การศึกษาเพื่อ "การพัฒนาที่ยั่งยืน" (๑๓) : "แลปเกษตรทฤษฎีใหม่ในโรงเรียน"


"โมเมนตัมทางการศึกษา" กำลังนำพาเยาวชนของชาติไปสู่การตกเป็นทาสในระบบทุนนิยมโดยใช้ความรู้เป็นเครื่องมือ ("วรรณะ ๔" ในระบบทุนนิยมได้แก่ ๑ นักลงทุน ๒ นักธุรกิจ ๓ ชนชั้นกลางพ่อค้าแม่ขาย และ ๔ ทาสทางการผลิต (ลองอ่านที่นี่)) ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงพระราชทาน ไม่ได้มีเป้าหมายให้ประเทศพัฒนาก้าวหน้าอย่างมาก แต่ต้องการให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน ดังนั้น การศึกษาต้องเป็น การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

ความจริงที่ซ่อนอยู่ในสาระสำคัญข้างต้นนี้สำคัญมาก ระบบทุนนิยมทำให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางโลกอย่างรวดเร็วมาก ๆ พอ ๆ กับที่ทำให้การศึกษาและพัฒนาด้านคุณธรรมและจิตวิญญาณเสื่อมทรุดลงอย่างรวดเร็วในอัตราเดียวกัน ความวุ่นวายและดิ้นรนไปกับความคิด ความอยาก และความไม่อยากอย่างไม่หยุดหย่อนในสังคมแห่งทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ทำให้ห่างไกลจากเส้นทางสายเอกไปมากขึ้น ๆ 

อย่างไรก็แล้วแต่ น่าจะมีทางสายกลางที่สามารถอยู่กับระบบทุนนิยมนี้ได้อย่างยั่งยืน และยังคงเส้นทางสำหรับลูกหลานที่สนใจใฝ่ในความมักน้อยสันโดษ ซึ่งจะสามารถคงวัฒนธรรมแห่งสันติของชาวพุทธไว้ได้ 

ทักษะที่จำเป็นสำหรับชีวิตทุนนิยม

ผมสังเคราะห์ว่า ทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกทุนนิยมมี ๕ ประการ ได้ก่ การผลิต การแปรรูป การค้าขาย-แลกเปลี่ยน การทำธุรกิจหรือเป็นผู้ประกอบการ และทักษะในการลงทุน 

  • ผลิต คือ ผู้ผลิต "วัตถุดิบ"....  ส่วนใหญ่เกษตรกรไทยมีทักษะขั้นนี้  เป็น "ทาสการเกษตร" 
  • แปรรูป คือ นำเอาวัตถุดิบมาแปรเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้า
  • ขาย-แลกเปลี่ยน คือ พ่อค้าแม่ค้า นำเอาสินค้ามาขายหรือแลกเปลี่ยน 
  • ทำธุรกิจ คือ ผู้ประกอบการ ที่นำเอาวัตถุมาแปรรูป สร้างแบรนด์ของสินค้าหรือบริการ แล้วใช้ทักษะการบริหารจัดการตามกติกาทุนนิยมมาใช้ 
  • ลุงทุน เป็น ผู้ที่ทำงานน้อยที่สุด แต่ได้รายได้มากที่สุด ... อยู่ในจุดสูงสุดของระบบนี้ 

หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดที่เรามีอยู่ในระบบการศึกษาพื้นฐานอยู่ ณ ขณะนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษะเหล่านี้ แม้ไม่อธิบาย ผมคิดว่าผู้อ่านน่าจะเห็นด้วย 

ถึงแม้ว่าจะปฏิรูปการศึกษา ให้มีทักษะเหล่านี้อย่างเข้มข้นในทุกระดับการศึกษา  แต่สิ่งที่จะตามมาก็จะมีคนรวยที่อยู่บันไดขั้นบนเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เพราะตัวระบบถูกออกแบบให้เป็นแบบนั้น  ดังนั้น การมุ่งปฏิรูปการศึกษาตามหาความสำเร็จแบบนั้น จึงเหมาะกับคนที่มองเห็นแต่ตนเอง ครอบครัวตนเอง พักพวกตนเอง เมืองต้นเอง หรือประเทศตนเอง เท่านั้น .... จึงไม่ใช่หนทางแห่งการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ยิ่งศึกษายิ่งมั่นใจว่า ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ที่ทรงพระราชทานไว้ สมควรถูกนำมาบรรจุไว้ในกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนอย่างจริงจัง เพราะนอกจากจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันในการดำเนินชีวิตในนระบบทุนนิยมแล้ว ยังจะสามารถสร้างทักษะและความสามารถในการแข่งขันในระบบทุนนิยมด้วย และที่สำคัญ ทักษะแห่งการแบ่งปันและเอื้อเฟื้อ ที่ไม่มีสอนในระบบทุนนิยม ยังจะทำให้อัตลักษณ์ของสังคมไทยอยู่ไปอย่างยั่งยืน 


แลปเกษตรทฤษฎีใหม่ในโรงเรียน

ขอเสนอให้ทุกโรงเรียนศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงในชนบทที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำการเกษตร จัดให้มีกระบวนการเรียนรู้บูรณการโดยใช้แปลงเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นฐาน จัดสร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ประจำแปลงเกษตรทฤษฎีใหม่ มีเครื่องมือศึกษาทดลองการทดลองสำคัญ ๆ สำหรับการสอนวิทยาศาสตร์  เช่น กล้องจุลทรรศน์ อุปกรณ์วัดอุณหภูมิแบบต่าง ๆ อุปกรณ์วัดแสง บิ๊กเกอร์ และสารเคมีเพื่อการเรียนรู้สำคัญ ๆ  ฯลฯ 

ผมกำลังพัฒนาแปลงเกษตรฯ ที่ผมกำลังพูดถึงนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป ...  ค้นหาผู้มีความคิดคล้าย ๆ กันนี้เมื่อใด จังหวะ โอกาสมา คงได้ขับเคลื่อน ปศพพ. ด้านการศึกษาอีกรอบหนึ่ง ซึ่งคงจะต่างไปพอสมควร 

ลาไปเท่านี้ครับ ขอบพระคุณครับ

หมายเลขบันทึก: 681095เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2020 20:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2020 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท