การศึกษาเพื่อชีวิต (ของใคร???)


การพัฒนาตนเองเพื่อชีวิตนั้นมีอยู่กี่ด้าน ซึ่งก็น่าจะประกอบด้วย ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และจิตวิญญาณ

จากคำจำกัดความของคำว่า “ศึกษา” ที่ผมเคยกล่าวไว้แล้วว่ามาจากภาษาบาลีว่า “สิกขา” และภาษาสันสกฤตว่า “สิกฉา” ที่แปลมาเป็นภาษาไทยว่า ศึกษา มีรากศัพท์ที่แปลว่า การพัฒนาตนเอง

เพราะฉะนั้น ถ้าแปลหัวเรื่องก็จะได้ความว่า การพัฒนาตนเองเพื่อชีวิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพคนทั้งในระดับปัจเจก และในระดับกลุ่ม

ตามรากศัพท์ดังกล่าวข้างต้น เราจึงต้องมาไล่ดูว่า การพัฒนาตนเองเพื่อชีวิตนั้นมีอยู่กี่ด้าน ซึ่งก็น่าจะประกอบด้วย ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ และจิตวิญญาณ

ด้านร่างกาย ก็น่าจะประกอบด้วย ความแข็งแรง สมบูรณ์ สามารถไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ที่น่าจะเกิดขึ้นจากการใช้ส่วนประกอบของร่างกายต่างๆ อย่างสมบูรณ์และเป็นปกติ ทำให้ระบบร่างกาย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตและคุณภาพชีวิต

ด้านจิตใจ ก็ควรจะพัฒนาระดับความคิดที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติทั้งในส่วนตัวเอง การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆในสังคม และการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม

ด้านจิตวิญญาณ ก็ควรจะพัฒนาระดับความสามารถของจิตในการควบคุมพฤติกรรมให้เหมาะสมเพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพ ทั้งในระดับปัจเจก ระดับครัวเรือน และผลกระทบต่อสังคม ซึ่งสามารถเชื่อมโยงได้ให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี เพื่อชีวิตตนเองและผู้อื่น

จากหลักการทั้ง 3 ข้อข้างต้น จึงน่าจะเป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อชีวิต ที่สามารถทำให้ทุกคนที่ปฏิบัติ มีชีวิตที่ดี และยั่งยืน ตามสมควร ทีนี้เราลองมาดูซิครับว่าเรามีระบบการศึกษาในส่วนใดบ้างแล้ว และยังขาดในส่วนใด ทั้ง

  • แนวคิดการวางระบบการศึกษา 
  • ยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ ยุทธวิธี 
  • โครงสร้างการทำงาน 
  • บุคลากร 
  • การดำเนินงาน 
  • การเข้าถึงของคนทั่วไป 
  • ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

เมื่อทราบถึงโครงสร้างและระบบการทำงานแล้ว เราต้องมาไล่ดูว่า

  • การทำงานนั้นมีผลเป็นเช่นไร ในสังคมที่จำเป็นต้องพัฒนาโดยระบบการศึกษานั้น
  • ยังมีใครยังเข้าไม่ถึง ในเรื่องใด ประเด็นใด 
  • อะไรที่ทำได้ ไม่ได้ หรือ 
  • เรายังต้องหาตัวช่วยในเรื่องอะไร จากไหน อย่างไร

แล้วเราจึงมาแบ่งว่า งานต่างๆที่มีอยู่นั้น ใครมีความสามารถอะไร ใครจะรับงานใดไปทำ และยังขาดงานอะไรที่ยังไม่มีคนทำ เมื่อทำได้เช่นนี้ เราก็จะสามารถพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อชีวิต โดยเอาชีวิตของผู้ขาด “การศึกษา” เป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาคนที่ทำ หรือระบบการศึกษาเป็นตัวตั้ง มิเช่นนั้น ก็จะเป็น

  • การศึกษาเพื่อระบบการศึกษา หรือ 
  • การศึกษาเพื่อครู หรือ 
  • การศึกษาเพื่อพัฒนาโรงเรียน หรือ 
  • การศึกษาเพื่อพัฒนากระทรวงศึกษา
  • ฯลฯ

แต่ ไม่ใช่การศึกษาเพื่อชีวิตของผู้ยังขาด “การศึกษา”

ลองดูนะครับ ว่าท่านที่นำเสนออยู่ทุกวันนี้นั้น กำลังพัฒนาการศึกษาเพื่อชีวิตของใครกันแน่ กี่เปอร์เซ็นต์

และผมหวังว่าจะไม่ใช่คำตอบที่พัฒนาชีวิตของ “นักการศึกษา” เพียงอย่างเดียวนะครับ

ขอบคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 69061เขียนเมื่อ 24 ธันวาคม 2006 07:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์คะหนูกำลังคิดเช่นกันคะว่า การศึกษาไทยเปิดโอกาสให้คนไทยได้ศึกษาเรียนรู้อย่างทั่วถึงจริงหรือ และศึกษาได้ตรงประเด็นหรือเปล่า  เปิดการศึกษาเพื่ออะไร หากสำหรับข้าราชการ หรือคนทำงาน ที่ควรจะศึกษาควบคู่กับการทำงานเพื่อการพัฒนางานไม่ใช่พัฒนาดีกรีการศึกษาของตนเอง แต่ ก็จำกัดด้วยเวลา ที่จะต้องศึกษาให้จบ และ ค่าลงทะเบียนที่แพงลิปลิ่ว (เงินเดือนยิ่งสูงอยู่เชียว)  หากจะศึกษาให้ตรงกับวิถีชีวิต เพื่อไม่ให้การศึกษาพรากคนไปจากท้องถิ่น ก็ยังไม่ชัด  เห็นยิ่งเรียนยิ่งอยู่ไกลบ้าน ยิ่งเกิดปัญหาด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณกันมากขึ้น  ยิ่งเห็นชาวตะวันตกมาเรียนแบบวิถีชีวิตเดิมของบ้านเราแล้ว  กลัวว่าอีกไม่กี่ปีเราต้องไปเรียนแบบวิถีชีวิตของบรรพบุรุษเราจากชาวตะวันตกซะเนี่ย   ขอขอบคุณอาจารย์นะคะที่เปิดช่องทาง ให้โอกาสระบายความในใจที่อั้นอยู่เต็มเปี่ยม 

  แหม อาจารย์ก็ ...
    เวลาเขาพูดกันว่า การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ค่อยเห็นมีวงเล็บต่อท้ายนี่ครับว่า ชีวิตใคร ผู้ที่เรียกตัวเองว่า  นักการศึกษา ก็ต้องย่อมไม่เข้าใจบ้างเป็นธรรมดา ทำงานมากเข้าๆ จึงพบว่า คุณภาพชีวิตตนเองดีขึ้นเรื่อยๆ  แล้วก็ดีใจว่า นี่ไงทำได้แล้ว เจ้าสิ่งที่เรียกว่า การศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต. .... อนิจจา !

คุณก้ามปูครับ

ด้วยความยินดีครับ

ผมพยายามหาประเด็นร้อนๆมาคุยอยู่แล้วครับ

ขอบคุณที่มาแลกเปลี่ยนครับ

อาจารย์พินิจครับ

ดูซิครับผมเอาใจลูกค้าขนาดไหน

ขอเปลี่ยนชื่อก็ยอมทันทีเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท