ชีวิตที่พอเพียง ๓๙๖๔. ครูในมุมมองของท่านพุทธทาส



อาชีพครูนี้ประเสริฐที่สุด ถ้าทำให้ดี ให้ถูกต้องแล้ว  เป็นอาชีพที่ได้บุญ    เป็นปูชนียบุคคล อยู่เหนือศีรษะทุกคนในโลก   เป็นผู้สร้างโลก

ข้อความข้างบนคัดมาจาก หนังสือชุดธรรมะใกล้มือ เรื่อง พระพุทธองค์ทรงเป็นบรมครู (๑)ซึ่งดาวน์โหลดได้ฟรี

มาจากบันทึกเสียงการบรรยายอบรมครูโรงเรียนเบญจมราชูทิศ นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๒๒  

เป็นที่มาของวลี “การศึกษาหมาหางด้วน”    ที่ท่านบอกว่า “ทำเพียง ให้รู้หนังสือ ฉลาด และรู้อาชีพโดยใช้เทคโนโลยี”    ไม่ได้ช่วยให้ยกระดับความเป็นมนุษย์ที่จิตใจสูง    มิติยกระดับความเป็นมนุษย์ขาดหายไปจากการศึกษาโดยทั่วไป   

ท่านจึงเสนอให้เป็นครูสองด้าน คือเป็นครูสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กับเป็นครูสังกัดพระพุทธเจ้า    โดยสอนให้ครบ ๓ ด้าน คือ ความรู้  อาชีพ  และมิติของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์    ที่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล คือความถูกต้องทางกาย วาจา และวัตถุ  ที่ผมขอเรียกว่าพฤติกรรม    สมาธิ คือมีความถูกต้องทางจิต สมรรถภาพ อนามัย ทางจิต    ปัญญา คือมีความรู้ ความเข้าใจ ความคิดเห็นที่ถูกต้อง   

ท่านเอ่ยถึง การบังคับความรู้สึก  self-control ซึ่งตอนนี้เรารู้ว่าเป็นเรื่อง EF – executive functions ที่การศึกษาและการเลี้ยงดู ต้องฝึกเด็กด้วย    นอกจากนั้นท่านยังเอ่ยถึง self-confidence, self-respect ด้วย    ตรงกับแนวคิด identity development (๒)

เสียดายที่ท่านพุทธทาสสิ้นไปนานแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖   ไม่มีโอกาสได้เห็นว่า การศึกษาในโลกได้วนกลับมาดำเนินการตามที่ท่านพุทธทาสสอนไว้    คือจัดให้มีการพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านความรู้ อาชีพ และยกระดับความเป็นมนุษย์    เพื่อเป็นผู้ “ประพฤติประโยชน์แก่กันและกัน ไม่ใช่เอาเปรียบเบียดเบียนกัน” (หน้า ๙) (๓)   รวมทั้งการศึกษาได้หันมาใช้ “การเรียนรู้เชิงรุก” (active learning)   ตามแนวพุทธที่ถือว่า สิกขา เน้นการปฏิบัติ

การศึกษาสมัยใหม่  นำเทคนิคทางพุทธมาใช้ในหลากหลายด้าน  รวมทั้งด้านจิตศึกษา หรือจิตตปัญญาศึกษา   

ครูที่สอนแบบถ่ายทอดความรู้แบบเก่า ยังอยู่ในภพภูมิของการศึกษาแบบที่ท่านพุทธทาสตำหนิในหนังสือเล่มนี้    ครูที่สอนตามแนวการเรียนรู้เชิงรุก เพื่อพัฒนา ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑   และพัฒนามนุษย์ที่มีสมรรถนะผู้กระทำการเพื่อสังคมสุขภาวะ (๓)    เป็นครูตามแนวที่ท่านพุทธทาสตั้งความหวังไว้เมื่อ ๔๒ ปีที่แล้ว

วิจารณ์ พานิช

๓ พ.ค. ๖๔


หมายเลขบันทึก: 690815เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2021 18:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2021 18:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท