เศรษฐกิจพอเพียงกับการจัดการเรียนรู้ในระดับหลักสูตรขั้นพื้นฐาน


เพื่อการเขียนแผนจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น ผมจึงได้เตรียมเสนอหัวข้อการบรรยาย เพื่อเป็นแนวทางในการนำความรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และภูมิปัญญาพื้นบ้าน เข้าสู่การจัดการทำแผนจัดการเรียนรู้ ดังกล่าว

เนื่องจากผมได้รับการทาบทามให้ไปบรรยายในหัวข้อ การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการเขียนแผนจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนมัธยมศึกษา ที่โรงเรียนแก่นนครวิทยาลัย จังหวัดขอนแก่น

ผมจึงได้เตรียมเสนอหัวข้อการบรรยาย เพื่อเป็นแนวทางในการนำความรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  และภูมิปัญญาพื้นบ้าน เข้าสู่การจัดการทำแผนจัดการเรียนรู้ ดังกล่าว ดังนี้

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีสาระที่เน้นความสอดคล้องกันในการดำรงชีวิตของคนที่สอดคล้องกับระบบธรรมชาติ โดยอาศัยความพอประมาณ ความมีเหตุมีผล และความหลากหลายที่จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในภาวะที่มีปัญหาได้

ซึ่งในทางปฏิบัตินั้น จะต้องอาศัยทั้งภูมิปัญญาและแนวคิดในการพัฒนาที่สอดคล้องแบบองค์รวม  จึงจำเป็นต้องมีทุกองค์ประกอบอยู่ในระบบการจัดการ ซึ่งสามารถนำมาแจกแจงให้เห็นองค์ประกอบภายในระบบการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถสนับสนุน ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง   เพื่อการจัดการระบบการศึกษา ทั้งขั้นพื้นฐานและขั้นอุดมศึกษาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์  สำหรับประเด็นต่างๆ ที่อาจแบ่งแยกให้เห็นวิธีการนำมาจัดทำแผนการเรียนรู้ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานนั้น อาจแบ่งได้ดังนี้

 สาระที่ ๑ ภาษาไทย 

ประเด็นของภาษาไทยนั้นก็เริ่มด้วยการพัฒนาความสามารถในการฟัง การสังเกต และการซักถาม ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาวิจารณญาณ และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นกับผู้ที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างถูกต้อง

และเมื่อมีการนำเอกสารความรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้ ก็สามารถนำไปสู่การอ่านเพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจอย่างถูกต้อง เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปแก้ปัญหาในการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง  

นอกจากนี้ การที่จะพัฒนาความรู้ได้ จะต้องมีการจดบันทึกจากการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ให้ได้ประเด็นสำคัญเพื่อการนำไปสื่อสารให้กับผู้อื่น และทำให้ตนเองเข้าใจได้มากขึ้นจากการบันทึก  ซึ่งรวมถึงการนำเอกสารต่างๆ ทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น และความรู้ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาผสมผสานให้เกิดความรู้ใหม่ หรือสร้างเป็นฐานข้อมูลได้อย่างถูกต้องตามเนื้อหาสาระที่เป็นจริง   

ต่อจากนั้น เมื่อมีการเขียนบรรยายสรุปประเด็นก็สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจความสัมพันธ์และความสำคัญของคำต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้เกิดทั้งพลังและภูมิปัญญาของการใช้ภาษา ที่อาจนำไปสู่ความประทับใจจนสามารถกลั่นกรองออกมาเป็นวรรณกรรมที่เป็นทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ก็ได้  

เพราะฉะนั้น หลักการของการพัฒนาภาษาไทย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจึงสามารถทำได้ครบทุกขั้นตอน โดยไม่สามารถติดขัดใด ๆ ในกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของระดับครัวเรือนและชุมชน 

สาระที่ ๒  คณิตศาสตร์ 

การที่จะสร้างเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะต้องมีการจดบันทึก การวัดทั้งเชิงพื้นที่และเชิงผลผลิต รายได้ รายจ่าย และการคำนวณต่างๆ รวมทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจระบบของความพอเพียง ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม 

ส่วนที่เป็นนามธรรมนั้นอาจจำเป็นต้องมีการแปลความหมาย โดยการใช้ทักษะในการตีความหมายเพื่อแก้ปัญหาและใช้เหตุผลทางคณิตศาสตร์ได้อย่างถูกต้อง  

หลักการทางคณิตศาสตร์นี้ โดยพื้นฐานแล้วก็จะเป็นการนับจำนวนต่างๆ หาเหตุผลและวิธีการในการที่จะประเมินความแตกต่างของวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันของเกษตรกรแต่ละราย หรือแต่ละพื้นที่ หรือแต่ละกิจกรรม ซึ่งมีรูปแบบในการปฏิบัติที่หลากหลายทั้งในแปลงเดียวกันและต่างแปลง จึงจะทำให้เกิดความพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์แบบ

การดำเนินการเช่นนี้จะต้องมีการวัดและการคาดคะเนสิ่งที่ต้องการวัดและหาวิธีการแก้ไขปัญหาหน่วยวัดที่แตกต่างกันให้ปรับมาเป็นหน่วยวัดเดียวกันได้  อาจคิดร้อยละ หรือเชิงเปรียบเทียบในกรณีที่มีกิจกรรมแตกต่างกัน หรือแม้แต่การค้นหาดัชนีวัดความสุข ความสำเร็จของแต่ละกิจกรรมซึ่งอาจจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการวัดจากนามธรรมเป็นรูปธรรม ซึ่งสามารถแปลผลได้ในทางคณิตศาสตร์ และนำข้อมูลที่ได้ไปสู่ความสามารถในการวิเคราะห์ความน่าจะเป็นในด้านต่างๆ แล้วนำความรู้ต่างๆ เหล่านั้นไปสื่อสารและสื่อความหมายในทางคณิตศาสตร์เพื่อการสร้างความคิดริเริ่มที่จะประเมินผลได้อย่างถูกต้องทั้งทางหลักการของสังคมและเศรษฐกิจ  

สาระที่ ๓  วิทยาศาสตร์ 

เป็นกลุ่มสาระที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบการจัดการเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงได้ทุกมุมมอง ไม่ว่าจะทำความเข้าใจถึงสิ่งมีชีวิต และระบบกลไกการทำงานต่างๆ ที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจพอเพียง ปฏิสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ที่เจริญอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศใกล้เคียงกัน ซึ่งอาจจะต้องมีปัจจัยภายนอก ทั้งทางด้านกายภาพ และการหมุนเวียนสารอาหารต่างๆ ที่เป็นตัวกลางที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนพลังงาน สะสมพลังงาน จนทำให้เกิดการพัฒนาการของพื้นที่ ในระดับลึก ระดับผิวดิน และระดับในอากาศ ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงกับปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งภายในบริเวณรอบ ๆ ของแปลงเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจระบบของธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

สาระที่ ๔  สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม 

ระบบการพัฒนาการของเศรษฐกิจพอเพียง จะมีพื้นฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดและจิตวิญญาณของผู้ปฏิบัติ จึงจะสามารถทำเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องเพื่อตนเอง สิ่งแวดล้อม และสังคม

ดังนั้น การเรียนรู้ของนักเรียนจึงจะโยงถึงหลักศาสนา ศีลธรรม และจริยธรรม ทั้งส่วนที่เป็นศาสนาพุทธ และศาสนาอื่นที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ผู้เรียนจะเข้าใจถึงวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตในสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหน้าที่พลเมือง ที่จะช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งจะมีผลมาจากการพัฒนาจากฐานทรัพยากร ทางด้านภูมิศาสตร์เชื่อมโยงกับประวัติความเป็นมาของพื้นที่ และระบบการดำรงชีวิต ทำให้ผู้เรียนซาบซึ้งถึงประวัติศาสตร์ และสาเหตุของการพัฒนาการในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีผลกระทบถึงรายได้ รายจ่าย ที่เกิดขึ้นและทุนชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

สาระที่ ๕  สุขศึกษา พลศึกษา 

การพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงมีความผูกพันโดยตรงกับสุขภาพอนามัยของสมาชิกในครัวเรือน อันเนื่องมาจากเป็นการพัฒนาทั้งด้านความสุข ความสงบในจิตใจ การมีสุขภาพดี การได้ออกกำลังกายที่เป็นประโยชน์ต่อตนเอง

ทำให้สามารถสร้างเสริมสุขภาพจากการบริโภคอาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัยจากสารพิษต่างๆ นอกจากนี้ ในการทำงานระบบเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ลดอัตราเสี่ยงของการเดินทางไปรับจ้างต่างถิ่น ซึ่งอาจมีผลสืบเนื่องถึงการใช้สารเสพติดและความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม 

สาระที่ ๖   ศิลปะ 

การดำเนินการจัดผังการทำงานในระบบเศรษฐกิจพอเพียงนั้นจะต้องเข้าใจพื้นฐานทรัพยากรและระบบการจัดการที่จะสะท้อนถึงความคิดและจิตวิญญาณของความเข้าใจในการพัฒนาการที่ถูกต้องที่อาจสะท้อนออกมาในรูปของศิลปะในการทำงาน ที่สะท้อนความคิด สะท้อนกลไก สะท้อนกระบวนการทำงาน ผ่านกระบวนการสื่อทางด้านศิลปะ ซึ่งในที่สุดจะมีการขับร้องหรือแต่งเพลง กลอน ผญา และคำอธิบายที่สื่อออกมาทางด้านศิลปะ ทั้งศิลปะที่เป็นการขับร้อง ศิลปะด้านวาดรูป และศิลปะการแสดง ที่จะเป็นสิ่งเร่งเร้าให้คนเข้าใจผ่านการนำเสนอ โดยผู้แสดงด้านต่างๆ

และในทางกลับกัน  การจัดการระบบเศรษฐกิจพอเพียงยังเป็นการนำศิลปะต่างๆ เข้ามาผสมผสานด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดความรู้ที่สอดคล้องกันและเกิดความสุขของผู้ปฏิบัติได้อย่างครบถ้วน ที่ทำให้ผู้ปฏิบัติและผู้เยี่ยมชม หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน 

สาระที่    การงานอาชีพและเทคโนโลยี 

การจัดการระบบเศรษฐกิจพอเพียงมีการสอดคล้องกับการดำรงชีวิตของส่วนบุคคลและครอบครัวโดยตรง เป็นประเด็นให้นักเรียนสามารถเข้าใจการพัฒนาทักษะและจิตสำนึกในการใช้ทรัพยากรด้านต่างๆและสิ่งแวดล้อม

เข้าใจศักยภาพและปัญหาของการทำงานเป็นกลุ่มเพื่อพัฒนาอาชีพทั้งในระดับครัวเรือน และในระดับชุมชน ที่อาจนำไปออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อการขยายผลด้านการทำงานและการพัฒนาอาชีพอย่างเชื่อมโยงกันในหลายๆ ชุมชน  

สาระที่ ๘  ภาษาต่างประเทศ 

การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่อาจจำเป็นต้องใช้ภาษาต่างประเทศเป็นตัวเชื่อมโยงเพื่อการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศที่อาจจะมีปัญหาในด้านเทคนิคการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจวิธีการสื่อภาษา ทั้งการพูด การเขียน และการสื่อสารข้อมูล ที่เป็นพื้นฐานของปัญหา มาจากวัฒนธรรมการใช้ภาษาที่แตกต่างกัน

ทำให้นักเรียนสามารถเข้าใจความสัมพันธ์ชุมชนต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก 

 กิจกรรมการพัฒนาผู้เรียน 

ในกระบวนการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงจะมีการพัฒนามาจากการพัฒนาจิตใจ การพัฒนาทักษะและการพัฒนาทรัพยากร จะทำให้ผู้เรียนเกิดความซาบซึ้งถึงความจำเป็นและกระบวนการในการพัฒนาชีวิตและจิตใจเพื่อการนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

และในทางกลับกัน สำหรับกรณีที่มีบุคคลที่อยู่ในระบบที่เป็นปัญหา แล้วสามารถพัฒนาตนเองเข้ามาสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ก็จะเป็นกรณีตัวอย่างให้ผู้เรียนทุกคนได้เห็นว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการจากชีวิตที่มีปัญหาสู่ชีวิตที่ปกติ และนำไปสู่ชีวิตที่มีความสุขและความสมบูรณ์ในระดับครัวเรือนนั้นทำได้อย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่เป็นกรณีตัวอย่างในการพัฒนาผู้เรียน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับประเด็นรายละเอียดนั้น ผมจะนำเสนอในการบรรยายจริง และเปิดโอกาสให้ซักถาม เพื่อความชัดเจน อีกครั้งหนึ่ง

แสวง ๒๖ ธันวาคม ๒๑.๓๐ น.



ความเห็น (15)

อรุณสวัสดิ์ค่ะท่าน ดร. แสวง รวยสูงเนิน

  • ครูอ้อยจะขอสมัครเป็นสมาชิกแพลนเน็ตค่ะ
  • บันทึกนี้ดีมากค่ะ
จากชีวิตที่มีปัญหาสู่ชีวิตที่ปกติ ความสุขและความสมบูรณ์ในระดับครัวเรือน ผมเห็นว่าควรเป็นอีกวิชาหนึ่งที่ทุกคนต้องเรียน
ครูอ้อยครับ ผมหลงเข้าใจผิดว่าครูอ้อยนำบล็อกผมเข้าแพลนเนตของครูอ้อยมาตั้งนานแล้วครับ ด้วยความยินดีครับ
ท่านขุพลเม็กดำ ผมเห็นด้วย ๑๐๐% แต่ว่าใครจะเปิดสอนที่ไหนเท่านั้นแหละครับ ในมหาวิทยาลัยชีวิตดีไหมึครับ มีอะไร ที่ผมพอจะช่วยได้ บอกเลยนะครับ

อาจารย์แสวงที่เคารพ

          บรรยายอย่างเดียวคงมองเห็นภาพยากหน่อยนะค่ะอาจารย์  ต้องเชิญไปดูไปเห็นที่แปลงนาของอาจารย์ถึงจะเหมาะ  แต่เอาเป็นว่าอาจารย์พูกเรียกน้ำย่อยก่อนก็หมาะคะเป็นการกระตุ้นไปในตัว

           ปัญาหาการสร้างหลักสูตรเศรษฐกิจพอเพียงไม่สำเร็จในโรงเรียนเพราะข้ออ้างง่าย ๆว่าไม่มีพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่ประเด็นสำคัญ  สำคัญคือไม่ทำจริง อย่างมากก็แค่แอบไปถ่ายภาพสวนผักชาวบ้านมาอ้างเป็นผลงานตัวเอง  ไม่สอนให้นักเรียนทำจริง มีแต่สอนทฤษฎีให้มาสอบเอาคะแนน

 

อาจารย์ค่ะต้องขอดทษเป็นอย่างสูงเพราะพิมพ์ตกหลายที่  มือพลาดไป Enter

แค่นั้นก็ยังดีกว่ามาพูดปากเปล่า

ฟันปลอมยังถอดไว้ที่บ้านเล้ย......

โจทย์ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง คนทั่วไปมักจะมองเป็นเรื่องทำมาหากินเป็นหลัก แล้วมีแนวโน้มว่าจะให้น้ำหนักไปในด้านการเกษตร ถ้าโจทย์ เป็นวิถีชีวิตที่พอเพียง คนจะเข้าใจง่ายและแปลรหัสได้กว้างขวางขึ้นหรือเปล่านะ ท่านเล่าฮู

ครับ

ผมพิมพ์ยาวมาก และก็ยังไม่ได้ปรับให้เป็นเศรษฐกิจพอเพียงที่ถูกต้องครับ

เดี๋ยวจะลองแก้ไขดู

เรียนอาจารย์แสวงที่เคารพ

  • ดูชื่อหัวข้อบรรยายแล้วดูยากมากเลยนะค่ะ “การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อเศรษฐกิจพอเพียงที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน” เพราะจะเอาทั้ง ...ภูมิปัญญาท้องถิ่น....การจัดการเรียนรู้....เศรษฐกิจพอเพียง....และยังต้องสอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานอีก....ไม่แน่ใจว่าจะมาในทำนองเดียวกันกับที่ สกอ. ได้ขอให้สถาบันการศึกษาน้อมนำพระราชดำรัส เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นปรัชญาในการส่งเสริมให้สถาบันการศึกษา นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันทางสังคม รวมทั้งปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการดำเนินชีวิตให้อยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง และมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน...มั้ยค่ะ? (ยาวเหมือนกัน)
  • แล้วเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เข้าใจว่าหมายถึง ความพอมี พอกิน พอใช้ ซึ่งเป็นการดำเนินชีวิตที่ไม่วิ่งตามวัตถุ หรือเป็นวัตถุนิยม อันจะทำให้เกิดการใช้จ่ายเกินตัว ก่อให้เกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจทั้งในระดับบุคคลไปจนถึงประเทศชาติ แต่ทั้งนี้เศรษฐกิจพอเพียงของแต่ละคน แต่ละส่วน จะแตกต่างกันไปตามแต่ละบริบทของแต่ละคน แต่ละส่วน......และไม่ได้เน้นเฉพาะเกษตรกรเท่านั้น......... ไม่ทราบว่าพอจะเข้าใจถูกมั้ยค่ะ ขอความกระจ่างจากอาจารย์ด้วยค่ะ
  • หากจะให้คนมีวิถีชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง ต้องให้เขาเข้าใจความจริงแท้ของธรรมชาติ ธรรมชาติของชีวิต ... ซึ่งต้องอาศัยการพัฒนาจิต ไม่ให้ยึดติดกับวัตถุ... ใช่มั้ยค่ะ 
  • ขอความเข้าใจอีกนิดหนึ่งค่ะ อาจารย์...คำว่า..สาระ..กับ..วิชา....ต่างกันอย่างไรค่ะ
  • blog ของอาจารย์ สวยมากค่ะ แต่ก็โหลดนานมากเลยค่ะ ไม่แน่ใจว่าเกล็ดหิมะสวยๆของอาจารย์เป็นเหตุรึปล่าวค่ะ
ที่โหลดช้า เพราะมีปัญหาแผ่นดินไหวที่ไต้หวันครับ หัวข้อทางครูเขากำหนดมาครับ สาระคือกลุ่มวิชาครับ พอเพียงต้องเริ่มที่การลดกิเลศครับ ไม่เน้นเกษตร ได้ทุกเรื่องครับ แต่การบรรยายผมจะเน้นเกษตรหน่อย แต่ก็ยังใช้ ๒แนว ๓ เส้า เหมือนเดิม
  • ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ
  • ๒แนว ๓ เส้า เป็นยังไงค่ะ
  • ตอนนี้โหลดได้เร็วขึ้น สงสัยแผ่นดินหยุดไหวแล้วใช่มั้ยค่ะ

 

๒ แนว คือ หลักการ และวิธีการที่ถูกต้อง ทำได้จริง เป็นธรรม ๓ เส้า คือ พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน

....อาจารย์ครับ...ผมอย่าจะดูแผนการจัดการเรียนรู้ที่วิชาภาษาอังกฤษได้สอดแทรกหลักเศรษฐกิจพิเพียงครับ เผื่อว่าผมจะได้นำไปปรับแล้วนำไปสอนเด็กนักเรียนได้ให้เข้าใจคราบ(ผมเป็นแค่ครูอัตราจ้าง)........ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

ก็เน้นการใช้ภาษาที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมเลยซิครับ

มีคำศัพท์อะไรบ้าง

สื่อในบริบทของสังคมไทย สังคมต่างชาติอย่างไร

เช่น moderation autonomy sufficiency integrated ฯลฯ

ไม่น่าจะมีปัญหาอะไรครับ

ให้ผมไปช่วยสอนไหมครับ

แต่ผมไม่ค่อยรู้เรื่องภาษาเท่าไหร่ พอใช้ได้เฉยๆครับ อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท