เคล็ด(ไม่)ลับของการมีอายุยืน (3)


            ถึงตอนนี้คงทราบแล้วว่า “ฉันทะ”เป็นกุญแจดอกหนึ่งนำไปสู่ความอายุยืน ฉันทะแปลว่าความพอใจ ความยินดี ภาษาอังกฤษใช้คำว่า aspiration (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม) คือเป็นความพอใจในระดับสูง จนเป็นความปรารถนาอันแรงกล้า บางทีท่านใช้คำว่าอยากดี อยากทำให้ดี อยากช่วยเหลือ อยากทำให้สำเร็จเพราะเห็นประโยชน์ที่ผู้อื่นจะได้รับ เน้นตรงคำว่า “เพื่อผู้อื่นจะได้รับ” คือไม่ได้มุ่งประโยชน์ของตัวเอง

            ตั้งเป็นข้อสังเกตว่า ทำไมเมื่อการทำประโยชน์มุ่งไปสู่คนอื่นที่ไม่ใช่ตนเองเป็นจิตที่มีกำลังมาก เพราะว่าธรรมดาคนเรานั้นเวลาจะทำอะไรก็ต้องคิดถึงประโยชน์ของตนเองมาก่อน การคิดถึงตัวเองมาก่อนเช่นนี้จิตจะเจือปนด้วยอัตตา ตัวเองมาก่อน จิตจะคับแคบ จิตไม่ขยายตัว แต่พอไปนึกถึงเพื่อที่จะให้คนอื่น อัตตาของตนเองจะถูกลดความสำคัญลง เหมือนกับเวลาที่เราหิวข้าว ลูกน้อยก็หิวข้าวด้วย แม้ว่าจะหิวแต่พ่อแม่จะให้ลูกกินก่อน พลังจิตพ่อแม่จะมีมากแปรกลับเป็นความสุขมาทดแทนความหิวเมื่อเห็นลูกกินข้าว 

            จากที่เคยเขียนไว้ในตอนแรกเรื่อง อิทธิพลของResonanceความถี่ตามธรรมชาติของวัตถุ ที่เมื่อใดก็ตามเราใส่ความถี่นี้เข้าไปที่วัตถุนั้นๆก็จะสั่นสะเทือนด้วยพลังอันสูงสุดทีเดียวฉันใด ฉันทะนี้ก็เช่นเดียวกันฉันนั้น หากใครมีชีวิตอยู่ด้วยการทำงานที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่นด้วยใจรัก จะเกิดพลังจิตหมุนเวียนในตนเองเหมือนคนหนุ่มสาว  

             ตอนนี้จะขอยกตัวอย่างของบุคคลที่ทำงานด้วยฉันทะคนหนึ่ง หากใครเคยอ่านประวัติของ โคโนสุเกะ มัตสึชิตะ เจ้าของผู้ก่อตั้งบริษัทเนชั่นแนลและพานาโซนิคประเทศญี่ปุ่น เขามุ่งมั่นทำงานตั้งแต่ยังหนุ่มใช้เวลาจนทำให้บริษัทเติบโตประสบความสำเร็จ แต่ด้วยความที่สุขภาพแย่ลงในวัย72ปีเขาได้ลาออกและแต่งตั้งให้ลูกเขยเป็นผู้บริหารสูงสุดต่อไป เขาพักผ่อนใช้ชีวิตอยู่เงียบๆในบ้าน แต่เมื่อบริษัทเกิดภาวะตกต่ำเสียหายอย่างหนัก มัตสึชิตะในวัย80ปี กลับมาที่บริษัทอีกครั้งหนึ่ง เขาที่เคยมีสุขภาพที่อ่อนแอ แต่ในวิกฤตช่วงนั้นทุกคนกลับรู้สึกว่าเจ้านายคนเดิมที่กระฉับกระเฉงกลับมาคืนฟร์อมอีกครั้ง เขามากู้วิกฤติให้กับบริษัทได้สำเร็จอย่างเรียบร้อย แล้วก็กลับไปพักอยู่บ้านส่วนตัวเหมือนเดิม เขารักองค์กรที่เขาตั้งขึ้นมาเป็นอย่างมาก โดยตั้งใจให้องค์กรนี้ทำงานเพื่อรับใช้ผู้คนทั่วโลก

              เขาเคยได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในวันหนึ่งช่วงสงครามโลกครั้งที่2  บริษัทของเขาถูกกระทบจากผลของสงครามเป็นอันมาก คนญี่ปุ่นไม่มีความสุขรวมทั้งตัวเขาด้วย ทั้งหมดรอคอยว่าเมื่อไรสงครามจะสิ้นสุดลง เย็นวันนั้นเขาไปที่วัดเซ็นแห่งหนึ่ง เขาเห็นภาพความสุขของผู้คนที่หายไปนานปรากฎขึ้นที่นี่ คนหนุ่มสาวจำนวนมากมาวัดนี้ พวกเขาบริการเสริฟน้ำชาให้กับคนที่มาวัดด้วยสีหน้าแววตาที่มีความสุข ทุกคนบริการให้ด้วยความเต็มใจ  เขาประทับใจมาก และครุ่นคิดว่า “เพราะอะไรนะคนหนุ่มสาวที่นี่จึงเสริฟน้ำชาด้วยความสุข” คำตอบแวบขึ้มาในใจว่า “เพราะเขารู้สึกอยากให้คนอื่นมีความสุขนั่นเอง”  และเมื่อกลับมาถึงบริษัทได้เรียกประชุมผู้บริหารประกาศนโยบายหลักของบริษัทอย่างเร่งด่วนในวันรุ่งขึ้น คือ การทำงานเพื่อรับใช้ผู้คนทั่วโลก ผู้บริหารที่เข้าประชุมในวันนั้นงงกันมากกับคำแถลงการณ์ของท่านประธาน ดูเหมือนเป็นนามธรรมที่ไม่มีสาระและจับต้องไม่ได้ แต่ก็รู้สึกได้ถึงอารมณ์อันแรงกล้าของมัตสึชิตะที่เขาต้องการนโยบายนี้ให้ทุกคนได้ทำตาม และถือเป็นหลักการสำคัญของบริษัท  เขามีอายุยืนยาวได้เห็นการเติบโตของบริษัทต่อมาอีกหลายปีและเสียชีวิตในวัย95ปี เป็นแบบอย่างนักบริหารองค์กรณ์ชาวญี่ปุ่นและคนทั่วโลกมาถึงทุกวันนี้

หมายเลขบันทึก: 692995เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2021 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2021 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท