พระไตรปิฎกอ่านง่าย เล่มที่ ๑๒ (พระสูตร เล่มที่ ๔) เรื่ื่องที่ ๓๘. มหาตัณหาสังขยสูตร เรื่องการได้เกิดมาเป็นมนุษย์


๓๘. มหาตัณหาสังขยสูตร เรื่องการได้เกิดมาเป็นมนุษย์

ทิฏฐิของสาติภิกษุ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าสาติบุตรชาวประมง มีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นเอง มิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”

ลำดับนั้น ภิกษุเป็นอันมากได้ฟังว่า “สาติภิกษุบุตรชาวประมง มีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นแลมิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป” จึงเข้าไปหาสาติภิกษุแล้วถามว่า “ท่านสาติทราบว่า ท่านมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นเอง มิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป’ จริงหรือ”

สาติภิกษุตอบว่า “จริง ท่านทั้งหลาย ผมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง”

ภิกษุเหล่านั้นปรารถนาที่จะปลดเปลื้องสาติภิกษุบุตรชาวประมงจากทิฏฐิชั่วนั้นจึงซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนว่า “ท่านสาติ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนี้ ท่านอย่าได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาค การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเป็นการไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคมิได้ตรัสอย่างนี้เลย ท่านสาติ วิญญาณอาศัยปัจจัยเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ”สาติภิกษุบุตรชาวประมงถูกภิกษุเหล่านั้นซักไซ้ ไล่เลียง สอบสวนอยู่แม้อย่างนี้ ก็ยังยึดมั่นถือมั่นทิฏฐิชั่วนั้นอย่างรุนแรง กล่าวอยู่ว่า “ท่านทั้งหลาย ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นเอง มิใช่อื่น ท่องเที่ยวไป แล่นไป”

เพื่อนภิกษุไม่อาจเปลี่ยนทิฏฐิของท่านสาติ

ภิกษุเหล่านั้นเมื่อไม่อาจปลดเปลื้องสาติภิกษุบุตรชาวประมงจากทิฏฐิชั่วนั้นได้ จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณที่สมควรแล้วกราบทูลเรื่องราวของสาติภิกษุนั้น

พระพุทธเจ้าทรงกำราบท่านสาติ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งให้ไปเรียกสาติภิกษุบุตรชาวประมงมาพบพระองค์

พระผู้มีพระภาคตรัสถามเธอว่า “สาติ ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นว่า‘เรารู้ทั่วถึงธรรมตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า วิญญาณนี้นั่นเอง มิใช่อื่นท่องเที่ยวไป แล่นไป จริงหรือ”

สาติภิกษุทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “สาติ วิญญาณนั้นเป็นอย่างไร”

สาติภิกษุทูลตอบว่า “สภาวะที่พูดได้ รับรู้ได้ เสวยวิบากแห่งกรรมทั้งหลายทั้งส่วนดีและส่วนชั่วในที่นั้นๆ เป็นวิญญาณ พระพุทธเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “โมฆบุรุษ เธอรู้ธรรมอย่างนี้ที่เราแสดงแล้วแก่ใครเล่า วิญญาณอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น เรากล่าวไว้แล้วโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ’ ก็เมื่อเป็นดังนี้ เธอชื่อว่ากล่าวตู่เรา เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิด โมฆบุรุษ ความเห็นของเธอนั้นจักเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน”

ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งวิญญาณ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลายเธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร สาติภิกษุบุตรชาวประมงนี้จะเป็นผู้ทำความเจริญในธรรมวินัยนี้ได้บ้างหรือไม่”

ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “จะพึงมีอย่างไรได้ ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า”เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลอย่างนี้ สาติภิกษุบุตรชาวประมงจึงนั่งนิ่ง เก้อเขินคอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ

จากนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่าสาติภิกษุบุตรชาวประมงเป็นผู้นิ่งเก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณแล้ว จึงตรัสกับเธอว่า “โมฆบุรุษ เธอจักเข้าใจทิฏฐิชั่วของตนนั้น เราจักสอบถามภิกษุทั้งหลายในที่นี้”

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายย่อมรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้ว เหมือนที่สาติภิกษุกล่าวตู่เรา เพราะทิฏฐิที่ตนถือผิดหรือ”

ภิกษุเหล่านั้นทูลตอบว่า “ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระพุทธเจ้าข้า เพราะวิญญาณอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายโดยปริยายเป็นอเนกว่า ‘ปราศจากปัจจัย ก็ไม่มีความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ”

ภิกษุทั้งหลาย วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยปัจจัยใดๆ ก็นับว่า ‘วิญญาณ’ ตามปัจจัยนั้นๆ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยจักขุและรูปารมณ์ก็นับว่า ‘จักขุวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยโสตะและสัททารมณ์ก็นับว่า‘โสตวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยฆานะและคันธารมณ์ก็นับว่า ‘ฆานวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยชิวหาและรสารมณ์ก็นับว่า ‘ชิวหาวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยกายและโผฏฐัพพารมณ์ก็นับว่า ‘กายวิญญาณ’ วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยมโนและธรรมารมณ์ก็นับว่า ‘มโนวิญญาณ’

ภิกษุทั้งหลาย ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยเชื้อใดๆ ก็นับว่า ‘ไฟ’ ตามเชื้อนั้นๆไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยไม้ก็นับว่า ‘ไฟไม้’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยป่าก็นับว่า‘ไฟป่า’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยหญ้าก็นับว่า ‘ไฟหญ้า’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยมูลโคก็นับว่า ‘ไฟมูลโค’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยแกลบก็นับว่า ‘ไฟแกลบ’ ไฟที่ติดขึ้นเพราะอาศัยหยากเยื่อก็นับว่า ‘ไฟหยากเยื่อ’ แม้ฉันใด วิญญาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน

ปัจจัยเป็นเหตุเกิดแห่งขันธ์ ๕

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นแล้วเพราะอาหาร ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับเป็นธรรมดาเพราะความดับแห่งอาหารนั้น 

“ความสงสัยเกิดขึ้นเพราะความเคลือบแคลงว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้มีหรือไม่”  ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะอาหารนั้นมีหรือไม่”  ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นมีหรือไม่” “บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้เกิดขึ้นแล้วย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”  “บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะอาหารนั้น’ ย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ” “บุคคลเห็นตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้น มีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นย่อมละความสงสัยที่เกิดขึ้นได้หรือ”

“เธอทั้งหลายหมดความสงสัยในข้อว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้เกิดขึ้นแล้วแม้ดังนี้” ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะอาหารนั้นแม้ดังนี้หรือ”  ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับไปเป็นธรรมดาเพราะความดับแห่งอาหารนั้นแม้ดังนี้หรือ” “เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นี้เกิดขึ้นแล้วดังนี้หรือ”  “เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นเพราะอาหารนั้นดังนี้หรือ”

“เธอทั้งหลายเห็นดีแล้วตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันชอบว่า ‘ขันธ์ ๕ นั้นมีความดับเป็นธรรมดา เพราะความดับแห่งอาหารนั้นดังนี้หรือ” “หากเธอทั้งหลายจะพึงติดอยู่ เพลิดเพลินอยู่ ปรารถนาอยู่ ยึดถืออยู่ซึ่งทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ว่า เป็นของเรา เธอทั้งหลายจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมที่เปรียบด้วยแพ ซึ่งเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์แก่การสลัดออก มิใช่แสดงเพื่อประโยชน์แก่การยึดถือหรือ” “หากเธอทั้งหลายไม่ติดอยู่ ไม่เพลิดเพลินอยู่ ไม่ปรารถนาอยู่ ไม่ยึดถืออยู่ซึ่งทิฏฐิอันบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนี้ว่า เป็นของเรา เธอทั้งหลายจะพึงรู้ทั่วถึงธรรมที่เปรียบด้วยแพ ซึ่งเราแสดงแล้วเพื่อประโยชน์แก่การสลัดออก มิใช่แสดงเพื่อประโยชน์แก่การยึดถือหรือ”

ปฏิจจสมุปบาท : กระบวนการเกิด

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อาหาร ๔ ชนิดนี้ มีเพื่อความดำรงอยู่แห่งสัตว์ที่เกิดแล้วบ้าง เพื่อความอนุเคราะห์เหล่าสัตว์ที่แสวงหาภพที่เกิดบ้าง

อาหาร ๔ ชนิด อะไรบ้าง คือ

๑. กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง

๒. ผัสสาหาร อาหารคือการสัมผัส

๓. มโนสัญเจตนาหาร อาหารคือความจงใจ

๔. วิญญาณาหาร อาหารคือวิญญาณ

อาหาร ๔ ชนิด นี้มีตัณหาเป็นต้นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นที่เกิดมีตัณหาเป็นแดนเกิด

ตัณหานี้มีเวทนาเป็นต้นเหตุ มีเวทนาเป็นเหตุเกิด มีเวทนาเป็นที่เกิด มีเวทนาเป็นแดนเกิด

เวทนานี้มีผัสสะเป็นต้นเหตุ มีผัสสะเป็นเหตุเกิด มีผัสสะเป็นที่เกิด มีผัสสะเป็นแดนเกิด

ผัสสะนี้มีสฬายตนะเป็นต้นเหตุ มีสฬายตนะเป็นเหตุเกิด มีสฬายตนะเป็นที่เกิด มีสฬายตนะเป็นแดนเกิด

สฬายตนะนี้มีนามรูปเป็นต้นเหตุ มีนามรูปเป็นเหตุเกิด มีนามรูปเป็นที่เกิดมีนามรูปเป็นแดนเกิด

นามรูปนี้มีวิญญาณเป็นต้นเหตุ มีวิญญาณเป็นเหตุเกิด มีวิญญาณเป็นที่เกิดมีวิญญาณเป็นแดนเกิด

วิญญาณนี้มีสังขารเป็นต้นเหตุ มีสังขารเป็นเหตุเกิด มีสังขารเป็นที่เกิด มีสังขารเป็นแดนเกิด

สังขารทั้งหลายเหล่านี้มีอวิชชาเป็นต้นเหตุ มีอวิชชาเป็นเหตุเกิด มีอวิชชาเป็นที่เกิด มีอวิชชาเป็นแดนเกิด

เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี

เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี

เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย นามรูปจึงมี

เพราะนามรูปเป็นปัจจัย สฬายตนะจึงมี

เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย ผัสสะจึงมี

เพราะผัสสะเป็นปัจจัย เวทนาจึงมี

เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี

เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี

เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี

เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี

เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว เธอทั้งหลายกล่าวอย่างนั้น แม้เราก็กล่าวอย่างนั้น เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

ปฏิจจสมุปบาท : กระบวนการดับ

เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ

เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ

เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ

เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ

เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ

เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ

เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ

เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ

เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ

เพราะภพดับ ชาติจึงดับ

เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงดับ

ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้วเธอทั้งหลายกล่าวอย่างนี้ แม้เราก็กล่าวอย่างนี้ เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ

พระธรรมคุณ

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะไม่พึงกลับระลึกถึง ขันธ์ธาตุ อายตนะ ในอดีตกาลว่า ‘ในอดีตกาลยาวนาน เราได้มีแล้วหรือ หรือมิได้มีแล้วหนอ เราได้เป็นอะไรมาหนอ เราได้เป็นอย่างไรมาหนอ เราได้เป็นอะไรแล้วจึงมาเป็นอะไรอีกหนอ’

“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะไม่พึงกลับระลึกถึงขันธ์ ธาตุ อายตนะในอนาคตว่า ‘ในอนาคตกาลยาวนาน เราจักมีหรือ หรือจักไม่มีหนอ เราจักเป็นอะไรหนอเราจักเป็นอย่างไรหนอ เราจักเป็นอะไรแล้วไปเป็นอะไรอีกหนอ’

“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะไม่พึงมีความสงสัยภายในตนปรารภปัจจุบันกาลในบัดนี้ว่า ‘เราเป็นอยู่หรือ หรือไม่เป็นอยู่หนอ เราเป็นอะไรหนอ เราเป็นอย่างไรหนอสัตว์นี้มาจากไหนหนอ และเขาจักไปไหนกันหนอ’

“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระศาสดาเป็นครูของเราทั้งหลาย เราทั้งหลายต้องกล่าวอย่างนี้ด้วยความเคารพต่อพระศาสดา’

“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะไม่พึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘พระสมณะตรัสอย่างนี้และเราทั้งหลายผู้ชื่อว่าเป็นสมณะ ก็กล่าวอย่างนี้’

“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะไม่พึงยกย่องศาสดาอื่น”

“เธอทั้งหลายเมื่อรู้เห็นอย่างนี้ จะไม่พึงเชื่อถือข้อวัตร การตื่นลัทธิ และการถือมงคล ของพวกสมณพราหมณ์ปุถุชน โดยเชื่อว่าเป็นแก่นสารบ้างหรือไม่”

“สิ่งใดที่เธอทั้งหลายรู้เอง เห็นเอง ทราบเองแล้ว เธอทั้งหลายจะพึงกล่าวถึงเฉพาะสิ่งนั้น”

“ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กล่าวนั้นถูกต้องแล้ว เรานำเธอทั้งหลายเข้าไปถึงนิพพานแล้วด้วยธรรมนี้ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

องค์ประกอบแห่งการเกิดในครรภ์

ภิกษุทั้งหลาย เพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกัน การถือกำเนิดในครรภ์จึงมีได้ คือ ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน แต่มารดายังไม่มีระดู และคันธัพพะยังไม่ปรากฏ การถือกำเนิดในครรภ์ก็ยังมีไม่ได้  ในสัตว์โลกนี้ มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู แต่คันธัพพะยังไม่ปรากฏการถือกำเนิดในครรภ์ก็ยังมีไม่ได้

แต่เมื่อใด มารดาบิดาอยู่ร่วมกัน มารดามีระดู และคันธัพพะก็ปรากฏ เมื่อนั้นเพราะปัจจัย ๓ ประการประชุมพร้อมกันอย่างนี้ การถือกำเนิดในครรภ์จึงมีได้

มารดาย่อมรักษาทารกในครรภ์นั้น ๙ เดือนบ้าง ๑๐ เดือนบ้าง จึงคลอดทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นด้วยความกังวลใจมาก และเลี้ยงทารกผู้เป็นภาระหนักนั้นซึ่งเกิดแล้ว ด้วยโลหิตของตนด้วยความห่วงใยมาก

น้ำนมของมารดานับเป็นโลหิตในอริยวินัย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมเล่นด้วยเครื่องเล่นสำหรับกุมาร คือไถเล็กๆ ตีไม้หึ่ง หกคะเมน เล่นกังหัน ตวงทราย รถเล็ก ธนูเล็ก

ภิกษุทั้งหลาย กุมารนั้นอาศัยความเจริญและความเติบโตแห่งอินทรีย์ทั้งหลาย อิ่มเอิบ พร้อมพรั่ง บำเรออยู่ด้วยกามคุณ ๕ ประการ ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รักชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด คือ

๑. รูปที่จะพึงรู้แจ้งทางตา

๒. เสียงที่จะพึงรู้แจ้งทางหู

๓. กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งทางจมูก

๔. รสที่จะพึงรู้แจ้งทางลิ้น

๕. โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งทางกาย

กุมารนั้นเห็นรูปทางตาแล้วกำหนัด ในรูปที่น่ารัก ขัดเคืองในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้มีสติในกายไม่ตั้งมั่น และมีจิตเป็นกามาวจร ไม่รู้ชัดถึงเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ อันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง เขาเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความยินดีและความยินร้าย อย่างนี้ เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ย่อมเพลิดเพลิน บ่นถึง ติดใจเวทนานั้น ความเพลิดเพลินก็เกิดขึ้นความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลาย เป็นอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมีเพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงมี

ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

พระพุทธคุณ

ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ เป็นอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยตนเองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้าเป็นพระผู้มีพระภาค ตถาคตนั้นรู้แจ้งโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลกและสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยตนเองแล้วจึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม แสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลางและมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน คหบดี บุตรคหบดี หรืออนุชนในตระกูลใดตระกูลหนึ่งย่อมฟังธรรมนั้น ฟังธรรมนั้นแล้วได้ศรัทธาในตถาคต เมื่อมีศรัทธาแล้วย่อมตระหนักว่า ‘การอยู่ครองเรือนเป็นเรื่องอึดอัด เป็นทางแห่งธุลี การบวชเป็นทางปลอดโปร่ง การที่ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วนดุจสังข์ขัด มิใช่ทำได้ง่าย ทางที่ดี เราควรโกนผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต’ ต่อมา เขาละทิ้งกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ และเครือญาติน้อยใหญ่ โกนผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต

สิกขาและสาชีพของภิกษุ

เขาเมื่อบวชแล้วอย่างนี้ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาและสาชีพเสมอด้วยภิกษุทั้งหลาย คือ

๑. ละเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑาวุธ และศัสตราวุธ มีความละอาย มีความเอ็นดู มุ่งหวังประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์อยู่

๒. ละเว้นขาดจากการลักทรัพย์ รับเอาแต่ของที่เขาให้ มุ่งหวังแต่ของที่เขาให้ ไม่เป็นขโมย เป็นคนสะอาดอยู่

๓. ละพฤติกรรมอันเป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์ ประพฤติพรหมจรรย์เว้นห่างไกลจากเมถุนธรรม อันเป็นกิจของชาวบ้าน

๔. ละเว้นขาดจากการพูดเท็จ คือ พูดแต่คำสัตย์ ดำรงความสัตย์ มีถ้อยคำเป็นหลัก เชื่อถือได้ ไม่หลอกลวงชาวโลก

๕. ละเว้นขาดจากการพูดส่อเสียด คือ ฟังความจากฝ่ายนี้แล้วไม่ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังความฝ่ายโน้นแล้วไม่มาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น สมานคนที่แตกกัน ส่งเสริมคนที่ปรองดองกัน ชื่นชมยินดีเพลิดเพลินต่อผู้ที่สามัคคีกัน พูดแต่ถ้อยคำที่สร้างสรรค์ความสามัคคี

๖. ละเว้นขาดจากการพูดคำหยาบ คือ พูดแต่คำไม่มีโทษ ไพเราะน่ารัก จับใจ เป็นคำของชาวเมือง คนส่วนมากรักใคร่พอใจ

๗. ละเว้นขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ คือ พูดถูกเวลา พูดแต่คำจริงพูดอิงประโยชน์ พูดอิงธรรม พูดอิงวินัย พูดคำที่มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีที่กำหนด ประกอบด้วยประโยชน์ เหมาะแก่เวลา

๘. เว้นขาดจากการพรากพืชคาม และภูตคาม

๙. ฉันมื้อเดียว ไม่ฉันตอนกลางคืน เว้นขาดจากการฉันในเวลาวิกาล

๑๐. เว้นขาดจากการฟ้อนรำ ขับร้อง ประโคมดนตรี และดูการละเล่นที่เป็นข้าศึกแก่กุศล

๑๑. เว้นขาดจากการทัดทรง ประดับ ตกแต่งร่างกายด้วยพวงดอกไม้ของหอม และเครื่องประทินผิวอันเป็นลักษณะแห่งการแต่งตัว

๑๒. เว้นขาดจากที่นอนสูงใหญ่

๑๓. เว้นขาดจากการรับทองและเงิน

๑๔. เว้นขาดจากการรับธัญญาหารดิบ

๑๕. เว้นขาดจากการรับเนื้อดิบ

๑๖. เว้นขาดจากการรับสตรีและกุมารี

๑๗. เว้นขาดจากการรับทาสหญิงและทาสชาย

๑๘. เว้นขาดจากการรับแพะและแกะ

๑๙. เว้นขาดจากการรับไก่และสุกร

๒๐. เว้นขาดจากการรับช้าง โค ม้า และลา

๒๑. เว้นขาดจากการรับเรือกสวน ไร่นา และที่ดิน

๒๒. เว้นขาดจากการทำหน้าที่เป็นตัวแทนและผู้สื่อสาร

๒๓. เว้นขาดจากการซื้อการขาย

๒๔. เว้นขาดจากการโกงด้วยตาชั่ง ด้วยของปลอม และด้วยเครื่องตวงวัด

๒๕. เว้นขาดจากการรับสินบน การล่อลวง และการตลบตะแลง

๒๖. เว้นขาดจากการตัดอวัยวะ การฆ่า การจองจำ การตีชิงวิ่งราวการปล้น และการขู่กรรโชก

ภิกษุนั้นเป็นผู้สันโดษด้วยจีวรพอคุ้มร่างกาย และบิณฑบาตพออิ่มท้อง จะไปณ ที่ใดๆ ก็ไปได้ทันที นกมีปีกจะบินไป ณ ที่ใดๆ ก็มีแต่ปีกของมันเป็นภาระบินไปแม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เ

ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์  ฟังเสียงทางหู   ดมกลิ่นทางจมูก  ลิ้มรสทางลิ้น  ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย  รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่รวบถือ ไม่แยกถือ ย่อมปฏิบัติเพื่อความสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วก็จะเป็นเหตุให้ถูกบาปอกุศลธรรมคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จึงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์ ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยอินทรียสังวร ย่อมเสวยสุขอันไม่ระคนกับกิเลสในภายใน

ภิกษุนั้นทำความรู้สึกตัวในการก้าวไป การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดูการคู้เข้า การเหยียดออก การครองสังฆาฏิ บาตร และจีวร การฉัน การดื่มการเคี้ยว การลิ้ม การถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ การเดิน การยืน การนั่ง การหลับการตื่น การพูด การนิ่ง

การทำจิตให้บริสุทธิ์

ภิกษุนั้นประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรียสังวรและอริยสติสัมปชัญญะนี้แล้วพักอยู่ ณ เสนาสนะเงียบสงัด คือ ป่า โคนไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำป่าช้า ป่าทึบ ที่แจ้ง ลอมฟาง เธอกลับจากบิณฑบาตภายหลังฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอละอภิชฌาความเพ่งเล็งอยากได้สิ่งของของผู้อื่นในโลก มีใจปราศจากอภิชฌาอยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอภิชฌา ละพยาบาทและความมุ่งร้าย มีจิตไม่พยาบาท มุ่งประโยชน์เกื้อกูลสรรพสัตว์อยู่ ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากพยาบาทและความมุ่งร้าย ละถีนมิทธะความหดหู่และเซื่องซึม ปราศจากถีนมิทธะ กำหนดแสงสว่างมีสติสัมปชัญญะอยู่ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากถีนมิทธะ ละอุทธัจจกุกกุจจะความฟุ้งซ่านและความรำคาญใจ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ภายใน ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากอุทธัจจกุกกุจจะละวิจิกิจฉาความลังเลสงสัย ข้ามวิจิกิจฉาได้แล้ว ไม่มีวิจิกิจฉาในกุศลธรรมอยู่ชำระจิตให้บริสุทธิ์จากวิจิกิจฉา

ภิกษุนั้นละนิวรณ์ ๕ ประการนี้ ซึ่งเป็นเครื่องเศร้าหมองแห่งจิตและเป็นเหตุทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้วบรรลุปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุทุติยฌานมีความผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตกไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ แล้วจึงบรรลุตติยฌาน และบรรลุจตุตถฌานโดยลำดับ

ความดับแห่งกองทุกข์

ภิกษุนั้นเห็นรูปทางตาแล้วไม่กำหนัดในรูปที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในรูปที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้ ทราบชัดถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริงเธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น เมื่อ

ภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายจึงดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้นย่อมมีได้อย่างนี้  ภิกษุฟังเสียงทางหู  ดมกลิ่นทางจมูก  ลิ้มรสทางลิ้น  ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย  รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ไม่ขัดเคืองในธรรมารมณ์ที่น่าชัง ย่อมเป็นผู้มีสติในกายตั้งมั่น และมีจิตหาประมาณมิได้อยู่ทราบชัดถึงเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันเป็นที่ดับไม่เหลือแห่งบาปอกุศลธรรมตามความเป็นจริง เธอละความยินดียินร้ายอย่างนี้แล้ว เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง สุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ตาม ก็ไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้น เมื่อภิกษุนั้นไม่เพลิดเพลิน ไม่บ่นถึง ไม่ติดใจเวทนานั้นอยู่ความเพลิดเพลินในเวทนาทั้งหลายจึงดับไป เพราะความเพลิดเพลินดับ อุปาทานจึงดับ เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะภพดับ ชาติจึงดับ เพราะชาติดับ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสของภิกษุนั้นจึงดับ ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น ย่อมมีได้อย่างนี้

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงทรงจำตัณหาสังขยวิมุตติ โดยย่อของเรานี้อนึ่ง เธอทั้งหลายจงทรงจำสาติภิกษุบุตรชาวประมงว่า เป็นผู้ติดอยู่ในข่ายคือตัณหาและกองแห่งตัณหาใหญ่”

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นมีใจยินดีต่างชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๒ พระสูตร เล่มที่ ๔  มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ๔. มหายมกวรรค  หมวดว่าด้วยธรรมเป็นคู่ หมวดใหญ่

๘. มหาตัณหาสังขยสูตร ๓๙๖ - ๔๑๕  

หมายเลขบันทึก: 677773เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2020 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2020 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท