ลูกหลานท้าวสองหาง นางสองเก้า


ตอนแรกไม่เข้าใจ ไปก็ไปเฉย เพิ่นพาไปก็ไป ลองเบิ่ง ฟังเบิ่ง พาทำอะไรก็ทำตาม ตอนนี้ไม่สงสัยแล้ว แต่ก่อนเราไม่รู้อะไร ทำไปตามแบบบ้านนอกเรา พ่อแม่พาทำก็ทำตามไปเรื่อย ๆ ไม่ได้คิด

เพื่อนร่วมงาน เคยพูดว่า พื้นที่รัศมีสิบกม. จากตัวเมือง ทำงานพัฒนาด้วยยาก ด้วยมีแนวโน้มของการดูดทรัพยากรจากเมืองรุนแรงกว่าในทุกมิติ     ข้อสังเกตนี้อาจใช้ได้ไม่หมดกับทุกพื้นที่

บ้านนาคำกลางห่างจากตัวเมืองเพียง ๑๒  กม.  เข้าออกหมู่บ้านสะดวก เป็นหมู่บ้านที่มีชัยภูมิกระทัดรัด มีถนนสายหลักโอบล้อมหมู่บ้าน เดิมมีกอไผ่ล้อมรอบ แต่ "ดับ" ตอนที่เอาไฟฟ้าเข้าหมู่บ้าน เหลือเพียงเค้า ๑ ในสิบส่วน มีห้วย"คำ"ไหลผ่าน ต้นน้ำเรียก ยอดคำ ถือเป็นบริเวณศักดิ์สิทธิ์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ที่เข็ดที่ขวง เป็นที่สิงสถิตย์ของ " ท้าวสองหาง นางสองเก้า เป็นเจ้ายอดคำ " ซึ่งชาวบ้านเคารพยำเกรง

การเข้ามาร่วมโครงการของชาวนาคำกลางค่อยเป็นค่อยไปเริ่มแรกจาก ๖-๗ คน มาเป็น ๑๔  คนในปัจจุบัน มีคนเข้าออกตามธรรมชาติ มาลองทดลองดู ชอบไหม บ้างก็มีภาระต้องเลี้ยงหลาน เลี้ยงควาย บ้างก็บอกเสียเวลาในการไปหาเงิน

กล่มที่มาร่วมทำงานกันนี้ก็นับว่าได้สร้างรูปธรรมในไร่นาของตนเองเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้คน " โอ ของอยู่ของกินของยายแก้วมีเต็มตึ้ง ในสวนของแก "    และที่สำคัญคือการที่เจ้าตัวได้รู้ว่า " ตอนแรกไม่เข้าใจ ไปก็ไปเฉย เพิ่นพาไปก็ไป ลองเบิ่ง ฟังเบิ่ง พาทำอะไรก็ทำตาม ตอนนี้ไม่สงสัยแล้ว แต่ก่อนเฮาไม่รู้อะไร ทำไปตามแบบบ้านนอกเรา พ่อแม่พาทำก็ทำตามไปเรื่อยๆ  ไม่ได้คิด ตอนนี้เรารู้จักและเรารู้ว่าจะทำอะไร มันคิดออกว่าจะทำไปแบบนั้น แบบนี้ เหมือนเราเรียน ป. หนึ่ง ตอนนี้เข้าปีที่สี่แล้ว ใครจะว่าอะไรก็ตามไม่ได้สนใจ ทำไปเรื่อย ๆ  "  ( แม่แก้ว แพงลูก )

จุดเด่นมาก ๆ อีกประการหนึ่ง นอกจากกล่มผู้ใหญ่ที่พยายามสร้างฐานชีวิตของตน เด็ก ๆ ในหมู่บ้านก็พลอยมารวมกลุ่มด้วย ทั้งลูกหลานของสมาชิกและทั่ว ๆ ไป กว่า ๒๐  คน เด็กพวกนี้เรียกตนเองว่า กลุ่มเด็กฟื้นฟูต้นทุนชีวิตชุมชนท้องถิ่น

ชาวนาคำกลางโชคดี ไม่มีที่มาก ยางพาราจึงไม่มีใครปลูก พืชเดี่ยวตัวอื่น ๆ เช่นมันสำปะหลัง อ้อย ไม่เคยทำ ชีวิตอาศัยธรรมชาติ ส่วนรายได้มาจากการขายข้าว เลี้ยงสัตว์ ค้าขายพืชผักผลไม้ในท้องถิ่น และทำงานรับจ้างในเมืองและต่างเมือง

ดิฉันรู้สึกว่า ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และภูมิศาสตร์ของหมู่บ้านน่าสนใจมาก ในเชิงที่จะขยายงานให้เต็มพื้นที่ คงจะสนุกและมัน เพราะว่าชาวบ้านที่นี่เป็นชาวบ้านป่า ผู้คนหากินกับธรรมชาติที่เหลืออยู่ ถึงหน้าเกี่ยวข้าว พวกคนหนุ่มก็ไปรวมตัวกันไปช่วยลานโน้น ลานนี้ ตีข้าว ขนข้าวขึ้นเล้า แล้วหาหนู หาไก่ หานก หาเป็ด บางทีก็เป็นสุนัขมากินกัน เวียนไปเวียนมา เด็กผู้ชายก็รวมตัวกันไปช่วยตีข้าว นาเพื่อน เด็กผู้หญิงก็เก่งเรื่องหากิน ชำนาญในการหาเห็ด หาแมงดา หาหน่อไม้ หาแมงกินได้ประเภทต่าง ๆ  ตกเบ็ด ยกยอ ทำส้มตำ เด็ก ๆ  เหล่านี้ถ้ารู้ว่าพวกเราเข้าไปประชุม ในเวลาไม่ถึง ๑๐ นาทีก็จะพากันรวมตัวมาลับๆล่อ ๆ  มาเล่นกันอยู่บริเวณที่เราประชุม ทั้งตัวใหญ่ตัวเล็กตัวน้อย มาเป็นพรวน มาเล่นอยู่แถวนั้น พวกเรา ( ดิฉัน อาจารย์ทนาย และเด็ก ๆ วางแผนการปลูกผักเตรียมไว้เพื่อจะทำสุกี้ยากี้กินกันข้างแปลงผักไปเลยค่ะ เดือนสองที่จะมาถึงนี้

คำสำคัญ (Tags): #กลุ่มเด็ก
หมายเลขบันทึก: 69096เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2006 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าตื่นเต้นมากเลย อยากไปเยี่ยมจังเลย

น่าจัดท่องเที่ยวเชิงนิเวศนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท