พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่องที่ ๔๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร เรื่องวิถีชีวิต ๔ แบบ


๔๕. จูฬธัมมสมาทานสูตร  เรื่องวิพีชีวิต ๔ แบบ 

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น  พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการน อะไรบ้าง คือ

๑. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต

๒. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต

๓. การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต

๔. การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีสุขแต่มีทุกข์เป็นวิบาก

การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน แต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคตเป็นอย่างไร  คือ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้มีวาทะอย่างนี้ว่า ‘โทษในกามทั้งหลายไม่มี’ สมณพราหมณ์พวกนั้นย่อมถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกามทั้งหลาย  บำเรอกับพวกนางปริพาชิกาที่เกล้ามวยผมและกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ทำไมท่านสมณพราหมณ์พวกนั้นเมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลาย จึงกล่าวถึงการละกามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลาย อันที่จริงการได้สัมผัสแขนอันมีขนอ่อนนุ่มของนางปริพาชิกานี้เป็นความสุข’ แล้วก็ถึงความเป็นผู้ดื่มด่ำในกามทั้งหลาย หลังจากตายแล้ว ไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก เสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้าเผ็ดร้อน ในที่ที่ตนเกิดนั้น และกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านสมณพราหมณ์พวกนั้น เมื่อเห็นอนาคตภัยในกามทั้งหลายนี้ จึงกล่าวถึงการละกามทั้งหลาย บัญญัติการกำหนดรู้กามทั้งหลาย อันที่จริงพวกเรานี้ย่อมเสวยทุกขเวทนาอันแรงกล้า เผ็ดร้อน เพราะกามเป็นเหตุ เพราะกามเป็นต้นเหตุ’

เปรียบเหมือนผลสุกของเถาย่านทราย จะพึงแตกในเดือนท้ายแห่งฤดูร้อน พืชแห่งเถาย่านทรายนั้นจะพึงตกลงที่โคนต้นสาละต้นใดต้นหนึ่ง เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้นกลัว หวาดเสียว และถึงความสะดุ้ง พวกอารามเทวดา วนเทวดา รุกขเทวดา และพวกเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไม้อันเป็นโอสถหญ้าและต้นไม้เจ้าป่า ผู้เป็นมิตรอำมาตย์ ญาติสาโลหิต ของเทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นสาละนั้น ต่างก็พากันมาปลอบโยนอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ อย่ากลัวเลย เมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนั้น บางทีนกยูงอาจกลืนกินบ้าง เนื้ออาจเคี้ยวกินบ้าง ไฟป่าอาจไหม้บ้าง พวกคนทำงานในป่าอาจถอนบ้างปลวกอาจกัดกินบ้าง หรือไม่งอกขึ้น’  แต่เมล็ดพืชแห่งเถาย่านทรายนั้น นกยูงก็ไม่กลืนกิน เนื้อก็ไม่เคี้ยวกิน ไฟป่าก็ไม่ไหม้ พวกคนทำงานในป่าก็ไม่ถอน ปลวกก็ไม่กัดกิน ยังคงเป็นพืชต่อไป ถูกเมฆฝนตกรดแล้ว ก็งอกขึ้นด้วยดี เป็นเถาย่านทรายเล็กและอ่อน มีย่านห้อยย้อยเข้าไปอาศัยต้นสาละ’  เถาย่านทรายนี้ เล็กและอ่อนมีย่านห้อยย้อยอยู่ มีสัมผัสอันนำความสุขมาให้ เถาย่านทรายนั้น เลื้อยพันต้นสาละนั้น ครั้นเลื้อยพันแล้ว ตั้งอยู่ข้างบนเหมือนร่ม แตกเถาอยู่ข้างล่าง ทำลายลำต้นใหญ่ๆ ของต้นสาละนั้นเสีย

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันแต่มีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์และมีทุกข์เป็นวิบาก

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน และมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคตเป็นอย่างไร  คือ ปริพาชกบางคนในโลกนี้เป็นอเจลกคือประพฤติเปลือยกาย เป็นผู้ไม่มีมารยาทเลียมือ เขาเชิญให้ไปรับอาหารก็ไม่ไป เขาเชิญให้หยุดรับอาหารก็ไม่หยุด ไม่รับอาหารที่เขาแบ่งไว้ ไม่รับอาหารที่เขาทำเจาะจง ไม่ยินดีอาหารที่เขาเชิญ ไม่รับอาหารจากปากหม้อ ไม่รับอาหารจากปากภาชนะ ไม่รับอาหารคร่อมธรณีประตู ไม่รับอาหารคร่อมท่อนไม้ ไม่รับอาหารคร่อมสาก ไม่รับอาหารของคน ๒ คนที่กำลังบริโภค ไม่รับอาหารของหญิงมีครรภ์ ไม่รับอาหารของหญิงที่กำลังให้บุตรดื่มนม ไม่รับอาหารของหญิงที่คลอเคลียชาย ไม่รับอาหารที่นัดแนะกันทำไว้ ไม่รับอาหารในที่เลี้ยงสุนัข ไม่รับอาหารในที่มีแมลงวันไต่ตอมเป็นกลุ่มๆ ไม่กินปลาไม่กินเนื้อ ไม่ดื่มสุรา ไม่ดื่มเมรัย ไม่ดื่มยาดอง เขารับอาหารในเรือนหลังเดียวยังชีพด้วยข้าวคำเดียว รับอาหารในเรือน ๒ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๒ คำ รับอาหารในเรือน ๗ หลัง ยังชีพด้วยข้าว ๗ คำ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๑ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๒ ใบ ยังชีพด้วยอาหารในถาดน้อย ๗ ใบกินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๑ วัน กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๒ วัน ฯลฯ กินอาหารที่เก็บไว้ค้างคืน ๗ วัน ถือการบริโภคอาหารตามวาระ ๑๕ วันต่อมื้อเช่นนี้อยู่ด้วยประการอย่างนี้

ปริพาชกนั้นเป็นผู้กินผักดองเป็นอาหาร กินข้าวฟ่างเป็นอาหาร กินลูกเดือยเป็นอาหาร กินกากข้าวเป็นอาหาร กินสาหร่ายเป็นอาหาร กินรำเป็นอาหาร กินข้าวตังเป็นอาหาร กินกำยานเป็นอาหาร กินหญ้าเป็นอาหาร กินมูลโคเป็นอาหารกินเหง้าและผลไม้ป่าเป็นอาหาร บริโภคผลไม้หล่นยังชีพอยู่ ปริพาชกนั้นนุ่งห่มผ้าป่าน นุ่งห่มผ้าแกมกัน นุ่งห่มผ้าห่อศพ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้นุ่งห่มหนังเสือ นุ่งห่มหนังเสือมีเล็บ นุ่งห่มผ้าคากรอง นุ่งห่มผ้าเปลือกไม้กรองนุ่งห่มผ้าผลไม้กรอง นุ่งห่มผ้ากัมพลผมมนุษย์ นุ่งห่มผ้ากัมพลขนสัตว์ นุ่งห่มผ้าขนปีกนกเค้า เป็นผู้ถอนผมและหนวด คือถือการถอนผมและหนวด ยืนอย่างเดียวไม่ยอมนั่ง เดินกระโหย่งคือถือการเดินกระโหย่ง ถือการนอนบนหนามคือนอนบนที่นอนที่ทำด้วยหนาม ถือการลงอาบน้ำวันละ ๓ ครั้ง ถือการย่างและการอบกายหลายรูปแบบเช่นนี้อยู่ ด้วยประการอย่างนี้ หลังจากตายแล้ว ย่อมไปเกิดในอบายทุคติ วินิบาต นรก

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันและมีทุกข์เป็นวิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์แต่มีสุขเป็นวิบาก

การสมาทานธรรมที่มีทุกข์ในปัจจุบัน แต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคตเป็นอย่างไร  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีราคะกล้าโดยปกติ เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากราคะเนืองๆ เป็นผู้มีโทสะกล้าโดยปกติ เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากโทสะเนืองๆ เป็นผู้มีโมหะกล้าโดยปกติ เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากโมหะเนืองๆบุคคลนั้นมีทุกข์บ้าง มีโทมนัสบ้าง เป็นผู้มีหน้านองด้วยน้ำตา ร้องไห้อยู่ ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์ หลังจากตายแล้ว เขาไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีทุกข์ในปัจจุบันแต่มีสุขเป็นวิบากในอนาคต

การสมาทานธรรมที่มีสุขและมีสุขเป็นวิบาก

การสมาทานธรรมที่มีสุขในปัจจุบัน และมีสุขเป็นวิบากในอนาคตเป็นอย่างไร  คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้ไม่มีราคะกล้าโดยปกติ ไม่เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากราคะเนืองๆ เป็นผู้ไม่มีโทสะกล้าโดยปกติ ไม่เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากโทสะเนืองๆ เป็นผู้ไม่มีโมหะกล้าโดยปกติ ไม่เสวยทุกข์โทมนัสอันเกิดจากโมหะเนืองๆ บุคคลนั้นสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจารมีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่  บรรลุตติยฌาน บรรลุจตุตถฌาน อยู่หลังจากตายแล้ว เขาไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรมนี้เรากล่าวว่า มีสุขในปัจจุบันและมีสุขเป็นวิบากในอนาคต

ภิกษุทั้งหลาย การสมาทานธรรม ๔ ประการนี้”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้


พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสูตร เล่มที่ ๔ มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๕. จูฬยมกวรรค หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดเล็ก

เรื่องที่ ๕ จูฬธัมมสมาทานสูตร ว่าด้วยการสมาทานธรรม สูตรเล็กข้อที่ ๔๖๘ - ๔๗๒

หมายเลขบันทึก: 677902เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2020 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2020 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท