ทำไม?จากพุทธศาสนาสู่โยคะ (ตอน๒)


ไม่เจอทุกข์ ไม่บ่ายหน้าเข้าหาวิหาร เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้าถึงบุคคลทั่วไป

ปัญญาเกิดจากผัสสะ(การกระทบ) เป็นคำกล่าวของ อ.สมัคร บุราวาศ

เหล่านี้แสดงถึงปฏิกิริยาและผลของการแก้ปัญหาจนคลายทุกข์ จนได้ประสบการณ์ใหม่ที่เป็นประโยชน์แก่ชีวิตเพิ่มขึ้น

นั่นคือเมื่อมีทุกข์ มีความเห็นที่ถูกต้องเกี่ยวกับทุกข์ก่อนว่าทุกข์ไม่ใช่จะเกิดก็เกิด แต่เกิดจากเหตุ เช่น การกระทำของตัวเราเอง ทุกข์เกิดได้ก็ดับได้ แก้ที่เหตุได้ทุกข์ก็ดับ เห็นตรงภาวะคือทุกข์ก็รู้เห็นด้วยความเป็นทุกข์(สัมมาทิฎฐิ) แล้วต้องมีความคิดอยากจะแก้ไข อยากก้าวออกไปจากทั้งเหตุและผลนั้นๆด้วย(สัมมาสังกัปปะ)

เรื่องนี้ยกตัวอย่างคนสูบบุหรี่ได้ค่ะ บางคนรู้ว่าบุหรี่มีโทษ แต่มีความเห็นว่าเวลาเครียด ได้สูดลมหายใจแรงๆพร้อมบุหรี่เป็นการคลายเครียด มีความสุข จึงไม่มีความคิดที่จะเลิก เมื่อ"เห็นทุกข์เป็นสุข" จึงรักษาเหตุแห่งทุกข์ให้ยังคงอยู่ ทุกข์จึงถูกบังไว้ด้วยความคิด

เมื่อเริ่มจะแก้ไข อันดับแรกคือการรักษาสัจจะ โดยเอาตนเข้าเปรียบ เราอยากได้วาจาจริงอย่างไร ไม่ถูกบิดเบือนความจริงจนเราปฏิบัติต่อสถานการณ์ผิดอย่างไร คนอื่นก็อย่างนั้น จึงสำรวมวาจา(สัมมาวาจา)

และสำรวมทางกาย หากใครไม่ให้ของของเขาก็ไม่หยิบฉวยเอา บุคคลอันเป็นที่รักผู้อื่นย่อมหวงแหนไม่อยากให้ใครล่วงเกินก็เคารพในการหวงแหนนั้น รวมถึงเคารพในสิทธิ์ทางร่างกายและชีวิตของเขา ไม่ทำร้ายจนเขาต้องบาดเจ็บหรือพบการสูญสิ้น(สัมมากัมมันตะ)

เพื่อจะให้เป็นอยู่อย่างปกติ มีสิ่งของสำหรับการใช้สอยและบำรุงเลี้ยงร่างกาย จำเป็นต้องมีงานเลี้ยงชีวิต แต่การงานที่ทำนั้นต้องเคารพสิทธิ์ของผู้อื่นทั้งในแง่ทรัพย์สิน ร่างกาย การให้วาจาจริง(สัมมาอาชีวะ)

และเพราะในการใช้ชีวิต เราต้องสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม บุคคลอื่น อันเป็นเหตุให้เกิดความคิดในทางต่างๆ นำไปสู่การพูด ทำ ต่างๆได้ ความสุขในชีวิตจะเกิดจากการปฏิบัติต่อตน ผู้อื่น และสภาพแวดล้อมอย่างถูกต้อง แต่เนื่องจากเราทุกคนไม่ได้สมบูรณ์แบบ จึงต้องมีความพยายามฝึกตนเพื่อให้ปฏิบัติต่อสภาพแวดล้อมและความเห็นของตนให้เป็นไปในทางที่ถูกต้องด้วย

นั่นคือหากได้รู้ว่าสิ่งดีๆใดๆที่เรามีอยู่แล้ว ให้รักษาและทำให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ หรือสิ่งดีๆใดๆที่ยังไม่เกิดในตัว ก็พยายามทำให้เกิดให้มี ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับสิ่งไม่ดี คือพยายามกำจัดและป้องกันไม่ให้เกิด ไม่ให้มี(สัมมาวายามะ)

การใช้ความพยายามอย่างนั้น เราย่อมทำได้ไม่สม่ำสมอ เพราะสิ่งที่เรารับรู้ทางตา หู เป็นต้น มีมากมาย ความเย้ายวนของสิ่งที่รู้เห็นอาจนำไปสู่ความคิดที่ทำให้ทุกฝ่ายเดือดร้อน จึงต้องมีการฝึกสติ ให้จดจ่อกับความเห็นถูก การกระทำที่ถูก(สัมมาสติ)

เช่น เห็นกระเป๋าแบรนด์ราคาแพง ถ้าเห็นด้วยความอยาก อาจอยากได้ไว้ใช้แม้ต้องอดทนอดออมมากมาย แต่ถ้าเห็นด้วยคุณค่าแท้ ไม่ใช่ด้วยคุณค่าเทียม ก็อาจไม่นึกอยากได้ หรือถ้าสามารถใช้สอยได้โดยตนไม่เดือดร้อน ก็อาจใช้สอยบ้าง และเปรียบเทียบมูลค่าที่จ่ายที่สามารถนำไปใช้จ่ายเพื่องานอื่นบ้าง เพื่อลดความต้องการลง ซึ่งในส่วนนี้เท่ากับได้ฝึกสัมมาสังกัปปะ สัมมาสติและสัมมาวายามะไปพร้อมๆกัน

พอความอยากลด จิตก็สงบจากความอยาก เห็นเสมอในทุกที่ กระเป๋าธรรมดาหรือกระเป๋าแบรนด์ก็มีคุณค่าเท่ากัน คือไว้ใส่ของ การเห็นเสมอจนสงบลงนี้เอง คือภาวะจิตที่เรียกว่า สมาธิ

สมาธิจึงเป็นทั้งผลของการฝึกจิต และเหตุคือการปฏิบัติเพื่อให้จิตสงบลงจากความต้องการ เช่นฝึกด้วยกัมมัธฐานต่างๆ ฝึกตั้งสติติดตามความเป็นไปของร่างกายหรือเนื่องด้วยจนจิตสงบ(สัมมาสมาธิ)

ทั้งหมดนั้นคือมรรคมีองค์ ๘ ในพุทธศาสนานั่นเองค่ะ ผลของการปฏิยัติตนด้วยมรรค คือ เมื่อจิตเป็นสมาธิ มองตนและสภาพรอบตัวคล้อยตามความเป็นจริง ก็อยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันได้อย่างมีความสุข สงบ และเข้าถึงความจริงที่ประณีตยิ่งขึ้นเรื่อยๆได้(สัมมาญาณ) พ้นจากทุกข์ไปทีละเรื่องๆ จนพ้นได้ทั้งหมดดังที่เราเรียกกันว่า บรรลุอรหันต์(สัมมาวิมุตติ)

จะห็นว่ามรรคมีองค์ ๘ คือหลักการใหญ่ ที่ช่วยให้เราค่อยๆเข้าใจตนเอง ค่อยๆเข้าใจชีวิต เมื่อเข้าใจมากขึ้น ก็อยากรับดารฝึกที่ประณีตยิ่งขึ้นมาสู่ชีวิต ชีวิตที่เดินทางจึงเหมือนการเดินบนขดลวดสปริงจากปลายด้านล่าง หมุนวนขึ้นไปสู่ปลายด้านบนด้วยการปฏิบัติตามหลักการเดิม แต่รายละเอียดเพิ่มขึ้นเท่านั้น

แล้วมรรค ๘ ของโยคะล่ะคะต่างจากพุทธศาสนาอย่างไร มรรค ๘ ในพุทธศาสนาคือหลักการใหญ่ ส่วนรายละเอียด ผู้ปฏิบัติสามารถค้นคว้าหาและนำมาฝึกปฏิบัติให้สอดคล้องกับภาวะตนได้ แต่มรรค ๘ ของโยคะมีรายละเอียดของการฝึกที่แน่นอนอยู่ในองค์มรรคนั้นแล้ว จึงเป็นการฝึกตามรายละเอียดที่เมื่อฝึกไปเรื่อยๆแล้วก็จะเข้าใกล้หลักการใหญ่ได้เอง

มรรค ๘ ของโยคะมีอะไรบ้าง ต้องยกยอดไปคราวหน้าแล้วค่ะ

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

 

คำสำคัญ (Tags): #พุทธศาสนา#มรรค
หมายเลขบันทึก: 693609เขียนเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2021 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2021 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท