาสตร์พระเจ้าตาก นั่นล่ะครับ

  

ผมคิดว่า วิธีการเช่นนี้จะทำให้การจัดการความรู้ในเมืองไทย ยกระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีพลังดีกว่าที่จะเริ่มใหญ่ แล้วขาดพลัง ซึ่งในที่สุดก็จะเหนื่อยและล้มได้ง่าย

  

ตัวอย่างหนึ่งที่ผมเพิ่งเห็นเมื่อวานนี้ครับ คือ ร้านอาหารเวียตนามที่หนองคาย หลายคนคงรู้จักดี คือ ร้านแดงแหนมเนือง ที่เริ่มจากเพิงเล็กๆ ขยับตัวเข้าไปอยู่ในห้องแถวเก่า ๆจนมีชื่อเสียง และขยายร้านออกไปห้องแถวข้างๆ จนเต็มห้องแถวเหล่านั้น และไม่สามารถขยายได้อีกต่อไป จึงได้มีการขยับไปอยู่ริมโขง ตอนแรกก็ทำเป็นห้องเดียว เมื่อ ๓-๔ เดือนที่แล้ว ผมกลับไปดูอีก เป็น ๒ ห้องแล้วครับ แต่เมื่อวานนี่เองครับ ขยายไปเป็น ๔ ห้องอีกแล้วครับ ผมเลยพูดเล่น ๆว่า สงสัยอีกไม่นาน แถวนั้น ตลอดริมโขง จะเป็นร้านแดงแหนมเนือง หมดซะล่ะมั้ง! เพราะผมไปทีไร ต้องยืนรอคิว โต๊ะว่าง เป็นครึ่งชั่วโมง ทุกครั้ง

  

และผมก็เคยเห็นหลายๆร้าน ฟอร์มใหญ่ โตแล้วเรียนลัด เจ๊งไม่เป็นท่ามานักต่อนักแล้ว

  

นี่แสดงว่า การทำจากเล็กไปใหญ่ เป็นวิธีการที่ถูกต้อง และมีพลังจริง ๆ และสามารถทำให้เกิดพลังทั้งภายนอกภายใน ถาโถมกันเข้ามาสนับสนุนกระบวนการพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะพลาดบ้างก็ยังขยับตัวได้ทันเวลา ไม่เจ็บมาก

  

ผมจึงคิดเอาเองว่า การจัดการความรู้น่าจะ ทำจาก เล็กไปใหญ่ ตามฐานทางทรัพยากรที่มี และทำจากฐาน ผู้ใช้ ความรู้ขึ้นไปหายอด ผู้รวบรวม และ ผู้เผยแพร่ และ แม้จะเริ่มงานจากยอด แบบนักวิชาการ ก็ตาม

  

แต่ ก็ควรถือว่า งานและคนเหล่านี้ เป็นเพียงผู้รวบรวมและเผยแพร่ เพื่อพัฒนามาสนับสนุนฐาน ผู้ใช้ ความรู้อีกทีหนึ่ง

  

เพื่อให้การพัฒนาวิถีชีวิตอยู่กับ ความรู้ที่ตนกำลังจัดการ ที่ยังไม่น่าจะเรียกว่าเป็นการ จัดการความรู้ ที่แท้จริง อาจเป็นเพียง การรวบรวมความรู้ นั้น เชื่อมโยงกับ การจัดการความรู้ อย่างมี และเป็นชีวิตจริงๆ

  

อันนี้ เป็นภาพฝันเล็กๆลึกๆของผมครับ

  

ดังนั้น ฐาน การจัดการความรู้ น่าจะคืออะไรครับ

  

ฐาน การจัดการความรู้ คือชุมชนแห่งการปฏิบัติ

  

ควรจะต้องดูว่า เขาปฏิบัติอย่างไร ที่ทำให้เกิดความเข้มแข็งในกระบวนการความรู้ และตัวอย่างใดที่ขยายผลได้หรือขยายผลไม่ได้ และต่อยอดจากนั้นก็คือ การนำองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะทำให้ฐานแข็งแรงขึ้น ก่อนที่จะคิดถึงการต่อยอด และไม่ควรคิดถึงการเด็ดยอดไปใช้โดยไม่ได้ดูฐาน หรือ ไม่ช่วยพัฒนาทำให้ฐานเข้มแข็ง

เพราะถ้าทำเช่นนั้น จะอ่อนแอกันไปทั้งระบบ เพราะเมื่อฐานปราศจากยอด หรือยอดปราศจากฐาน ก็ใช้ไม่ได้ทั้งคู่ครับ

  

นี่คือ ภาพฝัน KM ของผม ที่อยากจะเห็นว่า การพัฒนาสำนักงานการจัดการความรู้แห่งชาติ มีระบบการพัฒนาที่ถูกต้องและเหมาะสม จนสามารถเป็นที่พึ่งพาของระบบสังคมไทยในทุกด้านได้อย่างสมบูรณ์แบบ

  

นี่เป็นความฝันของผมครับ เป็นจริงไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ครับ..

  ขอบคุณมากครับ..
หมายเลขบันทึก: 70770เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2007 06:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:55 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

  เรื่องนี้  น่าจะ..แบ่งออกเป็นหลายส่วน

  1. แบ่งกันฝัน ต่างคนต่างฝัน
  2. ทำฝันให้เป็นจริง ขั้นนี้ต้องร่วมด้วยช่วยกัน
  3. ขั้นที่ 3 เสนอขั้นหลักการ คงเป็นวาระแห่งชาติ
  4. สถาปนา KM.แห่งชาติไทย ไชโย!

ฝันท่านเล่าฮู เป็นขาวดำ หรือเป็นสี ในฝันมีเสียงประเอคโค่ประกอบไหมครับ  เราพวกKM.บ้านนอก ถ้าทำให้บรรลุเหมือนอาจารย์ใหญ่ ท่านKM.1 บอกว่า ถ้าทำให้ถึงที่สุดแล้ว KM. ผมเดาว่าคนที่ทำ KM ไม่ว่าที่ไหนๆ ในโลก ส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ปฏิบัติงานในระดับปฏิบัติ หรือหน้างาน  แต่เขาไม่มีความจำเป็นต้องนึกถึงเทคนิค KM      เขาก็ทำงานไป แลกเปลี่ยนเรียนรู้ไป

         ผมเดาว่า สภาพที่ต้องคิดถึงเทคนิค KM หรือเทคนิคการประยุกต์ใช้ KM อยู่ที่คนรับให้คำปรึกษาในการนำเอา KM มาเป็นเครื่องมือสร้างการเปลี่ยนแปลง (change management)     

        เมื่อเร็วๆ นี้ มีคนเข้ามาบ่นว่า เข้าไปเป็นที่ปรึกษา KM แก่หน่วยราชการในประเทศหนึ่ง      พบว่าผู้บริหารคือตัวอุปสรรค     เพราะให้ความสำคัญต่อ KM แต่ปาก     ตัวเองไม่สนใจแสดงบทบาทใดๆ เลย     เขาถามว่าจะทำอย่างไรดี      มีคนเข้ามาตอบกันหลายคน     ที่ถูกใจผมมากที่สุดคือ     ประเด็นที่เขาเล่ามาทั้งหมด ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การ "ทำ" KM  แต่อยู่ที่การ "ขาย" KM  คือ consultant คนนั้นแกยังไม่ได้บอกให้ลูกค้าเข้าใจอย่างชัดเจน ว่า "สินค้า" ที่แกกำลังเสนอขายนั้นคืออะไร

         ผมมาคิดดูแล้ว คิดว่า หากมองแนวการซื้อขายสินค้า การซื้อบริการที่ปรึกษา KM ตามที่ consultant คนนั้นบ่น ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อ     เพราะหน่วยราชการนั้นซื้อสินค้าโดยที่ไม่รู้ว่าสินค้าคืออะไร

         กล่าวอย่างนี้ อาจแสดงว่าผมเป็นคนไร้เดียงสา      ผมน่าจะเข้าใจ ว่าหน่วยราชการนั้นเขาซื้อชื่อ KM     เขาต้องการเพียงให้ได้ชื่อว่าหน่วยของเขา มีการทำ KM     แต่ไม่ได้สนใจความหมาย หรือผลของการทำ KM จริงๆ

        ย้ำว่านี่เป็นเรื่องที่ "อ่าน" เรื่องของต่างประเทศ  จากการติดตามการ ลปรร. ในชุมชน Learning-to-Fly นะครับ

เรียน อาจารย์ดร.แสวง   รวยสูงเนิน

  • อาจารย์ครับการที่เรามีความฝันผมว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีนะครับ อย่างน้อยๆ เราต้องพยายามให้ฝันนั้เป็นจริง
  • การจัดการความรู้เป็นสิ่งที่สังคมไทยต้องเร่งจัดการ โดยเฉพาะสังคมเกษตรกรรม ณ เวลานี่ได้ล่มสลายแล้วครับ เกษตรกรไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ แถมมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อีกมหาศาล
  • อยากให้นักวิชาการไทยได้ให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ให้มากขึ้น เพื่อจะได้ช่วยให้พี่น้องเกษตรกรไทยได้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสามารถพึ่งพาตนเองได้
  • ผมขอร่วมฝันไปกับอาจารย์ครับ เผื่อจะได้ทดแทนบุญคุณของแผ่นดินครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย   อันพิมพ์

เรียน...ท่านผู้อาวุโส

        ผมในฐานะคนทำงานตัวเล็กตัวน้อยในพื้นที่ ก็ได้จัดกระบวนการจัดการความรู้จากกลุ่มเล็ก ๆ เหมือนที่อาจารย์บอกนั่นแหละครับ  ก็มีกลุ่มอาชีพหลายๆ กลุ่มเกิดขึ้นโดยใช้นวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการจัดกระบวนการเช่น การทำโครงงานอาชีพ การทำเวทีชาวบ้าน  สาระพัดวิธี (ภาษาใต้เรียกว่า "สมรม")  จนมาถึงวันน้ีมันก็เริ่มขยายใหญ่ขึ้นจริง ๆ เหมือนที่อาจารย์บอก  จากกลุ่มที่ดำเนินกิจกรรมเหมือนกันในแต่ละตำบลก็มารวมตัวกันสร้างเครือข่ายอาชีพ  ตอนน้ีที่เห็นได้ชัดที่สุดของอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชคือ เครือข่ายปุ๋ยหมัก

        แต่ผมก็ต้องทำงานด้วยความระวังตัวแจเหมือนกันเพราะนวัตกรรมการทำงานของผมไม่ค่อยจะเหมือนของคนอื่น  กลัวจะถูกเด็ดยอด เหมือนที่อาจารย์ว่า  เพราะแม้บางครั้งงานที่ทำบรรลุเป้าหมายอย่างสวยหรูแต่ก็ยังหาคนชื่นชมที่จะให้มีแรงไปต่อยอดไม่ได้ มันเป็น "หลุมดำ หรือ ขุมนรก" ด้วยใช่มั๊ยครับอาจารย์  แต่สำหรับผมแล้วจะเดินหน้าต่อไป แบบตัวเล็กตัวน้อย แล้วค่อยใหญ่  (เหมือนชาวบ้านบางระจัน) ครับอาจารย์

                          ด้วยความเคารพ 

                                 ครูราญเมืองคอน คนนอกระบบ
 

ครูบาครับ

ที่ผมกลัวมากที่สุดก็คือ Copy and Apply (C&A)ครับ

และบางทีก็ลงทุนขนาด Buy and Apply (B&A)

และแย่ที่สุดคือ Buy and Shelf (B&S)

อย่างที่ครูบาบอกนั่นแหละครับ

มีหน่วยราชการมากมายที่ต้องการทำตัวให้ทันสมัย แต่ไม่มีภูมิปัญญาก็จะใช้วิธีซื้อเครื่องมือที่ทันสมัยมาตั้งโชว์ แล้วก็บอกคนอื่นว่า เรามีเครื่องมือทุกอย่างทันสมัยมาก แต่ยังไม่เคยได้แกะกล่องเลย เพราะไม่มีใครกล้าแกะ ให้ความทันสมัยมันอยู่ในกล่องนั่นแหล่ะ

นี่แหล่ะ โศกนาฏกรรมในการใช้เทคโนโลยีโดยไม่มีความรู้ เห็นมานักต่อนัก ไม่อยากเห็นเลยครับ

จะทำไงดีครับ

ครูราญครับ

การเด็ดยอดเป็นสิ่งที่ทำกันมานานจนถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว ในนามของ "ต่อยอด"

น่าสงสารคนด้อยโอกาส มีแต่ถูกกระทำตลอด

ยังไม่รู้ใครจะช่วยแก้ครับ

คงไม่พ้นพวกเรามั้งครับ

เรียน   ท่านอาจารย์  ดร. แสวง     ที่เคารพ

                 เรื่องที่เล่าให้อาจารย์ ฟัง  ผมเป็นคนมีเหตุผลและเติบโตมาด้วยการเคารพคนทุกคน  แต่

วันนี้ผมรู้สึกสงสารนักเรียนผมมาก   เพราะเห็นความตั้งใจจริงของเขา  ซึ่งผมจะต้องพาเขาไปสู่การเรียนรู้ที่ดีให้ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท