ชีวิตที่พอเพียง 3924. เดินออกกำลังที่ดอนเมือง



 คืนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ ผมไปนอนค้างคืนที่โรงแรม อมารี ดอนเมืองแอร์พอร์ต    ในงาน DE กลางน้ำของ SCBF และ กสศ.    เช้าวันที่ ๑ มีนาคม จึงได้โอกาสไปเดินออกกำลัง และเรียนรู้ชีวิตผู้คนแถวนั้น    ซึ่งเป็นย่านคนจนยิ่งกว่าแถวบ้านผมที่ปากเกร็ด

ที่จริงผมคุ้นเคยบริเวณนี้พอสมควร เพราะเป็นเส้นทางไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง และตอนลงเครื่องบินผมก็จะเดินขึ้นทางเดินข้ามถนนไปลงที่โรงแรมอมารี    เพื่อหาแท็กซี่กลับบ้าน    แต่ไม่เคยเดินสำรวจใกล้ชิดแบบนี้

เวลา ๖ น. ยังไม่สว่าง    ผมออกจากโรงแรมแล้วเลี้ยวซ้าย  ไปตามถนนเชิดวุฒากาศ   สังเกตว่าทางเท้าฝั่งนี้แคบมาก    เดินผ่านตรอกแคบๆ ทางเข้าชุมชนซึ่งในอีกความหมายหนึ่งคือสลัม    ผ่านวัดดอนเมือง    เดินเข้าไปแอบมอง เห็นร่องรอยของการขายความศักดิ์สิทธิ์สนองกิเลส ก็ถอยออกมา   

เมื่อถีงสามแยกตัดกับถนนสรงประภา เลี้ยวซ้ายเดินไปข้ามคลองเปรมประชากร ที่มีน้ำดำเป็นน้ำครำ  และมีสลัมอยู่สองข้าง ยกเว้นตรงหลังวัดดอนเมือง    เกิดความรู้สึกว่า น่าจะมีมาตรการระดับ กทม. และเทศบาลที่เกี่ยวข้องร่วมกับประชาชนและภาคประชาสังคม ในการทำให้น้ำในคลองต่างๆ สะอาด    ให้ลำคลองกลายเป็นที่จรรโลงตาจรรโลงใจ    แบบที่ผมไปเห็นที่เมืองจีนเมือ ๓ ปีที่แล้ว (๑)

เป็นการเดินออกกำลังที่ได้ผลด้านเรียนรู้  ว่าผู้คนทั่วไปเขามีชีวิตกันอย่างไร    เห็นได้ขัดว่าคนชั้นล่างของกรุงเทพโดยทั่วไปต้องตื่นแต่เช้าออกเดินทางหรือออกมาทำมาหากิน    ที่เห็นมากที่สุดคือขายอาหารสารพัดแบบ หลากหลายระดับของร้าน   

เดินไปจนพบจุดข้ามถนนก็ข้ามไปฝั่งตรงข้าม     พบตลาดวัฒนานันท์ หรือตลาดฝั่งโขง ที่สะอาดสะอ้านและมีมาตรการป้องกันโควิดดีอย่างน่าชื่นชม    ตลาดนี้เปิดตีสาม ปิด ๒ ทุ่ม    ผมได้แต่ชะโงกไปถ่ายรูป   ไม่ได้เดินเข้าไป    เดินต่อมาหหน่อยเดียว พบสิ่งสะดุดตาอีกอย่างหนึ่งคือบริการที่พักค้างคืนแบบ hostel มีมากมาย    ผมนึกในใจว่า หากมีโอกาสน่าจะลองไปพักหาประสบการณ์สักครั้ง     

เดินกลับไปทางสามแยก ที่ซึ่งรถและคนขวักไขว่มาก    ร้านอาหารมากมาย    เดินเลี้ยวซ้ายไปสักระยะหนึ่งมีจังหวะข้ามถนนก็ข้ามไปฝั่งตรงกันข้าม     เดินไปดูถนนใต้ทางด่วนที่แล่นขนานกับถนนเชิดวุฒากาศ     เห็นบริเวณที่มีน้ำครำขังอยู่    ก็เห็นความท้าทายของสังคมไทยในการรวมพลังพัฒนาให้บ้านเมืองน่าอยู่     โดยกลไกริเริ่มสำคัญน่าจะเป็นสถานศึกษา     ซึ่งก็มีโรงเรียนวัดดอนเมืองอยู่ติดกับวัด    น่าจะร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่อยู่ไม่ไกล มาร่วมกันจัดกระบวนการทางสังคม และใช้เทคโนโลยีด้านไบโอเทคช่วย    

เดินวกกลับมาเพื่อกลับโรงแรม    หลังผ่านสามแยก ทางเท้าสะอาดและกว้าง     ผ่านบริเวณทางเท้าที่มุงหลังคาผ้าใบกว้างขวาง    เป็นสถานที่ของวินมอเตอร์ไซคล์รับจ้างตราดาว    มีทีวีเปิดไว้ให้โชเฟอร์ดูด้วย     เดินผ่านบริเวณหนึ่งที่สะดุดตากับคนนอนในมุ้งครอบมีเสื่อปูอย่างเป็นระเบียบ ฟากหนึ่งของมุ้งมีไม่ค้ำยันสำหรับคนขาพิการวางอยู่ ๑ คูอย่างเรียบร้อย    อีกข้างหนึ่งมีขวดน้ำดื่มขนาดใหญ่วางอยู่     คนนอนในมุ้งหลับอย่างสงบ น่าจะมีความสุข   

ริมถนนหน้าโรงแรมอยู่ตรงกันข้ามกับสนามบินดอนเมือง     จึงมีต้นไม้ปลูกอย่างเป็นระเบียบ     เดือนพฤษภาคม ผมจะไปนอนที่โรงแรมนี้อีกครั้ง     จะเดินข้ามถนนไปสำรวจสถานีรถไฟดอนเมือง   

กลับมาสะท้อนคิดกับตนเอง     บอกตนเองว่าเราเกิดมามีบุญ ที่ได้มีชีวิตที่สะดวกสบาย     ต้องใช้เวลาในชีวิตที่เหลือตอบแทนคุณสังคมให้มากยิ่งขึ้น           

วิจารณ์ พานิช

๒ มี.ค. ๖๔


1 ทางเท้า ถนนเชิดวุฒากาศฝั่งวัดดอนเมือง

2 สามแยก ถ่ายจากหน้าวัดดอนเมือง

3 จุดข้ามถนน

4 บรรยากาศในตลาดฝั่งโขง

5 ซอยเข้าชุมชนแออัด

6 ห้องพักรายวัน

7 ภาพชีวิตแมว

8 คลองเปรมน้ำครำ

9 คลองน้ำครำ

10 ถนนเชิดวุฒากาศถ่ายไปทางสามแยกที่อยู่ทิศใต้

11 ทางเท้ากว้างและสะอาด

12 ปะรำมอร์เตอร์ไซคล์รับจ้างตราดาว

13 ภาพชีวิต

หมายเลขบันทึก: 689805เขียนเมื่อ 31 มีนาคม 2021 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2021 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ยังมีสถานที่อีกมากมายที่ผู้คนต่างดิ้นรน ทำมาหากินนะคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท