สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มข.



การวิจัยมะเร็งท่อน้ำดีของ มข. เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๗    มีการรวมตัวกันของนักวิจัยจากหลายคณะ หลายศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องพยาธิในไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี มีผลงานสร้างความรู้ใหม่ทำให้ทีมนี้มีชื่อเสียงก้องโลก    ผลงานสร้างศาสตราจารย์จำนวนมาก    เมธีวิจัยาวุโส สกว. หลายท่าน    นักวิจัยดีเด่น  และนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น    และที่สำคัญยิ่ง สร้างนักวิจัยใหม่รุ่นต่อรุ่น   

จากการรวมตัวของนักวิจัย  นำไปสู่การสนับสนุนของฝ่ายบริหาร     มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี (พ.ศ. ๒๕๔๕)     ซึ่งต่อมาในปี ๒๕๖๐ ยกระดับเป็นสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี (๑)  (๒)     มีการส่งต่อภาวะผู้นำของสถาบันจากรุ่นสู่รุ่น     และมีการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่เข้ามรับช่วงงานต่อเนื่อง    น่าชื่นชมมาก     ผมเป็นกรรมการอำนวยการมาเกือบยี่สิบปี     ได้เห็นพัฒนาการยกระดับงานและผลกระทบต่อสังคม ทำให้ผมมีความสุขมาก   

โดยผมได้บันทึกเรื่องนี้ไว้เป็นระยะๆ ที่ (๓)    โดยได้บันทึกการประชุมคณะกรรมการอำนวยการสถาบันมะเร็งท่น้ำดีครั้งหลังสุดเมื่อหนึ่งปีครึ่งมาแล้วที่ (๔)     

ในช่วงแรก งานวิจัยเน้นที่ basic research เน้นทำความเข้าใจกลไกที่พยาธิใบไม้ตับก่อมะเร็งท่อน้ำดี    และกลไกการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ    ต่อมางานวิจัยขยายสู่การประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อป้องกันการติดเชื้อพยาธิ และป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้อเกิดมะเร็งท่อน้ำดี   และให้สามารถวินิจฉัยมะเร็งท่อน้ำดีได้ตั้งแต่แรกเริ่ม และรักษาให้หายขาด

งานพัฒนาระบบ early detection  และ early treatment ดำเนินการมาประมาณ ๙ ปี    ได้รับการสนับสนุนเป็นมาตรการระดับชาติ และดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมา     ผลงานของโครงการนี้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ มข. ได้รับการจัดอันดับโดย THE ให้มีอันดับ social impact อยู่ในกลุ่ม 101 – 200 ของโลก    และอันดับ ๑ ของประเทศไทย    และผลงานโดยรวมในปี ๒๕๖๓ ก็น่าชื่นชมมาก     ทั้งในด้านผลงานวิจัยตีพิมพ์  ผลงานด้านการป้องกันการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ   งาน early detection   และผลงานผ่าตัดแล้วอัตรารอดชีวิต ๕ ปี สูงขึ้นมาก    มข. ให้เงินสนับสนุน ๔ ล้าน   แต่สถาบันหาทุนจากภายนอกได้มากกว่า ๙๐ ล้านบาท   

ทาง มข. หาทางสนับสนุนหลากหลายทาง ให้สถาบันทำงานได้คล่องตัวขึ้น    เชื่อมโยงฝ่ายต่างๆ ได้อย่างมีผลสัมฤทธิ์ยิ่งขึ้น   

เช้าวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๔ มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการของสถาบัน    ได้อนุมัติให้ ศ. นพ. ณรงค์ ขันตีแก้ว ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสถาบันต่ออีกวาระหนึ่ง (๔ ปี)     และตั้งคณะกรรมการอำนวยการและกรรมการบริหาร     รวมทั้งทำความตกลงเรื่องการสนับสนุนครุภัณฑ์ และพัฒนาการเข้าสู่ precision medicine ในการรักษามะเร็งท่อน้ำดี   โดยใช้ multi-omics technology    ที่จะต้องมีการลงทุนสูง    เป็นเรื่องท้าทายในยุคที่ประเทศมีข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจ

วิจารณ์ พานิช

๕ เม.ย. ๖๔

      

หมายเลขบันทึก: 690507เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2021 17:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2021 17:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท