แสงไฟที่ลุกโพลงปลายอุโมงค์


ผลของความมานะพยายามของพวกเขา ที่ได้ล้มลุกคลุกคลานมาไม่ต่ำกว่า ๕ ปี บัดนี้ได้ลงหลักปักฐานอย่างองอาจสง่างาม

เมื่อวนนี้พวกเรา ( ดิฉัน อาจารย์ทนาย คุณพูนสิน ผู้ประสานงานกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ยูเอ็นดีพี) ได้ทำงานกันอย่างเต็มภาคภูมิ ๑๒ ชม.  เริ่มจาก ๙ โมงเช้าถึง ๓ ทุ่ม เดินทงไปร่วมสมทบกับคณะสมาชิกชะโนด โนนทัน อำเภอดงหลวง เป็นวันนัดหมายเยี่ยมสวนเพื่อน ซึ่งทางกลุ่มตกลงจัดปีละครั้ง เพื่อให้กำลังใจและเรียนรู้ผ่านพัฒนาการของผู้อื่น มาปรับใช้กับสวนของตนเอง ก่อนเดินทางกล่มก็ได้ร่วมกนกำหนดเนื้อหาว่าการเยี่ยมกันจะช่วยกันดูในเรื่องอะไรบ้าง ตั้งแต่ตอนต้นเดือน ประกอบด้วย ๑) ปุ๋ยหมักที่สมาชิกต้องทำประจำ ๒) น้ำหมักต้องมีไว้ใช้ตลอด ๓) แปลงสวนทดลองมีอะไรเพิ่มมากขึ้น มีปัญหาอะไรบ้าง ๔) แนวคิดบ้านดิน เคลื่อนไปถึงไหนแล้ว ๕) แปลงสบู่ดำก้าวหน้าถึงไหน ๖) กำหนดนาทดลองไม่ไถ อยู่แปลงใด ๗) ฟาง เศษวัสดุที่จะใช้ในนาไม่ไถ ๘) อื่น ๆ  ที่เจ้าของนาสร้างสรรค์ขึ้น

รูปแบบสวนไร่นาสมาชิกที่ได้ประจักษ์แก่สายตานั้น สร้างความปลื้มปิติ ปรีดาปราโมทย์กับดิฉันยิ่งยวด  ...โอ ...ผลของความพยายามของพวกเขา หลังจากที่ได้ล้มลุกคลุกคลานมาไม่ต่ำกว่า ๕ ปี  ....บัดนี้ได้ลงหลักปักฐานแล้วอย่างองอาจสง่างาม  ภาพที่ปรากฏต่อสายตามากหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่แบบกระจุ๋มกระจิ๋ม เขียวชะอุ่ม ละเอียดละออ งดงาม ปลูกไม้ถี่ยิบในพื้นที่ที่ไม่ใหญ่นัก ตามกำลังของผู้หญิง ดังที่เห็นในไร่นาของน้องเนียง น้องฉันดี น้องเลียบ  แบบที่บึกบึนเป็นมวยก็รุ่นเฮฟวีเวทเลย ในกรณี พ่อบน พ่อบอน พ่อยอด ที่ทำในพื้นที่ใหญ่เลย ต้นไม้ซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางพงหญ้า รอวันเวลาที่จะทะยานเสียดฟ้า ผลไม้หลากชนิด ไม้ใช้สอย มันสำปะหลังก็มีที่อยู่กับเขาด้วย ยางพาราก็หลงมา ๕ ต้น ๑๐ ต้น และยังมีไม้ธรรมชาติบางต้นที่หลงเหลืออยู่ก็พลอยชูช่อ อวดโฉมหน้าของตนขึ้นมาด้วย แปลงสบู่ดำก็แทรกอยู่ในนั้น แนวรั้วไม้สีเสียดตรงแน่ว บางตอนเป็นมะตูม สะเดา กระท้อน และสารพัดผลไม้   นึกย้อนไปถึงช่วงที่พวกสมาชิกเริ่มต้นที่ต้องฝ่าฟันให้ผ่านทั้งตัวเอง คนใกล้ชิดและคนในชุมชนเพื่อที่จะ สร้างสรรค์งานขึ้นมาแล้ว....ทำได้อย่างไร.....ตอนนี้ฐานของงานได้ลงหลักไปแล้ว เหลือแต่จะเติมรายละเอียด ทำให้ประณีตลงลึกไปเรื่อย ๆ แล้วจะเจอเอง ( อ. ระพี  สาคริก ) และประเภทที่ทำตามกำลังคนแก่ แต่ก็มีเนื้อหางานมากพอที่จะจินตนาการได้ว่าต่อไปในอนาคตจะกลายเป็นอะไรบ้าง

          " ผมเตรียมจะเพิ่มพืชใต้ดินในสวนผม" พ่อบน

          " เฮาจะเสริมคันนาตอนล่างให้ใหญ่ขึ้น ปลูกไม้เพิ่มอีก"  แม่เหวย ต่อยหนักอีกตามเคย เสริมคันนาจะค่อย ๆ ขุดเอง แถมยังล่วงหน้าเพื่อนไปแล้ว ขนปุ๋ยหมัก ขนฟางคลุมนาที่จะทดทำแบบไม่ไถปีหน้า ไวปานจรวด

          " ปีนี้จะเหยียบดิน เตรียมทำกระท่อม " พ่อบอน

          " จะหาไม้พื้นบ้านโดยเฉพาะยางนา มาเพิ่มในแปลงค่ะ " เนียง

          " จะเพาะมะขามป้อม สมอ เพิ่ม " ฉันดี

เสียงเซ็งแซ่ของความคิดดัง ๆ ของกลุ่มสมาชิก กระนั้นก็ตามก็ยังมีคนที่ " ก็ใช่นะสิ ดินของเพิ่นดี ที่ของเพิ่นเหมาะ มีน้ำ ของฉันรอขุดสระก่อน ..."   !!!! เป็นหนึ่งจากทั้งหมดเก้าคนที่ยังคงไม่ได้ก้าวเดินไปกับเพื่อน ๆ

อะไรหนอทำให้การสนองตอบต่อสถานการณ์ ประสบการณ์ เบื้องต้นจึงเป็นแบบอัติโนมัติ

          " ทำไม่ได้ "

          " ขาดน้ำ "

          " ดินไม่ดี "

          " มีน้ำก็ทำได้ "

ซึ่งเหมือนกับการกั้นตัวเองไว้จากการเผชิญกับปัญหา การฟันฝ่าปัญหาโดยการสบประมาทตนเอง ในขณะที่คนแก่อย่างแม่เหวย ที่ดู ฟัง และเงียบไม่พูดไม่จา ....อย่าเผลอ....ซึมซับเอาหมด กลับถึงบ้านลงมือทำทันที มันต้องอย่างนี้สิถึงจะเรียกว่า ของจริง

นอกจากนี้ยังมีกรณีเศร้าสุด คือพ่อบิน ซึ่งเป็นหนึ่งใน สามบริษัท ( บิน บน บอน ) ที่หวนกลังไปขึ้นรถไฟสายมรณะ ไถพรวนสวนที่ได้ทำมากับมืออายุ ๔-๕ ปี ท้ง เพื่อปลูกมันสำปะหลัง และปลีกตัวออกจากกลุ่มเหมือนหม้อนิล ( ไปแบบไม่บอกไม่กล่าว )  พวกเราได้แต่หวังว่าข้อสรุปของพวกเราต่อจุดหมายปลายทางของรถไฟสายมรณะนี้ ผิด หรือไม่ก็หวังว่าพ่อคงจะลงจากรถไฟทัน แต่ถึงอย่างไรก็ตามเพื่อนไม่ทันล่ะ นับจากวินาทีนี้เป็นต้นไป

โดยสรุปแล้วตามความรู้สึกเมื่อเทียบกับเกษตร ๑ ไร่ที่ขอนแก่น ซึ่งก็เป็นที่จุดประกายความคิดได้แห่งหนึ่งนั้น โดยประเภทของต้นไม้แล้ว กลายเป็นเสมือนสาวแรกรุ่น วัยกำดัดที่บอบบาง ที่ควรถนุถนอม เป็นโฉมงามกับ อสูร -สิ่งที่ชาวดงหลวงได้สร้างสรรค์ ในให้ความรู้สึกมั่นคงสุด ๆ  เป็นยักษ์ปักหลั่น เต็มไปด้วยพลกำลังที่กำลังค่อย ๆ ยืนขึ้น ...สูงเสียดฟ้า..จนต้องแหงนคอตั้งบ่าดู

หมายเลขบันทึก: 69562เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2006 21:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 18:42 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

KM คือคำตอบครับ

แต่

  • อย่าใช้มัน จนกว่าผู้นั้นจะรู้จักมัน
  • เพราะคนจะกลัว จนโยนมันทิ้ง
  • แล้วก็มางมอยู่กับความไม่รู้ต่อไป

(เช่นเดียวกับนักศึกษามหาชีวาลัยอีสาน)

ว่า

  • ไม่มีน้ำ ก็ไม่ต้องทำ หรือทำไม่ได้
  • หรือ รอให้คนมาช่วย

แทนที่จะคิดต่อว่า

  • ไม่มีน้ำ จะทำอะไรด้บ้าง
  • และในระยะยาว จะทำอย่างไรให้ไม่ต้องพูดคำนี้อีก

นี่คือคำตอบ และเป็นคำถามที่ท้าทายนักพัฒนาอย่างเรา

  • ว่าเราจะทำให้ชาวบ้านกินยาขมหม้อนี้อย่างหน้ายิ้มเข้าหาได้อย่างไร

 หวัดดีพี่ตุ๊ หาทางมาจนเจอค่ะ อ่านแล้วคิดถึงมาก ๆ ฝากความคิดถึงพี่น้องสมาชิกโครงการด้วยนะคะ แล้วจะโผล่มาทักทายอีกค่ะ

 รักษาสุขภาพด้วยล่ะ คิดถึงและรักยิ่งค่ะ

 ปุ๊เอง

ตอบ อ. แสวง

ผลลัพธ์ของการกินยาขมหม้อนี้ เป็นธรรมชาติของการหายจากโรคที่มนุษย์ปราถนา บังเอิญในยุคของเรานี้ มียาให้เลือกประกบคู่กันไปเป็นยาเหมือนกันแต่เคลือบด้วยน้ำหวานและกลิ่นอันหอมหวนทวนลมและเป็นยาที่อ้างปลายทางในการรักษาโรคได้ชะงัดและเร็วปานกามนิตหนุ่ม ไม่ต้องเสียเวลา

โชคดีที่ชาวบ้านยังหลงเหลือเชื้อแห่งความเชื่อถือธรรมชาติในจิตวิญญาณ เขายังชอบกินสมุนไพรอยู่นะ คำ ยาหม้อ ยังกระทบจิตใจของเขาได้อยู่ ตรงนี้ก็อาจเป็นจุดที่จะเปิดให้กับเราหรือเปล่า

สำหรับดิฉันได้ใช้ทั้งตัวและหัวใจค่ะอาจารย์

คุณปุ๊ ขอบคุณที่ดั้นด้นจนเจอกัน  ช่วยแจมข้อมูลด้วยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท