การเผาถ่านแบบถังครึ่ง_๐๘ ทดสอบเตาแบบถังครึ่ง ครั้งที่ ๖ (เผาเอาอุณหภูมิ)


หลังจากศึกษาทฤษฎีและคำแนะนำของอิวาซากิ (ตามที่ผมได้สรุปไว้ในบันทึกที่ ๔) ในขณะที่พายุโนอึนกำลังมา และการสร้างกระโจมลมของผมยังไมเสร็จ จึงเป็นโอกาสดีที่ผมจะทดลองเผาตามเทคนิคที่อิวาซากิเขียนว่า ถ้าต่อปล่องควันขึ้นอีก ๔ ท่อน ๆ ละ ๙๐ เซนติเมตร อุณหภูมิในเตาจะสูงขึ้นถึง ๑,๐๐๐ องศาได้ และเขาบอกว่า ในกรณีที่ไม่เก็บน้ำส้มควันไม้ สามารถต่อปล่อง ๔ ท่อนไว้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ ผมจึงเริ่มกระบวนการทดลองครั้งที่ ๖ โดยทำปล่องควันสูง ๑.๒๐ เมตร เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖ นิ้ว (ตามที่มีวัสดุครับ ประหยัด) ต่อเข้ากับปล่องควันที่สูงจากหลังเตา ๔๐ เซนติเมตร (ผมตัดปล่องควันออก ๒๐ เซนติเมตร เหลือ ๔๐ เซนติเมตรจากหลังเตา) รวมความสูงของจากพื้นเตาขึ้นไปประมาณ ๒ เมตร ดังรูป 

เตาไม่มีหลังคา พายุโนอึนกำลังมา จึงเตรียมการเผาตามอัตภาพครับ

กราฟบันทึกการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิทั้ง ๔ จุด ตลอด ๘ ชั่วโมงของกระบวนการแสดงดังรูปด้านล่าง โดยอุณหภูมิจุดที่ ๑ ๒ และ ๓ เป็นตำแหน่งเดิมกับการทดลองครั้งที่ ๕ แต่จุดที่ ๔  ความยาวของสายเทอร์โมคับเปิ้ลไม่พอ ทำให้จำเป็นต้องวัดที่ความสูงระดับกลางของปล่อง ตำแหน่งสูงจากหลังเตาประมาณ ๖๐ เซนติเมตรจากหลังเตา (ผมมาพบว่าหัววัดเทอร์โมคับเปิ้ลจุดที่ ๔ นี้ให้ค่าไม่ถูกต้องเมื่อครั้งทดลองเผาครั้งที่ ๙ อย่างไรก็ดีแนวโน้มการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของกราฟเส้นนี้สามารถบ่งบอกบางสิ่งได้เช่นกัน)

ข้อสังเกตจากกราฟ 

  • อุณหภูมิเฉลี่ยของเตา (เส้นสีฟ้า ส้ม และเทา บวกกันหารด้วย ๓) อยู่ในช่วง ๗๕๐-๘๐๐ องศา ยาวนานถึง ๓ ชั่วโมง 
  • อุณหภูมิที่จุด ๑ และ ๒ เป็นอุณหภูมิใกล้ฝาบนของเตา  ส่วนอุณหภูมิของจุดที่ ๓ วางอยู่ในตำหน่งติดกับไม้ที่กลายเป็นถ่านตลอดตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้น เส้นกราฟสีเทา จึงสามารถอธิบายได้ว่า ไม้ฟืนทุกชิ้นในเตาจะได้รับความร้อนและจมอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิดังกราฟเส้นสีเทานี้ ดังนั้น เราจึงสามารถบอกได้ว่า ไม้ในเตาเผาแบบถังครึ่งครั้งนี้ อยู่ในความร้อนกว่า ๘๐๐ องศา นานกว่า ๓ ชั่วโมง (นับจากเวลาเตาจุดติด)
  • เมื่อเปรียบเทียบกับการทดลองเผาครั้งที่ ๔ ที่ไม่มีการต่อปล่องควัน จะพบว่า ระยะเวลาในการเผาสั้นกว่าหลายชั่วโมง (๘ ชั่วโมง กับ ๑๒ ชั่วโมง)
  • อุณหภูมิสูงจุดของการต่อปล่องควันกับไม่ต่อปล่องควันแตกต่างกันมาก (๗๐๐ องศา กับ ๘๗๕ องศา)
  • กราฟสีแดง (จุดที่ ๒ ด้านบนใกล้ปากปล่อง) มีอุณหูมิสูงกว่า กราฟสีฟ้า (จุดที่ ๑ ใกล้เตาเผา) เมื่ออุณหภูมิจุดที่ ๓ (จุดเอาถ่าน เหนือพื้นเตา ๑๕ เซนติเมตร) เริ่มเพิ่มขึ้น ... คำอธิบายเบื้องต้นตอนนี้อาจเป็นเพราะ ๒ สาเหตุ ฟืนส่วนที่อยู่ใกล้กับเตาเผาถูกเผาไหม้ไปจนเหลือน้อยกว่า หรือเพราะความร้อนใกล้จุดที่ ๑ ถูกถ่ายเทไปยังช่องรับอากาศร้อนจากเตาเผาและระบายออกทางหน้าเตาซึ่งฉนวนกั้นความร้อนไม่ดี
  • ในขณะที่เตาติดเต็มที่แล้ว อุณหภูมิด้านบนสูงถึง ๕๐๐ - ๖๐๐ องศา แต่อุณหภูมิใต้เตายังไม่ถึงร้อยองศาเลย การทดลองเผาครั้งที่ ๙ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การเรียงไม้มีผลต่อความแตกต่างระหว่างเรียงไม้แบบนอนและแบบตั้งอย่างมากในช่วงแรก ๆ ของการเผา

ถ่านที่ได้จากการเผาครั้งที่ ๖

ถ่านที่ได้คิดเป็นต่อน้ำหนักไม้ฟืนเพียง ๗.๘ เปอร์เซนต์ ไม้กลายเป็นขี้เถ้าจำนวนมาก ดังรูป 

แต่ความต้านทานของถ่านต่ำกว่า ๑๐ โอห์ม แสดงถึงความบริสุทธิ์มากของคาร์บอนที่เหลืออยู่ ผู้สนใจโปรดดูคลิปนี้ครับ 

ดูลักษณะของถ่าน เปลี่ยนรูปไปมาก แตกย่อยไปจำนวนมาก จะทำอย่างไรให้ถ่านคงรูปพรรณสัญฐานงามได้ คือโจทย์ต่อไปของการเผาถ่านของผมครับ 

หมายเลขบันทึก: 683073เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2020 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2020 14:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท