อย่ามองข้ามการเมืองท้องถิ่น


อย่ามองข้ามการเมืองท้องถิ่น

28 มกราคม 2565

: ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น) [1]

 

การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประมวลกฎหมาย อปท.

 

กรมส่งส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ได้รับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และร่างประมวลกฎหมาย อปท. พ.ศ. ... ตั้งแต่ 20 มกราคม - 20 มีนาคม 2565 โดยมีคำถามให้แสดงความคิดเห็นอยู่สี่หัวข้อ[2] คือ (1) เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้เปลี่ยนแปลงฐานะของ อบต. เป็นเทศบาลทั้งหมด (2) เห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกหน้าที่ “ต้องทำ” กับ “อาจทำ” ของ อปท.โดยให้เทศบาลสามารถดำเนินการได้ตามศักยภาพของตนเอง และ อบจ. ทำได้ หากเป็นโครงการขนาดใหญ่เกินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก หรือเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับหลาย อปท. หรือเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก แต่หากไม่ทำจะทำให้ได้รับความเสียหาย (3) เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดระบบการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยรายได้ของ อปท.(4) เห็นด้วยหรือไม่กับการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการให้คำแนะนำและวินิจฉัยให้เป็นไปตามร่างประมวลกฎหมาย อปท.

สถ.เคยเปิดสอบถามความเห็นนี้มาหลายครั้งตั้งแต่ปี 2561 จากเวทีรับฟังความคิดเห็นตัวแทน อปท. ทั่วประเทศ ณ จ.ชลบุรี เมื่อ 16-17 สิงหาคม 2561 คนท้องถิ่นคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ท้องถิ่น ด้วยเหตุย้อนยุค รวมศูนย์ สั่งการ แทรกแซง ไม่กระจายอำนาจแท้จริงฯ และการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ มท.คณะที่ 2 ครั้งที่ 6/2562 เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2561[3] ให้ความเห็นเกี่ยวกับร่าง ประมวลกฎหมาย อปท.และร่าง พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลฯ มีมติให้ สถ.รับไปพิจารณาดำเนินการ แต่ผ่านไปแล้ว 3 ปี ผลไม่คืบหน้า

จากเวทีสัมมนา จ.ชลบุรี ที่น่าสนรวม 9 ประเด็นสำคัญ คือ[4] (1) ชื่อ พ.ร.บ.ประมวลกฎหมาย อปท.ไม่สอดคล้องกับสภาวะปัจจุบัน ขอแก้เป็น "องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น" (2) การรวม อบต.และเทศบาลที่มีรายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่า 20 ล้าน มีประชากรไม่ถึง 7 พันคน มีเขตติดกันอำเภอเดียวกัน ภายใน 3 ปี แก้ไขให้ยกเลิกตัดออกทั้งมาตรา (3) การกำหนดวาระของผู้บริหารท้องถิ่นเพียง 2 วาระให้ตัดออก (4) คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารท้องถิ่นผู้มีส่วนได้เสีย ฝ่าฝืนจริยธรรมกระทำการขัด กับแห่งผลประโยชน์ การก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติราชการ การทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้ จ่ายงบประมาณ การบรรจุแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่น ขัดหลักการบังคับบัญชาสั่งการที่ผู้บริหารต้องมี อำนาจบังคับบัญชาสั่งการต่อผู้ใต้บังคับบัญชาได้ทุกคน (5) อำนาจหน้าที่ อบต. เทศบาล อบจ. นอกจากบัญญัติตามร่าง พ.ร.บ.นี้ ให้แก้ไขเพิ่มว่าเป็นอำนาจสภาท้องถิ่นอนุมัติเห็นชอบในกิจการที่นอกเหนือที่บัญญัติไว้ได้ (6) เงินเดือนผู้บริหารท้องถิ่นและรองฯ กำหนดให้เป็นไปตามระเบียบ กระทรวงมหาดไทยกำหนด ที่ผ่านมากำหนดจากฐานรายได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาวะค่าใช้จ่ายในปัจจุบันและการดูแลชีวิตความเป็นอยู่สภาพการปฏิบัติงาน (7) แก้ไข เป็นให้ผู้บริหารมีเงินเดือนขั้นต่ำไม่น้อยกว่าเพดานเงินเดือนขั้นสูงสุดของปลัด อปท. (8) กองทุนส่งเสริมกิจการองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ให้นำความในมาตราที่ให้ สตง. สามารถตรวจงบการเงินมาใช้กับกองทุนนี้ด้วยเพื่อความโปร่งใส (9) การสั่งให้พ้นจากตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น/รอง/ที่ปรึกษา/เลขา/สมาชิกสภาท้องถิ่น/กรณียุบสภา กรณีกระทำการฝ่าฝืนต่อข้อห้ามของกฎหมายต่างๆ ในเบื้องต้นให้ มท.1 ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายอำเภอ มีอำนาจเพียงให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส่วนการให้พ้นจากตำแหน่งให้ศาลที่มีอำนาจวินิจฉัยพิพากษา

เสนอให้ผู้มีอำนาจต้องบัญญัติในกฎหมายแม่บทหรือกฎหมายเกี่ยวข้องเพิ่มเติมคือ[5] การลดภารกิจ/ลดหน่วยราชการส่วนกลาง/ภูมิภาค และการแยกความทับซ้อนอำนาจของกระทรวงมหาดไทย แยกราชการส่วนท้องถิ่นออกจากราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค (กระทรวงมหาดไทย) โดยให้มีคณะกรรมการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล ส่งเสริม สนับสนุนในรูปคณะกรรมการแทนมหาดไทย ในโครงสร้างของ “สภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นแห่งชาติ”

ล่าสุดฝ่ายคนท้องถิ่นได้รณรงค์เชิญชวน สมาคม และสมาพันธ์ อปท.ทุกสมาคม ทุกสมาพันธ์ ร่วมกันดำเนินการใน 2 เรื่อง ดังนี้[6] (1) นัดประชุมร่วมกัน เพื่อจัดทำเป็นข้อสรุป ความเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับร่างประมวลฯ นี้ แยกรายประเด็นพร้อมเหตุผลที่ อปท.ไม่ยอมรับ ตลอดทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุง ทำเป็นหนังสือลงนามร่วมกันเสนอ มท. โดยอาจเชิญนักวิชาการด้านการปกครองท้องถิ่นมาช่วยดูด้วยก็ได้ (2) ร่วมกันยกร่างประมวลกฎหมายฯ ฉบับของท้องถิ่น โดยกำหนดเรื่อง สำคัญไว้ในร่างกฎหมาย คือ "สภาหรือคณะกรรมการท้องถิ่นแห่งชาติ" ที่มีฐานะ เทียบกระทรวง ออกจากการกำกับของ มท. และให้ข้าราชการในสำนักงาน สภา/คณะกรรมการมีฐานะเป็นข้าราชการท้องถิ่นทั้งหมด รวมทั้งเขียนบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ในลักษณะเปิดกว้างเพียงเฉพาะเรื่องที่ อปท.ทำไม่ได้ เช่น ด้านการป้องกันประเทศ ด้านความมั่นคงหรือเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้านศาลยุติธรรมและด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ เป็นต้น เมื่อช่วยกันยกร่างเสร็จแล้ว ร่วมทำหนังสือลงชื่อ ยื่นต่อ ครม.ยื่นต่อ กมธ.การกระจายอำนาจฯ และยื่นต่อพรรคการเมืองทุกพรรคโดยไม่เลือกว่าจะเป็นซีกรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพื่อใช้ช่วยผลักดันเป็นกฎหมายต่อไป

 

การขันชะเนาะอำนาจ

 

ข้อวิพากษ์ต่อร่างประมวลกฎหมาย อปท.ฉบับนี้ยังคงจัดระบบโครงสร้างความสัมพันธ์ในการ “ใช้อำนาจ” ต่อ อปท.อยู่เหมือนเดิม มีหลายส่วน มองในบริบทรวมแล้วเป็นการ “ขันชะเนาะอำนาจ” เสียมากกว่า เช่น บัญญัติให้ท้องถิ่นจังหวัด ท้องถิ่นอำเภอเป็นผู้ช่วยผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ช่วยนายอำเภอ ให้มี “หน้าที่และอำนาจ” ดูแล อปท.ซึ่งขัดต่อ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ที่แบ่งแยกส่วนราชการเป็น “ราชการส่วนท้องถิ่น” แยกต่างหากเป็นเอกเทศจากราชการส่วนกลาง และราชการส่วนภูมิภาค นอกจากนี้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ให้อำนาจ “ท้องที่” (กำนัน ผู้ใหญ่บ้านฯ) ที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.จัดตั้ง อปท. ซึ่ง “ท้องที่” ก็คือติ่งของราชการส่วนภูมิภาคและราชการส่วนกลาง เพราะ กฎหมายดังกล่าวทั้งสามฉบับต่างมีศักดิ์ทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน จะขัดแย้งหรือสวนทางกันไม่ได้ นี่คือ “การกระชับอำนาจ” นั่นเอง

คน อปท. 7,850 แห่ง ต้องมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายท้องถิ่นด้วยตนเอง การหยิบยื่นจากส่วนกลางให้เลิก เพราะหลายครั้งร่างกฎหมายระเบียบจะให้ประโยชน์แก่ผู้ร่างเสียมากกว่า หากการตรากฎหมายโดยคนท้องถิ่นเองโอกาสเสีย หรือใช้บังคับแล้วมีปัญหาจะต้องโทษคนท้องถิ่นเอง เมื่อดำเนินการร่างกฎหมายนี้เสร็จก็ต้องเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรมี ส.ส.ฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลเป็นองค์กรนิติบัญญัติต่อไป รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ล่วงมาสามปีแล้ว หากมีบทบัญญัติฯ ไว้แล้วแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้ จะบัญญัติไว้ทำไม มิใช่มีไว้พอให้รู้ว่ามี คราวรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550[7] ก็เช่นกันไม่ทันเสนอร่างกฎหมายหลักของท้องถิ่นได้ทันระยะเวลาจนถึง พ.ศ.2557 ร่วม 7 ปี

 

การกระจายอำนาจและการถ่ายโอนภารกิจ อปท.ต้องเดินหน้าต่อไป

 

แม้ว่า ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. เดินหน้าตรวจสอบอปท.อย่างเข้มงวด แต่สิ่งสำคัญคือ อปท.ต้องเดินต่อไป ไม่อาจถูกเว้นวรรค แช่แข็ง ดองเค็ม ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะ อปท.คือหัวใจของคนในพื้นที่ ที่ต้องจัดบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะอย่างต่อเนื่องไปตลอด มิติใหม่การกระจายอำนาจ อปท.ต้องสัมพันธ์กับเรื่องสิ่งแวดล้อม ความชัดเจนของบทบาทท้องถิ่นไทยในระดับนโยบาย โอกาสและช่องว่างของการจัดการสิ่งแวดล้อม จากการศึกษาเมื่อราวสิบปีก่อนพบว่า หน่วยงานที่ถ่ายโอนภารกิจมีงานเล็กน้อย การทำงานยังซ้ำซ้อนกันมาก เพราะเมื่อถ่ายโอนแล้วจึงรู้ว่างานซ้ำซ้อน นอกจากนี้ การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศ ล้วนอาศัยกลไก การบริหารจัดการและดูแลจากภาครัฐ สถาบันฯ ในฐานะองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ต้องประสานงานบูรณาการร่วมกับ อปท. ผู้เป็นเจ้าของพื้นที่และเจ้าของทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ[8] แม้ว่าบางบางกิจกรรมอาจมีการชี้นำ อปท.ที่ว่าการปกครอง การเมือง และเศรษฐกิจมาจากชนชั้นนำ หรือผู้มีอำนาจ ตามทฤษฎีชนชั้นนำ (Elitist Theory) [9] เช่น กรณีหอการค้าจังหวัดสงขลาไม่เห็นด้วยในโครงการขุดคลองไทย ด้วยเกรงอำนาจจีนครอบงำ เป็นต้น 

 

อย่ามองการเมืองและท้องถิ่นในภาพลบ

 

มีข้อเปรียบเทียบการเมืองในระดับท้องถิ่น กับการเมืองในระดับประเทศ หรือ “อำนาจปกครองในระดับประเทศ” คนที่ปฏิเสธการเมืองจะ “มองการเมืองเป็นภาพลบ” หรือ “การมองข้ามการเมือง” ที่เขามองว่าชั่วช้า ต้อยต่ำ ไร้ราคา เพราะไม่ส่งผลใดๆ ต่อการพัฒนาการบ้านการเมือง นี่เป็นเหตุผลอย่างง่ายว่าทำไมคนทั่วไปภายนอกจึงมอง อปท.ในภาพลักษณ์ที่เสียๆ เช่น การทุจริต เป็นต้น ก็เพราะว่า อปท.เป็นส่วนราชการบริหารราชการแผ่นดินที่เล็กที่สุด เล่นได้ง่ายที่สุด ไม่ว่าใครหรือหน่วยงาน หน่วยราชการใด อยากได้ผลงานก็ต้องมาดำเนินการที่ อปท. แม้ อปท.บางแห่ง หรือบางรูปแบบอาจมีขนาดใหญ่ในมิติของพื้นที่ ประชากร โครงสร้างฯ หรือเป็น อปท. รูปแบบพิเศษ เช่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ก็ไม่มีเว้น นอกจากนี้องค์กรที่รับผิดชอบโดยตรงใน “การกำกับดูแล” (Tutelle Administrative) [10]โดยเฉพาะก็ไม่มี ถึงมีก็ไม่มีดุลยภาพ เพราะใช้อำนาจกำกับดูแลแบบ “ล้นเกิน” เช่น การบังคับบัญชา สั่งการ ควบคุมฯ ทำให้สถานะของท้องถิ่น เหมือนเจ้าไม่มีศาล เพราะใครๆ หน่วยงานใดก็สามารถสั่งการ มักใช้คำว่า “ขอความร่วมมือ หรือ บูรณาการ” แต่เนื้อแท้คือการสั่งใช้งาน เพื่อรับผลงาน โดยมิได้มีการถ่ายโอนภารกิจ หรือ ไม่ยอมถ่ายโอนภารกิจแต่อย่างใด เป็นงานฝากทำ ฝากใช้ ฝากรายงาน ฯ อปท.หลายแห่งสถานะการคลังไม่ดี เช่น มีขนาดเล็ก ไม่มีรายได้ ก็ต้องรอคอยงบประมาณเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ฉะนั้นโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ หรือต่อเนื่องจึงขาดตอน มิอาจดำเนินการได้ ด้านข้าราชการส่วนท้องถิ่นก็มีความรู้สึกที่ไม่ประทับใจ ขวัญกำลังใจตก ความรักผูกพันท้องถิ่น (Organizational Commitment) [11] ทำงานแบบเทใจมีน้อยลง รู้สึกว่าตนเองมีสถานะที่ต่ำกว่าข้าราชการอื่น 

แท้ที่จริงแล้วการเมืองคือเรื่องของส่วนรวม การแอนตี้ล้มการเลือกตั้ง การพาลไม่ไปเลือกตั้ง การใช้อำนาจตัดสินดำเนินการต่างๆ การอ้างองค์รัฏฐาธิปัตย์ เหล่าชนชั้นนำผู้กุมอำนาจรัฐพากันทำจนเคยตัว ถือเป็นเรื่องปกติ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นรู้ (Active Citizen) [12] ส่งผลขาดการมีส่วนร่วม (People Participation) เพื่อเป็น และ การเกิดความเข้มแข็งของชุมชน นอกจากนี้ในรอบสิบปีที่ผ่านมา หน่วยงานผู้กำกับดูแล (มท.) ปล่อยปละละเลยในการกระจายอำนาจที่แท้จริง เพราะ กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่มีการแก้ไขหลายครั้งจนขัดแย้งกับกฎหมายจัดตั้ง อปท. มีปัญหาการถ่ายโอนภารกิจงานทางหลวง งานกรมเจ้าท่า งานกำจัดขยะ มลพิษขนาดใหญ่ การถ่ายโอนงานสาธารณสุข (รพ.สต.) การถ่ายโอนศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) จากบริหารจัดการของฝ่ายกำกับฯ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ แบบมึนๆ ด้านๆ เทาๆ อีกมาก ก่อให้เกิดปัญหานานา รวมเรื่องประวิงการเลือกตั้ง การออกระเบียบรวบอำนาจ   

ทำไมคนเขามองว่า อปท.ทุจริตเยอะ โดยไม่มองว่าการพัฒนาท้องถิ่นที่สำเร็จได้มาจนถึงทุกวันนี้ก็เพราะ ฝีมือคน อปท.นี่แหละ ปัจจุบันฐานประชาธิปไตยได้ถูกแปรเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบต่อประชาธิปไตยไทย

มีการพูดถึง “องค์กรจารีตนิยม” และ “กลุ่มบุคคลที่มีคุณสมบัติเหนือบุคคลทั่วไป”[13] และมีข้อสงสัยว่าไทยยังคงปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอยู่หรือไม่ หรือจะเหลือเพียงชื่อว่า “ประชาธิปไตย” ในเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาวิกฤตของบ้านเมืองมองประชาธิปไตยไทย 88 ปีอนาคตมืด[14] เพราะในความเป็นจริงกว่าสิบปีในระยะหลังนี้นักวิชาการให้สมนามว่า “ไทยคือรัฐราชการอำนาจนิยม” [15] ที่ร้ายก็คือถูกตั้งฉายาว่าเป็น “รัฐพันลึก” (Deep State) [16] “รัฐล้มเหลว” (Failed State) [17] มิใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง มีบางมุมมองที่ถูกละเลยไป (Forgotten Aspects) [18] เช่น มิติคุณค่าประชาธิปไตยที่ทุกคนมีส่วนร่วมและทำเพื่อส่วนรวมเกิดแนวคิดว่า “ระบบประชาธิปไตยแบบตัวแทนมีจุดอ่อน” ต้องเพิ่ม “ประชา” เข้าไปในสถาบันทางการเมืองให้มากขึ้น 

“Connection” [19] เครือข่าย “ขุมอำนาจ” ตีกินบ้านเมืองถูกวางระบบไว้จากรุ่นสู่รุ่นแบบผูกขาดของ "อำมาตย์นิยม" (Aristocracy) [20] เกิดอำนาจลึกลับ อิทธิพล ส่วย "ตั๋วช้าง"[21] ในการแต่งตั้งตำแหน่งกินเมือง ส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ และ การทุจริต ขาดความโปร่งใส แม้ว่าจะระดมประเมิน ITA-LPA[22] กันแทบตายก็ไม่มีประโยชน์ เพราะดัชนีคอร์รัปชัน หรือ ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index : CPI) ไม่ลด อันดับโลกทุจริตไทยยังสูง ปี 2563[23] CPI ไทยอยู่ลำดับที่ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก มีข่าวเชิงเสียดสีล้อเลียนว่ามีการ “ล็อกงานประมูลประชาสัมพันธ์ต่อต้านการโกง” [24] มันหมายความว่าอย่างไร  

 

วัฒนธรรมทางการเมืองไทยถอยหลังหรือไม่

 

มองการเมืองใน 2 มิติคือ[25] (1) “มิติระบบ” หรือกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญ และ (2) “มิติวัฒนธรรม” ทางการเมืองของประชาชนที่มีจิตใจเคารพความแตกต่าง ความเห็นต่าง ความเชื่อมั่นศรัทธาในระบบประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด มิใช่ประชาธิปไตยเป็นเพียง “รูปแบบ” [26] ที่มีเพียงการเลือกตั้ง มีองค์กรต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาชนไร้ซึ่งการมีส่วนร่วมในการตัดสินบ้านเมือง เนื้อแท้ในเชิงกระบวนการมิใช่ประชาธิปไตยแต่อย่างใด มีการกล่าวถึงประชาธิปไตยรูปแบบใหม่ “ประชาธิปไตยแบบลื่นไหล” (Liquid Democracy) ที่คนทุกคนมีสิทธิเลือกได้ในทุกประเด็นก่อน แต่อาจโอนสิทธิไปให้คนอื่นก็ได้ เช่น สิทธิเรื่องเศรษฐกิจ สิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อม หากไม่พอใจก็ดึงสิทธิ์กลับคืนได้ ในความหมายของคำว่า “ลื่นไหล” 

แน่นอนว่าสังคมดี เพราะมี “ผู้นำที่ดี” ต้อง (1) แสวงหาความร่วมมือ (2) ไม่ด้อยค่าคนอื่นลงแล้วยกตนขึ้นสูง เพราะสุดท้ายสังคมอื่นก็มองสังคมนั้นอย่างด้อยค่า (3) ต้องลดปมด้อยตนเองลงแบบลดฝ้าไฝ ไม่ใช่ใส่หน้ากากแทน ปมด้อยทางกาย ทางใจ ทางสังคม จะกระทำลวกๆ ย่อมไม่เป็นผลดี แต่ประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบปกครองที่ดีที่สุด แต่ก็เป็นระบอบปกครองที่เลวน้อยที่สุด อาจเฉลี่ยความเลวออกมา เช่น ในรูปแบบพรรคพวก การซื้อขายเสียง การขาดจริยธรรมทางการเมือง รวมไปถึงการทุจริต เป็นรูปแบบการปกครองที่มองว่าคนมีสิทธิเสรี ในในขณะที่ฝ่ายบริหารชั้นปกครองก็มีสไตล์คละเคล้าปนอำนาจบ้าง เกิดความผิดพลาดบกพร่อง ถูกกล่าวหาว่าร้าย ดับชีวิตทางการเมือง ถูกดำเนินทางคดี ด้วยกติกาที่ฝ่ายกุมอำนาจเขียนขึ้น

วัฒนธรรมการเมืองไทยลอกตะวันตกมาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เช่น แนวคิด “ตุลาการภิวัฒน์” (Judicial Activism) [27] จนแนวคิดนี้ติดเป็นนิสัยคนไทย ไม่ว่าเรื่องเล็กเรื่องน้อย แม้เรื่องที่ใช้ “ระบบกระบวนการยุติธรรมทางเลือก” (Alternative dispute resolution : ADR) [28]ได้ก็ไม่เอา ตกลงเรื่องไร้สาระจึงรกศาลรัฐธรรมนูญ 

ยุค 1970[29] ไทยลอกเลียนวัฒนธรรมเสรีของฝรั่งมาทิ้งธรรมเนียมไทย มีฮิปปี้ แฟชั่นขาบาน ยีนส์ กุ้ย ขี้เมา สำเริงสำราญ จะถูกหรือผิดไม่ว่าเป็นที่ความสมควรเหมาะสม แต่ที่แน่ๆ โรงงานเหล้า โรงงานยีนส์กางเกงเสื้อผ้า โรงงานยาสระผม เครื่องสำอางฯ เกิดขึ้นมากในประเทศไทย คือผลพวงจากการลอกวัฒนธรรมเขามา

 

ข่าวสารที่อุดมคือ “เสน่ห์หรือจุดเด่น” ของสังคมเสรีประชาธิปไตย แพลตฟอร์มเสนอข่าวต่างๆ ข้อเขียนคอลัมนิสต์ ประชาคม ประชาพิจารณ์ โลกโซเชียล ล้วนเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น การหาเหตุหาผลที่ดีกว่าตามแนวทางประชาธิปไตย เพื่อนำไปสู่ประชาสังคม กิจกรรมสังคม การมีส่วนร่วม หวังว่าเสน่ห์นี้จะเป็นจุดเด่นในสังคมไปนานๆ

 


 

[1]Phachern Thammasarangkoon & Watcharin Unarine, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), บทความพิเศษ, สยามรัฐออนไลน์, 28 มกราคม 2565, https://siamrath.co.th/n/317653  

[2]แบบรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdb-MmVRNa8DTTgY_9JQvKIaLxQDQHDRfU6LCOboKTb5tuqyQ/viewform & สรุปสาระสำคัญร่าง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... และร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, https://drive.google.com/file/d/16Q7NUmxg7mVzZmRt3TCUcEoxHKOTGnxb/view?usp=sharing

[3]คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของ มท.คณะที่ 2 ครั้งที่ 6/2562 เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2561 ประจำปีงบประมาณ 2562 (1) ร่างพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ... (2) ร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, http://www.law.moi.go.th/pdf/2_2562_11_21_6s.pdf

[4]“คนท้องถิ่นฮือต้านร่าง พ.ร.บ.ท้องถิ่น” เหตุ.....ย้อนยุค รวมศูนย์ สั่งการ แทรกแซง ไม่กระจายอำนาจแท้จริง, สยามรัฐออนไลน์, 30 สิงหาคม 2561, https://siamrath.co.th/n/44572?  

[5]“คนท้องถิ่นฮือต้านร่าง พ.ร.บ.ท้องถิ่น”, 30 สิงหาคม 2561, อ้างแล้ว

[6]อ้างจาก เฟซบุ๊ก บรรณ  แก้วฉ่ำ,21 มกราคม 2565

[7]ดูบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 บทเฉพาะกาล มาตรา 303 ในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีที่เข้าบริหารราชการแผ่นดินภายหลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ดำเนินการจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมายในเรื่องดังต่อไปนี้ ให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด …

(5) กฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายรายได้ท้องถิ่น กฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กฎหมายเกี่ยวกับข้าราชการส่วนท้องถิ่น และกฎหมายอื่นตามหมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ภายในสองปีนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามมาตรา 176 ในการนี้ จะจัดทำเป็นประมวลกฎหมายท้องถิ่นก็ได้

ในกรณีที่ปรากฏว่ากฎหมายใดที่ตราขึ้นก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ มีเนื้อหาสาระเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้แล้ว ให้ถือเป็นการยกเว้นที่จะไม่ต้องดำเนินการตามมาตรานี้อีก 

[8]การกระจายอำนาจ โอกาสและช่องว่างของการจัดการสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น : ความชัดเจนของบทบาทท้องถิ่นไทยในระดับนโยบาย โดย ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์, เบญจมาส โชติทอง, หทัยรัตน์ พ่วงเชย, ทองจันทร์ หอมเนตร, และ ธนิรัตน์ ธนวัฒน์, สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย, มปป.

[9]ประชาธิปไตยไทยจากมุมมองทฤษฎีชนชั้นนำ, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง โดย รองศาสตราจารย์พรชัย เทพปัญญา, วารสารสถาบันพระปกเกล้า ปี 2548 ฉบับที่ 2, http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=ประชาธิปไตยไทยจากมุมมองทฤษฎีชนชั้นนำ 

[10]การกำกับดูแล (Tutelle Administrative)เป็นการใช้อำนาจของราชการส่วนกลางกับราชการส่วนภูมิภาค เพื่อตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของราชการส่วนท้องถิ่นว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีอำนาจไม่อนุมัติให้การกระทำนั้นมีผลบังคับ หรืออาจยกเลิกเพิกถอนการกระทำนั้นแล้วแต่กรณี แต่ไม่มีอำนาจตรวจสอบความเหมาะสมหรือการใช้ดุลพินิจหรือสั่งการนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

ดู ควบคุมบังคับบัญชา-กำกับดูแล : ปัญหาการปกครองท้องถิ่น โดย ชำนาญ จันทร์เรือง, กรุงเทพธุรกิจ, 28 มีนาคม 2561, https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/119173

[11]ความรักผูกพันท้องถิ่น หรือ ความผูกพันต่อองค์การ (Organizational Commitment) หมายถึง พฤติกรรมทัศนคติหรือความรู้สึก และพฤติกรรมในด้านบวกที่พนักงานที่ให้ต่อองค์การ โดยที่บุคคลรู้สึกว่าตนมีส่วนร่วมและกลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์การได้รับการยอมรับในองค์การ ทำให้เกิดความเต็มใจและพร้อมที่จะทุ่มเทพลังให้กับการทำงานเพื่อองค์การอย่างเต็มความสามารถเพื่อประโยชน์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ขององค์การ (Hewitt Associates, 2011) 

[12]ในที่นี้ คือ “พลเมืองตื่นรู้” (Active Citizen)จะนำไปสู่ “ประชาสังคม” (Civil Society) พลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) คือ พลเมืองของประเทศที่มีความตระหนักรู้ กระตือรือร้นที่จะเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบในภารกิจของประเทศร่วมกัน เป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความรู้ และแสดงออกถึงความเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น

สรุป ความเป็นพลเมือง การรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย สังคมโลก และสังคมออนไลน์ ความรับผิดชอบต่อสังคม การต่อต้านการทุจริต การมีส่วนร่วมกับชุมชน และจิตสาธารณะ

ดู พลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen)รหัสวิชา SU301, มหาวิทยาลัยศิลปากร, https://gec.su.ac.th/gec_general_subject/พลเมืองตื่นรู้-active-citizen/

[13]อ้าง ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ในประชาธิปไตยไทยในทศวรรษใหม่ โดยรองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย และคณะ, สถาบันพระปกเกล้า, สิงหาคม 2559, https://www.kpi.ac.th/media_kpiacth/pdf/M10_684.pdf

[14]มุมมอง "วรเจตน์ ภาคีรัตน์" 88 ปีประชาธิปไตยไทย แม้มืดมิดแต่มีเสียงอื้ออึง!ดังขึ้นเรื่อยๆ : Matichon TV, YouTube, 24 มิถุนายน 2563, https://m.youtube.com/watch?v=b2rXPVSyNfQ

[15]รัฐราชการอำนาจนิยม หรือ รัฐราชการอำนาจนิยมรวมศูนย์

ดู กระจายอำนาจรวมศูนย์, ไทยรัฐออนไลน์, 5 มกราคม 2565, https://www.thairath.co.th/news/politic/2279557 & ระบบราชการ : ศัตรูประชาธิปไตย, โดยสนิทสุดา เอกชัย, The 101 World Politics, 18 กุมภาพันธ์ 2562, https://www.the101.world/bureaucracy/ & ปัญหาการพัฒนาประชาธิปไตยของรัฐราชการไทยในระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ (2523-2531) โดย อดินันท์ พรหมพันธ์ใจ นิสิตหลักสูตรปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ใน วารสารการเมืองการปกครอง ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 มีนาคม – สิงหาคม 2559 ธรรมาภิบาล (Good Governance) หน้า 287, http://copag.msu.ac.th/journal/filesjournal/6-2/20012017114853.pdf & Centralization รัฐราชการรวมศูนย์ขนานแท้, ทีมงานหญ้าแห้งปากคอก(ท้องถิ่น), สยามรัฐออนไลน์, 10 ธันวาคม 2564, https://siamrath.co.th/n/304650 & https://www.gotoknow.org/posts/693982

[16]ผาสุก พงษ์ไพจิตร (2559) บทวิเคราะห์ของเจนนี่ (เออเชนี เมริโอ) DEEP STATE แปลเป็นไทยว่า รัฐพันลึก ในลักษณะรัฐซ้อนรัฐ ประเทศไทยมีสภาวะ Deep State หรือ รูปแบบของ “รัฐซ้อนรัฐ” หรือไม่ นี่เป็นข้อสงสัยที่ดูแล้วมีพื้นฐานและเหตุผล แม้สถานะของทั้ง 2 สภาพจะต่างกันในด้านความหมายซึ่ง Deep State จะออกในด้านลบ เป็นอิทธิพลมืด กลุ่มผลประโยชน์ รัฐประหารก็สร้างฐานอำนาจของ Deep State มีอำนาจตามกฎหมาย ระเบียบซึ่งกำหนดขึ้นมาเองโดยคณะผู้รับใช้ทางกฎหมาย ยิ่งในระบอบ “ประชาธิปไตยอุปโลกน์” มีรัฐธรรมนูญเขียนโดยกลุ่มที่ถูกมองว่า “สั่งได้” ในทางทฤษฎี โดยมากแล้ว Deep State มักเกี่ยวข้องกับหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงของรัฐโดยตรง เช่น กองทัพ ตำรวจ หน่วยข่าวกรอง และหน่วยสืบราชการลับต่างๆ หน่วยงานเหล่านี้มีอุดมการณ์ ความเชื่อ และธรรมเนียมปฏิบัติของตนเองในการทำงาน แม้ว่าผู้นำประเทศและบุคคลในรัฐบาลจะเปลี่ยนแปลงไปสักเพียงใดก็มักไม่ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานเหล่านี้มากนัก นอกจากนั้น หน่วยงานประเภทนี้มักมีการทำงานในลักษณะที่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนในวงกว้าง หรือแม้กระทั่งอยู่นอกเหนือจากระบบกฎหมายในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งลักษณะความซ่อนเร้นเช่นนี้เป็นสิ่งสำคัญของแนวคิด Deep State นั่นเอง

ฮันส์ มอร์เกนเทา (Hans Morgenthau) ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว กล่าวไว้ตั้งแต่ปี 1955 ในประเทศตุรกีคำว่า Deep State ก็จะมีความหมายที่รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของตุรกีกับการแทรกแซงอย่างลับๆ โดยสหรัฐอเมริกาด้วย

เออเชนี เมริโอ (Eugénie Mérieau, 2016) นักวิชาการชาวฝรั่งเศส ได้ทำการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองของไทยโดยใช้แนวคิด Deep State โดยได้ข้อสรุปว่าเครือข่าย Deep State ในประเทศไทยไม่ได้มีเพียงหน่วยงานด้านความมั่นคงเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่มองว่าตนไม่จำเป็นต้องเคารพเชื่อฟังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสมอไป เครือข่าย Deep State นี้ต้องการปกป้องผลประโยชน์และสถานะของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องการเข้าแทรกแซงทางการเมืองอย่างเปิดเผยมากเกินไป จึงหาทางออกด้วยการสร้างสถานะและบทบาทขององค์กรบางองค์กรให้มีพลังมากพอที่จะจำกัดอำนาจของรัฐบาลได้อย่างชอบธรรม ซึ่งเมริโอวิเคราะห์ว่าองค์กรหลักที่ได้โอกาสทำหน้าที่นี้นับตั้งแต่ยุครัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา ก็คือองค์กรตุลาการ

มีบทวิเคราะห์เรื่องรัฐพันลึกของอาจารย์เจนนี่ (เออเชนี เมริโอ), ผาสุก พงษ์ไพจิตร และนิธิ เอียวศรีวงศ์ (2559)

สรุปรวมความจากข้อมูลที่ไล่เรียงเสนอมาได้ว่า สังคมพันลึก หรือ Deep Society คือพลังสั่งสมตกทอด เหมือนเนื้อนาบุญในสังคมการเมืองวัฒนธรรมไทย จากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย และภารกิจก้าวหน้าในอดีต

จากปฏิวัติ 2475–>เสรีไทย–>กบฏสันติภาพ–>คอมมิวนิสต์ลาดยาว–>14&6 ตุลาฯ–>อดีตสหายผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย–>พฤษภา 35–>สมัชชาคนจน–> นปช.เสื้อแดง–>คณะนิติราษฎร์–>กลุ่มดาวดิน&ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

ดู “Deep State” ทำให้เป็น “Failed State, โดย โสภณ องค์การณ์, ผู้จัดการออนไลน์, 31 กรกฎาคม 2563, https://mgronline.com/daily/detail/9630000078333 & ประชาธิปไตยไทยกับแนวคิด 'รัฐพันลึก', THE MOMENTUM, 11 กรกฎาคม 2560, https://themomentum.co/special-report-deep-state/ & “รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก” (ตอนต้น) โดย เกษียร เตชะพีระ, มติชน, 1 มิถุนายน 2559, https://www.matichon.co.th/uncategorized/news_156510 & “รัฐพันลึก vs. สังคมพันลึก” (ตอนจบ) โดย เกษียร เตชะพีระ, มติชน, 16 มิถุนายน 2559, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_176780

[17]รัฐล้มเหลว (failed state) หมายถึง รัฐที่ไม่สามารถบริหารการปกครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือไม่สามารถดำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยภายใน มีความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย รัฐบาลและกลไกรัฐขาดความมั่นคงและประสิทธิภาพ จนไม่สามารถบริหารประเทศและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ประสบผลสำเร็จได้, วิกิพีเดีย

[18]ประชาธิปไตยไทย : บางมุมมองที่ถูกละเลย ?(Democracy : Forgotten Aspects ?) โดยวุฒิสาร ตันไชย รองศาสตราจารย์ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า, วารสารราชภัฏสุราษฎร์ธานี ปีที่ 4 ฉบับที่ 1 (มกราคม – มิถุนายน 2560), https://so05.tci-thaijo.org/index.php/srj/article/view/123904/94006

[19]Connection (คอนเนคชัน) คำนี้ในภาษาไทยยังไม่มีผู้นิยาม ปกติจะใช้คำทับศัพท์นี้เพื่อสื่อความหมายประมาณว่า “การดีลเอางาน” (Dealer Maker) ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความกว้างขวางด้วยเครือข่ายที่มี สามารถติดต่อประสานงานเป็นผลสำเร็จได้ดีกว่าคนอื่นๆ

คอนเนคชัน แปลว่า การเชื่อมโยง สายสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ ความเกี่ยวโยง ความเกี่ยวข้อง มักเกี่ยวข้องกับ “คนมีเส้น” แต่ในความหมายของคนไทยก็คือ “ใครก็ตาม” ที่สามารถแนะนำหรือมอบอำนาจในการสร้างผลประโยชน์ต่องานหรือธุรกิจของเราให้ลุล่วงไปได้ด้วยดียิ่งรู้จักคนเยอะเท่าไหร่ (หลากหลายอาชีพ) ก็ยิ่งได้เปรียบต่อการทำธุรกิจของเรา ตัวอย่าง คนรวยหรือหรือคนมีฐานะทางสังคมสูงย่อมง่ายต่อ “การเข้าถึง” ทรัพยากรและมีคอนเนคชันได้ดีกว่า เช่น เรียนมัธยมปลายโรงเรียนดัง มีเพื่อนรอบมาจากบ้านฐานะดี คุณก็มีคอนเนคชันดีมาตั้งแต่เด็ก เป็นต้น

ดีลเลอร์ (Dealer)หรือ ตัวแทนจำหน่าย เป็นคำทางธุรกิจ หมายถึงผู้ยื่นข้อเสนอให้คนตกลงหรือให้เห็นด้วย นำมาใช้ในการเมือง การต่อรองต่างๆ สำหรับผู้มีความสามารถในการดีลกับฝ่ายอื่นๆ เช่น ผู้กองมนัสเก่งการดีล 

ข่าวเมื่อ 11 กรกฎาคม 2562 มีวาทะ ร.อ.ธรรมนัสให้สัมภาษณ์ว่า “ผมคือเส้นเลือดใหญ่ เลี้ยงหัวใจรัฐบาล ผมกุมความลับดีลต่อรองทุกอย่าง หากล้มผมได้ รัฐบาลก็สั่นคลอน”

ดู ธรรมนัส vs ประยุทธ์ อธิบายแผนโค่นนายกฯ โดยวิศรุต, 10 กันยายน 2564, https://workpointtoday.com/explainer-010/ & เปิดใจ ผู้กองธรรมนัส มือดีลระดับพระกาฬ ที่ว่ายากก็จบแบบง่าย ๆ, 14 มิถุนายน 2562, https://www.youtube.com/watch?v=OT-AxAUD1HY 

[20]ระบอบอำมาตยาธิปไตย บางคนใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า bureaucratic polity อำมาตยาธิปไตย ในปัจจุบันจึงมิใช่แค่ชนชั้นข้าราชการ แต่เป็นในลักษณะของ "อภิสิทธิ์ชน" ซึ่งเราสามารถเรียกรวมๆ ในภาษาอังกฤษได้ว่า aristocracy หรือ aristocrats หรือ pseudo aristocrats (คือการเลียนแบบชนชั้นสูง)

ดู ระบอบอำมาตยาธิปไตย - ระบอบอำมาตยาธิปไตยใหม่, an excerpt from Red in The Land, article โดย SIAM Freedom Fight, 6 กุมภาพันธ์ 2553, http://siamfreedomfight.blogspot.com/2010/02/blog-post.html

[21]คำว่าตั๋วช้างในที่นี้ สื่อความหมายถึง การแต่งตั้งวางตำแหน่งบุคคลที่เป็นตำแหน่งบริหาร ทหาร ตำรวจ มักเกิดจากระบบเส้นสายอุปถัมภ์ ฝากฝังมีใบสั่งจากผู้มีอำนาจ  ไปจนถึงการซื้อขายตำแหน่ง

เมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2564 ในการอภิปรายไม่วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีก 9 คน โดย ส.ส.รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล ประเด็นเรื่อง ความไม่เป็นธรรมในการโยกย้ายตำรวจ มีแทรกแซงการใช้อำนาจในทางที่ผิดใน ก.ตร. มี “การซื้อขายตำแหน่งหน้าที่” อย่างเปิดเผย และไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง การซื้อขายตำแหน่ง ถ้าไม่มีผู้ใหญ่คอยหนุน ก็จะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง แต่หากมี "ตั๋ว" ราคาที่ต้องจ่ายก็จะถูกลง 

สรุป คือ เรื่องการซื้อตำแหน่งที่เรียกว่า “ตั๋วช้าง” ของข้าราชการตำรวจ มีการใช้เส้นสาย มีตั๋ว มีนาย มีเงิน ทำได้ทุกอย่าง "ตั๋วช้าง" คือ "จดหมายฝากตำแหน่งที่ดีที่สุดและไม่เคยได้รับการปฏิเสธ" ปล่อยให้คนนอกเข้ามาแทรกแซงการบริหารงานใน สตช.

ดู "ตั๋วช้าง" คืออะไร? สรุปอภิปรายไม่ไว้วางใจทั้งใน และนอกสภา ของ ส.ส.รังสิมันต์ โรม แบบครบจบรวดเดียว, The MATTER, 19 กุมภาพันธ์ 2564, https://thematter.co/brief/136142/136142 & อภิปรายไม่ไว้วางใจ : โรมถามหาความรับผิดชอบ ประยุทธ์-ประวิตร ปล่อยให้มี “ตั๋วช้าง” แทรกแซงแต่งตั้งตำรวจ โดย หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย, 19 กุมภาพันธ์ 2564, https://www.bbc.com/thai/thailand-56121881 

[22]การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) เป็นการประเมินที่มีจุดมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาด้านคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงานภาครัฐ โดยถือเป็นการประเมินที่ครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2561 มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือและเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2564 โดยใช้แนวทางและเครื่องมือการประเมินตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนด 

มีการบันทึกลงข้อมูลออนไลน์ของ อปท. ในระบบ ITA(Integrity and Transparency Assessment) มีการประเมิน ผู้มีส่วนได้เสียภายใน (IIT) ผู้มีส่วนได้เสียภายนอก (EIT) 

ดู ประโยชน์ของ ITA หรือการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ทำแล้วดียังไง, โดย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สพร.(Digital Government Development Agency : DGA), 13 มิถุนายน 2562, https://www.dga.or.th/document-sharing/article/36235/ 

การประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment : LPA : LPA) เป็นการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นการประเมินผลการปฏิบัติราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในขั้นพื้นฐานประจำปี เพื่อการจัดบริการสาธารณธารณะตามมาตรฐาน ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ใน 5 มิติ คือ (1) ด้านการบริหารจัดการ (2) ด้านการบริหารงานบุคคลและกิจการสภา (3) ด้านการบริหารงานการเงินและการคลัง (4) ด้านการบริการสาธารณะ (5) ด้านธรรมาภิบาล

ดู การประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment: LPA) โดย กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น, 2561, http://www.nathawee-sao.go.th/files/com_content/2018-10_334f432cd293512.pdf

[23]ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันปี 2564 ต้านทุจริตโลกย่ำอยู่กับที่ ไทยร่วงไปที่อันดับ 110, ThaiPublica, 25 มกราคม 2565, https://thaipublica.org/2022/01/corruption-perception-index-2021/ & ดัชนีคอร์รัปชันไทยรั้ง104 ของโลกได้ 36 จากเต็ม 100 อยู่อันดับ 5 อาเซียน, voicetv, 28 มกราคม 2564, https://voicetv.co.th/read/CNMMkNOK1 

[24]บุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาโพสต์ข้อความผ่าน เฟซบุ๊ก Boonyod Sooktinthai เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ระบุว่า "มีโทร. มาขอให้เข้าร่วมประมูลงานหน่อย แต่จะไม่ได้งานนะ ผู้ใหญ่ล็อกไว้แล้ว ถามว่างานอะไร โฆษณาต้านโกง"

ดู บุญยอด เผยเบื้องลึก โฆษณาต้านโกง ส่อเค้าฮั้วประมูล ชี้ผู้ใหญ่ล็อกไว้แล้ว, เวบ kapook, 26 กรกฎาคม 2561, https://hilight.kapook.com/view/175717 

[25]เปิดมุมมองประชาธิปไตย ของไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ, โดยสิรนันท์ ห่อหุ้ม, มติชนออนไลน์, 26 ต.ค. 2562, https://www.matichon.co.th/book/news_1726247

[26]เวลาที่เราพูดถึงประชาธิปไตย เรากำลังพูดถึง “ตัวแบบการตัดสินใจ" หรือเรากำลังพูดถึง “คุณค่าของประชาธิปไตยั" กันแน่ ในการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยนั้น จึงเป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดค้นกันให้ดีว่า จะทำอย่างไรให้เกิดประชาธิปไตยที่มีทั้งคุณค่า และมีทั้งกระบวนการที่สอดคล้องต้องกันนั่นแหละ

ประชาธิปไตย 3 แบบ คือ (1) ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (2) ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (participatory democracy) (3) ประชาธิปไตยแบบสนทนาและปรึกษาหารือกัน (discourse theory of democracy or deliberative democracy)

กล่าวโดยสรุปง่ายๆ การเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยนั้นก็ต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องของการมีรัฐบาลในนามของประชาชน ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในมิติอื่นๆ นอกจากการเลือกตั้ง และต้องคำนึงถึงเหตุผลของการตัดสินใจในแต่ละเรื่องด้วย

ดู ความหมายของ ประชาธิปไตยในระยะเปลี่ยนผ่าน โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, นิวส์มอนิเตอร์ Matichonh, 6 ธันวาคม 2559, https://www.matichon.co.th/news-monitor/news_383105 

[27]ตุลาการภิวัตน์ (judicial activism) ใช้เรียกกรณีที่อำนาจตุลาการต้องสงสัยว่าบังคับใช้กฎหมายตามความเชื่อส่วนบุคคลหรือการเมือง แทนที่จะอิงตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ พจนานุกรมกฎหมายของแบล็ค ให้คำจำกัดความไว้ว่า "แนวคิดที่ตุลาการให้ความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน นอกเหนือไปจากปัจจัยอื่น ๆ มาชี้นำการตัดสินของตน" วิกิพีเดีย

ภาษาอังกฤษมีคำว่า “judicial activism” ที่ใกล้เคียงกับคำว่า “ตุลาการภิวัตน์” ในภาษาไทย หมายถึงการตีความกฎหมายนอกเหนือจากตัวบทหรือตัดสินนอกกรอบบรรทัดฐานที่เคยมีมา หลายคนมองในแง่ลบว่าตุลาการภิวัตน์เป็นผลเสียต่อหลักนิติรัฐและประชาธิปไตยมากกว่าผลดี เพราะเท่ากับให้ศาลลงมาเป็นผู้เล่นทางการเมืองเสียเองหรือลดทอนอำนาจของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ในทางตรงกันข้าม คนอีกจำนวนมากก็มองในแง่ดีว่าตุลาการภิวัตน์น่าจะก่อผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะตัวบทกฎหมายมักจะมีช่องว่างและความไม่แน่นอน ศาลจำเป็นจะต้องตีความ และไหนๆ จะตีความแล้ว ก็ควรตีความกฎหมายให้ทันสมัยอยู่เสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของค่านิยมและทัศนคติของคนในสังคม ซึ่งย่อมไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่

ดู ตุลาการภิวัตน์ ความเป็นมนุษย์ของผู้พิพากษา กับ We. The Revolution, โดยSarinee Achavanuntakul, 1 พฤษภาคม 2562, https://thematter.co/thinkers/we-the-revolution/76335

[28]กระบวนการยุติธรรมทางเลือก (Alternative dispute resolution : ADR)กระบวนการระงับข้อพิพาทนอกศาล หรือ การระงับข้อพิพาททางเลือก ... หมายถึง การระงับข้อพิพาทโดยไม่ใช้วิธีฟ้องศาล ซึ่งโดยหลักๆจะแบ่งได้ 4 วิธีได้แก่ (1) การเจรจา (negotiation) (2) การไกล่เกลี่ย (mediation) (3) การประนีประนอมข้อพิพาท (conciliation) และ (3) อนุญาโตตุลาการ (arbitration)

[29]ยุค70 (ยุค '70s) คือ ยุคสังคมอเมริกาเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ (สงครามเวียตนาม, การเรียกร้องความเท่าเทียมในสังคม) ทำให้ทั้งเนื้อหาและภาษาภาพของหนังเปลี่ยนตามไปด้วย (หลังจากที่เริ่มเปลี่ยนจากอิทธิพล French New Wave ในยุค '60s ไปแล้ว) 

ดู ยุค70คืออะไร แล้วมันมีอะไร เวลาดูหนังฝรั่งมันชอบเอ่ยถึงปี70 บ่อยนัก, เวบ pantip, 10 กันยายน 2557, https://pantip.com/topic/32564097



ความเห็น (1)

Thank you for this discussion.

I am quite sure that the issues are ‘real’ and ‘more extensive’, is it possible to a mind map or info-graphic to understand more quickly?

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท