ดร.อุทัย อันพิมพ์
ดร. อุทัย ดร.อุทัย อันพิมพ์ อันพิมพ์

เมื่อถึงทางตัน ทำไงดี?


การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้เกิดความเป็นกัลยาณมิตร เกิดความรู้ใหม่ที่สามารถนำไปปรบใช้กับงานของตน แต่เมื่อไม่สามารถหาคำตอบในกลุ่มได้เราต้องพึ่งคุณอำนวยในการที่จะผ่าทางตัน

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Share & Learn) ในหมู่คนที่ประกอบอาชีพเดียวกัน มีความใว้เนื้อเชื่อใจกัน (Truth) ได้มาเล่าสิ่งดีๆ ที่เคยทำสำเร็จมาแล้ว  (Success Story) ให้เพื่อนฟัง นับเป็นการจัดการความรู้ที่ดี มีพลัง โดยสิ่งที่ดีๆ เหล่านั้นจะออกมาจากใจโดยผ่านออกมาเป็นเรื่องเล่า (Storytelling) แบบเผชิญหน้า (Face to Face) ซึ่งจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้ และการแลกเปลี่ยนจะมีพลังมากขึ้นเมื่อคนฟัง ได้รับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ก็จะส่งเสริมบรรยากาศแห่งการรัความรู้ได้ดียิ่งขึ้น

เมื่อความรู้ถึงทางตัน จากสถานการณ์จริงสิ่งหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้คือ การไปไม่ถึงสิ่งที่มากระทบกับการประกอบอาชีพของกลุ่มตนเอง ซึ่งอาจเป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นและยังไม่มีใครทำสำเร็จ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ผมขอยกตัวอย่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วกับกลุ่มผลิตเห็ดบ้านสว่าง ตำบลสำราญ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร คือปัญหาเรื่องหัวเชื้อเห็ดที่ไม่ได้คุณภาพ กล่าวคือ การนำหัวเชื้อมาผลิตเห็ดในแต่ละรุ่นคุณภาพของผลผลิตไม่สมำเสมอ ทุกคนที่ร่วมวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงเกิดอาการวกวน สับสน ไม่รู้จะแลกเปลี่ยนอย่างไรดี ผมจึงได้นั่งเฝ้าดูสิ่งที่เกิดขึ้นจึงโยนคำถามเข้าไปแหย่ให้เกิดอารมณ์ร่วมในการเรียนรู้ "ถ้ามันไม่ได้มาตรฐานเราก็ผลิตเองซิ" เป็นคำพูดของผมที่แหย่เข้าไปให้ทีมงานได้คิดต่อ ซึ่งตอนนั้นผมเองก็ไม่รู้หรอกครับว่านั่นคือกระบวนการ KM

จากนั้น ทีมงานก็ได้คุยกันต่ออย่างมีอารมณ์ร่วมอย่างมาก เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มของตน โดยร่วมเรียนรู้เรื่องการผลิตหัวเชื้อเห็ดใช้เอง โดยอาศัยคุณเอื้อที่มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ จนกระทั่งสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องหัวเชื้อเห็ดที่ไม่ได้คุณภาพเท่าทุกวันนี้ 

ทางออกเมื่อเป็นเช่นนั้น ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้บางครั้งอาจจะมีประเด็นที่เราไม่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสมาชิกในกลุ่มกันเองได้ซึ่งผมเรียกว่าถึงทางตัน แล้วผมจึงได้นำประเด็นดังกล่าวมาเรียนปรึกษาท่านอาจารย์ ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด ที่ สคส. อาจารย์ได้ให้ข้อแนะนำว่าเมื่อเป็นเช่นนั้น ในฐานะที่เป็นคุณอำนวยเราอาจจะแหย่ประเด็นเพื่อให้สมาชิกกลุ่มได้แลกเปลี่ยนกันต่อได้ แต่สิ่งที่ควรระวังก็คือเราอย่าไปชี้นำ หรือโยนแนวทางเข้าไปโดยตรง ซึ่งจะทำให้ไม่ใช่การจัดการความรู้อย่างแท้จริง

หรือหากมีประเด็นดีๆ เพิ่มเติมกรุณารบกวนท่านผู้รู้โปรดชี้แนะด้วยครับ เพราะผมเองยังเป็นมือใหม่หัดขับ

ขอบคุณครับ

อุทัย   อันพิมพ์

27 ธันวาคม 2549

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 69605เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2006 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมยังชอบและติดใจคำว่า

ได้รับฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening)

เราจะพัฒนาได้อย่างไร

ผมคิดว่าผมพอจะมีอยู่บ้าง (หลงตัวเองนิดๆ)

แต่จะสอนคนอื่นอย่างไร

ผมพยายามมาหลายปี สอนให้ "คนรู้จักฟัง" นี่ยากจริงๆ

เพราะ เมื่อเขาฟังไม่รู้เรื่องก็จะตีความส่งเดช ไปต่างๆนาๆ เรือกว่า

คุยกันไม่รู้เรื่อง ไปไหนมา สามวาสองศอกเลยละครับ

ผมสังเกตว่าคนที่มีความสามารถด้านนี้ที่สูงมากคือ ท่านหนุมชุมพร และท่านครูบา

พอผมถามอะไร

ท่านจะตอบแบบรู้ว่าผมถามเพื่ออะไร ทำไม และควรจะตอบอย่างไร จึงจะตรงคำถาม แบบไม่ต้องสาธยาย

แต่ส่วนใหญ่ที่ผมเจอ ต้องมีการแปลคำถาม สามพันห้าร้อยครั้ง ก็ยังตอบไม่ตรงคำถาม หรือ ไม่เข้าใจคำถาม ให้ถามใหม่ ประมาณนั้น

เรียกว่า กลับไปเกิดมาใหม่ดีกว่ามานั่งรอคำตอบครับ

ผมว่าน่าจะมาจาก ๒ ทาง เป็นอย่างน้อย

  1. ความสามารถของคนถาม
  2. ความสามารถในการฟังของคนถูกถาม

ผมว่าเรื่องนี้ซับซ้อนพอสมควร

ผมจะลองขยายความคิดใน blog เผื่อใครจะช่วยให้ผมเข้าใจได้ดีขึ้น

แต่ถ้ามีข้อมูลแล้ว ส่งมาให้หน่อยนะครับ

 

ตอบท่านอาจารย์ ดร.แสวงครับ

ขอขยายความคำว่า "การฟังอย่างลึกซึ้ง" ครับ

  • การฟังอย่างลึกซึ้ง คือการฟังอย่างตั้งใจ ให้เกียรติคนเล่าเรื่อง พร้อมกับจินตนาการตามที่เนื้อหาที่เพื่อน
  • อีกทั้งในการฟังจะต้องมีสมาธิ สามารถหยั่งลึกถึงจิตใจของคนเล่าได้ การฟังจะประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับระดับจิตของคนฟัง และการฝึกฝน ครับ

ถูกผิดอย่างไรขอความกรุณาผู้รู้ช่วยชี้แนะด้วยครับ

ขอบคุณครับ

อุทัย

คุณอุทัย คุณตอบถูกแค่หน้าประตูมหาวิทยาลัย เมื่อคนถามว่า มอบ คืออะไร

แต่ยังไมบอกว่ามีอะไรอยู่หลังประตู

ที่จะต้องมีตึก มีอาคารต่างๆ เครื่องมือ คน อาจารย์ นักศึกษา หลักสูตร การทำงาน ผลงาน ฯลฯ

ตอนนี้ผมทราบแค่ว่า มอบ อยู่ตืดกับถนนไปเดชอุดม

แล้วไง?..........แค่นั้นหรือ

ไม่เข้าใจถามมาได้

นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการขาด deep reading ที่เทียบกับ deep listening ในการฟังครับ

ผมไม่แจว่า

คุณไม่เข้าใจคำถามหรือไม่มีคำตอบ?

ก็เลยตอบมาแบบ "superficial answer" ทั้งทั้งที่ผมถาม deep question สำหรับ deep answer

ขอถามกลับนิดเดียว

คุณว่า Deep listening มีลักษณะอย่างไร

ตอบไม่ได้ ไว้วันหลัง

ผมไม่อยากเห็น superficial answer"ครับ

ส่งมาทาง email ก็ได้

ขอบคุณมากครับอาจารย์

ขอตอบอาจารย์เพิ่มเติมครับ สำหรับคำถามที่ว่า Deep listening มีลักษณะอย่างไร

เป็นการฟังแบบมีอารมณ์ร่วมกับคนที่กำลังเล่าเรื่องให้เราฟัง ซึ่งจะทำให้เห็นบรรยากาศ และสามารถเข้าใจได้ในบริบท เสมือนหนึ่งว่าเราอยู่ในเหตการณ์นั้นๆ ตามเรื่องเล่า หรือที่เรียกว่า กำลัง IN  เลยทีเดียวครับ สำหรับเนื้อหาเพิ่มเติมขอขยายความใน Mail ครับ

ด้วยความเคารพ

อุทัย  อันพิมพ์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท