งานของครู


งานของครู คือ การทำงานส่งไม้ต่อมือกันไปเพื่อสร้างคน ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในตัวศิษย์ มิได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่เป็นผลสืบเนื่องจากการส่งไม้ต่อมือกัน ของเรือจ้างน้อยใหญ่ทุกท่านที่ออกแรงพายบึ้ดจ้ำบึ้ดอยู่ในกระแสธารแห่งชีวิต เพื่อส่งลูกศิษย์ที่รักของเราให้ถึงฝั่ง

 (3)

งานของครู

งานของครู คือ การทำงานส่งไม้ต่อมือกันไปเพื่อสร้างคน  ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นในตัวศิษย์ มิได้เกิดจากใครคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว แต่เป็นผลสืบเนื่องจากการส่งไม้ต่อมือกัน ของเรือจ้างน้อยใหญ่ทุกท่านที่ออกแรงพายบึ้ดจ้ำบึ้ดอยู่ในกระแสธารแห่งชีวิต เพื่อส่งลูกศิษย์ที่รักของเราให้ถึงฝั่ง


งานที่ดิฉันอยากสร้าง  คือสร้างคนที่มีจิตใจดีงามโดยเนื้อแท้   

ดิฉันอยากเห็นคนดี ที่ทั้งพูด คิด เขียน และทำ เป็นเนื้อเดียวกัน 

การสร้างคนดีโดยเนื้อแท้นั้น เราเปิดหนังสือสอนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้วิธีฝึกคนผู้นั้นให้เผชิญกับสถานการณ์จริง เขาจะค่อยๆมองเห็นตัวตนเนื้อแท้ที่แท้จริงของตนเอง เมื่อได้เผชิญกับสถานการณ์จริงที่แตกต่างหลากหลายเหล่านั้น   ได้ลงมือทำจริง แก้ปัญหาโดยตนเองได้จริงๆ 

นอกจากจะได้มองเห็นว่าตนเป็นคนเช่นไรแล้ว   เขาอาจจะมองเห็นได้ว่าต้องฝึกฝน ปรับปรุงตนอย่างไร จึงจะบรรลุถึงความเป็นคนดีโดยเนื้อแท้

ถามว่าดิฉันตั้งใจฝึกอะไรบ้าง ก็ตอบได้ดังนี้

1. ตั้งใจฝึกให้เป็นคนนิสัยดี

อยากให้เด็กๆมีจิตใจดีโดยเนื้อแท้ มีมารยาทอันดี มีวุฒิภาวะ อยากฝึกให้เป็นคนน่ารัก มีทั้งความเป็นมิตร และความเป็นกัลยาณมิตร มีจิตใจอ่อนโยน เข้าใจคน รู้จักเห็นอกเห็นใจ มีความละเอียดอ่อน และเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

ฝึกให้รู้จักกาละเทศะ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักให้เกียรติผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น มีความจริงใจ ไม่ทำดีหวังผล ฝึกให้มีความอดทน มีความเพียรพยายาม มีความเสียสละ และมีน้ำใจงาม

ครั้นฝึกอย่างนี้มาได้สักพักหนึ่งก็เห็นว่านิสัยดีๆทั้งหลายข้างต้นนั้นยังไม่พอ เมื่อเด็กๆต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมจริงๆ ที่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญของจิตใจที่ดีงามโดยเนื้อแท้ และเด็กอาจตกไปอยู่ในที่ที่มีการเบียดเบียนกันเป็นสามารถนั้น
 

ก็จำเป็นต้องพยายามฝึกให้มองเห็น รู้เท่าทัน รู้จักพาตัวให้รอดพ้นจากความไม่ดี แล้วก็เข้มแข็งพอที่จะทำความดีต่อไปได้ด้วย


2. ฝึกทักษะการรู้เท่าทันการสื่อสาร
 

การรู้เท่าทันการสื่อสาร ในมุมมองหนึ่งตามความเข้าใจของดิฉันหมายถึง การเข้าใจจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของผู้ส่งสาร และสามารถตัดสินใจเลือกวิธีคิดและวิธีทำที่เหมาะแก่สถานการณ์ หรือภาวะนั้นๆ

การเข้าใจ และการรู้เท่าทัน ในที่นี้ หมายถึงการเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แท้จริง

  •  มิใช่เพียงแค่รู้ว่าเขาหมายถึงอะไร หรือรู้ว่าแท้ๆแล้ว เขาต้องการอะไร
  • แต่รู้ลึกซึ้งไปถึงว่าด้วยเหตุใดปัจจัยใด ทำให้เขาถ่ายทอดส่งผ่านความหมาย (สื่อสาร : communicate)เช่นนั้น 
  • และการที่เขาถ่ายทอดความหมาย เช่นนั้น จะส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างไรต่อไป
  • ตัวเราจะมีวิธีคิดอย่างไร และจะมีวิธีทำอย่างไร (จะวางท่าทีอย่างไร จะลงมือทำอะไร อย่างไร) จึงจะเหมาะแก่สถานการณ์หรือภาวการณ์นั้น

นอกเหนือจากการฝึกให้เป็นคนจิตใจดี มีน้ำใจงามแล้ว ยังต้องฝึกให้เป็นคนฉลาดและรู้เท่าทันการสื่อสาร เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในการทำความดีอีกด้วย

คนดีที่มีความฉลาดรู้เท่าทันนั้น จะสามารถคิด สร้าง หรือลงมือทำในสิ่งที่มีคุณค่า เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่เห็นแก่ตัว ไม่หลงผิดหรือพลาดท่าเสียรู้แก่ผู้อื่นโดยง่าย

การฝึกเด็กๆให้รู้เท่าทันการสื่อสาร คือการฝึกให้เด็กๆรู้เท่าทันกระบวนการสื่อสาร และรู้เท่าทันจุดมุ่งหมายแท้ๆของผู้ส่งสาร รวมถึงสามารถวางท่าทีต่อการสื่อสารครั้งนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อ ให้เข้าใจและรู้เท่าทันชีวิต โดยใช้กลวิธีการสอนและสถานการณ์อย่างง่ายในชั้นเรียน

ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยฝึกให้เด็กฉลาด รู้จักคิด มีน้ำใจ สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้อย่างเต็มความสามารถ(ในทางที่ถูก) และเพื่อให้นำความฉลาดรู้จักคิดนี้ ไปปรับใช้กับชีวิต(..ที่ไม่มีคำตอบสำเร็จรูป..ในวันหน้า) 

ปรับจาก กระทู้ การรู้เท่าทันการสื่อสาร ( Communication  Literacy)ความเห็นเพิ่มเติมที่  

 

หมายเลขบันทึก: 70458เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2007 15:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 07:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

งานของครู

บันทึกนี้อ่านแล้วใช้เวลาไตร่ตรองอยู่นานค่ะ

พี่แอมป์สื่อสาร ความคิด ความตั้งใจ คำมั่นสัญญา ความรักในตัวลูกศิษย์ ความรักในเพื่อนมนุษย์ และความหวังที่จะเห็น..สิ่งที่เขียนออกมานี้ เป็นจริง...ใช่มั้ยเอ่ย

ยากมาก ๆ นะคะ

1. ตั้งใจฝึกให้เป็นคนนิสัยดี เพียงข้อนี้ข้อเดียว มาดูนะคะ ว่าน้องเห็นความยากตั้งกี่ข้อ

1.1  อยากให้เด็กๆมีจิตใจดีโดยเนื้อแท้

1.2  มีมารยาทอันดี

1.3  มีวุฒิภาวะ

1.4  อยากฝึกให้เป็นคนน่ารัก มีทั้งความเป็นมิตร และความเป็นกัลยาณมิตร

1.5  มีจิตใจอ่อนโยน เข้าใจคน รู้จักเห็นอกเห็นใจ

มีความละเอียดอ่อน และเห็นคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น

1.6  ฝึกให้รู้จักกาละเทศะ รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน

1.7  รู้จักให้เกียรติผู้อื่น

1.8  ไม่เห็นแก่ตัว ไม่คิดเบียดเบียนผู้อื่น

1.9  มีความจริงใจ ไม่ทำดีหวังผล

1.10  ฝึกให้มีความอดทน มีความเพียรพยายาม

1.11  มีความเสียสละ และมีน้ำใจงาม

และเมื่อผ่านข้อหนึ่งข้อใหญ่ ยังต้อง ฉลาด (พอ)ที่จะรู้เท่าทัน ความไม่ดี หรืออีกหลาย ๆ สิ่งที่ตรงข้ามกับข้างบน

เพื่อ มีภูมิคุ้มกัน ต่อความชั่ว

เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันในการทำความดีอีกด้วย

...........

งานของครู ยากจริงหนอ

กดเอ็นเตอร์เร็วไปหน่อย

งานของครู ยากจริงหนอ

แต่ดิฉันเองก็ปวารณาตัวแล้วเช่นกัน รอดูตัวเราเองก่อนด้วย ว่า จะฝึกตนผ่านข้อหนึ่งใหญ่(11ข้อย่อย)ได้รอด....หรือไม่ ! ! !

สวัสดีค่ะคุณหมอเล็ก  : )

ขอบคุณสุดหัวใจเลยนะคะ ที่คุณหมอเล็ก"เข้าใจ"และ"รู้เท่าทันการสื่อสาร"ของพี่แอมป์อย่างแท้จริง  แถมยังให้กำลังใจกันสุดชีวิตอีกด้วย      

"ความหวังที่จะเห็น" ทุกข้อที่กล่าวมานี้  พี่แอมป์หวังตั้งแต่ยังเด็ก  พี่อยากเห็นคนใจดี  อยากอยู่ใกล้ๆคนจิตใจดี  พี่คิดเอาตามประสาเด็กว่าได้อยู่ใกล้ๆคนเช่นที่ว่านี้แล้วเราคงจะมีความสุขมาก 

ต่อเมื่อแก่ๆนี้   พี่ก็ได้เห็นว่าการพยายาม "ทำให้คนอื่นเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น"  นั้นช่างหนักหนาสาหัสนัก  แต่พี่ก็ไม่เคยท้อ  เพราะคิดเอาง่ายๆว่าถ้าสร้างที่คนอื่นไม่ได้  ก็สร้างที่ตัวเองก่อน

พี่สนุกที่จะฝึกตัวเองไปทุกวันแบบผิดๆถูกๆล้มลุกคลุกคลาน   เหตุที่สนุกเพราะไม่รู้สึกว่าถูกบังคับ  ไม่ต้องฝืนใจทำให้ตัวเอง  เป็นคน "แบบที่เราไม่อยากเป็น"  เราอยากเป็นแบบใดเราก็ทำตัวแบบนั้น  ซึ่งก็ล้มลุกคลุกคลานอย่างที่ว่า  แต่มิได้ทุกข์ทรมานแต่อย่างใด

พี่เทียบเอากับความรู้สึกในช่วงที่ต้องทำงานในสายงานที่ฝืนความรู้สึกตัวเองนะคะ  พี่ชอบความรักมากกว่าชัยชนะ และชอบจริงใจและความบริสุทธิ์ใจมากกว่าวิธีคิดแบบหวังผล  พี่จึงดิ้นรนวิ่งหาสิ่งที่ตรงกับหัวใจตัวเอง  ซึ่งนั่นก็นานพอดู  แต่พี่ก็คิดว่าคุ้มค่าที่หามาจนแก่ และหากันจนเจอ : )  

พี่แอมป์จึงคิดว่าการได้เป็นครูนี้ดีจัง  เพราะความเป็นครูจะเอื้อให้เราทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องรู้สึกขัดแย้งกับอะไรเลย  แล้วเราก็ช่วยฝึกลูกๆของผู้อื่นให้เป็นแบบที่เราคิดว่าดีได้ด้วย  เราไม่ต้องหวังผลประโยชน์เป็นตัวเงิน  เราไม่ต้องกลัวขาดทุน  เราไม่ต้องดีดลูกคิดรางแก้วไว้ในใจว่าเราจะได้กำไรจากการนี้เท่าไหร่  เพราะหน้าที่เราคือ"ให้"อย่างเดียว  แล้วก็จบเท่านั้น  จบที่สุขใจที่ได้ทำให้  ทำให้เแล้วเราก็กลับบ้านนอนสบายใจ 

อ่า..อาจมีกลุ้มใจบ้างแต่ไม่เป็นไร : )   พรุ่งนี้เราค่อยกลับไปบ่นต่ออีกสักคาบสองคาบก็ได้  ตามจุดประสงค์จิตพิสัยแผนการจัดการเรียนรู้ที่แปดสิบเอ็ด  อิๆๆๆๆ

ความตั้งใจ(ยากๆ)สิบเอ็ดข้อย่อย และสองข้อใหญ่ที่คุณหมอเล็กกรุณาแจกแจงมาโดยละเอียด แบบที่พี่แอมป์เองก็ยังนึกไม่ถึงนั้น  เป็น"งาน"ที่ทำให้พี่แอมป์มีความสุขมากๆ(แม้ว่าจะเหนื่อยสุดชีวิต)ค่ะคุณหมอเล็ก พี่แอมป์ก็อธิบายไม่ถูกจริงๆว่าเพราะอะไร  อาจเป็นเพราะได้มีโอกาสพูดและทำในสิ่งที่เราคิดมังคะ  พอเราได้ทำอย่างใจคิดเราก็สบายอารมณ์ดีตลอดปีการศึกษา  และคงเป็นโชคดีของพี่แอมป์ด้วยที่ได้อยู่ในที่ๆมีเพื่อนร่วมงานใจดี   ยอมให้พี่แอมป์ฝึกทะลุ่มทะลุยจนนักศึกษาเวียนหัวตีลังกาไปทุกรุ่น  ประสบการณ์ตรงเหล่านี้มีความเข้มข้นในใจเราจนทำให้อยากเขียนเพื่อเล่าสู่กันฟังกับคนที่มีความสุขที่จะทำในสิ่งเดียวกัน  เขาจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการทำงานมากเหมือนเรา   เพียงแต่ด้วยข้อจำกัดของพี่  ก็จะทำให้ผู้อ่านเสียเวลาในการอ่านแบบยืดยาว   : ) 

พี่แอมป์คิดว่าผู้ที่เป็นครูต้องกล้าฝึกคน และต้องกล้ายอมรับกับคนที่เราฝึก ว่าเรามิใช่มนุษย์ที่สมบูรณ์พร้อม  แต่เราพร้อมที่จะช่วยฝึกเขา  เรียนรู้ร่วมกันไปกับเขา  และฝึกทั้งเขาและเราให้เป็นมนุษย์ที่ดี  และเข้าใกล้ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

ตรงนี้แหละค่ะคุณหมอเล็ก ที่พี่แอมป์ชอบที่สุด ความเป็นครูเอื้อให้เราฝึกคนและฝึกตนพร้อมๆกันไปได้  โดยที่เราไม่ต้องพูดว่า "ไม่พอใจ..ยินดีคืนเงิน"  เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อแลก  แต่เราทำเพื่อให้

เราไม่ได้เอาเงินเป็นเครื่องแลกเปลี่ยน  และไม่ได้เอา"ความพึงพอใจ"เป็นตัวชี้วัด   ระบบคุณค่า และมาตรฐานคุณค่าที่เราตั้งใจสร้าง จึงยังคงคุณค่ากลางที่ตั้งอยู่อย่างสมดุลได้  ไม่เอนเอียงเฉียงแฉลบไปตามอารมณ์และความพึงพอใจของท่านเจ้าของนโยบายสายฟ้าแลบท่านใดๆ

และเราสามารถบอกอย่างสบายอารมณ์ได้ว่า "ไม่พอใจ..ยินดีฝึกใหม่"  แปลว่าในการฝึกต้องแลกด้วยปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวตนเป็นๆของกันและกัน  เพื่อให้เกิดการเรียนรู้  เกิดคุณค่า  เกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจในคุณค่าที่เกิดขึ้น"ในตัวตนของคนผู้นั้นอย่างแท้จริง"   อันนี้แหละจึงจะเป็นคุณค่าแท้  แบบที่เงินซื้อไม่ได้  ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว..พี่ชอบใจนัก

สุดท้ายนี้คอมเม้นต์ของพี่ก็ยาวเหยือยแบบจบไม่ลงปลงไม่ตกตามเคยค่ะ คุณหมอเล็ก  : )  แต่ก็เข้าข้างตัวเองเช่นเคยว่าทุกท่านที่กรุณาแวะมาคุยด้วยจะทำใจได้แล้วกับคอมเม้นต์ที่กลายเป็นจดหมาย(ทุกที)ของพี่

พี่แอมป์ประทับใจกับประโยคท้ายของคุณหมอเล็กมากนะคะ  ที่คุณหมอเล็กกล่าวอย่างมุ่งมั่นว่า  "ดิฉันเองก็ปวารณาตัวแล้วเช่นกัน"  : )  น่าชื่นใจแทนลูกศิษย์ที่จะได้เรียนกับคุณหมอเล็กที่สุดเลย

เพราะทุกข้อล้วนเป็นคุณสมบัติของผู้มีจิตใจดีทั้งสิ้น  ครูที่มุ่งมั่นจะ "จะฝึกตนผ่านข้อหนึ่งใหญ่(11ข้อย่อย)" ได้นั้น    ก็ย่อมจะทำให้ลูกศิษย์มั่นใจได้เป็นเบื้องต้น  ว่าจะเป็นผู้มี"จิตใจดีงาม"  และการได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้จากผู้มี"ใจงาม"นั้น  ถือเป็นกุศลแห่งชีวิตแล้ว

...แบบที่เราได้เรียนรู้จากผู้มี"ใจงาม"หลายๆท่านในสังคมออนไลน์แห่งนี้ ..

ที่สุดของสุดท้ายนี้  พี่แอมป์ก็อยากเรียนด้วยความจริงใจว่าทั้งหมดที่กล่าวเป็นความรู้สึกที่อยากบอกอยากเล่าสู่กันฟังกับคุณหมอเล็ก  โดยมิได้เจตนาจะอวดอ้างสรรพคุณใดๆ  และพี่ก็เชื่อแบบเข้าข้างตัวเอง(อย่างหน้าตาเฉย)อีกว่าคุณหมอเล็กเข้าใจ  แม้ว่าจะเมื่อยตาไปเล็กน้อย เมื่ออ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ 

และถ้าพี่แอมป์ทำให้คุณหมอเล็กเมื่อยตาจริงๆ  พี่ก็ต้องขออภัยมณีไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ    : )     : )     : ) 

พี่แอมป์ คะ

ในเมื่อไม่สงวนสิทธิ์ใด ๆ

ขอคัดลอกไปทั้งหมดเลย เวลาเปิดอ่านเพื่อเตือนตน และให้ลูกอ่าน สะดวกยิ่งขึ้น

 

เรียนขออนุญาตนะคะ(ส่วนคอมเม้นท์ น่ะค่ะ)

คุณหมอเล็กคะ

ด้วยความยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งค่ะ

                : )   : )   : )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท